Article Guru

เพลงท้องถิ่นโกอินเตอร์ ตอนที่ 1: รสชาติของดนตรีในภาษาที่ไม่คุ้นเคย

  • Writer: Piyapong Muenprasertdee and Kamolkarn Kosolkarn

สำหรับนิตยสาร Fungjaizine ในเดือนมิถุนายนนี้ หัวข้อหลักที่เราได้นำเสนอก็คือเพลงในภาษาต่างประเทศ ซึ่งคอลัมน์เห็ดกูรูก็เลยอยากจะนำเสนอเรื่องราวของเพลงภาษาต่างประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ มานำเสนอในมุมมองที่น่าสนใจ รวมทั้งหนทางในการ “โกอินเตอร์” มานำเสนออีกด้วย

ยังมีศิลปินรุ่นใหม่ที่เลือกจะไม่เดินตามทางของกระแสหลัก และต้องการสร้างความสดใหม่ ใช้ความสร้างสรรค์ รับแรงบันดาลใจมาแล้วส่งต่อออกเป็นเนื้อเพลงที่สะท้อนตัวตน มีความเป็นปัจเจกนิยม ภายใต้ภาษาที่คุ้นเคย

ดนตรีไทยมาจากไหน

1-1

เพลงไทยจากทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการนำแนวเพลงที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศ มาประยุกต์กับวัฒนธรรมดนตรีของไทย จนเกิดเป็นแนวทางของตัวเอง สำหรับดนตรีไทยโบราณ ได้มีการสันนิษฐานไว้ว่า กำเนิดมาตั้งแต่สมัยที่ชนเผ่าไทยยังตั้งรกรากอยู่ในทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งเครื่องดนตรีไทยดั้งเดิมนั้นมักมีชื่อเป็นคำโดด เช่น เกราะ, โกร่ง, กรับ, ฉาบ, ฉิ่ง, ปี่, ขลุ่ย, ฆ้อง, กลอง เป็นต้น ต่อมาเมื่ออพยพลงมาในดินแดนสุวรรณภูมิ ก็ได้พบกับอารยธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เช่น มอญ และเขมร จึงได้มีการเล่นเครื่องดนตรีแบบอินเดีย อย่างเช่น พิณ, สังข์, ปี่ไฉน, บัณเฑาะว์, กระจับปี่ และจะเข้ เป็นต้น พอเริ่มตั้งถิ่นฐานในแหลมอินโดจีนอย่างมั่นคงแล้ว ก็ได้มีการติดต่อค้าขายกับหลากหลายชนชาติ ทำให้ได้รับอิทธิพลทางดนตรีอีกหลากหลาย เช่น กลองแขก ปี่ชวา ของชวา (อินโดนิเซีย) กลองมลายู ของมลายู (มาเลเซีย) เปิงมาง ตะโพนมอญ ปี่มอญ และฆ้องมอญของมอญ กลองยาวของพม่า ขิม ม้าล่อของจีน กลองมริกัน (กลองของชาวอเมริกัน) เปียโน ออร์แกน และ ไวโอลีน ของประเทศทางตะวันตก เป็นต้น

สำหรับดนตรียุคใหม่ในประเทศไทย อาจนับได้ว่าตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม (1955-1975) เป็นต้นมา การที่เหล่าทหารอเมริกันได้นำแผ่นเสียงและวัฒนธรรมทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนว Blues, Rock & Roll หรือ Folk ของศิลปินอย่างเช่น Jimi HendrixThe BeatlesElvis PresleyBob Dylan ฯลฯ เข้ามาสู่ประเทศไทย ได้ส่งผลต่อกระแสแนวดนตรีที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดวงดนตรีอย่างเช่น ดิอิมพอสซิเบิลส์, วง V.I.P. ที่มีมือกีต้าร์เทพอย่าง น้าแหลม มอริสัน และแนวเพลงเพื่อชีวิตในยุคเรียกร้องประชาธิปไตย พ.ศ. 2516 ที่ส่งผลในอิทธิพลดนตรีจนถึงยุคปัจจุบัน (ที่มา: http://writer.dek-d.com/weerapol/story/view.php?id=795753)

แต่หากจะมองกลับกันว่าดนตรีจากประเทศไทยนี้ ได้ออกไปสู่ตลาดโลกบ้างหรือเปล่า? หลาย ๆ คนก็คงคิดว่ามีเพลงไทยค่อนข้างน้อยที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ อาจจะมีแค่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน โดยเฉพาะประเทศลาวที่มีภาษาใกล้เคียงกับภาษาไทย ที่จะนิยมเพลงไทย แต่ก็มีเหมือนกันที่มีการนำเพลงไทยไปดัดแปลงร้องใหม่ในภาษาของตัวเอง เช่น เพลง “คู่กัด” ของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ในภาษาจีนเพลง “ช่างไม่รู้อะไรเลย” ของ บอย พีซเมเกอร์ ในภาษาเขมร เป็นต้น

แล้วหากเพลงไทยจะออกไปตีตลาดโลกอย่างจริงจัง เราจะทำอย่างไรได้บ้าง?

K-pop บุกตลาดโลก

1-2

นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ K-pop ในช่วงต้นปี 2000’s ที่โด่งดังยาวนานอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้ ประสบความสำเร็จอย่างไรข้อกังขา พาความเป็นท้องถิ่น (Local) สู่ความเป็นสากล (Global) ได้อย่างงดงาม เหล่าคนฟังจากทั่วโลกเข้าถึงและรู้สึกไปกับเนื้อเพลงที่เป็นภาษาอันไม่คุ้นเคยได้อย่างสนุกสนาน สัมผัสผ่านจังหวะและเสียงเพลงอันเป็นภาษาสากล (Universal Language) ได้ ไปจนถึงแกะเนื้อเพลงจากภาษาที่ไม่คุ้นเคย เป็นภาษาคาราโอเกะให้ร้องตามได้ง่ายปรากฏการณ์ K-pop เป็นส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับอินเตอร์เน็ต เครื่องมือที่ช่วยเปิดช่องทางให้ผู้คนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงและ “ได้ยิน” เพลงที่มาจากพื้นที่อื่น ด้วยภาษาอื่น หากใครยังจำได้ถึง Psy ศิลปินเกาหลี เจ้าของเพลง Gangnam Style ที่ยอดวิวในยูทูปทะยานขึ้นวันละนับล้านวิว จนกลายเป็นวีดีโอที่ถูกชมมากที่สุดใน YouTube สูงถึง 2.3 พันล้านวิว

ดนตรีแนว K-pop มีฐานแฟนเพลงอยู่แทบทั่วทุกประเทศบนโลก แม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจภาษาเกาหลีก็ตาม ซึ่งอาจมีสาเหตุว่าแนวดนตรีแบบ K-pop มีพื้นฐานและแรงบันดาลใจมาจากดนตรีของตะวันตกสมัยใหม่อยู่แล้ว เช่น Electronic และ Hip-hop ทำให้คนจากอีกฝั่งทวีปสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเติบโตอย่างรวดเร็วในเวทีโลก พร้อมทั้งได้สร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีถึง 265.8 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย (ข้อมูลจาก IFPI: สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ ข้อมูลปี 2014)

ดนตรีอื่นๆ จากเอเชีย

สำหรับประเทศในแถบเอเชียหลาย ๆ ประเทศ ที่แม้จะไม่ได้ใช้ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษในการสื่อสาร แต่ก็มีอุตสาหกรรมบันเทิงที่ผลิตผลงานออกมาด้วยภาษาของประเทศนั้น ๆ และสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเพลงโลกอยู่ไม่น้อย เช่น Bollywood จากอินเดีย J-pop, K-pop และ C-pop จากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีนตามลำดับ เป็นต้น อีกทั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อย่างจีนและอินเดีย รวมทั้งการขยายตัวของชนชั้นกลางใหม่ที่มีกำลังซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตศิลปินนำเข้าจากต่างประเทศ หรือสามารถบินไปร่วมเทศกาลดนตรีในประเทศข้างเคียงได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงในแถบนี้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว


SEA INDIE (Southeast Asia Indie) – www.seaindie.com

เป็นเว็บไซต์ที่มีวัตถุประสงค์ในการรวมตัวและโปรโมตวงดนตรีอิสระในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 โดย อิสราพันธุ์ บุญญโส ชาวไทยผู้ชื่นชอบดนตรีนอกกระแสแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพิเศษ โดยมีการรวบรวมและปล่อยเพลง mp3 ให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไปฟังได้ นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์วงดนตรีอิสระที่น่าจับตามอง ไปจนถึงการอัพเดตกิจกรรมหรือเทศกาลดนตรีต่าง ๆ ที่น่าสนใจ น่าเสียดายที่เว็บไซต์นี้ได้เลิกอัพเดตข้อมูลต่าง ๆ แล้ว แต่ผู้อ่านยังสามารถเข้าไปอ่านและฟังเพลงได้

The Wknd – www.the-wknd.com

เป็นเว็บไซต์จากประเทศมาเลเซีย ที่รวบรวมเพลง มิวสิกวีดีโอ และอีเว้นท์ที่น่าสนใจ แถมยังมีวีดีโอการเล่นดนตรีสดพร้อมสัมภาษณ์ศิลปินในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย


นอกจากแนวดนตรีสมัยใหม่แบบตะวันตกที่เป็นแนวเพลงกระแสหลักของโลกยุคปัจจุบัน และภาษาอังกฤษที่ถือว่าเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสารได้เกือบทั่วโลกแล้ว ยังมีศิลปินรุ่นใหม่ที่เลือกจะไม่เดินตามทางของกระแสหลัก และต้องการสร้างความสดใหม่ ใช้ความสร้างสรรค์ รับแรงบันดาลใจมาแล้วส่งต่อออกเป็นเนื้อเพลงที่สะท้อนตัวตน มีความเป็นปัจเจกนิยม ภายใต้ภาษาที่คุ้นเคย

เหล่านักดนตรีต่างเข้าสู่ยุคแห่งการปะทะระหว่างความร่วมสมัยและความดั้งเดิมของดนตรีแบบเก่า ทำให้พวกเขาต้องคิดทบทวนถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมทางดนตรีของตัวเองใหม่อีกครั้ง เราลองมาดูตัวอย่างนักดนตรีหรือวงดนตรีที่นำเอาวัฒนธรรม ภาษา เเละเอกลักษณ์ของประเทศตัวเอง มาสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่สามารถเอาชนะใจผู้ฟังจากหลากหลายเชื้อชาติได้อย่างไม่มีอุปสรรคกัน

1-3

1. SambaSunda เป็นวงดนตรีจากบันดุง อินโดนีเซีย ที่ก่อตั้งในลักษณะของการเป็นวงมโหรีพื้นเมือง ที่นำเอาความเป็นแจ๊สและลาตินเข้ามาผสมผสาน สมาชิกในวงเริ่มต้นจากนักแต่งเพลงและนักดนตรีอย่าง Ismet Ruchimat และ Gugum Gumbira นักแต่งเพลง ผู้นำวงออสเครสต้า และนักออกแบบท่าเต้น ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นวง SumbaSunda ที่ยังทำงานร่วมกับคนจากนานาชาติ ทั้งนักเป่าฟลุตชาวอินเดีย แลเพอร์คัสชั่นจากแคนาดา

ความเป็นท้องถิ่นและส่วนผสมอันลงตัวนำพาเพลงจาก SambaSunda ไปขึ้นชาร์ต European Broadcast Union’s World Music เป็นแบรนด์เดียวพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขึ้นเป็น 1 ใน 20 อันดับในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมมีการเล่นคอนเสิร์ตตามเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างเช่น แมนเชสเตอร์ เบอร์ลิน มิลาน โคเปนเฮเกน และโตเกียว

2. Zee Avi

1-4

คือนักร้อง/นักแต่งเพลงจากมาเลเซีย ที่เติบโตจากการร้องเพลงในประเทศด้วยภาษามาเลเซีย ก่อนที่เสียงร้องและเสน่ห์ของเธอจะพาให้ไปปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่ระดับโลก เพลงของเธอที่ชื่อว่า Kantoi เป็นเพลงที่เธอร้องด้วยภาษา Manglish หรือภาษามาเลเซียผสมกับอังกฤษ ได้ถูกบันทึกเสียงที่สตูดิโอระดับโลก Solar Powered Plastic Plant Studios ในเมือง Los Angeles จากเด็กสาวที่อัดคลิปตัวเองร้องเพลงลงยูทูป เธอได้เจอกับ Patrick Keeler แห่งวง The Raconteurs ที่ชวนเธอเข้าสู่วงการและผลิตงานเพลงจนกลายเป็นไอดอลคนเก่งของหลายคนทั่วโลก

3. Ruhaniyat

1-5

จากอินเดีย เกิดจากการรวมตัวกันของนักดนตรี 3 คนในเมืองโกลกาตา ที่ความเบื่อหน่ายในดนตรีกระแสหลักเชิงพานิชย์ ทำให้พวกเขากลับไปหาดนตรีแนวที่เรียกว่า Bual แนวดนตรีที่มีพื้นฐานมาจากพื้นที่แถบรัฐเบงกอล โดยเฉพาะนักร้องนำอย่าง Satyaki Banerjee ที่หลงใหลในภาษาเบงกาลิที่อยู่ในบทเพลง

4. Paradise Bangkok Molam International Band

1-6

จากประเทศไทย เป็นการนำเอาดนตรีจากฝั่งอีสานมาตีความหมายใหม่ สร้างท่วงทำนองให้เหมาะสมกับความเป็นศตวรรษที่ 21 โดยไม่ทิ้งลวดลายของเส้นสายดนตรีแบบดั้งเดิม ส่วนผสมอันลงตัวของสมาชิกในวง ได้แก่ คำเม้า เปิดถนน (พิณ) ไสว แก้วสมบัติ (แคน) ปิย์นาท โชติกเสถียร (เบส) ภูษณะ ตรีบุรุษ (กลอง) และ คริส เมนิสต์ (เพอร์คัสชั่น) ที่นำว่าเป็น “ไทย-สไตล์” ของจริงมารวมอยู่กับโฟล์ก-ร็อค บลูส์ และ dub ระหว่างการออกทัวร์ทั่วโลก พวกเขาได้เขียนเพลงใหม่ล่าสุด ซึ่งถูกรับเลือกให้เป็นอัลบั้มของสัปดาห์ของสถานนีวิทยุ BBC6 ที่ประเทศอังกฤษโดย จาลส์ ปีเตอร์สัน หนึ่งในดีเจที่มีอิทธิพลที่สุดในยุโรป

ถ้าภาษาไม่ใช่อุปสรรคของดนตรี แล้วเคล็ดลับคือ?

In the case of music, the language problem isn’t all that substantial. A lot of people, their favorite music is in English and they can still get half the lyrics wrong.  สำหรับดนตรีแล้ว ปัญหาของภาษาเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญอะไรเลย เพราะเพลงโปรดของคนหลาย ๆ คนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพวกเขาไม่เข้าใจและร้องตามผิดเกินครึ่งเพลงเสียด้วยซ้ำ

1-7

จากตัวอย่างของดนตรีที่ยกมาข้างต้น และคำพูดของ Robert Thompson จะเห็นได้ว่าภาษาไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเสมอไปสำหรับการได้รับการยอมรับในประเทศที่พูดกันคนละภาษา แต่สำคัญที่ “เอกลักษณ์” กับ “ความเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย” สำหรับกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่นเกาหลี ที่เริ่มต้นจากการใช้แนวเพลงที่เป็นที่นิยมอยู่แล้ว เช่น Hip-hop และ Electronic มาเป็นต้นแบบในการทำเพลง แล้วปรับแต่งให้เข้ากับตัวเองจนเกิดเป็นแนวเฉพาะของตัวเอง คือ K-pop ส่วน Zee Avi จากมาเลเซีย ก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่งเพลงในภาษา Manglish ที่เป็นภาษามาเลย์ผสมอังกฤษ ทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ โดยใช้ดนตรี Pop ฟังง่าย ๆ เป็นสื่อกลาง แล้วอีกหนทางหนึ่งก็คือการนำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่นไปผสมกับแนวเพลงที่เป็นที่คุ้นหูและยอมรับอยู่แล้ว เช่น วง SambaSunda ที่ผสมแจ๊สและลาติน และ Paradise Bangkok Molam International Band ที่ผสมโฟล์ก-ร็อค บลูส์ และ dub

สำหรับตอนที่ 1 นี้ เราอาจสรุปได้ว่า ภาษาไม่ใช่อุปสรรคในการส่งดนตรีออกสู่ต่างประเทศ และเคล็ดลับก็คือการทำเพลงที่มีเอกลักษณ์ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายสำหรับกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย ในตอนหน้า คือ ตอนที่ 2 เราจะมาเขียนถึงเทศกาลดนตรีนานาชาติ (International Music Festival) กันว่าเป็นอย่างไร และมันคือบันได้ที่จะนำพาศิลปินหนึ่ง ๆ ไปต่างประเทศได้อย่างไรนะครับ

สำหรับดนตรีแล้ว ปัญหาของภาษาเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญอะไรเลย เพราะเพลงโปรดของคนหลาย ๆ คนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพวกเขาไม่เข้าใจและร้องตามผิดเกินครึ่งเพลงเสียด้วยซ้ำ

 

Facebook Comments

Next:


Piyapong Meunprasertdee

นักวิชาการอุตสาหกรรมดนตรี รักแมว รักโลก เคยทำงานเป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Sustainability & Climate Change) เคยมีวงอินดี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และจากการที่ไปทำงานในบริษัทเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ที่อเมริกา ก็เลยมีความคิดอยากมีส่วนช่วยพัฒนาวงการดนตรีไทยให้มีความแข็งแรงและยั่งยืนยิ่งขึ้น