ทำไมถึงไม่ควรสนับสนุน Channel แปลเพลง/thaisub
พื้นหลังสีสดใส ใส่รูปภาพไว้ตรงกลาง เพิ่มฟอนต์สีตัดกันนิดหน่อย เขียนเนื้อเพลงและคำแปลลงไปในวีดีโอ คอนเทนต์แปลเพลงและทำซับเหล่านี้มีอยู่เต็ม YouTube ไปหมด
ในช่วงปีที่ผ่านมากระแสวีดีโอแปลเพลงขายดีเอามาก ๆ ในหมู่คนฟังเพลงบางส่วน channel เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงที่ไม่ใช่ภาษาไทยมากขึ้น ทั้งยังทำให้เพลงเหล่านี้เป็นที่รู้จักในหมู่คนฟังที่หลากหลายขึ้น ก่อให้เกิดกลุ่มคนฟังใหม่ ๆ แต่ถ้าหากมองให้ลึกลงไปอีก วัฒนธรรมการแปลเพลงเหล่านี้กำลังทำร้ายศิลปินทางอ้อมแบบที่เราเองก็ไม่รู้ตัว
ในทางตรงแล้ว channel เหล่านี้ส่งผลให้ศิลปินที่เป็นเจ้าของผลงานเสียยอด views ไป โดยหลาย ๆ ครั้งผู้ฟังอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวีดีโอตัวไหนเป็นของศิลปินกันแน่ แม้ว่าผลงานเหล่านี้จะทำให้ศิลปินบางคนรู้สึกขอบคุณที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากขึ้น แต่น้อยคนนักที่จะตามกลับไปฟังเพลงจากต้นทางจริง ๆ เพราะระบบของ YouTube ก็มักจะแนะนำแต่วีดีโอแปลเพลงมาให้ฟังเรื่อย ๆ เราคงหงุดหงิดใจไม่น้อยที่เห็นช่องเหล่านี้มียอดเข้าชมพุ่งทะลุแซงของศิลปินไปหลายขุม
แล้ว channel เหล่านี้ไปได้ไฟล์เพลงของศิลปินมาจากไหน?
ในเมื่อศิลปินเองก็ไม่มีทางปล่อยไฟล์เพลงของเขาให้ทุกคนมาโหลดเก็บไว้อยู่แล้ว แน่นอนว่าส่วนมากมักจะใช้วิธีโหลดไฟล์แบบไม่ถูกต้องมาจาก YouTube ต้นทางของศิลปิน หรือบางที่ก็โหลดมาจากเว็บเถื่อนที่มาดูดเพลงจากศิลปินไปก่อนอีกที หากจินตนาการไม่ออก ให้นึกถึงภาพที่แขวนอยู่ในผนังของพิพิธภัณฑ์ ที่มีคนไปถ่ายรูปออกมาปรินต์ใหม่อีกครั้ง เขียนคำวิจารณ์ศิลป์เพิ่ม แขวนงานไว้ที่ผนังบ้านตัวเอง แล้วเปิดบ้านให้คนเข้ามาเยี่ยมชมผลงานได้
ลิขสิทธิ์ดนตรีครอบคลุมถึงไหน?
สิ่งบันทึกเสียง(ไฟล์เพลง) ผลงานลิขสิทธิ์ที่ถูกทำซ้ำ เผยแพร่ หรือดัดแปลงโดยไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ที่มีสิทธิ์ คือผลงานที่เข้าข่ายการถูก ‘ละเมิด’ แน่นอนว่าคลิปแปลเพลงเหล่านั้นเข้าข่ายการละเมิดเจ้าของลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำไฟล์เพลง ดัดแปลงเอาไปใส่วีดีโอ และเผยแพร่ให้ผู้อื่นชม
ถ้าหากไม่ดีแล้วทำไม YouTube ถึงยังแนะนำ video เหล่านี้มาให้ฟัง?
YouTube พัฒนาระบบของตัวเองจนกลายมาเป็น streaming ที่สามารถกระจายรายได้จากโฆษณาไปให้ YouTuber ที่สร้างผลงานของตนเอง ทีนี้พอมีเรื่องลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงเข้ามาพัวพันด้วย YouTube เลยมีระบบตรวจจับลิขสิทธิ์ โดยระบบหลังบ้านจะแจ้งไปทางเจ้าของผลงานทุกครั้งที่มีคนเอาเพลงไปใช้ และเจ้าของผลงานสามารถเลือกได้ว่าจะยินยอมให้เผยแพร่ผลงานเหล่านั้นต่อหรือเปล่า หากไม่อนุญาต คลิปวีดีโอนั้นก็จะถูกดูดเสียงจนหายเกลี้ยง หรือถ้าหากยินยอม วีดีโอแปลเพลงเหล่านั้นจะยังสามารถเผยแพร่ได้ตามปกติ แต่เจ้าของลิขสิทธิ์จะสามารถรับรายได้ในส่วนของลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงกลับมาให้ตัวเองได้ด้วย
อ้าว ศิลปินก็ได้รายได้ แล้วมันไม่ดีตรงไหน?
อย่างที่อธิบายไปข้างต้น ว่าศิลปินอาจจะรู้สึกขอบคุณช่องทางเหล่านี้ที่ทำให้เค้ากลายเป็นที่รู้จัก แต่เขากำลังสูญเสียยอด views และผู้ติดตามที่จะกลายมาเป็นแฟนเพลงของเขาในอนาคต ซ้ำยังถูกละเมิดสิทธิ์ในผลงานของตัวเองอีก และยังก่อให้เกิดความไม่เข้าใจในเรื่องการหยิบยืมผลงานของผู้อื่นไปใช้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น YouTube ก็ได้แก้ไขปัญหานี้โดยการสร้างช่องทางในการตรวจสอบ Music Policies ของเพลงก่อนที่เราจะเอามาทำได้นะ โดยการเข้าไปที่ YouTube music policies เพื่อตรวจสอบว่าเราสามารถใช้เพลงไหนได้บ้าง และมีข้อกำหนดในการใช้อย่างไรบ้าง
โอ้ย ฟังดูยุ่งยากไปหมด ทำไมลิขสิทธิ์ซับซ้อนจังเลย?
โดยธรรมชาติแล้วลิขสิทธิ์เป็นเรื่องดิ้นได้ ข้อกำหนดต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามพฤติกรรมของผู้บริโภค และขึ้นอยู่กับตัวเจ้าของว่าเขาจะอนุญาตให้ผู้อื่นนำผลงานไปใช้ได้มาก-น้อยแค่ไหน เราสามารถแวะเข้าไปฟังเพลงวีดีโอแปลเพลงได้โดยไม่ใช่เรื่องผิด เพราะถ้าผิดก็คงถูกดูดเสียงไปแล้ว (ที่จริงบน YouTube สามารถช่วยแปลเพลงให้คลิปต้นฉบับแล้วขึ้นเป็น subtitle ภาษาไทยได้ด้วยนะ) แต่วีดีโอเหล่านี้เป็นผลงานที่มาจากการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต แถมการที่จะได้มาซึ่งไฟล์เพลงเหล่านั้นก็ค่อนข้างที่จะเทา ๆ ไปหน่อย แต่เหตุผลที่ศิลปินส่วนมากไม่ฟ้องเพราะว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่คุ้มเวลา และยังเป็นเรื่องที่ยังพอหาทางออกร่วมกันได้
อย่างไรก็ตามอย่าลืมไปซัพพอร์ตวีดีโอต้นทางของศิลปินกันด้วยนะ XOXO