ไขปริศนา เวลาฟังเพลงโดนใจ แล้วทำไมเราถึงขนลุก
- Writer: Piyakul Phusri
- Illustrator: Benyatip Sittiwej
ใครเคยฟังเพลงแล้วขนลุกบ้าง?
อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เคยเกิดความรู้สึกแบบนี้ แต่เชื่อว่าหลายคนคงผ่านประสบการณ์ขนลุกซู่หลังจากได้ฟังบางท่อนของเพลง เนื้อหาที่โดนใจ โน้ตบางตัวที่เข้ามาอย่างถูกจังหวะ หรือเสียงโซโล่กีตาร์ที่กรีดลึกลงไปในร่างของเรา เสียวสันหลังวาบเหมือนมีกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ วิ่งผ่าน รูขุมขนปูดเป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนหนังไก่โดนถอนขน ก่อนจะครางออกมาเบา ๆ ว่า อา….เพลงแม่งดีเหี้ย ๆ (ซึ่งฝรั่งเรียกอาการขนลุกว่า goosebumps – ตูดห่าน…)
อาการทางร่างกายแบบนี้เรียกว่า ‘frisson’ (ฟริส–ซง) มาจากภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า รู้สึกวาบหวาม อารมณ์แบบว่าบังเกิดความสุขที่เกิดมาจากสุนทรียะบางอย่าง เหมือนกระแสความสุขนั้นอาบไล้ไปทั่วร่างกายจนปลุกให้ขนลุก ฝรั่งบางคนก็เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘skin orgasm’ (จะแปลว่า การถึงจุดสุดยอดทางผิวหนัง ก็ดูจั๊กจี้พิกล เรียกทับศัพท์ไปละกัน)
ปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดได้ทั้งในขณะฟังเพลง ดูภาพเขียน ดูบางฉากในหนัง หรือการได้สัมผัสเนื้อตัวคนอื่น (แต่การแตะตัวคนอื่นแล้วไฟดูดนี่ไม่เกี่ยวนะ มันเป็นเรื่องของไฟฟ้าสถิต) โดยจากการศึกษาหลายชิ้นระบุว่าประชากรร้อยละ 55 – 86 สามารถสัมผัสถึงอาการ frisson นี้ได้
แต่ทำไมคนเราถึงเกิดอาการขนลุกขนชัน เสียวสันหลังวาบ ๆ เวลาฟังเพลงที่โดนใจกันล่ะ?
จากผลการศึกษาจำนวนมากตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอาการ frisson เป็นปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อเราเผชิญกับสิ่งเร้าทางอารมณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น เพลงที่มีทำนองที่เราคาดไม่ถึงว่าศิลปินจะเล่นออกมาแบบนี้ การเปลี่ยนระดับเสียงอย่างฉับพลัน หรือท่อนแรกของการโซโล่เครื่องดนตรี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิด frisson เพราะมันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ยินได้ฟัง เป็นคำอธิบายที่ดีว่าทำไมเราถึงรู้สึกช็อกเล็ก ๆ เวลาเห็นคนที่ลุคไม่น่าจะร้องเพลงเพราะมาประกวดร้องเพลง แต่พอร้องขึ้นมาคำแรกก็มีเสียงที่วิเศษจนทำให้คนร้องว้าวทั้งสตูดิโอ อย่างตอนคุณป้า Susan Boyle ร้องเพลง I Dreamed a Dream บนเวทีการประกวด Britain’s Got Talent ในปี 2009 ที่ทำเอาคนอังกฤษต้องร้อง ‘โอ้ววว! ป้าโคตรเจ๋ง!’ กันทั้งประเทศ (ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ การตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอกว่าเขาน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยที่ไม่ได้รู้จักเขาเลยก็เป็นนิสัยเสียของมนุษย์เหมือนกันทุกที่ไป)
แล้วทำไมขนลุกสยิว ๆ ถึงเป็นอาการแรก ๆ ของการเกิด frisson ก่อนที่จะตามมาด้วยความรู้สึกปิติยินดี?
นักวิทยาศาสตร์บางคนเสนอว่าอาการการขนลุกเป็นสิ่งตกค้างจากบรรพบุรุษสมัยที่มนุษย์ยังมีขนปุกปุย ซึ่งรักษาความอบอุ่นของร่างกายด้วยชั้นเก็บความร้อนใต้ผิวหนังที่มีขนปกคลุม ขนพวกนี้ก็จะตั้งชันเมื่อร่างกายเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลัน เช่น จากร้อนจัดมาเป็นหนาวจัด จากการอยู่ในที่ร่มแล้วมาตากแดด เมื่อร่างกายปรับตัวได้ ขนก็จะลู่ตัวลงเหมือนเดิม แต่พอมนุษย์เรามีวิวัฒนาการ รู้จักประดิษฐ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ระบบขนลุกนี้ก็ด้อยความสำคัญในทางชีวภาพลง เหลืออยู่เพียงหรอมแหรมไว้ดูต่างหน้า แต่โครงสร้างทางสรีระที่เกี่ยวข้องกับระบบขนลุกเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายยังคงอยู่เหมือนเดิม และอาจจะเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นระบบที่ทำให้เกิดความสุขสมอารมณ์หมายเมื่อร่างกายต้องเผชิญกับสิ่งเร้าทางอารมณ์ที่สวย ๆ งาม ๆ แทน
สำหรับความรู้สึกตรงข้ามกับความสุขในการฟังเพลง นั่นคือเวลาที่เรารู้สึกเศร้า หรือร้องไห้หลังจากฟังเพลง มีผลวิจัยชี้ว่าที่เราร้องไห้เวลาฟังเพลงเป็นเพราะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจบังเกิดขึ้นมาในตัวเรา ยิ่งใครฟังเพลงแล้วอินจนร้องไห้เป็นเผาเต่า ยิ่งมีแนวโน้มว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นรอบข้างมากกว่าคนที่ฟังเพลงแล้วเฉย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นเรื่องที่ดี (บางคนอาจจะเถียงว่า กูฟังเพลงแล้วร้องไห้เพราะกูเห็นใจตัวเองต่างหาก เราก็ไม่เถียง แต่ผลการศึกษาทางจิตวิทยาชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการร้องไห้เพราะเสียงเพลงนอกเหนือไปจากความรู้สึกเศร้าเป็นการส่วนตัว)
งานศึกษาของ Dr. Amani El-Alayli ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมแห่ง Eastern Washington University ยังได้ขุดลึกลงไปอีกว่าทำไมบางคนถึงรู้สึกขนลุกขนชันหรือ frisson เวลาได้สัมผัสกับอะไรที่ถูกใจ แต่บางคนก็ไม่เกิดอาการแบบเดียวกัน โดยได้ทดลองให้อาสาสมัครฟังบางส่วนของบทเพลงของ J.S.Bach, Chopin, Air Supply, Vangelis และ Hans Zimmer โดยติดตั้งเซนเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง (Galvanic Skin Response – GSR) เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะฟังเพลง พบว่าอาสาสมัครที่เกิดอาการ frisson เป็นคนที่มีนิสัยชอบเปิดรับประสบการณ์ต่าง ๆ มีจินตนาการบรรเจิด ชอบความสวยงาม และธรรมชาติ ชอบค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ มักจะแสดงออกทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง และชอบความหลากหลายในชีวิต ภาวะขนลุกขนชันจากการฟังเพลงที่ชอบจึงเป็นทั้งส่วนผสมของอุปนิสัยส่วนบุคคล และกลไกการตอบสนองทางระบบประสาท นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychology of Music ยังระบุว่า คนที่ชอบฟังเพลงลึก ๆ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเพลงที่ตัวเองชอบมากกว่าแค่ฟัง ๆ ไป มีแนวโน้มที่จะเกิด frisson ได้บ่อย และมากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย
ยังมีคำอธิบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟังเพลงแล้วเกิดอาการขนลุก เช่น เป็นการตอบสนองของร่างกายที่เกิดจากการหลั่งสารความสุขในสมอง (dopamine) แต่เราเชื่อว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้มันยังไม่จบหรอก และในอนาคตอาจจะมีคำอธิบายอื่น ๆ ตามมาอีกก็ได้ เพราะระบบสมองของมนุษย์มันซับซ้อนมาก ๆ และไม่รู้เมื่อไหร่มนุษย์ถึงจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในกะโหลกของตัวเองได้อย่างถ่องแท้
แต่ถ้าใครจะรวมกลุ่มคนที่ชอบฟังเพลงแล้วขนลุกมาตั้งเป็น ‘สมาคมขนแขนลุก’ เราว่าก็น่าสนใจดี และถ้ามีจริง ๆ ก็จะขอสมัครสมาชิกด้วยคนเหมือนกัน
ที่มา: