Article Guru

ไขข้อข้องใจกับ Gloomy Sunday เพลงเศร้าฆ่าคนได้จริง ๆ เหรอ ?

  • Writer: Peerapong Kaewthae

เคยได้ยินเพลง Gloomy Sunday หรือเปล่า?

ทุกคนน่าจะต้องมีเพลงสำหรับวันที่ไม่เป็นใจ พอพูดแบบนี้อาจมีเพลงเพลงหนึ่งโผล่ขึ้นมาในหัวเราทันที เพราะมันเคยทำให้เราร้องไห้ ไม่ก็มีเนื้อหาที่เศร้า มีดนตรีที่สะเทือนใจ หรือมันทำให้เราคิดถึงใครบางคน ดนตรีมีพลังที่น่าทึ่งมากมายที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์หรือวิธีคิดของเราได้ภายในเวลาไม่กี่นาที และจะติดอยู่ในหัวเราไปอีกนาน

เมื่อเป็นเพลงเศร้าหลายคนกลับพอใจที่จะได้รู้สึกเจ็บปวด เราชอบและรู้สึกดีที่ศิลปินเข้าใจเราหรือพูดแทนสิ่งที่เรากำลังเจออยู่ โอบกอดเราด้วยเสียงเพลง ดึงเราออกจากอารมณ์หดหู่ที่ปกคลุมเรามาทั้งวัน ทำให้เราสบายใจขึ้นว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่ต้องผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายแบบนี้ในชีวิต จนเราต้องเล่นเพลงนั้นซ้ำเป็นร้อยครั้งจนเราเบื่อ (แต่พอนานไปเราก็หยิบกลับมาฟังอีก)

แต่จะเป็นยังไงถ้ามีเพลงเพลงหนึ่งไม่ใช่เพลงเศร้าอกหักรักคุดธรรมดา แต่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับคดีฆ่าตัวตายนับสิบ ๆ เคสบนโลก มันคือฮังกาเรียนบัลลาดที่ชื่อว่า Szomorú Vasárnap หรือที่เรารู้จักกันอย่างดีในชื่อ Gloomy Sunday ที่เป็นข่าวลือกระฉ่อนในโลกอินเทอร์เน็ตว่าใครฟังจะต้องฆ่าตัวตาย โดยชื่อเดิมของเพลงนี้คือ Vége a világnak ที่แปลว่าจุดจบของโลกเลยทีเดียว Rezső Seress แค่ทำในสิ่งที่ศิลปินทุกคนทำ คือปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมาด้วยการแต่งเพลงนี้ขึ้นในปี 1933

เล่าแบบรวบรัด ปฐมบทของตำนานนี้เริ่มมาจากแฟนสาวของ Seress ขอจบความสัมพันธ์ ทำให้เขาตกอยู่ในอาการซึมเศร้าจนสามารถเขียนเมโลดี้ของเพลง Gloomy Sunday ขึ้นมา แล้วได้เพื่อนรักอย่าง Laszlo Javor นักกวีมาแต่งเนื้อเพลงให้ มีคนเล่าต่อ ๆ กันมาว่าจริง ๆ แล้ว Seress ต้องการแต่งเพลงเกี่ยวกับสงครามและความสิ้นหวัง แต่ Javor ก็เพิ่งถูกแฟนทิ้งมาเหมือนกัน เลยนำบทกวีที่พรั่งพรูถึงแฟนเก่ามาปรับแต่งให้กลายเป็นเพลงอกหัก เพลงนี้เลยมีต้นกำเนิดมาจากความเศร้าตั้งแต่แรก หลังจากเพลงนี้ประสบความสำเร็จแน่นอนว่าทั้งสองคนแฮปปี้มาก แต่ฝันร้ายก็เริ่มขึ้น เพราะมันกลายเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหลายครั้งในฮังการีจนถูกแบนห้ามเปิดเพลงนี้อีก มีการเสียชีวิต 19 เคสที่ถูกยืนยันว่าพวกเขาฆ่าตัวตายโดยมีโน้ตเพลงนี้หรือมีเนื้อเพลงบางท่อนของเพลงนี้อยู่ในมือ หลายคนร่ำลือว่าอาจจะมีนับร้อยเคสที่ยังพิสูจน์ไม่ได้

แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่าเพลงคือหนึ่งในสาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย ในศตวรรษที่ 21 มีคนฆ่าตัวตายปีละประมาณ 8 แสนคนโดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 15-29 ปี สอดคล้องกับงานวิจัยที่บอกว่าวัยรุ่นช่วงนี้มักจะมีเพลงเป็นบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต เด็กในวัยรุ่นฟังเพลงเฉลี่ยถึงวันละ 2-3 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขารู้สึกแย่ คนทั่วไปมักจะฟังเพลงเพื่อจัดการกับอารมณ์ตัวเอง ต่อให้มันเป็นเพลงด้านลบที่เศร้าโศกหรือเกรี้ยวกราด มีงานวิจัยยืนยันว่าการฟังเพลงเศร้าทำให้กลุ่มตัวอย่างรู้สึกดีขึ้นแม้จะเพิ่งเจอเรื่องสะเทือนใจมาก็ตาม

บางคนก็เข้าถึงเพลงนั้นมาก ๆ โลดแล่นไปกับอารมณ์อย่างสนุกสนาน บางคนอาจใช้เพลงเพื่อเชื่อมต่อกับคนอื่น หรือให้เขาหาทางรับมือกับความเศร้าเสียใจที่ต้องเจอให้ได้ ความเศร้า (sadness) ก็เป็นอารมณ์ที่ดีต่อสุขภาพด้วยการตอบสนองต่อเหตุการณ์แย่ ๆ ในชีวิตเรา กระตุ้นให้เราคิดรอบคอบมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต เพื่อปรับปรุงแก้ไขแผนการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง

แต่อาการซึมเศร้า (depression) ต่างกันออกไป แทนที่จะมีแรงจูงใจในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง มันกลับทำให้คนมีแนวโน้มที่จะสูญเสียแรงบันดาลใจไป คนเป็นโรคซึมเศร้ามีการตอบสนองต่อเพลงต่าง ๆ ไม่เหมือนคนทั่วไป มีการทดลองให้ผู้เข้าร่วมเลือกเพลงที่ทำให้สุขและทำให้เศร้าพร้อมเก็บข้อมูลการตอบสนองของทุกคน ทำให้ผมว่าผู้เข้าร่วมบางคนแทนที่ฟังเพลงเศร้าแล้วจะรู้สึกดีขึ้น พวกเขากลับรู้สึกแย่ลงไปอีก พวกเขาติดอยู่กับความคิดลบ ๆ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสลัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ฉุดรั้งให้ตกอยู่ในวังวนความคิดซ้ำเติมตัวเองและกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่มาตอกย้ำเราเองในอนาคต ไปเรื่อย ๆ

ยกตัวอย่างง่าย ๆ คนทั่วไปที่อกหักมาฟังเพลงเศร้าแล้วก็อาจจะร้องห่มร้องไห้ ก่อนจะเดินออกมาและก้าวต่อไปในความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เข้มแข็งขึ้นด้วยประสบการณ์ที่ผ่านไป มองว่ามันเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตที่ทำให้จิตใจของพวกเขาพร้อมมากขึ้น แต่คนที่มีแนวโน้มเป็นซึมเศร้ามักยึดติดกับแนวคิดที่ว่าความรักคงไม่เหมาะกับตัวเอง หรือตัวเราคงไม่มีวันได้รับความรักที่ดีไปตลอดกาลแทนที่จะรู้สึกดีขึ้น แต่ในทางกลับกันเมื่อขอให้ผู้เข้าร่วมทั้งสองกลุ่มนี้ฟังเพลงที่มีความสุข แม้คนที่มีแนวโน้มเป็นซึมเศร้าก็มีกราฟอารมณ์ที่ดีขึ้นเหมือนกัน

แล้วทำไมเราถึงไม่ฟังแต่เพลงที่มีความสุขล่ะ? ถึงการฟังเพลงเศร้าจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งก็โต้แย้งว่าในคนที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ากลับมีผลลัพธ์ที่แย่กว่าเดิม ถ้าฝืนพยายามฟังเพลงที่มีความสุขเพื่อให้ตัวเองมีความสุข ที่น่าสนใจอีกอย่างคืองานวิจัยอีกชิ้นบอกว่าในเด็กวัยรุ่นที่เห็นว่าเพลงสำคัญต่อชีวิตพวกเขา การฟังเพลงช่วยบำบัดให้พวกเขารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นด้วย

ถ้าเรามองข้ามเรื่องคำสาปหรือทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับเพลง Gloomy Sunday ทั้งหลายไป ในช่วง 193x นั้นก็เป็นจังหวะที่ยากลำบากมาก ๆ เพราะทุกคนกำลังเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบเศรษฐกิจที่พังทลายทั่วโลกทำให้คนตกงานนับล้านต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ แถมระบอบเผด็จการที่ทำลายชีวิตพวกเขาอย่างช้า ๆ มีเหตุผลนับร้อยให้เราหมดหวังกับชีวิตในตอนนั้น เพลงทำได้แแค่กระตุ้นสิ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่ลึก ๆ ด้วยเมโลดี้อันแสนเศร้ากับเนื้อเพลงที่แสนสิ้นหวังเท่านั้น มีคนเล่าต่อว่าทันทีที่เพลงนี้ฮิต Seress ก็ได้แฟนผู้เป็นแรงบันดาลใจของเขาคืนมาในทันที แต่น่าเศร้าที่เขาพบว่าแฟนของเขาวางยาพิษตัวเองจนเสียชีวิตโดยมีโน้ตเพลงนี้อยู่ในมือ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ Seress ก็ฆ่าตัวตายตามแฟนของเขาไปในปี 1968 จากการโดดออกจากหน้าต่างห้องพักของตัวเอง

ใครกำลังอ่อนแออยู่ เนื้อเพลงทุกคำมันก็ทำร้ายเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อรู้สึกเชื่อมติดกับเนื้อเพลงที่กินใจและเมโลดี้ที่บีบนวดเราจนยับ เราก็ยอมศิโรราบต่อเพลงนั้นแต่โดยดี กอดมันเอาไว้และโมเมเอาเองว่าเพลงนี้มันแต่งมาเพื่อฉัน แต่เชื่อเถอะ เราไม่ต้องทำตามสิ่งที่เพลงบอกก็ได้ มันเป็นเพียงกลไกการป้องกันตัวของเราเองเพื่อรับมือกับความเศร้าเท่านั้นเอง

Gloomy Sunday ถูกแบนจากหลายประเทศถึง 66 ปี (อังกฤษเพิ่งเลิกแบนเมื่อปี 2002 นี้เอง) เพลงนี้เลยกลายเป็นเครื่องยืนยันอีกหนึ่งสิ่งว่าเพลงเศร้าสามารถฆ่าเราทางอ้อมได้ ครั้งต่อไปเวลาที่เรารู้สึกเศร้าก็ควรเลือกเพลงที่จะฟังให้ดี ๆ ไม่ให้ทำร้ายตัวเองจนเกินไป แต่ถ้าตอนนี้กำลังอารมณ์ดี ลองฟังดูซักครั้งมั้ย ? ไม่ต้องกลัวว่าฟังเพลงนี้แล้วจะต้องตายอย่างที่ลือกัน ขอให้ซึมซับมันในฐานะเพลงเศร้าชั้นยอดอีกเพลงนึงบนโลกก็พอ

อ้างอิง
Why We Love Sad Songs
did the “Hungarian suicide song” really create a suicide epidemic?
Should We Beware of Sad Songs?
Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา