สมองของมือกลองอาชีพ มีพัฒนาการหรือโตขึ้นในแบบที่ไม่มีใครเหมือน
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Visual Designer: Tas Suwanasang
สมัยนี้ก็ดีอย่าง การเป็นศิลปินไม่ได้ยากอย่างที่เราคิดอีกต่อไป ด้วยราคาเครื่องดนตรีที่ถูกลงมาก เราเข้าถึงเครื่องดนตรีทุกชิ้นได้ง่ายขึ้นด้วยช่องทางต่าง ๆ เช่นเทคโนโลยีอย่าง The Music Room กลอง VR ที่ทำให้เราตีกลองได้โดยไม่รบกวนใคร แถมยังประหยัดพื้นที่ในบ้านอีกด้วย แล้ววิทยาศาสตร์ก็อยากให้ทุกคนเล่นเครื่องดนตรีเป็นกันคนละหนึ่งชิ้น มันช่วยทำให้สมองและอารมณ์ของเราทำงานได้ดีขึ้น แต่หลายคนไม่รู้ว่าการเล่นดนตรีในระยะยาวทำให้ทรงสมองของเราเปลี่ยนไป
แน่นอนว่ามีงานวิจัยมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 แล้วว่าคนที่เล่นดนตรีเครื่องสายจนชำนาญอย่างไวโอลิน เชลโล่กับกีตาร์ จะควบคุมนิ้วหรือมือข้างซ้ายได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน ซึ่งเกิดจากการต้องฝึกควบคุมความเคลื่อนไหวทั้งสองมือไปพร้อมกันเมื่อเล่นดนตรีให้ถูกต้อง คนที่เล่นเปียโนก็มีโครงสร้างสมองที่โตแบบสมมาตรกว่าคนทั่วไป การเล่นคีย์บอร์ดหรืออ่านโน้ตเพลงได้ก็ทำให้สมองส่วนท้ายโตขึ้น เพราะต้องแปรตัวโน้ตให้กลายเป็นการเคลื่อนไหวของนิ้วอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดคือตัวอย่างของการที่สมองวิวัฒนการบางส่วนขึ้น เพื่อเอาชนะอุปสรรคหรือความยากของการเล่นดนตรีด้วยการฝึกฝนซ้ำ ๆ
งานวิจัยล่าสุดก็ลงไปสำรวจสมองที่โตขึ้นจากการตีกลอง ทั้งที่มันเป็นเครื่องดนตรีที่คนรอบข้างไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ด้วยเสียงอันเอะอะมะเทิ่งของมัน แต่มันเป็นเครื่องดนตรีชิ้นไม่กี่ชิ้นที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของแขนขาอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้าสแกนดูเราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสมองของมือกลองกับสมองของคนปรกติมีรูปร่างที่แตกต่างกันชัดเจนมาก
เมื่อจำลองภาพสมองของมือกลองแล้ว ก็เห็นว่าเขามีเส้นประสาทในส่วนหน้าของ corpus callosum ที่แข็งแรง ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมสมองทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันและเป็นตัวกลางให้สมองทั้งสองซีกสื่อสารกันได้ ทำให้มือกลองอาชีพสามารถตอบสนองด้วยมือทั้งสองข้างได้อย่างรวดเร็วทันใจ สมองของมือกลองอาชีพก็ดูนิ่งกว่าคนที่ไม่เล่นดนตรีด้วยเมื่อสแกนสมองด้วย MRI ซึ่งมีผลลัพธ์เดียวกับคนที่มีความฉลาดสูง ๆ อธิบายง่าย ๆ คือสมองไม่ต้องทำงานเยอะเพื่อควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตัวเอง
การเป็นมือกลองไม่ได้ทำให้สมองของพวกเขาแตกต่างจากคนอื่นเพียงอย่างเดียว มันยังส่งผลให้ร่างกายของพวกเขาตอบสนองต่อรูปแบบจังหวะเสียงรอบตัวในแบบที่ไม่เหมือนใคร แต่มือกลองบางคนอาจทำให้เกิดอาการ ‘drummer’s high’ ที่สมองจะหลั่งสารความสุขหรือเอนดอร์ฟินออกมาเมื่อเล่นดนตรี เพราะการฟังเพลงเฉย ๆ ไม่อาจขึ้นไปแตะความรู้สึกฟินเหล่านั้นได้ถึงอีกต่อไป แต่ด้วยเอนดอร์ฟินที่หลั่งออกมาผ่านเสียงกลอง ทำให้คนรอบตัวหลั่งอะดรีนาลีนง่ายขึ้นและสร้างบรรยากาศให้สมาชิกในวงร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้นบนจังหวะเดียวกัน โดยเฉพาะบนเวทีคอนเสิร์ต
สมองของนักดนตรีทุกคนล้วนพัฒนาการไปในทางที่เฉพาะตัวมาก แต่ต้องยอมรับว่าทุกคนฝึกฝนอย่างหนักและเก่งกันจริง ๆ ไม่ใช่แค่คนในวง แต่คนฟังเสียงกลองเองก็รู้สึกมันได้อย่างน่าประหลาด มาลองฟังกลองชุดยักษ์อันนี้แล้วเราจะทึ่งในความเป็นมือกลองมากขึ้น
อ้างอิง
openculture.com
sciencemag.org
sciencecdirect.com