เคล็ดไม่ลับ: สอนดนตรีออนไลน์ยังไงให้รู้เรื่อง
- Writer: Malaivee Swangpol
- Visual Designer: Tas Suwanasang
สิ่งแรก ๆ ที่โดนปิดในช่วงโรคระบาดก็คือโรงเรียนสอนดนตรี ทำให้ครูจำนวนมากที่สอนตามโรงเรียนต้องหันมา สอนดนตรีออนไลน์ ซึ่งหลาย ๆ คนก็ต้องประสบปัญหามากมายจนปวดหัว วันนี้เราขอรวบรวมเคล็ดลับในการสอนให้รู้เรื่อง นักเรียนสนุก พ่อแม่แฮปปี้ และคุณครูไม่เหนื่อยจ้า
อินเทอร์เน็ต
คือสิ่งแรกที่ควรคำนึงเป็นอย่างมาก เพราะหากอินเทอร์เน็ตไม่เสถียรแม้เพียงนิดเดียว การเรียนก็จะรู้สึกติดขัดไปหมด ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มเรียน คุณครูและนักเรียนควรตรวจสอบความไวของอินเทอร์เน็ตบ้านตัวเองซะก่อน ถ้าช้าเกินก็จงเปลี่ยน ถ้าเน็ตไม่ถึงห้องที่สอนก็หาที่ทวนสัญญาณ โดยควรเทสความเสถียรของอินเทอร์เน็ต ภาพและเสียงของโปรแกรมที่ใช้กับนักเรียนทุกครั้งก่อนเริ่มสอนประมาณ 5-10 นาที
เป้าหมายของครูและนักเรียน
สิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับการเรียนดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนปกติหรือเรียนออนไลน์ก็ตาม สำหรับเด็กเล็ก เราควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองทุกครั้งเพื่อไม่ให้มีการผิดใจกัน ผู้ปกครองหลายคนฝันอยากให้ลูกเล่นเพลงคลาสสิกยาก ๆ ได้ตั้งแต่ 5 ขวบ (ซึ่งความคิดแบบนี้ถ้าลูกไม่อินคือต้องไปพักก่อน) ในขณะที่บางคนก็แค่อยากให้ลูกได้มีดนตรีในหัวใจ ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจกันก่อนเสมอ โดยเราควรเน้นย้ำว่าการ สอนดนตรีออนไลน์ ไม่อาจทดแทนการเรียนตัวต่อตัวได้ 100% รวมถึงอาจใช้เวลาในการเรียนนานกว่าปกติ วิธีที่ช่วยได้คือให้ผู้ปกครองมานั่งดูเราสอนเพื่อให้เชื่อใจและเข้าใจในตัวผู้สอน โดยสำหรับเด็กโตที่ตั้งใจมาเรียนเอง ก็ควรอธิบายให้ฟังว่าการเรียนดนตรีจะไม่สำเร็จได้เลยหากไม่ซ้อม หากสมัครมาเรียนแล้วก็ต้องเผื่อเวลาสำหรับการซ้อมดนตรี และในเวลาเรียนก็ต้องตั้งใจมาก ๆ เพราะครูไม่สามารถไปชี้โน้ต หรือจัดท่าทางให้ได้เลย
ชนิดของเครื่องดนตรีและระดับความสามารถของผู้เรียน
จริง ๆ แล้วมันไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในการ สอนดนตรีออนไลน์ แต่สำหรับเครื่องดนตรีที่มีสเกลละเอียดอ่อนอย่างเครื่องสายทุกชนิดที่ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นอย่างมากเพื่อให้สามารถจับโน้ตได้ตรง หรือเครื่องเป่าที่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานในการฝึกลม หรือทำรูปปากให้ถูกต้อง ก็อาจจะต้องลองพูดคุยทำความเข้าใจกับนักเรียนว่าอาจจะต้องใช้เวลาปูพื้นฐานนานก่อนจะเล่นได้จริง รวมถึงควรเผื่อใจหากการเรียนออนไลน์ไม่สำเร็จ ซึ่งหากผู้เรียนมีพื้นฐานประมาณนึงแล้ว ก็จะเป็นปัญหาอีกแบบเพราะครูไม่สามารถไปจัดท่านั่ง ท่าเล่น ท่าจับเครื่องดนตรีได้เลย ทำให้นักเรียนต้องลอกเลียนแบบเราเท่าที่ได้
โปรแกรมที่ใช้สอน
หลาย ๆ คนอาจจะรู้จัก Zoom กันแล้ว แต่จริง ๆ ก็ยังมีอีกหลากหลายโปรแกรม/ แอป ที่สามารถช่วยในการสอนของคุณ แถมยังสามารถอัดคลิปตอนสอนเพื่อให้นักเรียนได้ดูย้อนหลังอีกด้วย เรามาดูข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละโปรแกรมกัน
Skype: สามารถวิดีโอคอลได้พร้อมกันถึง 50 เครื่อง และสามารถอัดคลิปได้
Zoom: เสียงดี การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเสถียร สามารถอัดคลิปได้ และเข้าได้ง่าย ๆ เพียงมีลิงก์
Google Hangouts: สามารถวิดีโอคอลได้พร้อมกัน 25 คน สามารถอัดคลิปได้ เข้าได้ง่าย ๆ เพียงมีลิงก์ สามารถเชื่อมเข้ากับ Google Calendar ทำให้ไม่ลืมเข้ามาเรียน
FaceTime: การต่ออินเทอร์เน็ตเสถียร ไม่ต้องสร้างลิงก์หรือแอคเคานท์ เพียงกดโทรก็สอนได้เลย (เฉพาะตระกูล Apple) แต่ไม่สามารถอัดคลิปได้
ทุกโปรแกรมที่เรายกมาสามารถใช้ได้ทั้งมือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ดังนั้นลองเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับคุณครูและนักเรียนดู ซึ่งสิ่งที่หลาย ๆ คนกังวลคือเรื่องเสียง แต่จริง ๆ แล้วไมค์ของมือถือและคอมพิวเตอร์ส่วนมากก็ดีพอจะใช้สอนอยู่แล้ว (ยกเว้นสำหรับกลองชุดที่ควรจะมีไมค์แยกเพื่อรับเสียงพูดโดยเฉพาะ) ดังนั้นขอแค่เทสต์ให้ได้ยินเสียงก็โอเคแล้ว แต่ถ้ามีเสียงดีเลย์กลับไปกลับมา ก็อย่าลืมใส่หูฟังด้วยจ้า
กำหนดเวลาเรียน
ถึงแม้ทั้งนักเรียนและครูจะอยู่บ้านกันตลอดเวลา แต่การเรียนก็ไม่ควรเริ่มและเลิกตามใจ ทั้งสองฝ่ายควรกำหนดเวลาที่เหมาะสมและเริ่มการเรียนการสอนในเวลานั้น ๆ ทุกครั้ง เพื่อให้ไม่ลืมเวลาเรียน มีเวลาซ้อมที่พอเหมาะ และไม่เหนื่อยเกินไปทั้งสองฝ่าย ถ้าเป็นไปได้ ครูก็ควรส่งข้อความไปเตือนว่าใกล้ถึงเวลาเรียนแล้ว ในช่วงสองสามครั้งแรก
เตรียมสอน
อีกข้อที่สำคัญมาก ๆ ไม่ว่าจะสอนออนไลน์หรือไม่ ซึ่งการเตรียมสอนจะช่วยให้ครูและนักเรียนไม่เสียเวลาไปกับการมัวมานั่งหาโน้ต ดาวน์โหลด แล้วค่อยปรินต์ในเวลาเรียน หากสัปดาห์ที่แล้วเรียนใกล้จบเพลง ครูควรส่งโน้ต หรือเพลงให้นักเรียนไว้ล่วงหน้า อย่าลืมว่า การเล่นดนตรีพร้อมกันทางออนไลน์เป็นเรื่องค่อนข้างยาก ควรเตรียม backing track ไว้ให้นักเรียนเปิดเองจะเป็นทางที่ดีกว่า แล้วให้นักเรียนโหลดแอป/โปรแกรมที่จำเป็นเช่น metronome, music speed changer ติดไว้เสมอ โดยครูควรเตรียมพร้อมเล่นเครื่องดนตรีเพื่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียน และเตรียมมือถือ/คอมพิวเตอร์ ให้มีแบตเตอรี่พร้อมใช้
โดยระหว่างการเรียน หากเป็นเด็กเล็ก ครูควรเตรียมกิจกรรมเพื่อดึงความสนใจของนักเรียนไว้ตลอดเวลาไม่ให้หนีไปวิ่งเล่นซะก่อน เช่นอาจจะชวนนักเรียนฟังเพลงที่กำลังจะได้เรียน ให้ตอบคำถามทบทวนบทเรียน เล่นเพลงที่ชอบให้ฟัง ให้มีช่วงพัก ฯลฯ และสำหรับเด็กโตก็ควรมีการบ้านเพื่อไม่ให้นักเรียนลืมสิ่งที่เรียนไปก่อนหน้านี้
ความน่าเชื่อถือ
ไม่ว่าจะเคยเรียนด้วยกันมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ความน่าเชื่อถือจำเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มสอน ทั้งการแต่งตัวที่ควรเหมาะสม (ถึงเราจะอยู่บ้าน แต่ชุดนอนก็คือเก็บไปก่อนนะ) การเตรียมอุปกรณ์การสอน และเตรียมเครื่องดนตรีให้พร้อมเล่น ต่อให้เรามองไม่เห็นคนนอกจอ แต่ผู้ปกครองของนักเรียนก็อาจเดินมาดูและฟังเมื่อไหร่ก็ได้ ให้เราระวังคำพูด และทำตัวเป็นมืออาชีพตลอดชั่วโมงที่สอน
ในชั่วโมงเรียน
- บอกนักเรียนให้ชัดเจนว่ากำลังเรียนอยู่ที่หน้าไหน ห้องไหน เพื่อไม่ให้สับสน
- ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ เล่น ช้า ๆ ชัด ๆ และไม่พูดแทรกกัน
- ให้นักเรียนเปิดไฟในห้องให้สว่างพอที่จะเห็นท่าทาง มือ และการจับเครื่องดนตรี
- สำหรับเด็กเล็ก ควรให้ผู้ปกครองนักเรียนมานั่งด้วยเพื่อช่วยให้นักเรียนมีสมาธิและเข้าใจบทเรียน
- เคารพความเชื่อใจ เวลาและเงินที่นักเรียนให้เรามา ตั้งใจสอนเหมือนเขามาอยู่กับเราด้วย
อ่านจบแล้ว ถ้าใครมีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมก็มาพูดคุยกับเราได้นะ ขอให้สอนอย่างความสุขกันทุกคนจ้า
อ่านต่อ
#dek63 ต้องอ่าน! เรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยไหนดี (อัพเดต ปี 2563)
7 ช่อง YouTube รวมเทคนิคการทำเพลง ที่นักดนตรีทุกคนต้องสับตะไคร้เอาไว้
ยอดฟังมีความหมาย! หลากหลายวิธีที่ Music Streaming ช่วยเหลือศิลปินในวิกฤติโควิด
ทำไมคนฟังเพลงผ่านกันน้อยลงในช่วงกักตัว มันกำลังบอกอะไรเราได้บ้าง