หรือนี่จะเป็นจุดจบของซีดี?
- Writer: Malaivee Swangpol
ในปี 2002 ซีดีเคยทำรายได้กว่า 95.5% ของยอดขายโดยรวมในอุตสาหกรรมดนตรี กวาดรายได้ไปเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นยอดขายก็ตกลงมาเรื่อย ๆ จนเหมือนจะกลับมามีหวังและเติบโตทีละนิดขึ้นช่วงปี 2015 ในทางกลับกัน ไวนิลก็เคยกลับมาฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง คนซื้อเครื่องเล่นและซื้อแผ่นไวนิลมาสะสมกันอย่างสนุกสนานจนทำยอดขายเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ยุค 2000 แต่ปีที่ผ่านมากลับมีรายงานว่ายอดขายไวนิลเริ่มนิ่ง สรุปแล้ว ใครจะอยู่ใครจะไป? เรามามองสู่ 2019 กัน ว่าเราจะเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว หรือจะกลับมาโหยหาอดีตแบบที่เคยเป็นอีกหรือเปล่า?
ปี 2017 ยอดขายซีดีในสหราชอาณาจักรลดลงกว่า 23% เพราะทุกคนย้ายไปฟังสตรีมมิ่งกันหมด โดยในปีต่อซีดีทำยอดขายไปได้เพียง 32 ล้านแผ่นเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าในปี 2008 กว่า 100 ล้านแผ่นเลยทีเดียว โดยในขณะเดียวกันไวนิลซึ่งเป็นความหวังของกลุ่มสินค้า physical ก็เติบโตเพียงแค่ 1.6% เท่านั้น ไม่ต่างกันกับในสหรัฐอเมริกาที่ยอดขายซีดีตกลงกว่า 80% ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จากกว่า 450 ล้านแผ่นเหลือแค่ 89 ล้านแผ่น
ในไทยเองก็เช่นกัน ในปีที่แล้ว B2S ร้านขายเครื่องเขียนเจ้าใหญ่ก็ปิดตัวแผนกซีดีตามสาขาย่อยไปหมดแล้ว จะเหลือวางจำหน่ายที่สาขาใหญ่ ๆ อย่างที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ กับที่สาขาเมกะบางนาเท่านั้น เช่นเดียวกับห้างค้าปลีก Tesco และ Sainsbury’s ในสหราชอาณาจักรที่ลดขนาดการจำหน่ายซีดี เหลือเพียงซีดีเพลงยอดฮิตเท่านั้นที่จะอยู่บนแผง แต่ร้านที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็น HMV ร้านขายซีดีที่มีกว่า 125 สาขาทั่วเกาะอังกฤษ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการยื้อให้ร้านอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะวิกฤติของร้านค้าปลีกในอังกฤษและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดย Paul McGowan ผู้บริหาร HMV คาดการณ์ว่า รายได้ของธุรกิจการขายสินค้า physical ต่าง ๆ จะลดลงอีกกว่า 17% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ร้านไม่สามารถอยู่ได้แน่ ๆ (จนถึงกับมีคนออกมาแนะนำให้รีบใช้บัตรกำนัล HMV ซะก่อนร้านจะเจ๊ง) ซึ่งนอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผลพวงจาก Brexit (การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร) ก็ทำให้ภาษีนำเข้า, ค่าแรงขั้นต่ำ ฯลฯ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
มาดูสถติอัลบั้มที่ขายดีที่สุดของปี 2018 โดยส่วนมากจะเป็นอัลบั้มรวมฮิตหรือซาวด์แทร็ค ลองดูภาพได้ด้านล่าง
อีกจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจคือ สองอัลบั้มที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grammy Awards สาขา Album of the Year ปี 2019 อย่าง Cardi B – Invasion of Privacy และ H.E.R. – self titled ก็ไม่มีการวางจำหน่ายเป็นซีดีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1984 ที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น
“พวกเราเปลี่ยนวิถีการฟังเพลงและชมภาพยนตร์ไปเยอะมาก ไปสู่การสตรีมจาก Netflix และ Spotify มากขึ้น” คิม เบย์ลีย์ จากสมาคมผู้ค้าปลีกธุรกิจบันเทิงให้ความเห็น “แต่ฉันคิดว่าเราควรจะระลึกไว้ว่าธุรกิจการขายสินค้า physical คือธุรกิจที่มีเงินสะพัดกว่าสองพันล้านปอนด์ แม้กระทั่ง HMV เองก็ยังมีส่วนแบ่งยอดขายไปกว่าสองร้อยห้าสิบล้านปอนด์เลยทีเดียว”
แต่จอน ทอลลีย์ เจ้าของร้านซีดีอิสระ Banquet Records ยังคงยืนยันว่าสตรีมมิ่งยังคงอยู่ควบคู่กับซีดีและไวนิล “ผมไม่คิดว่ายอดขายของซีดี ไวนิล จะต้องมาแข่งอะไรกับสตรีมมิ่ง พวกเราเข้าถึงเพลงและภาพยนตร์บนอินเทอร์เน็ต และมันถูกต้องแล้ว มันดีกับอุตสาหกรรมเพลง แต่คุณคงไม่นั่งดูรูปโมนาลิซ่าในโทรศัพท์และคิดว่ามันแทนการไปพิพิธภัณฑ์ได้” นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า “เหตุผลที่ยอดขายไวนิลสูงสุดในรอบ 25 ปีเพราะว่าผู้คนเริ่มปฏิเสธสังคมยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างมันไว ซึ่งมันไม่มีความหมายอะไรเลย”
Jack White เห็นต่างจากนั้น เขาเชื่อว่าซีดีกำลังจะตาย “ผมเชื่อว่าทศวรรษหน้าจะเหลือแค่สตรีมมิ่งและไวนิล สตรีมมิ่งในรถและห้องครัว ส่วนไวนิลก็เอาไว้ฟังในห้องนั่งเล่นและห้องอื่น ๆ มันจะมีแค่ 2 ฟอร์แมตนี้แหละ และผมก็รู้สึกดีถ้ามันจะเป็นแบบนั้น”
ในขณะเดียวกัน สตรีมมิ่งก็กำลังเติบโตเต็มที่ในทางตรงกันข้ามกับตลาดซีดีและไวนิล (ดูภาพบน) โดยในปี 2017 ในสหราชอาณาจักรมีการสตรีมเพลงกว่า 91 ล้านครั้งในแอพสตรีมมิ่งต่าง ๆ หรือเท่ากับกว่า 1,300 เพลงต่อคน และตอนนี้การสตรีมนับเป็น 63.6% ของการฟังดนตรีในสหราชอาณาจักร แต่ข้อดีก็คือ ยอดสตรีมก็ได้กลับมาช่วยอุตสาหกรรมดนตรีทำให้พอจะเติบโตได้บ้าง โดยสร้างรายได้ไปกว่า 1.33 พันล้านปอนด์ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลช่วยกันให้อุตสาหกรรมดนตรีกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 และยังคงเติบโตเรื่อย ๆ อย่างในสหรัฐอเมริกา ยอดการสมัครสตรีมมิ่งแบบพรีเมียม (เสียเงินรายเดือน) ก็นับเป็น 3 ใน 4 ของยอดสตรีมมิ่งทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
สุดท้ายแล้วซีดีจะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน? นี่ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่อาจสรุปได้ ในที่สุดแล้วอาจมีการปรับตัวบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อให้ซีดียังคงอยู่ อย่างการจำหน่ายสินค้าแถมซีดีอย่างโมเดลของวงไอดอลญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ซึ่งอาจเป็นหนทางที่ชาว audiophile อาจไม่ได้เห็นด้วยมากนัก แต่ที่แน่ ๆ คิดว่าไวนิลน่าจะยังอยู่ได้อีกหลายปีอย่างแน่นอนจากกระแสการโหยหาอดีตและความอยากหลบหลีกจากสังคม 4.0 จากนี้เราก็คงต้องมาติดตามดูกันต่อไป ว่าโลกจะหมุนพาเสียงเพลงไปทางไหน