CROSS แล้วไปไหน? การร่วมงานของศิลปินทำให้วงการเพลงดียังไง
- Writer: Montipa Virojpan
เท่าที่จำความได้ ในวงการเพลงไทยมีการ cross ระหว่างศิลปินมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันทำเพลงขึ้นมาใหม่ ขึ้นมาแจมกันบนเวที เอาเพลงของคนนั้นคนนี้ที่ทำเพลงอีกแนวไปรีอะเรนจ์ คัฟเวอร์ออกมาเป็นแนวเพลงของตัวเอง หรือถึงขั้นการร่วมงานข้ามสายระหว่างศิลปินวิชวล แฟชัน ภาพยนตร์ และดนตรีก็เคยมีมาแล้ว
แต่ถ้าให้พูดในยุคที่ร่วมสมัยขึ้นมานิดนึง ก็มีอัลบั้มในตำนานอัลบั้มนึงที่ได้รับความนิยมมากในช่วงปี 2007 นั่นคือ Sanamluang Connects ของค่ายสนามหลวงมิวสิก ที่ชวนศิลปินอินดี้ รุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มีค่ายไม่มีค่าย มากหน้าหลายตามาคัฟเวอร์เพลงจนได้รสชาติใหม่ ๆ ของเพลงฮิตที่เราเคยได้ยินในอดีต (อัศจรรย์จักรวาล ทำเพลง แค่ได้คิดถึง ของ ญารินดา วงร็อก Dezember คัฟเวอร์ อยากร้องดังดัง ของ ปาล์มมี วงขอนแก่น คัฟเวอร์ I Need Somebody ของ บี้ สุกฤษ เงี้ย) แล้วความคาดไม่ถึงของหลาย ๆ เพลงก็ทำให้โปรเจกต์นี้ได้รับการตอบรับที่ดีถึงขนาดมีออกมาทั้งหมด 4 อัลบั้มด้วยกัน
โปรเจกต์ PLAY ครบรอบ 25 ปีของ GMM Grammy เองก็เอาเพลงฮิตในอดีตของศิลปินล้านตลับในค่ายมาทำใหม่โดยวงร็อกต่าง ๆ อย่างเพลง บูมเมอแรง ของ เบิร์ด ธงไชย พอได้เสียงร้องที่เป็นผู้หญิงของฟักแฟง NO MORE TEAR เลยได้ความรู้สึกใหม่ ๆ กับเพลงนั้น Sweet Mullet ทำเพลง ฝากเลี้ยง ของ เจ เจตริน ก็เหมือนทำให้คนยุคหลัง ๆ ได้รู้จักกับเพลงเก่าอีกครั้ง
ในเวลาต่อ ๆ มาจากแค่การคัฟเวอร์ก็กลายเป็นการสร้างผลงานขึ้นมาใหม่ จากการร่วมงานของทั้งสองวง อย่าง Sanamluang Music Journey ก็จับคู่ Lomosonic x ป๊อด—ธนชัย อุชชิน อพาร์ตเมนต์คุณป้า x Yellow Fang ลูกหว้า พิจิกา x The Parkinson TABASCO x อะตอม ชนกันต์ กลายเป็นการร่วมงานของหลายวงที่ไม่น่าจะ cross path กันได้ มาอยู่ในผลงาน 8 เพลงใหม่ที่ไม่ธรรมดา
อีกโปรเจกต์ที่แฟนฟังใจรู้จักกันดีเห็นจะไม่พ้น Crossplay ที่ประสบความสำเร็จด้วยการที่มีโปรเจกต์มาแล้วถึงสามปี และจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่ 3 ในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ (บัตร sold out แล้วจ้า) ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้วงการดนตรีน่าสนใจมาก ๆ เพราะเป็นการทำให้แต่วงได้พิสูจน์ฝีมือผ่านทั้งกระบวนการเรียบเรียงเพลงใหม่ และการเล่นสดที่ทุกคนคาดไม่ถึง ทั้งนี้ยังได้โยงเอาศิลปิน นักวาดภาพประกอบ กราฟฟิกดีไซเนอร์ทั่วฟ้าเมืองไทยมาออกแบบปกซิงเกิ้ลตีความเพลงนั้น ๆ ในเวอร์ชันที่ทำขึ้นใหม่ ทำให้เพลงกลายเป็นภาพขึ้นมา
สิ่งนี้เป็นการทำลายความเชื่อที่มีมาอย่างนมนาน ตั้งแต่ที่พี่ตุลร้องให้เราฟังในเพลง กำแพง ในวันนี้มันเป็นจริงแล้ว บทบาทของค่ายเพลงที่เป็นตัวขวางกั้นการร่วมงานของศิลปินระหว่างค่าย ไปจนถึงเป็นการแข่งขันทางธุรกิจที่ขับเคี่ยวกันอย่างนมนานถึงขนาดบางค่ายต้องมีบริษัทลูกสำหรับเผยแพร่และจำหน่ายผลงานของศิลปินในค่ายตัวเองที่จะทำออกมาแข่งกับค่ายข้าง ๆ ได้ค่อย ๆ ละลายหายไป เพราะความที่สมัยนี้ผลงานเพลงผลิตได้ง่าย และศิลปินสามารถนำเสนอได้ด้วยตัวเอง ค่ายใหญ่ ๆ เลยต้องรีบปรับตัวตามโมเดลการประกอบการและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเกิดขึ้นใหม่ของค่ายเพลงอิสระมากมายที่เลือกจะมองการสนับสนุนวงการดนตรี ให้นักดนตรีสามารถเลี้ยงชีพได้จากผลงานเพลง ก็หันมาจับมือกันระหว่างค่ายเสียด้วยซ้ำ กลายมาเป็นโปรเจกต์อย่าง Switch ที่มีตัวตั้งตัวตีเป็นค่าย Boxx Music, Spicy Disc, Me Records, Muzik Move และ Whattheduck นั่นเอง
จะไม่มีกำแพงขวางกั้นคนดนตรี จะหลับตานอนฝันถึงวันพรุ่งนี้ที่ดี จะไม่มีอาร์เอส หัวลำโพง หรือแกรมมี่ จะไม่มีสมอลรูม เบเกอรี่ หรือโซนี่
เมื่อโลกถูกย่อให้เล็กลงผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่แค่ศิลปินในประเทศที่ร่วมงานกันได้เพียงอย่างเดียว เราสามารถส่งไฟล์เพลงไปให้ซาวด์เอนจิเนียร์หรือโปรดิวเซอร์ระดับโลกที่เคยมิกซ์ มาสเตอร์ ผลงานให้กับวงดัง ๆ ที่เรารักในอดีตได้ด้วยซ้ำ (ถ้าเขาเชื่อฝีมือเราและชอบผลงานของเราอะนะ) อย่าง Sqweez Animal ก็ได้ร่วมงานกับ Tahiti 80 ซึ่งเขาอาสาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ Slot Machine ก็ได้โปรดิวเซอร์วง Imagine Dragon มาคุมการอัดถึงที่ Karma Studio และล่าสุด Can Nayika ถูกชักชวนโดยนักร้องนำวง Lucky Tapes ให้ทำเพลงร่วมกันเลยด้วยซ้ำ
ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่น่าสนใจที่เราอาจจะหยิบมาเล่าได้ไม่หมด แต่งานล่าสุดอย่าง FUSE ของ GMM’D x Rap Is Now ก็ใช้กระแสของฮิปฮอปมาช่วยสร้างความน่าสนใจให้วงการเพลงได้ดี โดยเฉพาะกับคู่ของ Sir Poppa Lot x เต๊ะ ตระกูลตอ ห่อหมกฮวก ที่ใครจะไปคิดว่าหมอลำเอาเข้ามาใส่เป็นไรห์มหรือเมโลดี้อีสานจะเข้ากับบีตได้ดีขนาดนี้ หรือโปรเจกต์ SOUL FOOD by Soul Smith ก็นำเพลงโซลมาตีความใหม่ตามคาแร็กเตอร์ของศิลปินที่มาร่วมในโปรเจกต์ได้อย่างลงตัว
ถ้าไม่มองว่าเป็นเรื่องการช่วยกระตุ้นการตลาดและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรและแบรนด์สปอนเซอร์ ที่ช่วยสนับสนุนให้ศิลปินได้มีช่องทางพิสูจน์ฝีมือและถ่ายทอดผลงานตัวเองไปสู่ผู้ฟังมากขึ้น อีกข้อดีของการชวนศิลปินมาร่วมงานกันก็เหมือนได้สร้างความเป็นสังคมดนตรี ให้ทุกคนได้มารู้จักกัน แลกเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน และทำให้ต่างคนต่างได้ลองเข้าไปสู่โลกทางดนตรีของอีกฝ่ายที่อาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน และอาจกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานในอนาคตอีกหลาย ๆ ครั้ง