Article Guru

จากคนฟังเพลงสู่คนทำเพลง ความยากลำบากที่แค่ฟังคงไม่เข้าใจ

  • Writer: Geerapat Yodnil

มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า เราสามารถสร้างโลกทั้งใบได้ด้วยการอยู่ห้องคนเดียวในคืนวันศุกร์ที่ประตูห้องนอนถูกปิดสนิท พร้อมกับการค่อย ๆ เพิ่มเสียงเพลงจากเครื่องเล่นให้ดังขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จะปิดตาลงแล้วกระโดดโลดเต้นราวกับเป็นวันสุดท้ายที่โลกจะแตก …

ใช่ครับ อย่างที่รู้และเข้าใจกัน หนึ่งใน safe zone ที่ปลอดภัยและดีต่อใจของใครหลาย ๆ คนคือ ‘เสียงเพลง’ ซึ่งพลังของมันก็มีมากถึงขนาดที่ว่าทำให้เราลืมโลกแห่งความจริงไปได้ในหนึ่งเพลงที่มีเวลาเพียงแค่ 4 – 5 นาทีเท่านั้น แต่เมื่อไหร่ที่เขาหรือเธอหรือใครคนใดก็ตามเลือกที่จะก้าวเข้าสู่การ ‘ทำเพลง’ อย่างจริงจังแล้วละก็ ขอให้จำนาทีสุดท้ายของเพลงที่ได้ฟังก่อนที่จะตัดสินใจให้ดี ๆ เพราะโลกแห่งเสียงเพลงกำลังจะเปลี่ยนไป

เสียงแตกชวนปิดหูของกีตาร์ เสียงเบสสุดกระหึ่มทำใจสั่น เสียงกลองชวนโยกตามจังหวะและเสียงร้องพราวเสน่ห์ของเขาคนนั้น คือทั้งหมดที่คนฟังหลาย ๆ คนมองเห็นภาพกว้าง ๆ จากเพลงเพลงนั้น แต่สำหรับคนทำเพลงแล้วมันไม่ใช่มิติตื้น ๆ ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในฐานะที่ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสประสบการณ์นี้จากการ ‘เรียน’ และ ‘ทดลอง’ จึงจะขอถือวิสาสะระลึกถึงความทรงจำที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของการทำเพลงของตัวเองในครั้งก่อนให้ทุกคนได้อ่านกัน แต่นี่ก็เป็นแค่มุมมองเพียงด้านหนึ่งจากคนฟังเพลงคนนึงที่ลองดีไปทำเพลงเพียงเท่านั้น อาจจะไม่ตรงกับประสบการณ์ของใคร ๆ ถ้ามีมุมมองที่แตกต่างก็มาแลกเปลี่ยนกันเนอะ

‘มนุษย์ในวงดนตรี’ จุดสตาร์ทที่ต้องใช้ความเข้าใจในการออกตัว

ถ้าตอนเป็นเด็ก คุณไม่ใช่คนที่พ่อแม่ส่งไปเรียนพิเศษในสถาบันดนตรีแฟรนไชส์ขึ้นห้างอย่าง Yamaha หรือ สยามกลการ แล้วละก็ การตั้งวงดนตรีในวัยมัธยมก็น่าจะเป็นช่วงเวลาแรกที่ทำให้คุณได้รู้จักกับการทำเพลง โดยเพื่อนมัธยมที่เล่นดนตรีได้ของคุณจะใช้สูตรเร่งรัดทำให้ทักษะทางดนตรีที่เท่ากับศูนย์ของคุณค่อย ๆ เพิ่มค่าขึ้นมาเอง (ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความใส่ใจต่อการฝึกของตัวเองด้วยนะ) และเมื่อมีวงแล้วก็ต้องจำไว้เสมอว่า “การทำวงดนตรีก็เหมือนกับการมีแฟนหลายคนพร้อม ๆ กัน” ซึ่งเป็นคำพูดจากคุณ แม็กซ์ (The Superglasses Ska Ensemble, ภูมิจิต) ที่ครั้งนึงเราได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาทางดนตรีที่มีวง ภูมิจิต เป็นวิทยากร เมื่อเทียบกับประสบการณ์ของตัวเองที่เคยมีวงดนตรีมาแล้วถึง 2 วง ก็ต้องขอบอกเลยว่าเป็นคำพูดที่จริงในจริงเหลือเกิน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์ในวงดนตรี’ มีความรู้สึกนึกคิดที่ซับซ้อนและมีความเปราะบางในตัวเอง อย่างถ้าใครเคยดู Love & Mercy (2014) ก็จะได้เห็นความทะเยอทะยานของ Brian Wilson ฟรอนต์แมนของวงดนตรียุค 60s อย่าง The Beach Boys (ก่อตั้งปี 1961) ที่ความเปราะบางของจิตใจได้ทำลายตัวตนของเขาลงในตอนสุดท้าย เพราะฉะนั้นแล้วการบาลานซ์แฟนทั้ง 4 หรือ 5 หรือบางทีก็ 6 คนในวงนั้นจะต้องใช้ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันที่ค่อนข้างสูง ทั้งในเรื่องเพลงและเรื่องส่วนตัวเพื่อไม่ให้ใครต้องเจ็บปวดและเลิกรากันไปในที่สุด ซึ่ง ณ ปัจจุบันเราเองก็พยายามอยู่เหมือนกัน

Re-arrange เพลงเขาที่เราเอามาทำใหม่

ย้อนกลับมาที่ ‘การตั้งวงดนตรีในวัยมัธยม’ ที่เกริ่นแบบปริ่ม ๆ เอาไว้ในตอนแรก นอกจากนักกีฬาและดาวโรงเรียนที่อาศัยความหน้าตาดีแล้ว ‘วงดนตรี’ ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กัน ก็แหงล่ะ ผลงานวิจัยก็บอกว่าผู้คนที่มีความสามารถทางดนตรีคือผู้คนที่น่าหลงใหลและดึงดูดเพศตรงข้าม ใคร ๆ ก็คลั่งไคล้พวกเค้ากันทั้งนั้น (อ่านเรื่องนี้เต็ม ๆ ได้ในคอลัมน์ ‘เหตุใดนักดนตรีถึงมีแฟนสวย’ กันนะพวกเธอว์) คนธรรมดาอาจจะคิดว่าวงดนตรีเหล่านี้เป็นแค่วงที่เล่นเพลงของคนอื่น ๆ เพื่อให้คนกรี๊ดกร๊าดเพียงเท่านั้น แต่เปล่าเลย การแข่งดนตรีก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ทุกวงต้องการจะไขว่คว้ามา และตรงนี้เองที่การ ‘re-arrange หรือ ‘การเอาเพลงคนอื่นมาทำใหม่ในไสตล์ของตัวเอง’ ได้กลายเป็นการทำเพลงครั้งแรก ๆ ที่หลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไปโดยปริยาย

ความยากคืออะไร ? ถ้าเพลงที่เอามาทำใหม่เป็นเพลงที่เราชอบหรือฟังอยู่บ่อยครั้ง การจะทำให้สามารถฉีกออกจากต้นฉบับได้จะเป็นอะไรที่ยากมาก จะเปลี่ยนจังหวะ (time signature) ให้ต่างออกไปหรือแต่งท่อนแยก (bridge) เพิ่มเข้ามาก็ยังคงหลอนหูจากต้นฉบับกันทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงต้องสะกดจิตตัวเองให้ไปในลู่ทางที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ เช่น ตรงท่อนนี้มันฟังแล้วรู้สึกสว่างจังเป็นเพราะเมเจอร์ คอร์ดแน่ ๆ เลย ถ้างั้นลองทำให้มืดลงด้วยไมเนอร์คอร์ดดูดีกว่า หรือ เฮ้ย! ตรงนี้ให้ร้องด้นสด (improvise) น่าจะลงตัวนะ เอ๊ะ ! แต่มันจะไม่เพราะรึเปล่า ต้นฉบับเค้าเพราะเลยนะตรงนี้ โอ๊ย! ต้องหักดิบเลือกสักอย่างไปเลยจ้า

ถ้านึกไม่ออกเราจะขออัญเชิญตัวอย่างเพลง re-arrange ที่ดีงามขึ้นหิ้งมาไว้ให้ทุกคนได้ไปลองฟังลองวิเคราะห์กันดู คราม จาก ดอกเบี้ยบานแบนด์ ผู้ชนะจุดสูงสุดแห่งการแข่งขันวงดนตรีมัธยม Hot Wave Music Award ครั้งที่ 15 (ปัจจุบันเป็นวง Rubber Duck แห่ง Genie Records) ต้นฉบับก็อย่างที่ทุกคนรู้ว่าเป็นของ BodySlam แต่เราจะขอพูดโดยไม่อ้างอิงทฤษฎีดนตรีใด ๆ ว่า คือถ้าไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเพลง re-arrange เราจะคิดว่าเพลงนี้ต้นฉบับเป็นของดอกเบี้ยบานแบนด์

การ re-arrange เพลงบ่อย ๆ นอกจากจะเพิ่มทักษะจินตนาการทางความคิดสร้างสรรค์ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ทักษะพื้นฐานทางการเล่นอย่างการให้น้ำหนักที่ดังและเบา (dynamic) สั้นและยาวกับเสียงที่ออกมาอันเป็นปัจจัยสำคัญของอารมณ์เพลงยังจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล่ะที่จะช่วยให้การทำเพลงของตัวเองในอนาคตมีความละมุนละไมมากขึ้น

ใครแต่งเนื้อร้องได้บ้างวะ?

การทำเพลงเป็นของตัวเองขึ้นมาสักเพลงนึง การแต่ง ‘คำร้อง’ (lyrics) ดูจะเป็นอะไรที่ยากกว่าการทำพาร์ตดนตรีทุกชิ้นรวมกันซะอีก

ส่วนตัวเราคิดว่าที่มันยากเพราะว่าคนส่วนมากเลือกที่จะยึดเล่นในเครื่องดนตรีเป็นหลักมากกว่าที่จะเริ่มที่การอยากแต่งเพลงก่อน และการเป็นผู้เล่าที่ดีนั้นก็ไม่ได้อาศัยทักษะของวาทศิลป์ในการพูดเพียงอย่างเดียว ‘เหตุการณ์’ ที่กระทบจิตใจและ ‘เวลา’ ที่เหมาะสมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยในเนื้อเพลง

ข้อดีในการเป็นเจ้าของเพลงของตัวเองคือทุกอย่างอิสระมาก  ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนดนตรีมาโดยตรงเพื่อให้มีเพลงแต่งสักเพลง (แสตมป์ อภิวัชร์, Youth Brush, The Whitest Crow, Fellow Fellow คือตัวอย่างของคนที่ไม่ได้เรียนดนตรีมาแต่ทำเพลงได้ไม่เลวเลยทีเดียวอย่างที่รู้กัน) แม้ว่าจะมีเนื้อร้องที่จับใจกับพาร์ตดนตรีที่แข็งแรงแล้ว แต่ความยากอีกอย่างคือในท้ายที่สุดแล้วเราจะต้องรู้จักคำว่า ‘พอดี’ รู้ว่าเพลงของเราควรหยุดไว้ที่ตรงไหนถึงจะเหมาะสม เพลงทุกเพลงต้องการ space เพื่อให้คนฟังจินตนาการบ้าง (มากน้อยยังไงก็ควรมี) แต่ถ้าหากจะบอกว่ามินิมอลก็ต้องมาลองฟังกันดูว่ามันพอดีจริงหรือเปล่าสำหรับคำว่ามินิมอล ตัวอย่างเพลงที่เราคิดว่ามีความพอดีมาก ๆ ก็น่าจะเป็นทุกเพลงในสตูดิโออัลบั้มชุดล่าสุดของ John Mayer ที่ชื่อ The Search For Everything สำหรับคนที่ฟังแล้วอาจจะมีคิดตรงกันเหมือนเราว่าทุกอย่างมันดูจับต้องได้ไปหมด ย่อยง่ายราวกับเป็นคลีนฟู้ดชั้นดี ทั้งพาร์ตดนตรีและคำร้องดูน้อยมากแต่กลับรู้สึกเติมเต็มอย่างน่าประหลาด ซึ่งเป็นเรื่องของการให้ค่ากับ space ที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ   

กว่าจะได้ 1 Track ในวันนี้ ในวันนั้นต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง           

ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าในสถานภาพของ ‘นักเรียนดนตรี’ เราไม่ใช่คนที่ขยันเลย แต่อย่างน้อยการตัดสินใจเลือกเรียนในวิชาเอก ‘เทคโนโลยีดนตรี’ (Music Technology) ก็ช่วยทำให้เราเข้าใจว่าที่มาที่ไปของหนึ่ง audio track ไม่ได้ง่ายอย่างตอนกดปุ่มเล่นเพื่อฟังเพลงเลย

หากไม่รู้จัก ‘audio interface’ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ในหมู่คนทำเพลงว่า ‘sound card’ ก็จะไม่มีวันอัดเพลงที่คิดไว้ได้อธิบายหน้าที่ของเจ้าซาวด์การ์ดอย่างเร็ว ๆ ได้ว่า ‘อุปกรณ์ที่เป็นตัวกลางแปลงสัญญาณอนาล็อกให้เป็นดิจิทัล’ เราจะใช้เหตุการณ์สมมติเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกนิดนึง เริ่ม !

กิตติเป็นมือคีย์บอร์ดของวง The White Key แต่เผอิ๊ญ ทางวงของกิตติไม่มีใครมีความรู้เรื่องการอัดเพลงกันเลย ก็เลยไม่รู้ว่าจะบันทึกเสียงที่แสดงสดกันอย่างเมามันกันในห้องซ้อมยังไง แต่เผอิ๊ญอีกแหละ ข่าวลือหนาหูไปถึงเพื่อนของกิตติ เค้าจึงใจดีให้ยืมอุปกรณ์อัดเพลงที่เรียกว่าซาวด์การ์ดมาพร้อมกับกำชับว่า “นายต้องมีโปรแกรมอัดเพลงในคอมด้วยนะเพื่อน นายถึงจะบันทึกทุกเสียงเอาไว้ได้” กิตติตกใจจึงรีเสิร์ชข้อมูลโดยทันทีและพบว่าหนึ่งในโปรแกรมที่เหมาะสมกับ PC ของกิตติคือโปรแกรมที่มีชื่อว่า ‘Cubase’ (ส่วนโปรแกรมอื่นอย่าง ‘Pro Tools’ จะเหมาะกับเครื่อง Mac มากกว่า) การใช้ซาวด์การ์ดของกิตติเริ่มต้นด้วยการตั้งค่า input และ output ที่ตัวโปรแกรม จากนั้นจึงใช้คีย์บอร์ดต่อตรงเข้าไปที่ซาวด์การ์ด ซาวด์การ์ดทำให้เสียงที่กิตติเล่นจากคีย์บอร์ดกลายเป็นสัญญาณดิจิตอลใน Cubase และสามารถบันทึกเก็บเอาไว้ฟังเมื่อไหร่ก็ได้ /จบ.

แต่เครื่องดนตรีบางเครื่องไม่สามารถต่อจากตัวของมันไปเข้าซาวด์การ์ดได้โดยตรงหรอกนะ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรู้จักการ ‘miking’ ศัพท์ภาษาไทยง่าย ๆ ของมันคือการวางไมค์ ถ้าจะให้เห็นภาพชัด ๆ เลย เครื่องดนตรีที่พึ่งพาการไมค์กิ้งมากที่สุดก็คือ กลอง คนฟังเพลงที่ชอบไปงานคอนเสิร์ตบ่อย ๆ อาจจะสังเกตเห็นว่า ตัวของกลองเองเนี่ยไม่ว่าจะ ไฮแฮท สแนร์ หรือว่ากระเดื่อง จะถูกไมค์จ่อเอาไว้หมดเลย แต่นั่นก็เป็นเรื่องของเสียงในการแสดงสด ส่วนเรื่องของการอัดเสียงแบบสตูดิโอเพื่อทำเพลงไปฟังนั้น หลักการคร่าว ๆ ของการไมค์กิ้งก็จะมี การนำไมโครโฟนไปจ่อที่แสนร์ ไฮแฮท กระเดื่อง แฉ ทอม ฟลอร์ทอม และโอเวอร์เฮด ส่วนสุดท้ายนั้นจะไม่ได้เลือกจ่อที่ตัวใดตัวหนึ่งในส่วนประกอบของกลอง แต่จะอยู่เหนือหัวทั้งฝั่งซ้ายและขวาของระดับสูงสุดของกลองขึ้นไปเพื่อเป็นการเก็บเสียงบรรยากาศในตอนอัด ส่วนที่ต้องทำต่อมาคือนำปลายสายของไมค์ที่เราได้ไมค์กิ้งทุกตัวไปเข้าซาวการ์ดเพื่อทำหน้าที่แปลงสัญญาณเหมือนอย่างตอนของกิตติที่เราได้บอกมา

* เกร็ดความรู้ * ไมโครโฟนทุกตัวมีความเหมาะสมกับแต่ละส่วนประกอบของกลองอยู่และการไมค์กิ้งที่ดีนั้นก็มีหลักการอยู่มากมาย แต่ในท้ายที่สุดการลองเพื่อเสียงที่ใช่ก็อยู่เหนือกว่าทฤษฎีใด ๆ ทั้งสิ้น

ก่อนที่บทเพลงเหล่านั้นจะมีความหมายกับทุก ๆ คน

ในตอนสุดท้าย เสียงที่ดีของเพลงจะต้องมาจบที่ขั้นตอนนี้เท่านั้น ‘mixing and mastering’ เฮ้ย! จู่ ๆ เสียงกีตาร์โซโล่หวาน ๆ ในท่อนฮุคก็โผล่มาทางด้านซ้ายของหู แล้วอยู่ดี ๆ เสียงเมโลดี้น่ารัก ๆ ของคีย์บอร์ดก็หลบไปอยู่ทางด้านขวา เฮ้ย ๆ แล้วทำไมเสียงร้องในท่อนแยกของเพลงนี้มันก้องเหมือนอยู่ในห้องน้ำเลย ใช่ครับ เพราะการมิกซ์และมาสเตอร์คือการทำให้เพลงมีมิติและชูความสวยงามอย่างที่เพลงควรจะเป็น อย่างเช่น เรื่องเสียงที่อยู่ทางซ้าย-ขวาของหูก็เกิดจากการแพนเสียง ส่วนเรื่องเสียงร้องหรือเสียงกีตาร์ที่มีความลอยความแฉะอย่างที่เพลงโพสต์ร็อกชอบใช้ก็เกิดจากการใส่เอฟเฟกต์ ที่เรียกว่า ‘reverb’ ซึ่งจะช่วยให้เสียงดูกว้างและใหญ่ขึ้น แน่นอนว่าเพลงทุกเพลงเกิดจากการอัดของมนุษย์จึงอาจทำให้มีเสียงดังเบาที่ไม่เท่ากันบ้างจากน้ำหนักมือในตอนนั้น ๆ เราจึงต้องมีการใช้ ‘compressor’ ที่ช่วยตบเสียงที่เกินไปให้มีระดับสม่ำเสมอกัน (และมีวิธีการอีกมากมายในการปั้นเพลงที่เราไม่ได้พูดถึง) และท้ายที่สุด การมาสเตอริ่งจะช่วยผลักให้ทุกขั้นตอนที่ผ่านมากลายเป็นเพลงอย่างที่คนทำต้องการ เป็นอันสิ้นสุด ‘ความยากลำบาก’ ของกระบวนการทำเพลงที่ผ่านมาทั้งหมด

จริงอยู่ว่าการโยกย้ายเข้าไปสู่โลกของ ‘คนทำเพลง’ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่มันก็สัจธรรมของโลกอยู่แล้วที่ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ถึงแม้ว่าตั้งแต่ต้นจนจบเราจะไม่ได้พูดเลยว่า “อย่างน้อย ๆ การทำเพลงก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกและทำให้ชีวิตของเรามีความหมายมากมาย” แต่เราก็ไม่ได้บอกเลยว่ามันได้ลำบากจนหมดสนุกขนาดนั้น และปัจจุบันเราก็ยังคงทำอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือถ้าหากเราไม่ก้าวเท้าออกจาก safe zone ตอนนี้ แล้วจะรู้ได้ไงว่ามีอะไรรออยู่ แค่เชื่อที่คนอื่นพูดมันง่ายไป ลองทำเองดู เดี๋ยวรู้เลย

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน