How to tour Taiwan for Thai bands – ทำไงวงไทยจะได้ไปทัวร์ไต้หวัน?
- Writer: Piyapong Muenprasertdee
ไต้หวันคือประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกที่มีซีนดนตรีอินดี้ที่น่าสนใจไม่แพ้ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ มีไลฟ์เฮาส์อยู่หลายแห่ง และมีแฟนเพลงที่ชอบชมดนตรีสดหลากหลายอยู่พอควร มีเมืองที่สามารถทัวร์การแสดงดนตรีได้อย่างน้อย 3 เมืองใหญ่ ๆ คือ ไทเป (Taipei) ไทจง (Taichung) และเกาสง (Kaohsiung) ทำให้เป็นประเทศเป้าหมายการทัวร์ที่ดีพอควรเลยทีเดียว แต่การหวังจะทำเงินสร้างรายได้จากการทัวร์ไต้หวันนั้นยังเป็นไปได้ยากมาก ๆ ถ้าไม่ได้ดังจริง ๆ เรียกว่าไม่มีทางเลยล่ะ แต่อย่าเพิ่งท้อใจเลยนะ เดี๋ยวเราจะอธิบายให้อ่านว่าถ้าอยากทัวร์ไต้หวันให้ประสบความสำเร็จ (แบบไม่เจ็บกระเป๋าตังค์นัก) ต้องทำอย่างไรบ้าง
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับซีนดนตรีไต้หวัน
ลักษณะนิสัยของคนไต้หวันค่อนข้างเป็นมิตร สุภาพ ใจดี และยินดีช่วยเหลือผู้อื่นพอควร ประเทศไต้หวันเคยเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่ง (ระหว่างปี ค.ศ. 1895-1945) ซึ่งอาจทำให้ส่งผลต่อบุคลิกและวัฒนธรรมของเขาอยู่บ้างที่มีความเป็นจีนผสมกับญี่ปุ่น ส่วนบ้านเมืองค่อนข้างสะอาด เป็นระเบียบ และมีสิ่งก่อสร้างตึกรามบ้านช่องคล้าย ๆ กับญี่ปุ่นอีกด้วย
คนในซีนดนตรีอินดี้
ซีนดนตรีอินดี้ในไต้หวันถือว่าค่อนข้างใหญ่ ทำให้มีหลายกลุ่มหลายก้อน แต่ก็ค่อนข้างรู้จักกันหมด เวลามีงานก็จะลงแรงช่วยเหลือกันพอควร แต่เนื่องจากมีคนเยอะก็เลยอาจมีบางกลุ่มที่ไม่ถูกกันบ้าง มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน ซึ่งก็คล้าย ๆ กับทุกซีนดนตรีในทุกประเทศที่เราเคยสัมภาษณ์หาความรู้มา
แนวเพลงที่นิยม
แนวเพลงหลักของอินดี้ที่ไต้หวันอย่างที่หลาย ๆ คนทราบกันก็คือโพสต์ร็อก แต่ก็มีร็อกกึ่งเมทัลอยู่บ้างเหมือนกัน และแนวเพลงที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงนี้ก็มีอิเล็กทรอนิก และซินธ์ป๊อป
ลักษณะของแฟนเพลงชาวไต้หวัน
แฟนเพลงชาวไต้หวันค่อนข้างเรียบร้อย ถ้าเพลงไม่ได้ร็อกมากก็จะกอดอกชมดนตรีกันอย่างเงียบ ๆ และที่สำคัญคือคนที่นี่ไม่ค่อยดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้พวกเขาจะเกลียดวงที่เล่นเพลงคัฟเวอร์ค่อนข้างมาก ยกเว้นแต่จะ re-arrange ในสไตล์ของตัวเองจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม เขาอาจจะโอเคด้วย
ลักษณะอีกอย่างของแฟนเพลงชาวไต้หวัน คือเขามักจะอยากชมคอนเสิร์ตที่มีแค่วงเดียวหรือไม่เกินสองวง โดยจะเป็นวงที่เขาชอบจริง ๆ เพราะเขาคิดว่าการมีวงเยอะ ๆ ในหนึ่งงานจะเป็นวงที่ไม่ค่อยดีนัก (ซึ่งเป็นแนวความคิดที่คล้าย ๆ แฟนเพลงชาวเกาหลีจากที่เราได้เคยทราบมา)
ไลฟ์เฮาส์
ไต้หวันมีไลฟ์เฮาส์อยู่หลายแห่ง แม้จะไม่มากเท่าที่ญี่ปุ่น แต่ก็มีจำนวนมากอยู่พอควรที่สามารถแยกตามแนวเพลงกันได้เลย แล้วมีอยู่หลากหลายขนาด มีตั้งแต่ขนาดเล็กมากที่จุได้แค่ไม่กี่สิบคน จนถึงขนาด 1,500 คนหรือมากกว่านั้น
ไลฟ์เฮาส์ปกติแล้วจะมีทั้งระบบแสงและเสียงครบ วิธีการใช้งานแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1. เช่า – ซึ่งราคาค่าเช่าที่สืบมาได้ สำหรับไลฟ์เฮาส์ขนาด 100-200 คนจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 NTD (1 NTD = 1.12 บาท) ส่วนสำหรับประมาณ 1,500 คนจะราคาประมาณ 120,000 NTD ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้วก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก
2. แบ่งค่าตั๋ว – ค่าบัตรคอนเสิร์ตที่ขายได้นั้น จะถูกหักเข้าไลฟ์เฮาส์ประมาณ 70% แล้วผู้จัดก็จะได้ส่วนที่เหลือ ซึ่งถือได้ว่าโดนหักค่อนข้างเยอะ (ยุโรปหักประมาณ 50% ส่วนเมืองไทยยังไม่มีมาตรฐานการหัก) เป็นเพราะว่าคนไต้หวันไม่ค่อยดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ตัวไลฟ์เฮาส์ไม่ค่อยมีรายได้จากการขายเครื่องดื่มซักเท่าไร อีกอย่างคือการจดทะเบียนเป็นสถานบันเทิงที่ขายแอลกอฮอล์จะทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้นอีกด้วย ทำให้ไลฟ์เฮาส์ส่วนใหญ่ไม่อยากจดนัก
ตัวอย่างไลฟ์เฮาส์
เมืองไทเป (Taipei)
1. Legacy
– ห้องใหญ่ / จุ 1,000-1,500 คน / แนวเพลง: อะไรก็ได้
– ห้องเล็ก (Legacy Mini) / จุ 50-80 คน / แนวเพลง: electronic, hip-hop, DJ, folk
2. The Wall Live House
– จุ 300-500 คน / แนวเพลง: อะไรก็ได้ แต่เน้น rock
3. PIPE
– จุ 250-300 คน / แนวเพลง: rock, DJ, hip-hop
4. Revolver
– จุ 50-80 คน / แนวเพลง: อะไรก็ได้
5. Jack
– จุ 200-300 คน / แนวเพลง: metal, hard rock
6. Neo
– จุ 500-1,000 คน / แนวเพลง: อะไรก็ได้
7. ATT Show Box
– จุ 500-1,000 คน / แนวเพลง: อะไรก็ได้
8. Apamini
– จุ 100-200 คน / แนวเพลง: rock
9. SYNTREND
– จุ 500-800 คน / แนวเพลง: idol, pop, rock
เมืองไทสง (Taichung)
1. Legacy Taichung
– จุ 500-1,200 คน / แนวเพลง: อะไรก็ได้ แต่เน้น pop, rock
2. 浮現Live House
– จุ 50-80 คน / แนวเพลง: rock, folk
3. TADA
– จุ 500-1,000 คน / แนวเพลง: อะไรก็ได้ แต่เน้น pop, rock
4. Sound Live
– ห้องใหญ่ / จุ 100-200 คน / แนวเพลง: rock, folk
– ห้องเล็ก / จุ 50-80 คน / แนวเพลง: rock, folk
เมืองไทหนาน (Tainan)
1. TCRC Livehouse
– จุ 50-80 คน / แนวเพลง: rock, DJ
2. Room335 Live Music Bar
– จุ 50-80 คน / แนวเพลง: pop, rock
เมืองเกาสง (Kaohsiung)
1. Paramount Bar
– จุ 50-120 คน / แนวเพลง: rock, electronic
2. The Mercury
– จุ 50-120 คน / แนวเพลง: rock, electronic
3. Rocks
– จุ 50-120 คน / แนวเพลง: rock, electronic
3. LIVE WAREHOUSE
– ห้องใหญ่ / จุ 1,200 คน / แนวเพลง: pop, rock
– ห้องเล็ก / จุ 300 คน / แนวเพลง: rock, electronic
เว็บไซต์รวมไลฟ์เฮาส์: https://www.taiwannights.com/en/venues/category/live-houses
ค่าบัตรชมคอนเสิร์ตวงอินดี้
ค่าบัตรชมคอนเสิร์ตวงอินดี้ ถ้าวงไม่ค่อยดัง จะอยู่ที่ประมาณ 350-400 NTD แต่ถ้าดังหน่อยก็อาจจะราคาถึงประมาณ 800 NTD
ค่าตัววงอินดี้
สำหรับค่าตัววงอินดี้ที่นี่ ถ้าเป็นวงหน้าใหม่ ถ้าไม่เล่นฟรีก็อาจจะได้ค่าแสดงไม่เกิน 5,000 NTD ถ้าดังหน่อยก็อาจได้ถึง 20,000 NTD แล้วถ้าดังมาก ๆ ก็จะสูงถึง 100,000 NTD ขึ้นไป แต่สำหรับงานเล็ก ๆ ที่จัดกันเองดูกันเอง หลาย ๆ ครั้งพวกเขาก็จะเล่นแบบไม่คิดเงินค่าจ้าง
สำหรับวงต่างประเทศที่จะไปแสดง หากเป็นวงที่ไม่เป็นที่รู้จัก ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ค่าจ้างเลย เพราะผู้จัดถือว่าเขาต้องมาจัดการทั้งเรื่องการจัดงาน หาวง หาสถานที่ โปรโมท ขายบัตร จิปาถะ โดยแบกรับความเสี่ยงที่จะขาดทุน แต่ถ้าผู้จัดใจดี อย่างมากก็จะให้เงินประมาณโชว์ละไม่เกิน 5,000 NTD
การสนับสนุนจากรัฐบาล
ไต้หวันมีกระทรวงวัฒนธรรม (Ministry of Culture) ที่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องอุตสาหกรรมดนตรีมากพอสมควร ประมาณปีละ 16.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (แหล่งที่มา: How Countries Around the World Fund Music – and Why It Matters) เช่น มีการให้ทุนแก่ค่ายเพลงที่มีโครงการไปทัวร์การแสดงต่างประเทศ ซึ่งเหตุผลหนึ่งก็คืออุตสาหกรรมเพลงไต้หวันมีรายได้จากการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีน เป็นสัดส่วนที่สูงมาก จากที่เราเคยได้ยินมาตอนไปสัมมนา (ไม่มีเอกสารอ้างอิง) คือสูงถึง 90% เลยทีเดียว
สำหรับวงไต้หวันที่อยากไปแสดงต่างประเทศ พวกเขาสามารถขอทุนจากรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่ได้ของ่าย ๆ นะ เพราะงานที่รัฐบาลจะยอมให้ทุนมักจะต้องเป็นเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เราก็ได้รับการกระซิบมาว่าพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลก็ไม่ได้ดูอะไรมาก ขอให้ชื่องานดูยิ่งใหญ่ และมีคำว่า “festival” ก็อาจจะขอได้แล้ว
นอกจากการส่งออกดนตรีแล้ว รัฐบาลไต้หวันก็ยังสนับสนุนกิจกรรมดนตรีที่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศด้วย เช่น งาน Taiwan-Thailand Live Concert ที่ Mattnimare ได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา
การไปทัวร์ไต้หวันสำหรับวงต่างประเทศ
ติดต่อใครดี?
หากอยากไปทัวร์ไต้หวัน ควรต้องติดต่อโปรโมเตอร์ หรือผู้จัดงานที่ถนัดในแนวเพลงที่เราเล่น ซึ่งหากไม่รู้ว่าจะติดต่อใคร ให้เริ่มจากการไปเสิร์ชหาวงไต้หวันที่แนวเพลงคล้ายกับเราก่อน แล้วก็พยายามส่งเมสเสจหรืออีเมลไปพูดคุยกับวง ทำความรู้จักเป็นเหมือนเพื่อนกันก่อน แล้วก็ขอคำแนะนำว่าถ้าจะไปทัวร์จะทำอย่างไรบ้าง
ระยะเวลาเตรียมการ
หากสามารถติดต่อโปรโมเตอร์ที่อยากทำงานกับเราได้แล้ว ก็ควรให้เวลาเขาในการวางแผนเตรียมการอย่างน้อย 2-3 เดือน ซึ่งเขาต้องใช้เวลาในการติดต่อไลฟ์เฮาส์ วงดนตรีที่จะร่วมแสดงด้วยอีกประมาณ 1-2 วง และทำการโปรโมทงาน ซึ่งนอกจาก Facebook แล้ว เขาจะโปรโมทผ่านเว็บไซต์อย่างเช่น Xin Media (https://solomo.xinmedia.com/music) และ Blow (https://blow.streetvoice.com)
สำหรับตัวเราเอง ควรต้องขอวีซ่าศิลปิน (Artist Visa) ซึ่งจะไม่ต้องเสียเงิน แต่ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งควรเตรียมการไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าไปโดยไม่มีวีซ่าศิลปิน อาจถูกตำรวจจับ และถูกแบนจากไต้หวันไปอีก 3 ปี
จำนวนโชว์ที่เหมาะสม
อย่างที่ได้เขียนไปตอนต้น ไต้หวันมีเมืองที่สามารถทัวร์การแสดงดนตรีได้อยู่อย่างน้อย 3 เมืองใหญ่ ๆ คือ ไทเป (Taipei) ไทจง (Taichung) และเกาสง (Kaohsiung) โดยควรแสดงแค่เมืองละโชว์ก็พอ แต่สำหรับไทเปอาจจะเล่นได้ 1-2 โชว์ (แต่เขาไม่ค่อยแนะนำให้เล่นมากกว่า 1 โชว์นะ เพราะไลฟ์เฮาส์อาจจะไม่พอใจว่าจะโดนดึงลูกค้าไปอีกที่หนึ่ง) รวมเป็น 3-4 โชว์ แล้วควรเผื่อเวลาเดินทางไปและกลับอย่างละวันเพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากเกินไป เพราะฉะนั้นถ้ามีเล่นทั้งหมด 3 โชว์ใน 3 เมือง ให้ใช้เวลา 5 วัน
สำหรับวันที่จะทำการแสดง ควรจะเป็นวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ หรือพฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ก็ได้ ส่วนวันจันทร์นั้นไลฟ์เฮาส์ส่วนใหญ่จะหยุดทำการ และโปรโมเตอร์คนที่เราคุยด้วยนั้นบอกว่าแม้วันต่อมาคนส่วนใหญ่จะทำงาน คืนวันอาทิตย์ก็ยังเหมาะต่อการแสดงดนตรีเพราะหลาย ๆ คนจะชอบชมดนตรีสดเพื่อเติมพลังใจเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเริ่มทำงานในวันจันทร์
ค่าใช้จ่าย
การไปทัวร์ไต้หวันโดยปรกตินั้น (ที่ไม่ใช่งานรัฐบาล) ปรกติแล้วก็คือต้องจ่ายค่าเดินทางทั้งตั๋วเครื่องบิน ค่ารถโดยสาร ค่าโรงแรม และค่ากินอยู่เองทั้งหมดเลย แล้วเวลาไปแสดงก็จะไม่ได้ค่าตัว หรือได้อย่างมากก็ไม่เกิน 5,000 NTD ต่อโชว์ โดยที่ผู้จัดจะเป็นคนจัดการหาติดต่อสถานที่แสดง วงดนรีที่จะร่วมแสดงด้วยอีก 1-2 วง และโปรโมทตัวงาน โดยเขาจะพยายามหักกำไรเข้าตัวเองเป็นค่าแรงประมาณ 5,000 – 10,000 NTD โชว์ (ถ้าทัวร์ 3 เมือง 3 โชว์ก็รวม ๆ 15,000 – 30,000 NTD) แต่ค่าแรงนี้เป็นเพียงแนวการกะประมาณคร่าว ๆ ซึ่งก็แล้วแต่ผู้จัดแต่ละคนเหมือนกัน เพราะเขามีวัฒนธรรมแบบจีนที่จะให้ราคากันเองกับคนที่เขาถือว่าเป็นเพื่อน
ถ้าลองคำนวณดูแบบหยาบ ๆ แล้ว ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับกรุงเทพฯ ไทเป ก็ประมาณคนละหมื่นกว่าบาท (ถ้าไปไทเปแต่กลับจากเกาสง จะประมาณสองหมื่นกว่าบาท แนะนำว่าขึ้นรถบัสกลับไทเปแล้วบินกลับจากไทเปจะถูกกว่า) ค่ารถบัสจากไทเปไปไทสง ไทสงไปเกาสง และเกาสงกลับไทเป รวม ๆ ประมาณ 1,500 NTD ต่อคน และค่าโรงแรมถูก ๆ คืนละประมาณ 1,500 บาทต่อห้อง ถ้านอนกันห้องละสองคนก็ประมาณ 750 บาท ค่ากินอยู่จิปาถะอีกซักวันละ 500 บาท เพราะฉะนั้นถ้าไป 4 คืน 5 วันก็ตกคนละ 17,000 บาท ถ้ามีสมาชิกซัก 6 คน (สมมิตว่าวงมี 5 คนกับ ผจก./ผู้ติดตามอีก 1 คน) ก็ 102,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงพอสมควรเลยทีเดียว
คุยกับ ‘ฮอน’ Hope The Flowers
เราได้โทรศัพท์คุยกับ ‘ฮอน’ ณรงค์ฤทธิ์ อิทธิพลนาวากุล ศิลปิน post-rock ในนาม Hope The Flowers และหัวหน้ากลุ่ม Newlights Production ผู้เคยได้ไปทัวร์ไต้หวันเมื่อ 16-19 มีนาคมที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ฮอนได้เล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่เขาเคยทำอัลบั้ม compilation รวมหลากหลายศิลปิน ชื่ออัลบั้มว่า Being A Light To The World ซึ่งมีศิลปินจากไต้หวัน 昴宿 Pleiades มาร่วมด้วย และก็ได้คุยกันว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะชวนฮอนไปแสดงที่ไต้หวัน ผนวกกับเคยมีศิลปินมา paint งานบนผนังที่ Brownstone ในซอยอ่อนนุช ซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้ของดนตรี ศิลปะ และภาพยนตร์ ที่ร้านกาแฟ Ageha Cafe ของฮอนตั้งอยู่ ก็เลยเริ่มได้รู้จักคนไต้หวันที่จะช่วยให้ฮอนได้ไปแสดงที่ไต้หวันได้
ฮอนเล่าว่าการทัวร์ของ Hope The Flowers ในครั้งนี้เป็นการจัดการด้วยตัวเองเยอะมาก คือติดต่อไลฟ์เฮาส์ต่าง ๆ ด้วยตัวเองผ่านคนรู้จัก ไม่ได้ใช้ออกาไนเซอร์หรือโปรโมเตอร์มาช่วยในการจัดทัวร์ จึงค่อนข้างวุ่นและเหนื่อยอยู่พอสมควร โดยเขาได้ไปแสดงที่ Revolver ที่ไทเป, TCRC Livehouse ที่ไถหนาน, The Mecury ที่เกาสง และ Sound Livehouse ที่ไทจง และเนื่องจากไม่มีโปรโมเตอร์ จึงต้องโปรโมทงานเองโดยใช้วิธี tag เพื่อนไต้หวันใน Facebook ไปเรื่อย ๆ ให้เขาได้รู้ว่ากำลังจะไปเล่น
เวลาเดินทางก็ใช้รถสาธารณะอย่างเช่นรถไฟและรถเมล์ โดยฮอนแนะนำว่าตั๋วรถไฟอาจจะค่อนข้างแพง แต่ก็มีแพคเกจแบบเหมาหลายวันอยู่ ให้ดูให้ดีว่าแพคเกจไหนจะถูกและคุ้มที่สุดสำหรับเรา รถเมล์ก็ค่อนข้างดีมาก มีที่วางของได้สะดวก และควรจะคำนวณเส้นทางการเดินทางให้ดีมาก ๆ เพราะอาจจะตกรถได้ ส่วนเวลานอน พวกไลฟ์เฮาส์บางที่ก็จะโคฯ กับที่พักราคาถูกแถวนั้น ซึ่งอาจเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ส่วนฮอนก็มีคืนหนึ่งที่ได้นอนพักบ้านเพื่อนนักดนตรีที่เขาเป็นเหมือนเกสต์เฮาส์ คิดเงินแค่หัวละ 300 NTD เท่านั้น
สำหรับวัฒนธรรมของคนไต้หวันที่ฮอนได้เห็น ฮอนบอกว่าคนดูที่นี่หลาย ๆ คนจะมาดูเฉพาะวงที่ชอบหรืออยากดู พอวงอื่นขึ้นต่อ ถ้าเขาไม่สนใจก็จะกลับบ้านเลย และคนดูหลาย ๆ คนก็เป็นขาจรที่มานั่งดื่มเบียร์ ไม่ได้ตั้งใจมาดูดนตรี หากเทียบกับที่ญี่ปุ่น จำนวนคนดูจะค่อนข้างน้อยกว่ามาก สำหรับเฉพาะในซีน Post-rock ฮอนก็บอกว่ารู้สึกประทับใจที่คนดูค่อนข้างตั้งใจฟังเพลงมาก ๆ ยืนกอดอกดูเงียบ ๆ แต่ก็มีความตลกเฮฮาอยู่บ้าง คือศิลปินพอเล่นจบเพลงหนึ่งก็จะชวนคุย ปล่อยมุข คนดูก็จะตะโกนแซวบ้าง ดูมีสีสันและแน่นแฟ้นดี ซึ่งตรงกันข้ามกับเมืองไทยที่วง Post-rock มักจะไม่พูดอะไรเลย คนดูก็จะเงียบ ๆ แล้วที่ไต้หวันนี้พอแสดงเสร็จ คนดูก็จะมาอุดหนุนสินค้าและผลงานเพลง ซึ่งฮอนก็รู้สึกว่าคนไต้หวันให้ความสำคัญกับ CD มาก แม้มีคนดูแค่ประมาณ 20 คน แต่ก็สามารถขาย CD ได้ 10-15 แผ่นเลยทีเดียว และฮอนก็ได้รับการแนะนำว่าการตั้งราคา CD มีความสำคัญมาก ถ้าตั้งราคาถูกไป คนจะมองว่าไม่มีคุณภาพ ให้ตั้งประมาณ 450 NTD ต่ออัลบั้มจะกำลังดี ฮอนก็ได้แนะนำด้วยว่าหากจะมาเล่นที่ไต้หวัน ควรจะพกพาสินค้ามาขาย เพราะจะเป็นแหล่งรายได้ให้กับเราได้ และที่สำคัญ เวลาวงหนึ่งเล่นจบ เขาก็จะยังไม่กลับบ้าน แต่จะดูวงถัด ๆ ไปเล่น แล้วพอจบงาน วงที่มาเล่นด้วยกันก็จะไปทานข้าวด้วยกันเพื่อสานสัมพันธไมตรี และพวกเขาจะไม่ชอบวงที่มาเล่นเสร็จก็กลับบ้านเลยมาก ๆ ด้วย
ฮอนอยากให้คำแนะนำกับวงไทยที่อยากไปไต้หวันว่า ถ้ายังไม่ค่อยมีชื่อเสียงนัก อาจต้องทำใจว่าคนดูอาจจะไม่มากซักเท่าไร หรืออาจจะยังไม่ควรไป ซึ่งฮอนก็ยกตัวอย่างว่ามีวงไทยอย่าง Desktop Error และ Hariguem Zaboy (ฮาริกึ่ม ซาโบ้ย) ที่คนไต้หวันค่อนข้างรู้จักและหากไปก็น่าจะมีคนดูเยอะ แล้วก็แนะนำว่าควรต้องพก CD และสินค้าไปขายด้วย เพราะนอกจากเพื่อหารายได้ ก็เพื่อสร้างฐานแฟนเพลงที่นั่นด้วย
นอกจากนี้เขาก็บอกว่าหากวงไหนอยากไปเล่นที่ญี่ปุ่น ให้ลองไปไต้หวันดูก่อน เพราะญี่ปุ่นถือว่าปราบเซียนพอสมควร อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกับบ้านเราค่อนข้างมาก ส่วนไต้หวันนั้นวัฒนธรรมของเรายังค่อนข้างใกล้เคียงกันมากกว่า ผนวกกับค่าครองชีพที่ไม่แพงเท่าญี่ปุ่น ก็จะทำให้สบายกระเป๋าสตางค์กว่ามาก
สรุป
จากข้อมูลที่มี เรียกได้ว่าการไปทัวร์ไต้หวันไม่ใช่หนทางหารายได้ที่ดีเลย แต่เป็นการทำการตลาดและหาประสบการณ์มากกว่า ซึ่งหากทำได้ดี วงมีชื่อเสียงที่ไต้หวันมากขึ้น ก็จะสามารถเรียกค่าตัวได้ รวมทั้งอาจจะได้แสดงในงานที่มีงบสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาแสดงก็ได้ แล้วก็อาจจะช่วยให้วงเป็นที่นิยมมากขึ้นในเมืองไทย มีงานเล่นมากขึ้น ดีไม่ดีอาจมีผู้จัดจากประเทศอื่น ๆ เชิญชวนให้ไปแสดงที่ประเทศเหล่านั้นเพิ่มเติมได้
ขอขอบคุณ John Huang เพื่อนโปรโมเตอร์ไต้หวันผู้ใจดีที่ให้ข้อมูลเรื่องการทัวร์ไต้หวัน หากใครอยากลองคุยกับเขา เขาบอกว่าให้อีเมลไปที่ [email protected] ครับ