Article Guru

เพลงท้องถิ่นโกอินเตอร์ ตอนที่ 2: เทศกาลดนตรีนานาชาติ ประตูสู่เวทีโลก

  • Writer: Piyapong Muenprasertdee and Kamolkarn Kosolkarn

จากตอนที่แล้วที่เรายกตัวอย่างให้เห็นถึงศิลปินในพื้นที่เเถบเอเชีย ที่สามารถนำพาเพลงที่ร้องด้วยภาษา อีกทั้งเอกลักษณ์ดนตรีท้องถิ่น ให้ไปโด่งดังได้ในระดับสากล สำหรับเห็ดกูรูตอนที่ 2 นี้ ฟังใจซีนขอนำเสนอ “พื้นที่” ในรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ศิลปินนักดนตรีได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของบทเพลงให้กับผู้ฟังหมู่มาก นั่นก็คือเทศกาลดนตรี ที่เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่จะนำพาพวกเขาไปให้ชาวโลกได้รู้จัก

หากพูดถึงเทศกาลดนตรี ใครหลายๆ คนอาจจะนึกถึงเทศกาลดนตรีในตำนานอย่าง Woodstock ที่อเมริกา หรือ Glastonbury ที่อังกฤษ ส่วนเทศกาลดนตรีในเอเชียที่ค่อนข้างใหญ่ ก็มีอย่างเช่น Fuji Rock และ Summer Sonic ที่ประเทศญี่ปุ่น; Modern Sky Festivalของจีน; Jisan Valley Rock Festival ของเกาหลีใต้; Baybeats และ Laneway ที่สิงคโปร์; และ Rainforest World Music Festival ที่มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเองก็มีอย่างเช่น Big Mountain Music Festival ที่เขาใหญ่ และ Pattaya Music Festival ที่เมืองพัทยา แถมยังมีเทศกาลดนตรีเล็ก ๆ อีกมากมาย ที่จัดโดยผู้จัดรายเล็ก ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้

สิ่งที่ควรทำก่อนเป็นอย่างแรกก่อนคิดไปเล่นงานเทศกาลดนตรี ก็คือต้องพัฒนางานดนตรีและฝีมือของตัวเองและสร้างฐานกลุ่มแฟนเพลงที่เหนียวแน่นให้ได้เสียก่อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้เล่นในงานเทศกาลเหล่านั้น

เทศกาลดนตรีหลาย ๆ เทศกาล มีการเชิญชวนศิลปินจากต่างประเทศมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้วงดนตรีวงหนึ่งได้เป็นที่รู้จักนอกเหนือจากแค่ภายในประเทศตัวเอง เป็นการขยายฐานแฟนเพลง เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ แถมบางครั้งยังได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ช่วยทำให้คนในประเทศตัวเองหันมาสนใจมากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างการทัวร์ยุโรปของวง Paradise Bangkok Molam International Bandช่วยทำให้คนไทยด้วยกันเองยอมรับมากขึ้น

2-1

แต่การจะได้มีโอกาสเล่นดนตรีในงานเทศกาลดนตรีเองก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย ไหนจะต้องสมัคร ต้องประกวด ต้องให้คณะกรรมการเขาคัดเลือก ต้องรอให้เขาส่งจดหมายมาเรียนเชิญ ฯลฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก่อนเป็นอย่างแรกก่อนคิดไปเล่นงานเทศกาลดนตรี ก็คือต้องพัฒนางานดนตรีและฝีมือของตัวเอง และสร้างฐานกลุ่มแฟนเพลงที่เหนียวแน่นให้ได้เสียก่อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้เล่นในงานเทศกาลเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนอยากขอเขียนถึงเทศกาลดนตรีบางงาน อิทธิพลที่งานนั้นมีต่อศิลปินและผู้จัด รวมทั้งยกตัวอย่างเคสที่น่าสนใจมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันครับ/ค่ะ

เทศกาลดนตรีช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษ

2-2

Glastonbury ของอังกฤษ คือหนึ่งในเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ซึ่งสหราชอาณาจักรนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่อุตสาหกรรมดนตรีสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล มากถึง 3.8 พันล้านปอนด์ (5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2013 โดยมาจากอุตสาหกรรมการแสดงดนตรีสดถึง 789 ล้านปอนด์ (1.2  พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ด้วยกัน (ที่มา: รายงาน Measuring Music September 2014 โดยองค์กร UK Music)

เทศกาลดนตรีขนาดเล็กที่จัดโดยผู้จัดงานอิสระในอังกฤษก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเพิ่มจำนวนอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษที่ผ่านมา โดยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ระว่างปี 2010 ถึง 2014 ได้สร้างรายได้รวมให้กับประเทศถึง 1 พันล้านปอนด์ (1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตามรายงานขององค์กร Association of Independent Festivals (AIF)

Modern Sky Festival – จากเวทีจีนสู่เวทีโลก

2-3

Shen Lihui เป็นนักศึกษาศิลปะและเป็นผู้ที่หลงใหลในเสียงดนตรี เขาก่อตั้งค่ายเพลงชื่อ Modern Sky ขึ้นในปี 1997 เพราะไม่มีค่ายไหนตอบรับเพลงจากวงดนตรีของเขา Sober จนมาถึงในวันนี้ Modern Sky เป็นหนึ่งในค่ายเพลงที่มือชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน และเป็นผู้นำหนึ่งในธุรกิจจัดงานอีเว้นท์ของประเทศอีกด้วย ซึ่งปีนี้ (2015) มีแผนจะจัดเทศกาลดนตรี 24 เทศกาลในจีน; 2 เทศกาลในอเมริกา; และ 1 เทศกาลในยุโรป

Modern Sky ได้เริ่มต้นจัดเทศกาลดนตรี Modern Sky Festival ในปี 2007 แล้วในปี 2009 ได้เริ่มจัด Strawberry Music Festival ในกรุงปักกิ่ง ด้วยคอนเส็ปต์ดนตรีสไตล์โฟล์ค ๆ อาร์ต ๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 20,000 คน และในเดือนพฤษภาคมปี 2014 ได้จัดงาน Strawberry Music Festival ที่กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ในเวลาเดียวกัน โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 260,000 คน โดยปักกิ่งมี 8 เวที 160 วง และเซี่ยงไฮ้มี 5 เวที 100 วง ต่อมามีการขยายการจัดงาน Strawberry Music Festival ไปในเมืองใหญ่กว่าสิบเมืองทั่วประเทศ เช่น เฉิงตู เซินเจิ้น และซีอาน จนกลายเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

2-4

แม้ในปัจจุบันประเทศจีนจะมีการจัดเทศกาลดนตรีขึ้นมามากมาย บางเทศกาลก็เป็นดนตรีร็อคหรือเทศกาลดนตรีแจ๊ส แต่สำหรับ Strawberry Music Festival แล้ว จะเน้นการผลักดันวงดนตรีอิสระและสนับสนุนวัฒนธรรมความสร้างสรรค์ เพราะนอกจากดนตรีแล้ว ภายในงานยังมีเรื่องของแฟชั่น งานออกแบบ และศิลปะ เพื่อเป็นพื้นที่ให้หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงไอเดียความสร้างสรรค์ของตัวเองอีกด้วย

เมื่อเดือนตุลาคม 2014 Modern Sky ได้ไปจัดเทศกาลดนตรี Modern Sky Festival ในต่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศอเมริกา ณ เมืองนิวยอร์ค เพื่อทำให้วงดนตรีอิสระจากประเทศจีนได้เป็นที่รู้จักในอเมริกามากขึ้น โดยในปีนี้จะมีการจัดเพิ่มที่เมืองซีแอตเทิลอีกด้วย และจะไปสู่ยุโรปครั้งแรกโดยร่วมกับงาน Helsinki Festival ในเดือนสิงหาคม 2015 ที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ที่ปีนี้มีธีมหลักเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ในชื่อ Finnish Modern Sky Festival ภายใต้คอนเซปต์ ‘New Nordic mixed with Asian’ ที่ครึ่งหนึ่งจะเป็นศิลปินจากหลากหลายประเทศในแถบเอเชีย โดยเป็นศิลปินจีนเสียส่วนใหญ่ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นศิลปินจากพื้นที่แถบนอร์ดิก โดยจะมีการแสดงงานดีไซน์จากประเทศจีนและทำอาหารจีนให้ผู้ร่วมงานได้ทานอีกด้วย

เทศกาลดนตรีช่วยต่อลมหายใจของอุตสาหกรรมดนตรี

นับตั้งแต่วันที่ MP3 และอินเตอร์เน็ตก่อเกิดขึ้นมา อีกทั้งการแพร่ขยายของวัฒนธรรมการฟังเพลงฟรี ทำให้ยอดขายของสิ่งบันทึกเสียงเพลงตกต่ำลงอย่างโงหัวไม่ขึ้น จนบ่อยครั้งที่จะได้ยินจากคนรอบตัวพูดว่า “อุตสาหกรรมดนตรีกำลังจะตายแล้ว” แต่ผลการศึกษาจาก Nielsen ประจำปี 2014 ที่สรุปข้อมูลจากอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีให้ไปสู่อนาคตใหม่ได้ อาทิ Music Streaming เช่น Spotify; การซื้อเพลงแบบดาวน์โหลด เช่น iTunes; หรือการขายสินค้า physical เช่น CD และแผ่นเสียงไวนิล และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือการแสดงดนตรีสด ซึ่งหมายรวมถึงเทศกาลดนตรี ที่กำลังมีความเเข็งเเรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

2-5

ผลการศึกษานี้ยังได้สรุปว่า ในขณะที่แฟนเพลงมีอัตราการซื้อเพลงน้อยลง เเต่พวกเขาก็ยังเต็มใจที่จะจ่ายเงินเฉลี่ย 109 เหรียญสหรัฐฯ (ราว ๆ 3,600 บาท) เพื่อกิจกรรมทางดนตรี โดยมากกว่าครึ่งเป็นไปเพื่อชมการแสดงดนตรีสด ทำให้อุตสาหกรรมเทศกาลดนตรีมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำตลอดปี โดยมีจำนวนผู้เข้าชมเทศกาลดนตรีอย่างน้อย 1 ครั้งในปีที่ผ่านมา มากกว่า 32 ล้านคน หรือประมาณ 12% ของประชากรทั้งประเทศของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ผลการศึกษายังเเสดงให้เห็นอีกว่า ผู้ชื่นชอบการไปงานเทศกาลดนตรีจะมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าทางดนตรีสูงกว่าคนทั่วไปอีกด้วย

ตัวอย่างเทศกาลดนตรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Soundshine Festival

Soundshine Event คือโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตสำหรับศิลปินนักดนตรีอิสระในอินโดนีเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยการร่วมมือกันของ 2 ค่ายเพลงอิสระในอินโดนีเซีย Aksara Records และ FFWD Records โดยมีไอเดียเริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะนำเสนอกิจกรรมใหม่ๆให้คนอินโดนีเซียนั้นได้มีโอกาสเข้าร่วม ได้ชมดนตรีสดที่เคยแต่ได้ยิน แต่ไม่เคยได้มีโอกาสชมมาก่อน Soundshine Festival จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในเวลาต่อมา Soundshine Festival ได้แสดงถึงศักยภาพและความต้องการวงการดนตรีนอกกระแสที่มีคุณภาพ จากการขายบัตรเข้างานรวม 3,000 ใบหมดในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน

Urbanscapes

กัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองหนึ่งที่กำลังค่อย ๆ พาตัวเองให้เป็นดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการเพลงนอกกระแสของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองหลวงเเห่งนี้มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนให้กลุ่มนักดนตรีอิสระสามารถโชว์ความสามารถได้อย่างเต็มกำลัง อย่างเทศกาล Urbanscapes เทศกาลที่รวมเอาดนตรี ศิลปะ งานออกแบบ แฟชั่น และงานถ่ายภาพจากเหล่านักสร้างสรรค์ไว้ในที่เดียว เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2012 และ line up เเต่ละปีนั้นเรียกเสียงกรี๊ดจากกลุ่มผู้ชมที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือเป็นเทศกาลที่ไม่จำกัดอายุกลุ่มผู้เข้าชม โดยเด็กน้อยอายุต่ำกว่า 12 ปีสามารถเข้าได้ฟรีอีกด้วย ตัวอย่างศิลปินที่ขึ้นเวทีนี้ในปี 2014 ได้แก่ Kimbra, Mogwai, Local Natives หรือศิลปินท้องถิ่นอย่าง June Marieezy

My Music Festival 

My Music Festival เป็นเทศกาลดนตรีที่สนับสนุนโดยหน่วยงาน Malaysia Major Events (MME) ภายใต้สำนักงาน Malaysia Convention & Exhibition Bureau (MyCEB) กระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม (Ministry of Tourism and Culture) เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Malaysia Year of Festivals หรือ MyFEST 2015 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลประเทศมาเลเซียเห็นศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงดนตรี ว่าจะสามารถนำพานักท่องเที่ยวให้เข้ามาสู่ประเทศมาเลเซีย และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้

จากเนื้อหาในตอนที่ 2 นี้ คุณผู้อ่านอาจจะเริ่มเห็นความสำคัญของเทศกาลดนตรีในหลาย ๆ แง่มุม ดังนี้

  1. การได้แสดงสดต่อหน้าผู้คนมาก ๆ จะช่วยทำให้วงดนตรีได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เพราะเทศกาลดนตรีจะช่วยดึงผู้ชมจำนวนมากให้ได้มาเห็นมาฟังวงดนตรีนั้น ๆ แต่ทั้งนี้ โอกาสที่จะได้เล่นในงานเทศกาลดนตรีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจต้องเข้าประกวด มีเส้นสาย มีค่ายผลักดัน หรืออาจต้องสั่งสมประสบการณ์และฝีมือ มีเพลงดัง และมีแฟนเพลงจำนวนหนึ่ง ที่พอจะทำให้ผู้จัดงานต้องการติดต่อให้ไปแสดงเอง
  2. การได้แสดงในงานเทศกาลดนตรีนานาชาติ จะช่วยขยายฐานแฟนเพลงสู่ต่างประเทศได้ เพราะจะทำให้ได้ฐานแฟนเพลงที่กว้างขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้มีแฟนเพลงในประเทศตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะผลของการได้ยอมรับในต่างประเทศคือการได้รับการยอมรับในประเทศตัวเองมากขึ้นด้วย
  3. เทศกาลดนตรี คือหนทางในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ และช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างที่เห็นจากตัวอย่างของประเทศอังกฤษและมาเลเซียที่อยู่ในเนื้อหาด้านบน
  4. บรรยากาศ อารมณ์ และประสบการณ์ที่ได้จากการแสดงดนตรีสด ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีใด ๆ เพราะฉะนั้น งานแสดงดนตรีสด รวมทั้งงานเทศกาลดนตรี จึงยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมดนตรี

จากเนื้อหาทั้ง 2 ตอน หนทางในการ “โกอินเตอร์” เป็นหนทางที่ไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ วงดนตรีต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน คือ ทำเพลงให้มีเอกลักษณ์ แต่ก็เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายสำหรับกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย ไม่ต้องใส่ใจเรื่องภาษาให้มากนัก แล้วหาโอกาสในการแสดงในเทศกาลดนตรี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มฐานแฟนเพลงแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้มากขึ้นอีกด้วย สุดท้าย เทศกาลดนตรียังมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ให้ชาวต่างชาติเกิดความสนใจ และเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศได้อีกด้วย

Facebook Comments

Next:


Piyapong Meunprasertdee

นักวิชาการอุตสาหกรรมดนตรี รักแมว รักโลก เคยทำงานเป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Sustainability & Climate Change) เคยมีวงอินดี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และจากการที่ไปทำงานในบริษัทเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ที่อเมริกา ก็เลยมีความคิดอยากมีส่วนช่วยพัฒนาวงการดนตรีไทยให้มีความแข็งแรงและยั่งยืนยิ่งขึ้น