Article Guru

It’s Oh! So Dope ความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับเทศกาลดนตรี

  • Writer: Geerapat Yodnil

ถ้าจะต้องพูดถึงแหล่งชุมชนของเหล่าคนรักเสียงดนตรีอย่าง ‘เทศกาลดนตรี’ แล้วล่ะก็ สิ่งแรก ๆ ที่พวกคุณพอจะนึกออกว่าจะต้องเจอนั้นมีอะไรบ้าง ?

ไลน์อัพวงดนตรีมากมาย ผู้ฟังอันเนืองแน่นที่แต่งตัวมัน ๆ ด้วยแฟชันจากหลากยุค การมีอยู่ของเบียร์ยี่ห้อคุ้น กับบรรยากาศที่สวยงามจากหลอดไฟนับร้อยที่ถูกจัดเอาไว้ก็คงเป็นอีกสิ่งที่หลายคนคิดถึง และบางครั้งความรักที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าก็เกิดขึ้นจากที่นี่ แต่รู้รึเปล่าว่าการเล่นยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

เราขออาสาพาไปดู (แต่ไม่ขอพาไปลองนะ) ว่ายาตัวไหนป๊อปปูล่าหรือตัวไหนเป็นเพียงแค่ lonely drugs และย้อนรอยประวัติศาสตร์อย่างคร่าว ๆ โดยการกลับไปดูเทศกาลดนตรีแรกของโลกว่าพวกเขาหรือเธอเริ่มสร้างวัฒนธรรมลับ ๆ นี้ตั้งแต่ตอนไหนกัน ปล. คอนเทนต์นี้ไม่ได้สนับสนุนเรื่องยาเสพติดแต่อย่างใดทั้งสิ้นนะ      

ปฐมบทเทศกาลแห่งเสียงเพลง

บางความเชื่อบอกว่าก่อนจะกลายมาเป็นเทศกาลดนตรีในรูปแบบอย่างทุกวันนี้ ต้นกำเนิดนั้นมีรากมาจากพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนาของชาวกรีกโบราณในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ที่ชื่อว่า Pythian Games โดยเป็นงานที่จะจัดขึ้นในเมือง Delphi ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นมรดกโลกไปแล้ว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับ Apollo เทพเจ้าแห่งเสียงดนตรี ที่สามารถปราบมังกร Pytho ได้สำเร็จ แน่นอนว่าชื่องานลงท้ายด้วยคำว่าเกมส์ขนาดนั้นก็ต้องเป็นงานแข่งขันอย่างแน่นอน ปัจจุบันงานนี้ยังคงมีอยู่และมีประเภทของการแข่งมากมายที่ไม่ใช่แค่ดนตรีแต่ว่าดนตรีก็ยังคงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของงานนี้อยู่ดี แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดของการเล่นยาเสพติดในสมัยนี้ แต่มีทฤษฎีที่น่าสนใจพูดถึงยาเสพติดที่ชื่อว่า Pythia Gases ซึ่งถูกใช้ในวัฒนธรรมโบราณของกรีก มีสสารเป็นแก๊สที่ประกอบด้วยเอทีลีน เบนซีน และมีเทน ไม่แน่ว่าเจ้ายาชนิดนี้อาจจะถูกใช้ในงานเฉลิมฉลอง Pythian Games ในอดีตก็ได้

โลกที่ไร้กำแพงของเพลง Jazz

new-port-jazz-fes-2

เขยิบประวัติศาสตร์เข้ามาอีกหน่อย ในปี 1950s เทศกาลดนตรีแรก ๆ ของโลกเกิดขึ้นจากจุดที่เพลงแจ๊ซกำลังเคลื่อนไหวอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์อย่างสนุกสนาน Newport Jazz Festival คือชื่อนั้น ความโชคดีของเหล่าคนฟังในสมัยนั้นคือในงานเดียวจะได้ดูทั้ง Louis Armstrong, Miles Davis, Ella Fitzgerald และศิลปินแจ๊ซระดับตำนานที่ปัจจุบันแทบจะหาดูไม่ได้แล้วอีกมากมาย

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นจากงานนี้คือการลบทัศนคติเชิงลบที่ว่า ‘การดูแสดงดนตรีสดมีไว้เพื่อชนชั้นสูงและคนรวยเท่านั้น’ ให้กลายเป็นเรื่องของดนตรีเพื่อทุกคนที่รักได้จนสำเร็จ

SONY DSC

ถ้าไม่นับบุหรี่แล้วละก็ แทบไม่มีประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนเลยว่าคนฟังในเทศกาลดนตรีช่วงปี 50s นั้นเล่นยาชนิดไหนกันภายในงานรึเปล่า แต่ในฝั่งของศิลปินกลับมีเฮโรอีนและโคเคนเป็นพระเอกของเรื่องนี้ ไม่ว่าจะ Billie Holiday หรือ Charlie Parker ก็ล้วนจบชีวิตเพราะสิ่งนี้และมีอีกมากมายที่ติดอย่างงอมแงมในตอนนั้น

การมาถึงของ Wood Stock

woodstock-2

คำว่า ’ตำนาน’ คือสิ่งที่สามารถใช้อธิบายเทศกาลดนตรีในปี 1969 ที่ชื่อว่า Woodstock หรือชื่อเต็มอย่างไม่เป็นทางการว่า The Woodstock Music & Art Fair หนึ่งในเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกได้เป็นอย่างดี

นี่คือเทศกาลดนตรี 3 วันแบบ non-stop ที่ผู้คนในเวลานั้นและโลกไม่มีวันลืม จะมีคอนเสิร์ตไหนที่มีคนดูมากไปยิ่งกว่านี้อีก (เชื่อว่ามีเยอะถึง 400,000 กว่าคนในเวลานั้น) ไลน์อัพวงดนตรีก็แสนมหัศจรรย์และแน่นอนว่าจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้อีกแล้ว ซึ่งถึงแม้ในเวลานั้นจะเป็นยุคดนตรีคีเดลิกรุ่งเรือง แต่วู้ดสต๊อกกลับเต็มไปด้วยวงดนตรีรุ่นใหม่ (และรุ่นใหญ่) หลากแนวที่หลายวงแจ้งเกิดจากตรงนี้ เช่น Santana, Jimi Hendrix, Mountain, Jefferson Airplane และอีกมากมายที่เราอยากเชิญชวนให้คุณตามไปฟังกันเอง

woodstock-1

อีกหนึ่งสิ่งที่แสดงความเป็นวู้ดสต๊อกได้ดีที่สุดก็คงเป็นวัฒนธรรม ‘ฮิปปี้’ ของเหล่าคนดูที่แน่นอนว่ามาพร้อมกับกิจกรรมการเสพยา และการที่มีคนดูจำนวนมากขนาดนั้นเราก็อาจจะพูดได้ว่าวู้ดสต๊อกเป็นเทศกาลดนตรีที่มีอัตราการเล่นยาสูงที่สุดในโลกจากยายอดฮิตในเวลานั้นอย่าง กัญชา, เฮโรอีน, โคเคน และยาเสพติดยอดนิยมในยุคแห่งไซคีเดลิกฟีเวอร์ LSD ถึงจะไม่มีสถิติอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ายาภายในงานนั้นแพร่สะพัดแค่ไหน (มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างบ่อย ๆ ว่ามีคนตายภายในงานแค่ 2 คนเท่านั้น คนแรกนอนหลับอยู่ใต้รถแทรคเตอร์และคนขับไม่รู้ว่าเขานอนอยู่จึงขับเหยียบไปเฉย ๆ โดยไม่ตั้งใจ แต่อีกคนนั้นจากไปเพราะการ overdose นั่นเอง

จาก 1970 – ปัจจุบัน

sxsw

หลังจากสิ้นสุดสมัยของวู้ดสต๊อก คำว่าเทศกาลดนตรีก็เริ่มกลายเป็นวัฒนธรรมนิยมของเหล่าฟังมากขึ้น ซึ่งวัดได้จากไทม์ไลน์การปรากฏตัวของเทศกาลดนตรีมากมายที่หลากหลายขึ้นมากหลังจากนี้ ตั้งแต่การเกิดขึ้นของเทศกาลดนตรีสุดฮอตของสมัยนี้อย่าง Glastonbury ในปี 1970, SXSW ในปี 1986 (เทศกาลเดียวกันกับที่ My Life As Ali Thomas จะได้ไปเล่นในปีหน้านี่ล่ะ), Lollapalooza ในปี 1991 , Bonnaroo ในปี 2002 , Tomorrowland ในปี 2005 และอีกมากมายที่เราอยากให้คุณลองไปตามดูกัน

tomorrowland

เหล่าเทศกาลดนตรีคลื่นลูกใหม่เหล่านี้ก็มาพร้อมกับการเล่นยาโดยไม่ทิ้งลายไปจากรุ่นพี่เลย (ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายคนจึงมองว่ายาเสพติดและดนตรีเป็นของคู่กัน) แต่ที่ต่างกันคือคราวนี้มีคนทำสถิติจริงจังออกมาเลยว่าตอนนั้นเหล่าหนุ่ม ๆ สาว ๆ high กันจากตัวไหนบ้าง โดยข้อมูลต่อจากนี้เกิดขึ้นจากการรีเสิร์ชอย่างหนักหน่วงของเว็บไซต์ให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดที่ชื่อ Detox.Net โดยใช้เวลากว่ากว่า 2 ปี (มีนาคม 2015 – กุมภาพันธ์ 2017) ติดตาม 49 แฮชแท็กในอินสตาาแกรมของเหล่าเฟสติวัลโกเออร์ในเทศกาลดนตรีดัง ๆ โดยนับแต่โพสต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเล่นยาเท่านั้น (บอกแล้วว่าหนักหน่วงจริง ๆ) ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาเป็นแผนภูมิกราฟฟิกน่ารัก ๆ ตามภาพ

%e0%b9%81%e0%b8%9c%e0%b8%99%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b8%a1%e0%b8%b4-detox

%e0%b9%81%e0%b8%9c%e0%b8%99%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b8%a1%e0%b8%b4-detox-2

%e0%b9%81%e0%b8%9c%e0%b8%99%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b8%a1%e0%b8%b4-detox-3

ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าเราไม่นับเบียร์ที่ดื่มกันอยู่แล้ว ทุกเทศกาลล้วนแล้วแต่ซึมซับความออแกนิกของหญ้าแฉกอย่างกัญชาเป็นอันดับแรกกันทั้งนั้น (ยิ่งกับ Marley Fest ที่ชื่อก็บอกอย่างชัดเจนแล้ว) ส่วนยาสายหลอนประสาทอย่าง LSD หรือเหล่าเห็ดต่าง ๆ จะนิยมในเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกมากที่สุด ซึ่ง make sense มากกับวิชวลไฟในงานที่เมามายซะขนาดนั้น ที่น่าแปลกและค่อนข้างดีก็คือยาที่เคยได้รับความนิยมในอดีตอย่างเฮโรอีนหรือโคเคนกลายเป็นสิ่งที่ไม่นิยมไปแล้ว แต่ไม่ว่ายังไงก็ยังคงมีอยู่ในแทบทุกเทศกาลอยู่ดี

เราไม่สามารถพูดแทนทุกคนได้ว่าอาการหลังการเสพยาเข้าไปนั้นช่วยให้ดูดนตรีได้อย่างสนุกหรือเข้าอกเข้าใจจิตวิญญาณที่ผู้เล่นต้องการจะส่งมาได้มากขึ้นจริง ๆ รึเปล่า และเราก็ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ตั้งใจมากระซิบบอกอย่างเงียบ ๆ ว่าให้ไปลองซะ เราเชื่อว่าถ้าสิ่งที่คุณทำหรือตั้งใจจะทำนั้นมันไม่ได้ทำร้ายใครก็คงจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ผิดได้ 100% เช่นกัน และขอย้ำอีกครั้งว่าคอนเทนต์นี้ไม่ได้สนับสนุนเรื่องยาเสพติดจริง ๆ นะ

 

อ้างอิง
http://thelala.com/history-music-festivals/
https://www.digitalmusicnews.com/2017/06/06/popular-drugs-music-festivals/
http://animalnewyork.com/2012/12-drugs-from-ancient-cultures-and-where-to-get-them/
Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน