Article Guru

Dixieland jazz แนวดนตรีที่ในหลวงทรงโปรดปราน

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Art Director: Tunlaya Dunnvatanachit

จากประวัติการทรงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่กล่าวไว้ในหลาย ๆ ที่ มักจะมีการกล่าวถึงแนวดนตรีแจ๊สแนวหน่ึงเสมอ นั่นคือ Dixieland jazz

ต้นกำเนิดของดนตรีแนวนี้ แน่นอนว่าจะต้องมาจากดินแดนแจ๊สอย่างเมือง New Orleans รัฐ Louisiana สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1900-1928 โดยพัฒนามาจากวงโยธวาทิต ที่นำมาผสมรวมกับดนตรี ragtime, blues, และกอสเปล ซึ่งในยุคแรก ๆ ดนตรีแนวนี้เขานิยมเล่นประกอบพิธีในงานศพของคนผิวสีเพื่อแซ่ซ้องการมีชีวิตอยู่ของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ก็น่าสนใจมากที่ชื่อ Dixieland นี้มาจากวงดนตรีผิวขาวอย่าง the Original Dixieland Jass Band (นางสะกด jazz ด้วย ss ล่ะ) จากนิวออร์ลีนส์ เจ้าของบทเพลง Livery Stable Blues ในปี 1917 ซึ่งพวกเขานำดนตรีแจ๊สนิวออร์ลีนส์แบบดั้งเดิมมาเล่นในรูปแบบใหม่โดยที่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะเล่นรับส่งกันและมีท่วงทำนองที่สนุกสนานยิ่งขึ้น

พอในช่วงยุค 40s แนวดนตรี New Orleans Jazz แบบดั้งเดิมที่ถูกปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยให้ไฉไลเฟี้ยวฟ้าว และถูกเรียกเป็นชื่อ Dixieland ตามชื่อวงต้นแบบ เนื่องด้วยความนิยมของคนผิวขาวและนักดนตรีรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจเพลงแจ๊สกันมากขึ้น ไปจนถึงนักดนตรีหลายคนที่เลิกเล่นไปก็กลับมาเล่นด้วยสีสันที่น่าสนใจในแนวเพลงดังกล่าว ทำให้คราวนี้ ถ้าพูดถึง Dixieland ก็จะหมายถึงแนวดนตรีที่ทำนองเพลงมีกลิ่นอายแบบ bebop โดยไม่เข้มงวดจำนวนเครื่องดนตรีในวง เพียงแต่จะต้องมีทรัมเป็ต (หรือ คอร์เน็ต) ทรอมโบน และคลาริเน็ต เป็นหลัก และมีเครื่องดนตรีเดินจังหวะอย่างน้อยสองชิ้น จะเป็นกลอง กีตาร์ (หรือ แบนโจ) ดับเบิ้ลเบส (หรือ ทูบา) หรือ เปียโน ก็ได้ และจะเน้น collective improvisation คือต่างคนต่างอิมโพรไวส์เครื่องดนตรีของตัวเองไปพร้อมกัน โดยจะไม่มีใครคนใดคนนึงกระโดดออกมาในท่อนโซโล่เด่นชัดแบบเพลงแจ๊สทั่วไป ซึ่งพอถึงท่อนจำหรือได้จังหวะที่เหมาะ คนที่เล่นเครื่องดนตรีหลักชิ้นอื่นก็จะอิมโพรไวส์เสียงที่โดดเด่นของตัวเองคลอไปกับเมโลดี้นั้น

 

 

ตามปกติเวลาเล่นเพลงแนวนี้ก็มักจะมีการขึ้นเสียงของทรัมเป็ตหรือคอร์เน็ตที่เล่นเมโลดี้ (jazzed up) มาก่อน จากนั้นคลาริเน็ตก็จะเริ่มเล่นคลอ ส่วนทรอมโบนก็จะเล่นในไลน์เบส แต่บางครั้งก็เล่นเมโลดี้ที่เป็น afterbeats (การใส่จังหวะ) หรือการใส่เสียง smear หรือ slide ด้วย เปียโน กับกีตาร์ หรือแบนโจ ก็จะเล่นคอร์ด ดับเบิ้ลเบส หรือทูบาก็จะเล่นไลน์เบส ส่วนกลองจะทำหน้าที่คุมจังหวะกับคุมการสวิงในเพลง ซึ่งการเล่นแบบนี้จะต้องให้ความสำคัญกับช่วงท่อนเพลง ห้องเพลงแต่ละห้อง และฟังเสียงของนักดนตรีคนอื่น ๆ เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ในภาคสังคมยังมีการวิเคราะห์ว่า collective improvise ใน Dixieland Jazz ถือเป็นการนำเสนอเรื่องเสรีภาพของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกาที่พ้นจากการเป็นทาส พวกเขาได้เฉลิมฉลองในอิสรภาพนี้ผ่านการอิมโพรไวส์ไร้แบบแผน และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่อยากเล่าออกมาจากหัวใจและความรู้สึกได้อย่างไร้ข้อจำกัด

 

 

ถ้าให้พูดถึงวงดนตรี Dixieland ที่โด่งดัง ทุกคนก็จะต้องนึกถึงวงของ Louis Armstrong, King Oliver และ Duke Ellington ที่ทำให้แนวเพลงนี้ล้ำหน้าไปกว่าแจ๊สแบบนิวออร์ลีนส์ดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกัน เพลงแบบ Dixieland สมัยใหม่ก็จะถูกปรับเปลี่ยนสไตล์การเล่น หรือเลือกใช้เครื่องดนตรีหลักที่ต่างกันไปให้เข้ากับรสนิยมของนักดนตรีแต่ละคน อย่างบางครั้งก็ถูกนำเสนอในรูปแบบของการตีความจากสภาพของเมือง เช่นแนวย่อยที่เรียกว่า Chicago style ก็จะถูกเล่นในจังหวะที่เร็ว กระชับ คล้ายกำลังเล่าเรื่องความวุ่นวายจอแจของเมืองชิคาโกนั่นเอง อย่างไรก็ดีแนวดนตรีนี้ยังคงได้รับอิทธิพลจาก traditional jazz, rhythm & blues และ rock & roll อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก
http://www.jazzinamerica.org/LessonPlan/8/5/207
http://academy.jazz.org/what-is-collective-improvisation/
http://www.themeister.co.uk/dixie/new_orleans_revival.htm

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้