Get Lost in the Music : เมื่อเราถูกดนตรีเข้าสิง!?
- Writer: Piyakul Phusri
เชื่อว่าแฟน ๆ ฟังใจ ทุกคนคงเคยสัมผัสฟีลของการฟังเพลงถูกใจในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม เช่น ฟังเพลงโฟล์กดี ๆ ริมทะเลกับเบียร์เย็น ๆ หรือโดนเพลงเมทัลหนัก ๆ กระซวกหูในหมู่มวลแฟนเมทัลเดนตายที่กำลังกระโดดกระแทกกันตุ๊บตั๊บ ๆ แล้วรู้สึกว่าตัวเองตัดขาดไปจากโลกปัจจุบันแล้วไปอยู่ในโลกอีกใบที่มีแต่เพลงที่กำลังฟังโอบอุ้มอยู่ หรือรู้สึกว่าห้วงเวลานั้นเป็นห้วงเวลาแห่งความสุขอย่างสุด ๆ คล้ายเวลาหยุดเดินไปชั่วขณะ
เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับนักดนตรี คนฟังเพลง นักเต้นรำ หรือนักแสดงนาฏศิลป์ เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์ (ฟัง เล่น เต้น ขยับร่างกาย ฯลฯ) กับเสียงดนตรีอย่างจดจ่อ และเข้มข้น จนจิตใจเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า ‘trance’ ซึ่ง Judith Becker นักมานุษยวิทยาดนตรีแห่ง University of Michigan ให้ความหมายว่าเป็นสภาวะของจิตใจที่เกิดจากการจดจ่ออยู่กับบางสิ่งอย่างเข้มข้น การรู้สึกว่าตัวตนของตัวเองนั้นได้สูญสลายไป และเข้าสู่ความรู้หรือประสบการณ์ที่ไม่อาจเข้าถึงได้ในสภาวะปกติ (non-trance) หรือหากจะแปลเป็นภาษาไทยให้ใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะเรียกว่าสภาวะ ‘ฌาน’ (ในบทความนี้จะใช้คำว่า trance )
หมายเหตุ: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า ฌาน ว่าเป็น ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์ หรือการเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รูปฌาน กับ อรูปฌาน. (ป.; ส. ธฺยาน).
การเข้าสู่สภาวะ trance มีหลายระดับ เช่น นักดนตรีที่เล่นดนตรีแล้วรู้สึกว่าร่างกายตัวเองได้ผสานเป็นหนึ่งกับเครื่องดนตรี คนฟังเพลงที่ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อจนไม่รับรู้ว่ารอบตัวเกิดอะไรขึ้น หรือนักเต้นในฟลอร์เต้นรำที่โฟกัสความสนใจทั้งหมดไปที่เพลง การขยับร่างกาย และแสงสีที่กระพริบไปตามจังหวะเพลง จนรู้สึกว่าตัวเองถูกประสบการณ์ที่กำลังสัมผัสในฟลอร์เต้นรำนี้ควบคุมร่างกายและจิตใจไว้ทั้งหมด
อย่าเพิ่งทำคิ้วขมวดว่านี่มันเรื่องอะไรกันวะ? เพราะตัวอย่างของการมีปฏิสัมพันธ์กับดนตรีจนเข้าสู่ภาวะ trance เกิดขึ้นมากมายทุกวัฒนธรรมทั่วโลก เช่น ระบำบารอง (Barong dance) ประเพณีท้องถิ่นของเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นโชว์ที่มีชื่อเสียง แต่ในอดีต การแสดงนี้เป็นพิธีกรรมที่จะกระทำเมื่อชุมชนมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เช่น ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำหรือเกิดโรคระบาด ก็จะมีการจัดระบำบารองเพื่อบูชาเทพเจ้าให้เป็นสิริมงคลแก่ชุมชน เนื้อหาของการแสดงว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของ Barong ตัวแทนแห่งความดี และ Rangda ตัวแทนแห่งความชั่ว ในช่วงหนึ่งของการแสดง Barong จะเพลี่ยงพล้ำให้กับ Rangda แล้วจะมีนักแสดงถือกริชออกมาช่วยเหลือ Barong แต่จะถูกเวทมนตร์ของ Rangda สาปให้หันกริชแทงตัวเอง แต่ด้วยความช่วยเหลือของ Garuda ทำให้นักระบำกริชฟันแทงไม่เข้า สุดท้าย Barong เอาชนะ Rangda ได้ตามสูตรของเทพนิยายธรรมะย่อมชนะอธรรม ซึ่งการศึกษาของ Judith Becker ระบุว่า ระหว่างการแสดง นักแสดงที่ถือกริชออกมาช่วย Barong จะเข้าถึงสภาวะ trance โดยรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ Barong ต่อสู้กับความชั่วร้ายจริง ๆ เมื่อถูก Rangda สาปให้เอากริชแทงตัวเอง ก็รู้สึกว่าตัวเองต้องคำสาปจริง และจะเอากริชแทงตัวเองเข้าจริง ๆ โดยจะมีคนเข้ามาปลดอาวุธ และถูกพาตัวออกไปจากสถานที่แสดงระบำ ก่อนจะค่อย ๆ ออกจากสภาวะ trance หลังออกจากสภาวะ trance นักแสดงที่ถือกริชจะรู้สึกหมดเรี่ยวแรง แต่ผ่อนคลาย มีความสุข และรู้สึกว่าได้สัมผัสกับพลังของจักรวาล หรือพลังที่สูงส่งบางอย่าง
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวมาอีกหน่อย ก็จำพวกงานไหว้ครูสักยันต์ตามวัด และสำนักสักต่าง ๆ ที่อาจจะเห็นในข่าวอยู่เนือง ๆ ที่คนที่เคยสักยันต์จะนั่งพนมมือ ฟังบทสวดมนต์ นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่สักหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สัก แล้วก็มักจะเกิดอาการ ‘องค์ลง’ แสดงลักษณะอาการเหมือนถูกอะไรบางอย่างเข้าสิง พอองค์ออกก็จะรู้สึกอ่อนเปลี้ย แต่รู้สึกว่าได้รับพลังอะไรบางอย่างเข้าไปในร่างกาย และเกิดความรู้สึกเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
จากตัวอย่างข้างบน จะเห็นว่าองค์ประกอบที่สำคัญและเหมือนกันทั้งสองตัวอย่างก็คือ ‘เสียง’ ขณะที่ระบำบารอง เสียงที่จะดังอยู่ตลอดการแสดงคือเสียง gamelan วงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องเคาะหลายชิ้นที่เล่นสอดประสานกัน ส่วนเสียงที่จะได้ยินในงานไหว้ครูสักยันต์ก่อนเสียงสวดมนต์คือเสียงวงดนตรีไทยที่มีระนาดเป็นเสียงเด่น เสียงดนตรีที่ประกอบกิจกรรมทั้งสองนี้บรรเลงด้วยจังหวะค่อนข้างเร็ว เป็นเสียงสั้น ๆ ที่ดังต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่นำพาให้ผู้ฟังที่ตั้งใจจดจ่อไปสู่สภาวะ trance ได้ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ ที่มีบรรยากาศ และกิจกรรมที่สอดคล้องกับเสียง หรือ ดนตรี ที่ใช้ในที่นั้น ๆ
แล้วเกิดอะไรในสมองของเราขณะเราอยู่ในสภาวะ trance?
แม้เราจะรู้กันดีว่าสมองซีกซ้ายทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิด วิเคราะห์ คำนวณ ส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่เกี่ยวกับจินตนาการหรือศิลปะ แต่ความจริงสมองซับซ้อนมากกว่านั้นมาก ๆๆๆ การได้ยินเสียงหรือการฟังดนตรีไม่ใช่แค่การได้ยินเสียงผ่านหูแล้วสมองซีกขวาจินตนาการไปถึงความงามทางสุนทรียะ สมองซีกซ้ายคิดไปถึง scale ดนตรี ความทรงจำเกี่ยวกับเพลงซักเพลงหนึ่งก็ไม่ได้อยู่ในซอกหลืบซักแห่งหนึ่งในสมองเหมือนเราเก็บหนังสือสักเล่มไว้ในชั้น แต่เซลล์ประสาทสมองหลาย ๆ ส่วนสื่อสารเชื่อมโยงกันผ่านสารสื่อนำประสาทจำนวนมหาศาลเพื่อทำความเข้าใจ ประกอบสร้างภาษาขึ้นในสมอง ตีความสิ่งที่ได้ยิน สื่อสาร และมีปฏิกิริยากับเสียงที่เราได้รับฟัง เสียงเป็นสิ่งที่สามารถถูกจดจำ ถูกจัดเก็บในสมอง และสามารถรำลึกย้อนกลับได้เมื่อได้ยินซ้ำ เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงกริ่งยาว ๆ เราอาจจะรู้สึกถึงความผิดปกติ เช่น นึกถึงไฟไหม้หรือลิฟท์ค้าง นำมาสู่ความรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกว่ามีเหตุร้ายใกล้ตัว เป็นต้น
แต่สภาวะ trance พาเราไปลึกกว่านั้น เพราะดูเหมือนว่าระหว่างช่วงนั้นเปลือกสมอง (cortex) จะหยุดทำงานไปชั่วคราว ซึ่งรวมไปถึงสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้โลกภายนอกด้วย หมายความว่า คนที่อยู่ในภาวะ trance จะสามารถรับรู้ถึงโลกภายในตัวเอง (inner–world) ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นโลกที่สมองผลิตขึ้นจากความรู้ ความทรงจำ และความรู้สึกภายในจิตใจ นอกจากนั้น จากการศึกษานักระบำบารอง ยังเป็นไปได้ว่าระหว่างการเต้นระบำ การสื่อสารของสารสื่อนำประสาทในสมองยังเป็นจังหวะสอดคล้องกับวง gamelan และจังหวะการเคลื่อนไหวร่างกายอีกด้วย ดังนั้น มันจึงเป็นสภาวะที่โลกภายนอก (สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง ๆ) และ โลกภายใน (สิ่งที่เกิดขึ้นในสมอง) มีความสัมพันธ์กัน โดยสมองให้ความสำคัญหรือจดจ่อกับโลกภายในมากกว่าโลกภายนอกที่เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดโลกภายในที่เข้มข้นขึ้น หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เสพดนตรีผ่านหู เพื่อมาอินในใจ แล้วหลุดไปอยู่ในความคิดความรู้สึกของตัวเอง
แล้วการอยู่ในสภาวะ trance ทำให้เรารู้สึกอย่างไร?
โดยทั่วไปผู้ที่เข้าสู่สภาวะ trance จะรู้สึกมีความสุขอย่างมาก รู้สึกเจ็บปวดน้อยลง (เวลาเราอินกับเพลงจริง ๆ เราจะไม่ค่อยสนใจหรือโมโหคนที่มาเดินชนเท่าไหร่หรอก จริงมั้ย?) รู้สึกถึงความสงบในจิตใจ รู้สึกถึงความรัก หรือการได้เป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น พลังธรรมชาติ โลก จักรวาล หรือเทพเจ้า มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่ออยู่ในสภาวะ trance นักแสดงระบำบารองที่เอากริชแทงตัวเองตอนโดน Rangda สาป ก็ไม่มีแผล หรือเป็นแผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าสภาวะ trance ส่งผลต่อสภาพทางกายภาพของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
เสียงจึงมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราอย่างมาก เป็นอำนาจที่บ่อยครั้งก็ยากจะต้านทาน และเสียงที่สอดประสานกันเป็นเพลง ก็ยิ่งทำงานกับสมองของเราอย่างซับซ้อน และยังมีอีกหลายสิ่งที่วิทยาการของมนุษย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถล่วงรู้ได้ถึงความสัมพันธ์อันลึกลับระหว่างเสียงและสมองของมนุษย์ได้อย่างละเอียดครบถ้วน
และเสียงฝนที่หยดใส่หลังคามาหลายชั่วโมงจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ ก็ทำให้หิวเบียร์เสียเหลือเกิน….
อ้างอิง
Sylvan, Robin. 2005. TRANCE FORMATION The Spiritual and Religious Dimensions of Global Rave Culture. New York: Routledge
Becker, Judith. 1994. Music and Trance, Leonardo Music Journal (4): 41-51
http://gothailandgoasean.tourismthailand.org/th