เห็ดyoung เข้ามอฯ @มหิดล – การระดมทุนมวลชนสำหรับวงดนตรี
- Writer: Piyapong Muenprasertdee
“งานสัมมนา เห็ดyoung ของฟังใจ เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย!”
เห็ดyoung คืองานสัมมนา/เวิร์คช็อปเกี่ยวกับวงการดนตรี ที่มีการจัดขึ้นอย่างเป็นประจำทุก 2-3 เดือนโดยบริษัท ฟังใจ จำกัด ด้วยนโยบายของบริษัทที่ต้องการมีส่วนช่วยในการพัฒนาวงการดนตรีของประเทศไทย และเนื่องด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการให้การศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์ เทคโนโลยี และวิชาความรู้ใหม่ๆ ที่อาจไม่ได้สอนในห้องเรียน จึงได้ริเริ่มโครงการ “เห็ดyoung เข้ามอ แพร่ spore ทางความคิด” ที่จัดโครงการ เห็ดyoung ในรั้วมหาวิทยาลัยนี้ขึ้น
เห็ดyoung เข้ามอ แพร่ spore ทางความคิด @ ม.มหิดล (ศาลายา)
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล – วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2558 (10.00-12.00)
ในงานสัมมนาครั้งนี้ ฟังใจได้เรียนเชิญวิทยากรพิเศษ คือ คุณโอ่ง ‘ณัฐชา ปัทมพงศ์’ นักร้องนำและผู้จัดการวง Mellow Motif มาบรรยายประสบการณ์ รวมทั้งอธิบายกระบวนการการคิด วางแผน ทำงาน และจัดการ โครงการระดมทุนจากแฟนเพลงเพื่อหาทุนมาบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่ Ao Vivo! ที่กำลังจะวางจำหน่ายเร็วๆนี้
โครงการระดมทุนสำหรับทำอัลบั้ม Ao Vivo! นี้ ถือได้ว่าเป็นโครงการระดมทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของวงการดนตรีไทยในปัจจุบันนี้ก็ว่าได้ โดยระดมทุนจากแฟนเพลงของเขาได้เป็นจำนวนกว่า 300,000 บาท ทำให้สามารถไปอัดเสียงในสตูดิโออัดเสียง Studio 28 โดยมีแฟนเพลงรวมแล้วกว่า 120 คนในเวลา 2 วัน ที่ซื้อบัตรเข้าไปชมการอัดเสียงสดพร้อมกันทุกเครื่องดนตรี
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่ได้นำเนื้อหาที่คุณโอ่งบรรยายมาเขียนสรุปให้อ่าน แต่จะนำเพียงเนื้อหาส่วนที่ได้บรรยายด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Crowdfunding ดังต่อไปนี้
1. Crowdfunding คืออะไร?
Crowdfunding ถ้าแปลตรงตัวก็คือ “การระดมทุนจากมวลชน” ซึ่งก็หมายถึงการหาเงินจากคนจำนวนมากๆ มาทำอะไรซักอย่างหนึ่ง แต่สำหรับปัจจุบันนี้ มันมักจะหมายถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้ในการระดมเงินทุน เพื่อมาทำงาน ทำโปรเจกต์ หรือเพื่อการกุศล ซึ่งแพลตฟอร์มที่คนน่าจะรู้จักกันมากที่สุดก็คือ KickStarter.com และ IndieGoGo.com
แต่จริงๆแล้ว แพลตฟอร์ม Crowdfunding นั้นมีอยู่มากมายหลายแพลตฟอร์มด้วยกัน และบางอันก็มีความเฉพาะทางของโปรเจกต์อยู่ เช่น PledgeMusic.com จะเน้นไปทางดนตรี; StartSomeGood.com เน้นไปทางองค์กรการกุศลและไม่แสวงหาผลกำไร สำหรับประเทศไทย ก็มีแพลตฟอร์มของตัวเองอยู่เหมือนกัน เช่น TaeJai.com (เทใจ) ที่เน้นโปรเจกต์การกุศล; AfterWord.co ที่ระดมทุนเพื่อพิมพ์หนังสือ; และ Creative Space ของ Ookbee.com ที่เปิดให้ทำโปรเจกต์ครีเอทีฟแบบไหนก็ได้
1.1 หลักการของ Crowdfunding
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่ได้นำเนื้อหาที่คุณโอ่งบรรยายมาเขียนสรุปให้อ่าน แต่จะนำเพียงเนื้อหาส่วนที่ได้บรรยายด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Crowdfunding ดังต่อไปนี้
การทำโปรเจกต์ให้สำเร็จต่อไป
พูดแล้วก็เหมือนว่าจะไม่ยาก เพราะคนบนโลกนี้ก็มีมากมาย เพียงเจียดมาคนละนิดละหน่อยจากทั่วโลก ก็เป็นเงินมหาศาลสำหรับเราแล้ว แถมบางคนอาจจะคิดว่า แพลตฟอร์ม Crowdfunding น่าจะเป็นแหล่งรวมตัวของคนที่ชอบสนับสนุนโปรเจกต์ต่างๆอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าไปโพสต์ที่นั่น ก็น่าจะสำเร็จได้ไม่ยาก
แต่ทว่าในความเป็นจริง มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นเลย ซึ่งสามารถดูได้จากสถิติในเว็บไซต์ของ KickStarter ว่าโปรเจ็กต์มากกว่า 60% ล้มเหลว แถมจำนวนคนที่จ่ายเงินสนับสนุนโปรเจกต์กว่า 70% เคยสนับสนุนเพียงครั้งเดียว
1.2 ประเภทของ Crowdfunding
รูปแบบของ Crowdfunding แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- การบริจาค หมายถึง การให้เปล่า โดยไม่จำเป็นต้องให้อะไรเป็นการตอบแทนก็ได้
- การซื้อขายสินค้า/บริการ หมายถึง การซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมา เพื่อนำเงินไปใช้ในการทำงาน
- การร่วมหุ้น หมายถึง การขอเงินมาเพื่อลงทุน และหากได้กำไร ก็ต้องนำไปจัดสรรคืนให้แก่ผู้ร่วมทุน
จากรูปแบบทั้ง 3 ข้างต้น ผู้อ่านน่าจะเข้าใจ 2 รูปแบบแรกได้ง่ายที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติแล้ว คนทั่วไปก็ต้องการสิ่งตอบแทน ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบ สิ่งตอบแทนภายนอก (Extrinsic Reward) คือ เป็นสิ่งของ รางวัล ส่วนลด คำสรรเสริญเยินยอ ฯลฯ หรืออีกรูปแบบหนึ่งคือ สิ่งตอบแทนภายใน (Intrinsic Reward) คือ ความสุขกายสบายใจ ความภาคภูมิใจ เป็นต้น โดยสิ่งตอบแทน 2 ประเภทนี้ ผู้อ่านน่าจะวิเคราะห์ตามได้ง่ายๆ ว่าสิ่งตอบแทนภายนอกอาจจะทำได้ง่ายกว่า โดยยึดถือพื้นฐานของความคุ้มค่า เช่น ถ้าจ่ายเงินตอนนี้จะได้รับส่วนลดพิเศษ ฯลฯ แต่สิ่งตอบแทนภายในน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้โปรเจกต์ประสบความสำเร็จได้ดีกว่าและราบรื่นกว่า จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จริงๆแล้ว Crowdfunding ควรจะถูกเรียกว่า Peerfunding และ Tribefunding มากกว่า
Peerfunding – การระดมทุนจากคนใกล้ตัว
คำว่า Peerfunding ประกอบไปด้วยคำว่า Peer ที่หมายถึงบุคคลที่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่น พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมอาชีพ เพื่อนร่วมองค์กร ฯลฯ เป็นเหล่าบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ หรือมีความเข้าอกเข้าใจตัวผู้ต้องการระดมทุน ซึ่งพอจะวิเคราะห์ได้จากสถิติที่ยกมาข้างบนว่าจำนวนคนที่จ่ายเงินสนับสนุนโปรเจกต์กว่า 70% เคยสนับสนุนเพียงครั้งเดียว ก็อาจจะอธิบายได้ดีว่าผู้คนที่สนับสนุนโปรเจกต์นั้น มีความเจาะจงในการสนับสนุนโปรเจกต์ที่ตนสนใจเป็นพิเศษเท่านั้น ซึ่งอาจแสดงถึงความใกล้ชิดที่เขามีต่อผู้ต้องการระดมทุน
Tribefunding – การระดมทุนจากคนพันธุ์เดียวกัน
คำว่า Tribe ในที่นี้แปลตรงตัวคือ “ชนเผ่า” ซึ่งในแง่การตลาด หมายถึงคนที่มีแนวคิดเดียวกัน ไลฟ์สไตล์เดียวกัน หรือมองเห็นคุณค่าของชีวิตและสิ่งต่างๆ เหมือนๆกัน เป็น “คนพันธุ์เดียวกัน” นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่ชอบมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ยี่ห้อเดียวกัน กลุ่มคนที่มีงานอดิเรกเหมือนๆกัน ฯลฯ ซึ่งก็อาจจะใช้อธิบายความเจาะจงของกลุ่มคน 70% ที่เคยสนับสนุนโปรเจกต์ระดมทุนที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ได้เช่นกัน
2. Crowdfunding สำหรับดนตรี
วิถีปฏิบัติปรกติสำหรับศิลปินที่อยู่ในค่ายนั้น ค่ายเพลงจะให้ทุนกับศิลปินและโปรดิวเซอร์ไปทำเพลงมา พอทำแล้วขายได้เท่าไร ค่ายก็จะเก็บเอาไว้ จนกว่าจะทำกำไรได้ถึงเป้า จึงจะจ่ายส่วนแบ่งกลับไปให้ศิลปิน ซึ่งวิธีนี้ทำให้อำนาจการต่อรองต่างๆ รวมถึงกำไร ตกไปอยู่ที่ค่ายเพลงและคนกลางคนอื่นๆเกือบทั้งหมด สุดท้ายแล้วศิลปินอาจมีรายได้น้อยมากๆ และไม่สามารถทำเพลงได้อย่างที่ตนเองต้องการจริงๆเลย
Crowdfunding ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ศิลปินไม่ต้องง้อค่ายเพลง เป็นการขอทุนมาจากแฟนเพลงโดยตรง รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการสื่อสารกับแฟนเพลงโดยตรง ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของแฟนเพลงได้มากขึ้น แถมไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับค่ายเพลงอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น หากจะสรุปแล้ว จุดประสงค์ของ Crowdfunding สำหรับดนตรีนั้นมี 3 ข้อด้วยกัน คือ
- ไม่ใช่การขอความสงสาร และไม่ใช่การขอบริจาค
- เป็นการตัดคนกลางออกไป ทำให้แฟนเพลงจ่ายน้อยลง และศิลปินได้เงินมากขึ้น
- เป็นการลดระยะห่าง เพิ่มความใกล้ชิดระหว่างศิลปินกับแฟนเพลง
3. อยากทำ Crowdfunding ดนตรีในไทย ต้องทำอย่างไร?
Crowdfunding ยังไม่ใช่วิธีการที่นิยมนักในประเทศไทย หากคุณมีวงดนตรีที่ต้องการระดมทุนจากแฟนเพลงเพื่อมาสร้างผลงาน ก็ควรต้องวิเคราะห์พฤติกรรมและความเป็นไปได้ก่อน ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำไว้ว่า ควรเริ่มจากสิ่งที่คนไทยชินหรือเข้าใจอยู่แล้วน่าจะดีที่สุด เช่น
3.1 ประเภทของ Crowdfunding ที่เลือกใช้
ใน 3 ประเภทของ Crowdfunding ที่เสนอในข้อ 1.2 คนไทยจะเข้าใจเรื่องการบริจาค และการซื้อสินค้า/บริการอยู่แล้ว แต่การร่วมหุ้นนั้นดูจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเกินไปในตอนนี้
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เคยได้ยินมา ว่าที่ประเทศอังกฤษ เคยมีค่ายเพลงหนึ่งที่เปิดโอกาสให้แฟนเพลงซื้อหุ้นของวงดนตรีในค่าย ซึ่งหากมีคนซื้อครบ ก็จะเริ่มผลิตผลงาน และเมื่อสร้างรายได้สร้างกำไร ก็จะนำกำไรที่ได้นั้นมาจ่ายให้กับแฟนเพลงที่ซื้อหุ้นไป
3.2 วัฒนธรรมและนิสัยของคนไทย
หากดูตามผลการศึกษาขององค์กร Charities Aid Foundation ปี 2014 พบว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกในด้านการบริจาคเงินเพื่อการกุศล แต่กลับตกไปอยู่อันดับที่ 70 และ 106 เมื่อเป็นการสละเวลาเพื่อการกุศล และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า ตามลำดับ ซึ่งเหตุผลที่อาจสามารถอธิบายเหตุการณ์นี้ก็คือ วัฒนธรรมการบริจาคเพื่อกิจกรรมทางศาสนาเป็นสิ่งที่นิยมอยู่แล้ว เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ซึ่งทำให้การบริจาคเงินนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายดาย แต่การสละเวลาเป็นเรื่องที่ยากเพราะชีวิตที่วุ่นวาย ทำให้ไม่มีเวลาว่าง และการช่วยเหลือคนแปลกหน้าก็อาจมาจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะประเทศไทยถือว่ามีอัตราอาชญากรรมค่อนข้างสูง จึงทำให้ผู้คนระวังตัวเป็นพิเศษ
สำหรับ Crowdfunding หากไม่ใช่โปรเจกต์ที่เป็นการบริจาคเงินเพื่อการกุศลแล้ว ก็อาจถือได้ว่าตกไปสู่หัวข้อการช่วยเหลือคนแปลกหน้า อีกทั้งการเข้าไปศึกษาโปรเจกต์ระดมทุนอาจต้องเสียเวลา ทำให้คาดการณ์ได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่น่าจะไม่สนใจโปรเจกต์การระดมทุนทั่วไปนัก เพราะฉะนั้น ผู้ทำโปรเจกต์ระดมทุนอาจต้องมีกลยุทธ์ในการผนวกการกุศลเข้าไปอยู่ในโปรเจกต์ของตนเอง เช่น รายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศล เป็นต้น
3.3 วิธีการที่เลือกใช้
วิธีการในที่นี้ หมายถึงวิธีการอย่างเช่น การ pre-order ที่คนไทยบางคนเริ่มเห็นใน iTunes Store ว่ามีการสั่งซื้อเพลงล่วงหน้าก่อนที่จะปล่อยออกมา อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการซื้อสินค้าสนับสนุน เช่น ขายเสื้อยืดลายพิเศษเพื่อนำเงินไปทำโปรเจกต์ เป็นต้น
3.4 ช่องทางการเผยแพร่
ผู้ต้องการระดมทุนอาจจะเลือกใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายตัวเอง เช่น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube หรือออกไปจัดกิจกรรมข้างนอก เช่น การเปิดหมวก จัดงานอีเว้นต์ ฯลฯ ไม่ต้องใช้แพลตฟอร์มการระดมทุนจริงๆก็ได้ เช่น KickStarter.com เพราะคนไทยยังถือว่าใช้น้อยอยู่ หรือหากจะใช้ ก็ควรเลือกอันที่เป็นของไทย เช่น TaeJai.com (เทใจ), AfterWord.co หรือ Creative Space
3.5 ช่องทางการรับเงินที่สะดวก
สุดท้าย ผู้ทำโปรเจกต์ควรต้องเลือกช่องทางการรับเงินที่สะดวก และเป็นที่เข้าใจอยู่แล้วสำหรับคนไทย เช่น การโอนเงินผ่าน ATM หรือบัญชีธนาคารโดยตรง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช้บัตรเครดิต แต่ก็จะค่อนข้างยุ่งยาก ต้องคอยตรวจเช็คว่าใครโอนเงินให้เมื่อไร เท่าไร อย่างไร ฯลฯ ซึ่งหากให้ใช้แพลตฟอร์มการระดมทุนที่มีอยู่แล้ว ก็จะช่วยลดความยุ่งยากเหล่านี้ให้น้อยลงได้
สรุป
Crowdfunding เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย และวงการดนตรีของไทย เพราะฉะนั้นหากจะทำ ก็ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ และทำงานอย่างมีวินัย ดังที่คุณโอ่งได้บรรยายไว้ (แต่ไม่ได้นำมาเขียนนะ)
สนใจให้ฟังใจไปจัดสัมมนา “เห็ดyoung เข้ามอฯ” บ้างมั้ย?
สนใจที่จะให้ฟังใจไปจัดงานสัมมนา “เห็ดyoung เข้ามอฯ” ที่สถานศึกษาของคุณเองบ้างหรือเปล่า? หากสนใจ สามารถเขียนอีเมลที่ระบุรายละเอียดของหัวข้อที่ต้องการให้จัดสัมมนา วันที่หรือช่วงระยะเวลาที่ต้องการให้จัด ข้อมูลของสถานศึกษา รวมทั้งข้อมูลการติดต่อของผู้ประสานงาน เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา หรือตัวแทนนิสิต/นักศึกษา/นักเรียน เข้ามาได้ทางอีเมล [email protected] หรือ [email protected] (พาย) ได้เลย!
บทความเขียนโดย: ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี (พาย) – Community Manager & Co-founder บจก. ฟังใจ