Article Guru

Get High and Listen จริงแค่ไหนที่ว่าความเมามายจะช่วยให้เราฟังเพลงได้เพราะขึ้น

  • Writer: Geerapat Yodnil

เคยมีคนบอกเอาไว้ว่า ‘เมื่อเราหลงเข้าไปในโลกหลังจากการเล่นยาแล้ว เพลงใด ๆ ที่ผ่านเข้ามาจะเพราะขึ้นราวกับเป็นเสียงของผู้หญิงคนนั้นที่เราสามารถตกหลุมรักความงามของเธอได้แค่ในความฝัน’

แต่การมีอยู่ของสารในเบียร์ กัญชา LSD หรือยาต่าง ๆ ในร่างกายเราจะช่วยให้การฟังเพลงเพราะมากขึ้นได้จริง ๆ หรือ ?

จากประสบการณ์ตรงของคนที่มีเบียร์แต่ไม่ได้เล่นยาอย่างเรานั้น อัตราส่วนของความเชื่อก็คงจะอยู่ในระดับครึ่ง ๆ กลาง ๆ ที่ 50/50 (เพราะบางครั้งเราก็เมาเบียร์เพื่อให้จอยกับเพลง) แต่เราเคยมีบทสนทนาในอดีตร่วมกับเพื่อนผู้เป็นนักดนตรีและเนิร์ดในความออร์แกนิกของหญ้าใบแฉกในหัวข้อนี้ด้วย ซึ่งเพื่อนคนนั้นสนับสนุนความคิดนี้อย่างหัวทะลุฝาว่า ‘จริง’

ในช่วงเวลานั้นกูสามารถได้ยินเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นชัดเจนอย่างที่ไม่เคยมาก่อนเลยว่ะ 

ไม่แน่ใจว่าจะปฏิเสธความคิดนี้ว่าเป็นเพียงอุปาทานหมู่ได้รึเปล่า เราบอกได้แค่ว่ามีบทความทางวิทยาศาสตร์ที่สนใจและพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้มากมาย ซึ่งเราถือวิสาสะคัดบางส่วนมาให้อ่านในบรรทัดข้างล่างนี้แล้ว

ช่วงเวลาต้องมนต์ของการฟังเพลงที่สามารถต่ออายุได้

Zach Walsh ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาแห่ง University of British Columbia ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจในคอลัมน์ ‘The Science Behind Why Music Sounds So Good on drugs’ ของนิตยสาร Vice เอาไว้ว่า ช่วงเวลาแห่งความเมามายที่เกิดขึ้นจากยาและเสียงเพลงเป็นเสมือนคู่ขาที่สามารถเข้าคู่ไปด้วยกันได้อย่างดี ซึ่งเขาให้ชื่อเรียกปรากฏการณ์ ณ ขณะนั้นว่า ‘Peanut Butter Effect’ มันเหมือนกับว่าคุณมีช็อกโกแลตที่แสนอร่อยอยู่ในมือซ้ายและมือขวาก็กำลังถือกระปุกเนยถั่วที่อร่อยไม่แพ้กัน ดังนั้นคุณจึงลองเอาทั้งคู่นั้นมิกซ์เข้าหากันและพบว่ามันจะสามารถไปด้วยกันได้ดี (หวานเกิ๊นนน)

เกิดอะไรขึ้นกับสมองของเราบ้างในช่วงเวลาที่เกิด Peanut Butter Effect

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือยาที่เรากินเข้าไปนั้น (โดยเฉพาะ psychedelic drugs) จะกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับมุมมองในสิ่งแปลกใหม่ พูดให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าเมื่อเราเสพยาเข้าไปแล้ว ยาก็จะกระตุ้นส่วนนี้จนเราสงสัยว่าสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังมองหรือได้ยินอยู่นั้นใช่โลกใบเดียวกันกับที่เราอาศัยมาทั้งชีวิตจริง ๆ หรือ อย่างการที่ฟังเพลงเดิมมาเป็นล้าน ๆ รอบ แต่พอเทคยาเข้าไปกลับรู้สึกว้าวยิ่งกว่าตอนที่ฟังครั้งแรก ๆ

แต่นั่นก็เป็นแค่ความสามารถของยาเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น Walsh บอกอีกว่า “มันยังสามารถทำให้สมองของคุณมีสมาธิในแบบที่สภาวะปกติไม่สามารถทำได้ ดังนั้นเพลงที่ถูกเปิดท่ามกลางสภาวะที่เกิดขึ้นจึงมีความเพราะ หรือมีมิติได้อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะสมาธิแทบทั้ง 100% อยู่ที่นั่นหมดแล้ว” 

เราอาจจะเคยเห็นค่านิยมการฟังเพลงที่ว่า “ถ้าเสพเพลงเร็กเก้ก็ต้องกัญชา ถ้าแจ๊สก็ต้องเฮโรอีน หรือถ้าเพลงเมา ๆ อย่างไซคีเดลิกหรือ EDM ก็ต้อง LSD สิ” ทั้ง ๆ ที่เป็นยาเสพติดเหมือนกันแต่ทำไมถึงมีการจับคู่ความเหมาะสมของแนวดนตรีเกิดขึ้น ?

Walsh บอกว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ยากไม่แพ้ ‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน’ แต่ถ้าให้ตั้งสมมติฐานก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของวัฒนธรรมนั่นล่ะ ผู้คนที่สร้างดนตรีร็อกส่วนมากก็อาจจะเล่นโคเคน ส่วนเพลงป๊อปหรือแดนซ์ก็คงเล่นยาที่ต่างกันออกไปอีก และผู้คนที่ฟังเพลงในแนวต่าง ๆ ก็ซึมซับค่านิยมเหล่านั้นมาด้วย

ZionMan รอย(เ)ยิ้มของเหล่าราชสีห์รมควัน

เมื่อเราเห็นธงสีเขียวเหลืองแดง ผมที่ถักเดรดล็อก เสื้อมัดย้อม และควันกัญชาที่ถูกพันลำมาอย่างดีในมือของพวกเขา เราจึงรู้ทันทีว่าเพลงที่ฟังคือเร็กเก้ แต่เราก็สงสัยว่ากัญชาช่วยให้เพลิดเพลินกับการฟังเพลงยิ่งขึ้นได้อย่างไร

Jorg Fachner ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาดนตรี สุขภาพ และสมอง ที่ Anglia Ruskin University ผู้ขะมักเขม้นศึกษาในเรื่องนี้บอกว่า สิ่งสำคัญที่ทุกคนเข้าใจถูกเกี่ยวกับกัญชาคือมันสร้างผลกระทบเรื่องเวลาต่อคนเสพ คือเราจะเห็นพวกเขาทำอะไรเชื่องช้า แต่อันที่จริงแล้วนาฬิกาในตัวของพวกเขานั้นเร็วขึ้นจนส่งผลให้เขาเห็นนาฬิกาของโลกภายนอกช้าลง “ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้นจะเห็นว่าสมองที่ถูกสาร ‘Cannabinoids’ เข้าไปกระตุ้นทำให้หน่วยวัดและกรอบเวลาที่เคยมีอยู่ขยายใหญ่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

ดังนั้นเมื่อการรับรู้ของเวลาเปลี่ยน ความสามารถในการโฟกัสสิ่งต่าง ๆ จึงยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย (มันเหมือนกับว่าเรามีเวลาตัดสินใจหรืออยู่กับสิ่ง ๆ หนึ่งมากขึ้นนั่นแหละ) เมื่อเพลงดังขึ้นในช่วงเวลาที่ high เราจึงสามารถแยกแยะรายละเอียดของมิติเครื่องดนตรีและเสียงต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ภาพที่เราเห็นชาวราสต้าเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงดนตรีจึงอาจจะเป็นเสียงเบสหนึบ ๆ เสียงสแนร์ที่ดังก้องจากการโดนดั๊บ หรือเสียงเครื่องเป่าอย่างเย้ายวนก็ได้ แล้วแต่ว่าพวกเขาหรือเธอโฟกัสที่จะเคลิ้มกับอะไร ซึ่ง Fachner กล่าวเสริมในตรงนี้ว่า กัญชายังเพิ่มความสามารถทางการได้ยินขึ้นอีกด้วย เราจึงจะได้ยินเสียงที่สดขึ้น สะอาดขึ้น และชัดเจนมากขึ้น

นอกจากความสามารถทางการได้ยินแล้ว ความสามารถทางภาพหรือจินตนาการก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เสพจะได้รับจากเจ้าสมุนไพรตัวนี้ “กลุ่มตัวอย่างจากงานวิจัยบอกว่า ความสามารถในการจินตนาการภาพระหว่างฟังเพลงของพวกเขามีมากขึ้นด้วย” คือคำที่ Facher อธิบายถึงความสามารถในการประมวลภาพของสมอง ณ ขณะที่ high อยู่นั่นเอง

จริงอยู่ว่าการฟังเพลงด้วยการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะที่เมามายจากยานั้นจะพาเราไปเจอสุ้มเสียงใหม่อย่างที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากกระบวนการไหน แต่คำว่า ‘เพราะขึ้น’ อาจจะไม่ใช่คำที่ใช้อธิบายได้อย่างถูกต้องซะทีเดียว คำว่าได้สัมผัสดนตรีในรูปแบบที่ต่างออกไปดูจะใช่ซะมากกว่า เพราะการที่ลงมือทำอะไรด้วยสติอันน้อยนิด ส่วนใหญ่คงไม่ได้ส่งผลดีตามมาเท่าไหร่ และเราเชื่อว่าช่วงเวลาที่สติยังคงอยู่ครบถ้วนคือตอนที่เหมาะกับการฟังเพลงที่สุดเสมอ : )

 

อ้างอิง

https://noisey.vice.com/en_ca/article/newv7g/why-drugs-genres-match-mdma-raves-shrooms-psychedelia-rap-lean
https://www.leafly.com/news/science-tech/why-does-cannabis-make-music-sound-so-good

 

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน