Iranian Revolution ความเรืองรองของดนตรีที่หายไปกว่า 40 ปีหลังการปฏิวัติ
- Writer: Montipa Virojpan
11 กุมภาพันธ์ 1979 Iranian Revolution หรือการปฏิวัติอิสลาม ได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์อิหร่านมาจนถึงปัจจุบัน
ระหว่างที่กำลังเรียนวิชาวิจารณ์ภาพยนตร์เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์เปิดเรื่อง ‘The Mirror’ (1997) ของ Jafar Panahi ผู้กำกับชาวอิหร่านให้เราได้ดู ซึ่งหนังเรื่องนี้ถูกพูดถึงในหนังอีกเรื่องที่เราเคยดูมาก่อนหน้าแล้วที่ชื่อ ‘This is not a Film’ (2011) ของผู้กำกับคนเดียวกัน หนังทั้งสองทำให้เราเริ่มสนใจประเด็นการจำกัดทางสิทธิเสรีภาพของประชากรอิหร่านที่มีเรื่อยมาตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979
ปี 1941 อิหร่านถูกปกครองโดยกษัตริย์ Shah Mohammad Reza Pahlavi พระองค์พยายามผลักดันให้ชาวอิหร่านรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเพราะเชื่อว่าจะเป็นการนำประเทศไปสู่ความนำสมัยและทำให้เกิดความเสรีนิยมยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนั้นก็ทำให้การสนับสนุนการศึกษาและสภาพเศรษฐกิจของอิหร่านเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ จนอังกฤษและสหรัฐนับอิหร่านเป็นพันธมิตรสำคัญในแถบตะวันออกกลาง
ทว่าการครองราชย์ของพระองค์ที่ทรงอำนาจขึ้นเรื่อย ๆ ก็ถือเป็นเผด็จการ เพราะพระองค์ จำกัดเสรีภาพหรือการแสดงความเห็นทางการเมืองของฝ่ายค้าน และเพิกเฉยต่อข้อเสนอของฝั่งคอมมิวนิสต์และผู้เคร่งศาสนาที่จะให้ระบบการเมืองเป็นการคานอำนาจระหว่างพรรค ทุกครั้งที่มีผู้ต่อต้านอำนาจก็จะมีการออกมาปราบปราม รวมถึงการมีข้อห้ามในข้อกำหนดทางศาสนาบางประการ เช่น การบังคับให้ผู้หญิงไม่สวมเครื่องแต่งกายมุสลิมในที่สาธารณะ ก็ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่พอใจ นำไปสู่การปฏิวัติต่อต้านการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คอรัปชัน และการกดทับสิทธิของปัจเจกชนโดยรัฐที่อยู่ภายใต้กษัตริย์ โดย Ayatollah Khomeini และกลุ่มผู้ประท้วงที่อยู่ในฝั่งประชานิยม และยังเป็นพวกชาตินิยมที่เคร่งศาสนานิกายชีอะห์ ซึ่งการปฏิวัตินั้นได้ส่งผลยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และนั่นก็เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว
แต่เมื่อไม่นานมานี้วงดนตรีจากเท็กซัสอย่าง Khruangbin ได้ปล่อยเพลงจากอัลบั้มชุดใหม่ชื่อ Maria También หรือ Dance of Maria ต้นฉบับเป็นของศิลปินที่ชื่อ Elias Rahbani ในปี 1974 ที่ซาวด์ดนตรีต่างจากงานก่อน ๆ ของวงโดยได้อิทธิพลจากดนตรีตะวันออกกลาง พวกเขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจจากสตรีที่สร้างงานศิลปะในอิหร่านอย่างอิสระ ทำให้เราได้เห็นฟุตเทจวิดิโอของนักร้องเปอร์เซียนที่เต้นรำอย่างมีชีวิตชีวาหลายต่อหลายคน ก่อนที่จะเกิด Iranian Revolution ในปี 1979
หลังจากดูมิวสิกวิดิโอจบแล้วก็ต้องรู้สึกประหลาดใจ เพราะก่อนหน้านี้เราคงนึกภาพชาวอิหร่านเต้นทวิสต์ไปกับเพลงร็อกแอนด์โรลไม่ออกใช่ไหม?
ก่อนการปฏิวัติ
เราได้เจอแฟ้มภาพที่สำนักข่าวต่างประเทศหลาย ๆ หัวได้นำเสนอชีวิตประจำวันของชาวอิหร่านช่วงก่อนการปฏิวัติ เราพบว่าประเทศของพวกเขาเต็มไปด้วยสีสัน ดูสนุกสนาน มีอิสรภาพ และรุ่มรวยในงานวัฒนธรรม ผู้หญิงและผู้ชายจากยุค 60s-70s แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบตะวันตกสีสันสดใส แม้กระทั่งมินิสเกิร์ตโชว์เรียวขาของพวกเธอ เมคอัพและเครื่องประดับจัดเต็ม ผู้ชายเองก็แต่งตัวตามสมัยนิยม เสื้อยืดพอดีตัวกับกางเกงขาบาน ไว้ผมทรงมุลเลต ทุกคนสามารถร้องรำทำเพลงไปกับแนวดนตรีต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในปัจจุบัน
ยิ่งเห็นแบบนี้แล้วยิ่งทำให้เราต้องค้นลึกลงไปถึงศิลปะร่วมสมัยของพวกเขา โดยเฉพาะกับดนตรีอันเป็นสิ่งบันเทิงในชีวิตประจำวัน ก่อนหน้านี้คนทั่วไปจะฟังแต่เพลงท้องถิ่นอิหร่านที่ใช้เครื่องดนตรีเช่นกลองพื้นบ้าน เครื่องสายอิหร่านอย่าง qanun เมโลดี้ร้องแบบดั้งเดิม แต่หลังจากเทคโนโลยีวิทยุถูกนำเข้ามาใช้ในช่วงสงคราม เพลงป๊อปก็เริ่มแพร่กระจายไปในอิหร่านและเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 1950s จากสภาวะที่ประเทศกำลังเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ และเพลงป๊อปเหล่านี้ก็มีความแปลกใหม่ด้วยการผสมผสานดนตรีพื้นบ้านของอิหร่านเข้ากับเครื่องดนตรีสากลอย่างกีตาร์ไฟฟ้า เบส กลอง คีย์บอร์ด เกิดเป็นเพลงที่มีซาวด์ของฟังก์ ดิสโก้ กรูฟ ไซคีเดลิก แต่เป็นภาษาเปอร์เซียน เพียงแค่เนื้อหาก็ยังพูดถึงความรัก ความเปลี่ยวเหงา ถ่ายทอดความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา มันก็แค่อะไรที่ปุถุชนคนธรรมดาจะประสบเหมือน ๆ กัน และคนที่ถูกยกให้เป็นสุลต่านแห่งเพลงป๊อปและแจ๊สอิหร่านก็คือ Viguen เขานี่แหละคือผู้บุกเบิกการนำกีตาร์มาบรรเลงในเพลงร่วมสมัยเป็นคนแรก
ระหว่างที่เรากำลังหาเพลงอิหร่านยุคก่อนปฏิวัติเพลงอื่น ๆ ฟัง เราก็ได้พบกับอัลบั้ม Pomegranates: Persian Pop, Funk, Folk and Psych of the 60s and 70s ที่รวบรวมดนตรีอิหร่านในสมัยนั้น และทำให้เราอดจินตนาการถึงความมีชีวิตชีวาของคนรุ่นใหม่ในเตหะราน ณ ขณะนั้นไม่ได้
แม้แต่วงร็อกก็เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ที่อิหร่านมีวงบลูส์ร็อก การาจซาวด์ดุ ๆ อย่าง Jokers เป็นเหมือน hidden gem ที่เซอร์ไพรส์เราไม่น้อย
ยิ่ง compilation album นี้เหมือนเป็นขุมทรัพย์เพลงการาจยุค 60s ที่ทรงคุณค่ามาก ๆ
รู้ไหมคนนี้เป็นดั่งไอคอนิกเลยนะ?
ศิลปินที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นเห็นจะไม่พ้น Faegheh Atashin หรือ Googoosh เธอคือนักร้องดิว่าที่ถูกพูดถึงในฐานะนักร้องคนสำคัญของอิหร่านเพราะเป็นต้นแบบของศิลปินหลาย ๆ คนในยุค 70s เธอได้รับอิทธิพลจากเพลงอเมริกันมาอย่างเต็มเปี่ยม จากวิดิโอด้านล่างนี้เธอไปออกรายการโทรทัศน์ของอิหร่านโดยใส่เสื้อผ้าที่เผยให้เห็นเรือนร่างแสดงให้เห็นเสรีภาพทางร่างกายของสตรีอิหร่านในยุคก่อน Iranian Revolution มากขนาดไหน
เธอเล่าว่าผู้หญิงคนแรกที่ถอดฮิญาบบนเวทีคือ Qamar-ol-Moluk Vaziri ซึ่งนั่นก็จุดประกายให้เธอทำตาม และเธอก็คือคนแรกที่ใส่ท่าเต้นโยกย้ายตามเพลงเข้าไปในการแสดง เป็นคนแรกที่ตัดผมทรงบ็อบแบบพวกม้อด และเธอก็เป็นผู้หญิงอิหร่านคนแรกที่ได้แสดงบทนำในภาพยนตร์เรื่อง ‘Bita’ ในปี 1972 นอกจากนี้เธอจะเคยคัฟเวอร์เพลง Respect ของ Aretha Franklin แล้วฟังก์เท่ ๆ ของ Sly and The Family Stone ในเพลง I Want to Take You Higher อีกด้วย
ความโด่งดังของเธอทำให้มีแฟนเพลงต่างประเทศ โดยแผ่นเสียงของเธอขายดีเป็นเทน้ำเทท่าตั้งแต่ในเตหะรานจนถึงโรม ภายหลังเธอก็กลายมาเป็น Iranian-American รุ่นแรก เพราะได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติและต้องย้ายที่พำนักเช่นเดียวกันกับศิลปินคนอื่น ๆ แต่แล้วเธอก็พบว่าไม่สามารถอยู่ห่างจากบ้านเกิดของตัวเองได้ สามเดือนต่อมาจึงตัดสินใจกลับไปเตหะราน แต่ก็ต้องถูกจับกุมในคุก ภายหลังก็คุมตัวในบ้านของเธอเอง และโดนแบนถึง 21 ปี ไม่ให้ทำการแสดงหรือสร้างผลงานใหม่ ๆ เลย
แต่ก็ไม่มีใครหยุด Googoosh ได้ เมื่อผลงานของเธอถูกเผยแพร่ไปยังผู้อพยพชาวอิหร่านผ่านเทปคาสเซ็ตที่อัดก็อปปี้มาอีกที ชื่อของเธอถูกพูดถึงแบบปากต่อปาก จนในปี 2000 เธอกลับมาออกอัลบั้มชื่อ Zoroaster ในวัย 50 ปี และมีการทัวร์คอนเสิร์ตเกิดขึ้น เพลงของเธอถูกนำไปใช้เป็นแซมพลิงในเพลง Feedback ของ Kanye West แบบรีเวิร์ส แม้แต่ Beyonce กับ Jay Z ก็ยังชื่นชอบงานของเธอ
หลังการปฏิวัติ
เนื่องด้วยการปฏิวัติดังกล่าวคือการเปลี่ยนจากระบอบปกครองโดยกษัตริย์เพื่อเปลี่ยนให้อิหร่านกลายเป็นรัฐอิสลาม รวมถึงต่อต้านแนวความคิดจากตะวันตกทุกด้าน เลยส่งผลปฏิปักษ์กับศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มีมาของอิหร่านในยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะกับดนตรีและการเต้นรำที่สร้างความเริงรมย์ถูกจัดเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา เว้นแต่การเต้นรำในพิธีกรรมโดยผู้แสดงต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็ต้องกลับมาแต่งกายมิดชิด ไม่สามารถร้องเพลงและเต้นรำได้อีกต่อไป (เว้นแต่ว่าจะร้องในสถานที่ปิด หรือไม่ก็ต้องเป็นนักร้องที่อยู่ในวงดนตรีผู้ชาย เพราะเสียงของผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ร้องออกมาได้แบบโดด ๆ) แม้แต่การฟังเพลงป๊อปแบบตะวันตกก็ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นเพลงที่ได้ยินส่วนมากในเวลาต่อมาจะเป็นเพลงโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ เพลงศาสนา หรือเพลงปลุกใจช่วงสงคราม หรือเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องมาจากบทกวีโบราณที่ไม่ขัดต่อข้อห้ามรัฐ วงดนตรีพื้นบ้านหรือวงซิมโฟนีออเคสตราก็ยังมีได้แต่ต้องเป็นการจัดแสดงตามที่รัฐอนุญาต หรือต้องได้รับการตรวจสอบจากทางการก่อน
เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเขมรแดงมาบ้างในบทความก่อนหน้า ซึ่งชะตากรรมของศิลปินป๊อป คนทำเพลงประกอบภาพยนตร์ และนักดนตรีและผู้ประพันธ์เพลงคลาสสิกในยุคนั้นก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ พวกเขาต้องหลบหนีไปพำนักในประเทศที่อนุญาตให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไปได้ ซึ่งหมุดหมายยอดฮิตก็คือลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา มีศิลปิน Iranian-American เกิดขึ้นมากมายในช่วงนั้น แต่หลังยุคที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ รัฐอิหร่านก็พบว่าคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นประชากรกว่า 70% ในขณะนั้นมองว่าเพลงพื้นบ้านน่าหดหู่สำหรับพวกเขา และอยากฟังเพลงสนุก ๆ แบบที่เคยมีในยุค 60s มากกว่า หากแต่ศิลปินยุคบุกเบิกเหล่านั้นได้อพยพไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ทำให้รัฐต้องอะลุ่มอล่วยให้เพลงป๊อปเป็นสิ่งถูกกฎหมายนับแต่นั้นเป็นต้นมา
การต่อต้านโดยสันติและความอะลุ่มอล่วยด้านวัฒนธรรม
แม้ข้อห้ามทางศาสนาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อ 40 ปีก่อน อันเป็นตัวจำกัดขอบเขตการสร้างสรรค์ของศิลปินยุคปัจจุบันและริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงจะยังคงอยู่ ทำให้มีการเริ่มแสดงท่าทีของผู้ไม่เห็นด้วยและต้องการอิสรภาพทางความคิดและร่างกายเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ
ในปี 2014 มีผู้หญิงหลายคนโพสต์ภาพตัวเองไม่สวมฮิญาบลงในโซเชียลมีเดีย และในปี 2017 ก็มีผู้หญิงออกมาประท้วงด้วยการโบกธงขาว ซึ่งเป็นฮิญาบของเธอเองที่เอามาผูกติดกับไม้ยาว และต้องจำคุก 1 เดือน หลังจากนั้นก็มีผู้หญิงหลายคน รวมถึงผู้ชายบางคน เริ่มทำเช่นเดียวกับเธอ และการเคลื่อนไหวนี้ก็ถูกเรียกว่า ‘The Girls of Revolution Street’ มีผู้หญิงบางคนถูกศาลสั่งฑันท์บนฐานไม่สวมฮิญาบในที่สาธารณะถึง 18 ปี อนึ่ง พวกเธอบางคนก็แสดงความเห็นว่าเธอยอมรับ เคารพ และสนับสนุนผู้หญิงที่ต้องการใส่ฮิญาบ แต่สำหรับเธอที่ไม่ต้องการสวมฮิญาบก็เพียงต้องการอิสรภาพของตัวเองเท่านั้น
หรือแม้แต่การเข้าชมฟุตบอลก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามของพวกเธอ โดยรัฐอ้างว่าการห้ามอย่างไม่เป็นทางการนี้ก็เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้ยินคำสบถจากผู้ชาย ก่อนหน้านี้มีผู้หญิง 35 คนพยายามเข้าไปในสนามเพื่อรับชม แต่ก็ถูกจับกุมในภายหลัง ทำให้ต่อมามีผู้หญิงสองคนปลอมตัวเป็นผู้ชายและเข้าไปรับชมการแข่งขันได้สำเร็จ พวกเธอถ่ายคลิปวิดิโอออกมาเป็นไวรัลอยู่พักหนึ่ง
ทว่าเป็นเรื่องดีที่คนในภาครัฐและผู้นำทางศาสนาบางคนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปเสียใหม่ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน Ali Khamenei ผู้นำอิหร่านได้สำรวจประชากรอิหร่านพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการถูกบังคับให้ใส่ฮิญาบ และทางการกำลังพิจารณาให้ล้มเลิกข้อห้ามแฟนบอลหญิงเข้าชมในสนาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการก็ยังมีอุปสรรคจากกลุ่มเคร่งศาสนาที่มีอำนาจอยู่
ทางด้านดนตรีเองก็เริ่มมีวงดนตรีใต้ดินที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงอารยะขัดขืนผ่านงานศิลปะ พวกเขาทำเพลงร็อก เมทัล แร็ป ออกมาเป็นปริปักษ์กับแนวคิดหลักของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด แต่โดยส่วนมากพวกเขามักมีจุดจบที่การโดนจับกุมที่ house party หรือเวทีการแสดงสดลับ ๆ เสมอ แต่ในภายหลังก็ยังพอมีความผ่อนปรนหลาย ๆ อย่างโดยอนุญาตให้คนสร้างสรรค์งานที่คาบเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันตก เกิดกลุ่ม Rap-e Farsi หรือ Presian rap ขึ้นมา แต่บางคนก็ไม่ตกเป็นเป้าสายตาของรัฐเพราะพวกเขาทำเพลงเนื้อหาป๊อปไม่มีพิษภัย
หรือในปัจจุบันก็มีวง Mitra Sumitra ดนตรีอิหร่านขนานแท้ที่สร้างสีสันให้กับนิวยอร์กด้วยเพลง Farsi funk ที่ทำให้เรานึกถึงงานต้นตำรับ และทำให้ผู้คนได้รู้จักกับ Persian music มากยิ่งขึ้น
ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าอนาคตของสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกทางวัฒนธรรมของอิหร่านจะเดินต่อไปในทิศทางไหน เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ประเทศไทยในตอนนี้ที่น่าห่วงไม่แพ้กัน ยังมีโครงสร้างเกมการเมืองซับซ้อนที่ประชาชนยังต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย ขออนุญาตฟังเพลงไปตามข่าวไปก็นะ (จะว่าไปอาการลักปิดลักเปิดทางการเมืองของบ้านเราก็มีมายาวนานพอ ๆ กับบ้านเขาแหละ อุ๊ปส์)