Daphne Oram อดีตพนักงาน BBC สู่ตัวแม่แห่งดนตรีอิเล็กทรอนิกยุควินเทจ
- Writer: Montipa Virojpan
It’s a sort of modern magic. We think there’s something in it. Some musicians believe it may become an art form in its own right. — Daphne Oram
อันที่จริงแล้วดนตรีอิเล็กทรอนิกไม่ได้เพิ่งมามีบทบาทเอาตอนปลายยุค 60s หรือดังเปรี้ยงในยุค 80s อย่างที่รู้กันโดยทั่วไป เพราะก่อนหน้านี้ในจักรวาล retro futuristic ที่เทคโนโลยียังไม่ได้ก้าวไกลนักทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งอย่าง เมื่อผู้คนมีความสนใจใคร่รู้ที่จะออกสำรวจดวงดาวและอวกาศอันไกลโพ้น หรือฝันที่จะมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อนในทุกขณะชีวิต ทำให้คนมีความสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงนักดนตรีหัวก้าวหน้าบางกลุ่มเองที่ก็จินตนาการถึงดนตรีการบรรเลงดนตรีที่ไม่ต้องใช้มนุษย์หรือเครื่องดนตรี ว่าจะสามารถทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะได้ด้วยวิธีไหนบ้าง
ณ เวลานั้นก็มีผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อ Daphne Oram กลายมาเป็นผู้บุกเบิกดนตรีอิเล็กทรอนิกทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้
วันส่งท้ายปี 1925 ตอนนั้นคงยังไม่มีใครรู้ว่าวงการดนตรีกำลังจะได้รับของขวัญชิ้นล้ำค่าที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปตลอดกาลจากเด็กหญิง แดฟนี โอแรม ผู้ที่เพิ่งจะลืมตาดูโลก และต้องขอบคุณที่ครอบครัวของเธอส่งให้เรียนในโรงเรียนหญิงล้วนที่มีการสอนเปียโน ออร์แกน และการประพันธ์เพลง จึงทำให้เธอมีความสนใจในศาสตร์ทางนี้ โดยเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย แดฟนีได้รับข้อเสนอให้เข้าศึกษาต่อที่ Royal College of Music แต่เธอกลับปฏิเสธและเลือกรับงานในตำแหน่ง Junior Studio Engineer และเป็น music balancer ในสตูดิโอของ BBC เมื่อปี 1942 ซึ่งในการทำงานนี้เองที่ทำให้เธอศึกษาเรียนรู้และพัฒนาความสามารถทางการสร้างเสียงต่าง ๆ อยู่เสมอ
หลังจากที่แดฟนีพบว่ามีคนทำสตูดิโอดนตรีอิเล็กทรอนิกในปารีส และไม่นานนักก็มีสตูดิโอแบบเดียวกันเกิดขึ้นมากมายทั่วยุโรป ทั้งในเมืองโคโลน และมิลาน ทำไมในอังกฤษจะมีบ้างไม่ได้ ในระหว่างที่หลายฝ่ายยังไม่เห็นด้วยกับเธอนัก เธอก็ได้เขียนเพลงประกอบละครวิทยุของ BBC ถึงสามเรื่อง (incidental music ที่เป็นพวกเสียงสร้างบรรยากาศหรืออารมณ์ ไม่ใช่ soundtrack) ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยวิธีการทำคือใช้เทคนิกการตัดแปะเทปต่าง ๆ มาเรียงต่อกันแบบที่สตูดิโอในฝรั่งเศสกับเยอรมนีเขาทำกันนั่นแหละ ซึ่งเธอก็ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่หาได้อย่างพวกมิกเซอร์หรือเครื่องบันทึกเสียงในห้องอัดของ BBC และจะต้องทำในเวลากลางคืนเท่านั้นเพราะเป็นช่วงที่สถานีไม่ได้ออกอากาศ และนอกจากนี้เธอก็ได้รับโอกาสให้ทำเพลงประกอบละครและภาพยนตร์ไซไฟอีกหลายเรื่อง แม้กระทั่งภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชก็ยังต้องยืมมือเธอมาทำเสียงประกอบให้ ซึ่งเพลงของเธอจะใช้การสร้างบีตที่จินตนาการมาจากคาแร็กเตอร์ที่ต้องการจะนำเสนอ ทำให้เกิดความสมจริงและเกิดอารมณ์ร่วมมากขึ้น แน่นอนว่านอกจากจะมีความล้ำแล้วก็มีความหลอน อย่างที่เราจะได้ฟังกันในคลิปต่อไปนี้
จากความสำเร็จที่พิสูจน์ฝีมือของเธอมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดแดฟนีก็ได้รับความไว้วางใจให้ก่อตั้งสตูดิโอ BBC Radiophonic Workshop ได้สำเร็จในปี 1958 แม้จะออกมาในรูปแบบของสตูดิโอทำเพลงประกอบละคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่เธอตั้งใจให้เป็นอย่างในประเทศอื่นเขา แต่จะทำไงได้เมื่อในอดีตผู้คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าผลงานของเธอเป็น ‘บทเพลง’ มิหนำซ้ำยังมีพนักงานที่คิดว่าเสียงจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกพวกนี้จะส่งผลเสียต่อการได้ยินของผู้ร่วมงาน แดฟนีจึงไม่ทนกับเรื่องงี่เง่าพวกนี้และลาออกจาก BBC ในปีต่อมา
ในช่วงเวลาที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกยังมีข้อจำกัดในเชิงเทคนิคและเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ก็มีราคาสูง แดฟนีได้สร้างสตูดิโอดนตรีอิเล็กทรอนิกขึ้นมาด้วยตัวเองที่เมืองเคนท์ และเธอก็ได้สร้างเพลงอิเล็กทรอนิกภายใต้ชื่อของตัวเองอย่างเป็นทางการในปี 1960 กับเพลง Four Aspects ที่ได้ทำร่วมกับนักแต่งเพลงอีกคนชื่อ Thea Musgrave ระหว่างนั้นเธอก็รับงานเพลงประกอบหนัง จิงเกิ้ลโฆษณาต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน จนได้รับหน้าที่ทำเพลงประกอบหนังสยองขวัญชื่อ ‘The Innocents’ ในปี 1961 และทำ Electronic Sound Patterns อัลบั้มเสียงสังเคราะห์ชุดแรกออกมาได้สำเร็จในปี 1962 ตามด้วยผลงานสำคัญ ๆ อย่าง Pulse Persephone และ Episode Metallic ในปี 1965
ยิ่งไปกว่านั้นเธอก็คิดค้นเครื่องที่เรียกว่า ‘Oramics’ ที่เป็นตัวสร้างระบบซินธิไซเซอร์แบบอะนาล็อกและดิจิทัลตั้งแต่ปี 1955 สมัยที่เธอยังทำงานอยู่ BBC จนสำเร็จพร้อมใช่ในปี 1966 โดยเป็นการเขียนข้อมูลลงบนแผ่นฟิล์มขนาด 35 มม. มาวางเรียงต่อกันให้กลายมาเป็นกราฟฟิกอินเทอร์เฟซที่จะถูกอ่านโดยเซลโฟโตอิเล็กทริก (อยากรู้เป็นไงอ่านต่อที่นี่) ทำให้สามารถแปลงข้อมูลมาเป็นเสียงได้ แต่พอมันเป็นฟิล์มแบน ๆ เสียงที่ออกมาก็เลยเป็นโมโนโฟนิกทื่อ ๆ เธอเลยต้องทำให้มันกลายเป็นโพลีโฟนิกที่มีมิติมากขึ้นด้วยการสร้างเท็กซ์เจอร์ลงบนฟิล์ม เรียกว่าเป็นซินธิไซเซอร์ตัวแรก ๆ ของโลก ก่อนจะหันหลังให้กับงานเชิงพาณิชย์และเขียนหนังสือเรื่อง ‘An Individual Note of Music, Sound and Electronics’ (1972) ตอนนั้นเองที่เธอได้กลายมาเป็นนักทฤษฎีดนตรีอิเล็กทรอนิกอย่างเต็มตัว
แดฟนี โอแรม ในวัย 56 ปี ไม่หยุดเรียนรู้กระบวนการทางเทคโนโลยี เมื่อสมัยนั้นมีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘คอมพิวเตอร์’ ถือกำเนิดขึ้น โดยเครื่องแรกที่เธอได้ใช้มันมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานมีชื่อว่า ‘Apple II’ (ใช่ค่ะ แอปเปิ้ลเดียวกันเนี่ยแหละค่ะ) เธอได้ไหว้วานให้ Steve Brett (ที่ไม่ใช่ Steve Jobs) มาร่วมพัฒนาอุปกรณ์อย่างง่ายที่ใกล้เคียงกับ Oramics ที่ต่อมาเธอก็เริ่มศึกษาวิธีการใช้เครื่องนั้นต่อและโปรแกรมมันด้วยตัวเอง ก่อนที่หกปีต่อมาจะย้ายมาสอนวิชาดนตรีอิเล็กทรอนิกที่วิทยาลัย Canterbury’s Christ Church จนถึงปี 1989 เพราะหลังจากนั้นในช่วงกลางยุค 90s เธอต้องประสบกับภาวะอ่อนเพลียจากการที่เส้นเลือดในสมองอุดตันจนต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน และเสียชีวิตในปี 2003 หลังจากวันเกิดปีที่ 78 ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์
แม้ผลงานส่วนใหญ่ของ แดฟนี โอแรม จะไม่ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง แต่เธอนี่แหละคือนักประพันธ์ดนตรีอิเล็กทรอนิกผู้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตให้กับการศึกษาเรื่องนี้โดยตรงเป็นคนแรกของอังกฤษ และจากคำร่ำลือหรือสิ่งที่เธอทิ้งไว้ให้กับลูกศิษย์ลูกหา รวมถึงบุคคลต่าง ๆ ต่างพร้อมใจกันยอมรับว่าเธอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางดนตรีในเวลาต่อมาอีกด้วย
อ้างอิง
British Music Collection – Daphne Oram
All Music – Daphne Oram
The Woman Who Could ‘Draw’ Music