Article Guru

History Of Street Music เรื่องราวของเสียงเพลงเล็ก ๆ ณ มุมถนนหนึ่งในเมืองใหญ่

  • Writer: Geerapat Yodnil

ทุก ๆ วันในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยแสงไฟแยงตา รถราเนืองแน่น และผู้คนผู้เร่งรีบ ภายใต้ความวุ่นวายจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์เหล่านั้น เสียงเพลงดูจะเป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวันที่บอบช้ำมีจำนวนมากมายบนปฏิทิน และก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ร่ำร้องบทเพลงแม้ไม่มีคนฟังอยู่ที่หัวมุมถนนบางแห่งเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกันออกไป ซึ่งบางครั้งคนเหล่านี้นี่เองที่ทำให้วันร้าย ๆ ของเราผ่านไปได้แบบไม่สะบักสะบอมนัก

เคยนึกสงสัยกันรึเปล่าว่าวัฒนธรรมการเล่นดนตรีในที่สาธารณะเริ่มขึ้นจากตรงไหน ทำไมถึงใช้คำว่า ‘วณิพก’ หรือที่ต่างชาติเรียกว่า ‘busker’ แทนสิ่งที่พวกเขาหรือเธอทำ มาหาคำตอบของเสียงเพลงในเมืองใหญ่ไปพร้อม ๆ กันเลย

We are buskers

แรกเริ่มเดิมที การเล่นดนตรีข้างถนนมีจุดกำเนิดมาจากการแสดงที่เรียกว่า street performance หรือ busking (street music จึงไม่ใช่คำที่ใช้เรียกแนวเพลง แต่เป็นคำที่ถูกยกขึ้นมาเรียกการแสดงดนตรีบนท้องถนนมากกว่า) โดยในอดีตจะเป็นการโชว์ทักษะอะไรก็ได้ จะซีเรียสหรือขบขันก็ไม่ว่ากันเพื่อสร้างความบันเทิงให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาแลกกับอาหาร เครื่องดื่ม หรือเงิน

busker-1800s

คำว่า ‘busking’ ถูกบัญญัติใช้ครั้งแรกในภาษาอังกฤษตอนช่วงกลางทศวรรษ 1860s โดยสหราชอาณาจักร ส่วนคำว่า ‘busk’ ที่มาจากคำว่า ‘busker’ (วณิพก) นั้น มีรากมาจากภาษาสเปนว่า ‘buscar’ ซึ่งหมายถึงการเสาะแสวงหานั่นเอง

Busking คือสิ่งที่แทรกตัวอยู่ในวัฒนธรรมของทุกประเทศทั่วโลกมาตั้งแต่อดีต (ถึงแม้จะไม่มีจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ระบุแน่ชัดว่าเมื่อไหร่ แต่เราเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นมาแล้วหลายสิบปีก่อนที่จะมีชื่อเรียกด้วยซ้ำ) ในวัฒนธรรมนักเดินทางอย่างชาวยิปซีสิ่งนี้ถูกเรียกว่า Romani People เป็นทั้งชื่อเรียกและใช้อธิบายความโรแมนติกของดนตรียิปซีไปพร้อม ๆ กัน ส่วนในยุคกลางของฝรั่งเศสนั้นรู้จะจักกันในชื่อ Troubadours กับ Jongleurs และมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปมากมายในอีกหลายประเทศ พร้อมกับรูปแบบการแสดงที่ต่างออกไปตามวัฒนธรรมนั้น ๆ

Pass the Hat

medicine-show

ในช่วงศตวรรษที่ 19 (1850 – 1930) กระแส busking ในอเมริกากำลังนิยมไปด้วยการแสดงที่เรียกว่า ‘medicine show’ รูปแบบของการแสดงก็ตรงตามชื่อของมัน นั่นคือการโฆษณายารักษาโรคและสมุนไพรต่าง ๆ ผ่านการแสดงซึ่งเรียกได้ว่าเป็นละครเวทีขนาดย่อม ๆ และเมื่อโชว์ในแต่ละครั้งจบลง ผู้แสดงก็จะวางหมวกลงกับพื้นเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ชมที่ล้อมวงดูรู้ว่านี่คือเวลาที่พวกเขาสามารถเดินเข้ามาซื้อตัวสินค้าได้แล้ว

medicine-show-2

หลังจากสมัยรุ่งเรืองของ medicine show ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ยุคทองของ one man band การแสดงซึ่งประกอบไปด้วย คนหนึ่งคนกับเครื่องดนตรีหลากชนิดเท่าที่เขาหรือเธอจะสามารถเล่นไปพร้อม ๆ กันได้ ถ้านึกภาพไม่ออกลองเปิดดู mv ของ Coldplay เพลง A Sky Full Of Stars ดูสภาพของ คริส มาร์ติน แล้วคุณจะเข้าใจสิ่งที่เรากำลังพูดถึง

แต่ในปัจจุบัน one man band ได้พัฒนาไปไกลกว่านั้นแล้วด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้เล่นสามารถเปิดลูปเอฟเฟกต์จากอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือเปิดเสียง midi ที่บันทึกเสียงไว้แล้วเล่นดนตรีสดเป็นเรียลไทม์ด้วยตัวคนเดียวได้เลย

one-man-bands-2

It’s Called Folk Music

one-man-bands

ภาพที่ชินตาของนักดนตรีในที่สาธารณะของคุณเป็นอย่างไร? เราขอถือวิสาสะเดาเองเองว่าภาพของผู้ชายหรือผู้หญิงที่เล่นกีตาร์ตัวเดียวแล้วร้องเพลงมักถูกนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ เหตุผลของเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดที่ว่า ‘ดนตรีโฟล์กคือส่วนสำคัญของวัฒนธรรม busking มาเสมอ’ คาเฟ่ ภัตตาคาร บาร์ หรือผับ ล้วนมีแรงบันดาลใจมาจากดนตรีโฟล์กของเหล่า buskers ทั้งนั้น และมีนักดนตรีผู้โด่งดังไม่น้อยที่หัดเดินจากเส้นทางนี้มาก่อนเช่น B.B.King, Tracy Chapman, Beck, Passenger, Tash Sultana, Ed Sheeran เป็นต้น

the-human-be-in

กระแสความนิยมของ busking ถูกผลักให้สูงขึ้นไปอีกในยุค 60s ณ เวลาที่วัฒนธรรมฮิปปี้รุ่งเรือง งานเทศกาลของเหล่า buskers ที่ถูกเรียกว่า ‘Be-In’ เริ่มจากตรงนี้ ตัวงานนี้มีรูปแบบที่คล้ายกับเทศกาลดนตรีในปัจจุบันค่อนข้างมาก แต่ต่างกันตรงที่คนดูสามารถเข้าดูงานได้ฟรี และรายได้อย่างเดียวของนักดนตรีที่เข้ามาเล่นคือการเปิดหมวก หนึ่งในเทศกาลที่สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานี้คืองานที่มีชื่อว่า ‘The Human Be-In’ ในปี 1967 จัดขึ้นใน Golden Gate Park, San Francisco ซึ่งมีไลน์อัพหลักอย่าง Grateful Dead และ Jimi Hendrix (ปัจจุบัน busker festival ยังคงมีอยู่และถูกจัดขึ้นทุกปีในหลายประเทศทั่วโลก โดยในงานเต็มไปด้วยการแสดงทักษะต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงดนตรีด้วย)

Gary Snyder, Michael McClure, and Alan Ginsberg at the Be-In, 1967.

Sunset on the Street

แล้วเหล่า buskers ในปัจจุบันเป็นอย่างไรกันบ้าง? แน่นอนว่าการเปิดหมวกเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่ ซ้ำยังมีการแสดงในรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และแน่นอนว่าเสียงเพลงก็ยังคงมีอยู่… สิ่งที่ต่างออกไปก็คงเป็นการจัดระเบียบที่แสดงให้เห็นว่า busking คือสิ่งที่สำคัญมากขึ้น และเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียคือตัวอย่างที่ดีของผู้สนับสนุนในเรื่องนี้

melbourne-busker

ล่าสุด Robert Doyle นายกเทศมนตรีของเมืองนี้กำลังเร่งให้การมีอยู่ของ buskers ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ “การมีอยู่ของพวกเขาช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีมาก และผมเชื่อว่าพวกเขาจะทำให้เมืองของเรากลายเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ที่สุดของโลก” ซึ่งแผนการสำหรับ buskers ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าและคาดว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ภายใน 6 ปี ทั้งต้องออดิชันเพื่อเข้าเล่น จำกัดพื้นที่ที่เปิดให้เล่นได้ แต่ล่าสุด (2017) ยังมีการแก้ไขในหลาย ๆ จุดอยู่ เช่น เรื่องเสียงที่มีคุณภาพค่อนข้างต่ำและอยู่ในระดับที่ดังเกินไปสำหรับชุมชน แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ก็มีเหล่า buskers เก่าแก่ของเมืองบางส่วนค่อนข้างไม่เห็นด้วยเพราะจะเป็นการทำให้การมีอยู่ของพวกเขาและเธอลดน้อยลง และมันจะลดทอนคุณค่าของ busking ลงไป  

melbourne-busker-2

แต่ไม่ว่าผลในเมลเบิร์นจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญก็คือเสียงเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่นี้ยังคงถูกให้ค่าความสำคัญที่มากมายต่อจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นเสมอ ด้วยเหตุผลที่เราเชื่อว่าเสียงเพลงเหล่านั้นจะช่วยให้วันที่เหนื่อยล้าดูไม่ยากลำบากจนเกินไปที่จะใช้ชีวิต : )

 

อ้างอิง
http://www.abc.net.au/news/2017-09-15/melbourne-buskers-to-face-public-auditions-under-new-plan/8950680
http://www.gutenberg.us/articles/history_of_busking
http://cultureandcommunication.org/deadmedia/index.php/Traveling_Medicine_Show
Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน