Article Guru

ศิลปินเพลงคัฟเวอร์ ตอนที่ 2: คัฟเวอร์เพลงอย่างไรให้ถูกต้องและได้เงิน

  • Writer: Piyapong Muenprasertdee and Kamolkarn Kosolkarn

จากตอนที่แล้ว เราได้เขียนถึงวิธีการใช้เพลงคัฟเวอร์ในเชิงการตลาด เพื่อทำให้ตนเองเป็นที่รู้จักต่อคนหมู่มาก แล้วก้าวขึ้นไปสู่การเป็นศิลปินที่นำเสนอเพลงของตัวเองได้ในที่สุด แต่ในการคัฟเวอร์เพลงเพื่อเผยแพร่ใน YouTube ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลตอบแทน เพราะไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าของเพลงก่อน เพราะฉะนั้นในตอนนี้ เราจะมานำเสนอวิธีการที่จะทำให้คุณคัฟเวอร์เพลงได้อย่างถูกต้องและสามารถสร้างรายได้จากการคัฟเวอร์เพลง ทั้งจากทาง YouTube และการขายสิ่งบันทึกเสียงเป็นซีดี รวมทั้งบนตลาดเพลงดิจิตัลอย่าง iTunes, Deezer, KKbox หรือฟังใจ เป็นต้น


การนำผลงานสร้างสรรค์อย่างเช่นงานดนตรีไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการนำไปแสดงในที่สาธารณะ หรือเล่นคัฟเวอร์อัดเสียงหรือถ่ายวีดีโอ แล้วนำไปเผยแพร่ ตามกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว จะต้องมีการขออนุญาตเจ้าของผลงานก่อน แต่เนื่องจากคนเราเติบโตมากับเสียงดนตรีและศิลปินที่เราชื่นชอบ ทำให้การนำผลงานของเขามาเล่นคัฟเวอร์เหมือนเป็นการแสดงความเคารพนับถืออย่างหนึ่ง และรู้สึกว่าไม่เห็นต้องมีการขออนุญาต แต่พอมีเรื่องรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็กลับรู้สึกว่าควรเป็นของตัวเองเพราะเป็นคนทำการแสดงหรืออัดเสียงขึ้นมาใหม่ ทั้งยังอาจะต้องรู้สึกขมขื่นจากการถูกฟ้องร้องโดยศิลปินที่เรารักและยกย่อง

เพราะฉะนั้น เราจึงอยากกลับมาปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ซักเล็กน้อย ก่อนที่จะเข้าสู่รายละเอียดเรื่องการขออนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิอะไรบ้าง?

ผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือเจ้าของงานลิขสิทธิ์ มีสิทธิทางกฎหมายอยู่ 5 ประการ ที่ไม่ว่าใครก็ละเมิดไม่ได้ คือ

  1. สิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลงผลงานของตัวเอง
  2. สิทธิในการเผยแพร่ผลงานของตัวเองสู่สาธารณชน
  3. สิทธิในการให้คนอื่นเช่าต้นฉบับหรือสำเนาของผลงานของตัวเอง
  4. สิทธิในการยกผลประโยชน์ที่เกิดจากผลงานของตัวเองให้กับผู้อื่น
  5. สิทธิในการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในข้อ 1, 2 และ 3 แทนตนเองได้

6-1

(อ้างอิงมาจาก พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15)

เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากรณีไหน การเอาผลงานเพลงของคนอื่นไปใช้ต่อ ไม่ว่าจะเอาไปคัฟเวอร์เพื่อแสดง หรืออัดเสียง หรือถ่ายวีดีโอ ฯลฯ ก็ควรต้องขออนุญาตเจ้าของผลงาน (ยกเว้นแต่กรณีที่พิเศษมาก ๆ ที่ไม่ต้องขอ เช่น เพื่อการศึกษาหรือการกุศล ซึ่งมีการระบุอย่างเคร่งครัดว่าต้องเป็นการจัดโดยสถานศึกษาของรัฐหรือองค์กรการกุศลเท่านั้น เป็นต้น)

ตัวเจ้าของลิขสิทธิ์หาได้จากไหน?

การตามหาตัวเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อขออนุญาตนั้นอาจไม่ได้ทำได้ง่ายนัก เพราะผู้แต่งเพลงอาจจะโอนสิทธิต่าง ๆ ของเขาให้กับบริษัทตัวแทน (เรียกว่า ‘ผู้พิมพ์และโฆษณา’ หรือ Publisher) หรือค่ายเพลง ทำให้ไม่รู้ว่าต้องติดต่อใคร อย่างไร แล้วจะได้รับการตอบรับหรือเปล่า

ลอง Google หาเอง

วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ การสืบค้นหาเจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลงที่เราต้องการคัฟเวอร์ด้วยตัวเอง อาจเริ่มจากการ Google ก่อน แล้วก็อีเมลหรือโทรศัพท์ไปยังที่ต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับข้อมูลตอบกลับมาว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

สำหรับเพลงไทย สามารถเริ่มได้จากการติดต่อค่ายเพลงของศิลปินที่แสดงเพลงนั้น ๆ

สำหรับเพลงต่างประเทศ เพลงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเพลงที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง จะมีบริษัท Publishing เป็นตัวแทนในการจัดการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ตัวอย่างเช่น

  • EMI Music Publishing Singapore
  • Sony Music Publishing (Pte) Ltd
  • Warner/Chappell Music Singapore Pte Ltd
  • Universal Music Publishing Pte Ltd

(หาข้อมูลบริษัท Publishing เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Music Publishing (Singapore) Ltd)

6-2

ติดต่อ MCT

อีกวิธีหนึ่งก็คือ ติดต่อ บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MCT (www.mct.in.th) ที่เป็นองค์กรของนักแต่งเพลงไทยเพื่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้ทาง [email protected] หรือโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 02-105-3705

MCT เองก็เป็นตัวแทนให้กับนักแต่งเพลงหลายคน และค่ายเพลงหลายค่ายด้วยกัน ทำให้สะดวกต่อการขออนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์ยิ่งขึ้น แล้วก็ยังสามารถให้คำปรึกษาว่าจะติดต่อใครหากเป็นเพลงที่ MCT ไม่ได้ดูแลเอง

6-3

จ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อคัฟเวอร์เพลงอย่างไร?

หากติดต่อไปยังเจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลงที่ต้องการคัฟเวอร์ได้แล้ว ก็ต้องแจ้งความประสงค์ว่าจะนำเพลงอะไรไปใช้งาน พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ใครเป็นผู้แต่ง ศิลปินใดเป็นผู้แสดง จะนำไปจัดจำหน่ายอย่างไร เช่น จะผลิตออกมาในรูปแบบไหน เป็นซีดี ริงโทน ดาวน์โหลด มิวสิคสตรีมิ่ง ฯลฯ เผยแพร่ และ/หรือ จัดจำหน่ายทางใด ที่ไหนบ้าง เป็นระยะเวลานานเท่าไร บริษัทใดเป็นผู้ดูแล เป็นต้น

ค่าลิขสิทธิ์ที่จะจ่ายให้แก่เจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลง จะแบ่งตามประเภทของการใช้งาน โดยประเภทของลิขสิทธิ์เพลงที่อธิบายโดย MPC Music มีดังต่อไปนี้

  1. สิทธิในการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Public Performing Right) ซึ่งหมายถึงการแสดงสดต่อหน้าผู้ชม หรือแสดงเพื่อถ่ายทอดผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุหรือโทรทัศน์
  2. สิทธิเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีไร้สาย หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบ่งเป็นเสียงเรียกเข้า และเสียงรอสาย
  3. สิทธิในการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เช่น Simulcasting, Webcasting, Streaming และ Download ฯลฯ
  4. สิทธิในการทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Reproduction Right) หมายถึงการทำซ้ำผลงานลิขสิทธิ์ลงบนคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ (Computer Server) ที่ใช้เผยแพร่ในสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ
  5. สิทธิอื่น ๆ คือ Mechanical Right หมายถึง การนำงานลิขสิทธิ์ไปบันทึกลงในสื่อชนิดใดก็ตาม และ Synchronization Right หมายถึง การนำงานลิขสิทธิ์ไปเป็นเพลงประกอบภาพเคลื่อนไหว

(ที่มาของข้อมูล MPC Music, BMI)

พอได้แจ้งรายละเอียดความต้องการทั้งหมดแล้ว ทางเจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลงจะยื่นรายละเอียดกลับมาว่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ประเภทไหนบ้าง พร้อมเสนอราคามาให้ จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการต่อรองราคาเพื่อความเหมาะสม

แต่เนื่องจากบทความนี้ต้องการเน้นเรื่องการคัฟเวอร์เพลงเพื่อขายสิ่งบันทึกเสียง และเพื่อรับรายได้จาก YouTube จึงขออธิบายเพียงลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

การคัฟเวอร์เพลงเพื่อขายสิ่งบันทึกเสียง

ค่าลิขสิทธิ์เพื่อบันทึกในสื่อบันทึกเสียง (Mechanical Licensing)

ค่าลิขสิทธิ์นี้ เป็นค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตบันทึกเสียงเพลงที่คัฟเวอร์เพื่อขาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อใด เช่น เทป ซีดี ดาวน์โหลด หรือมิวสิคสตรีมมิง

คำว่า Mechanical Rights (สิทธิในการบันทึกในสื่อบันทึกเสียง) และ Mechanical Licensing (ค่าลิขสิทธิ์ในการบันทึกในสื่อบันทึกเสียง) เป็นคำที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1909 ในสมัยที่ยังไม่มีสิ่งบันทึกเสียง แต่อยู่ในยุคที่มีเปียโนจักรกล หรือ Mechanical Piano ที่สามารถเล่นเพลงจากม้วนกระดาษเจาะรูได้ (อ้างอิงจาก BMI) ดังเห็นได้ในคลิปวีดีโอข้างล่าง

บริษัทผลิตม้วนกระดาษเพลงสำหรับเปียโนจักรกล จะต้องมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลง โดยจ่ายตามจำนวนม้วนกระดาษเพลงที่ผลิตขึ้นมา ซึ่งคำว่าจักรกล หรือ Mechanical นี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของการเรียกลิขสิทธิ์ประเภทนี้แบบนี้

ยกตัวอย่างการขายเพลงคัฟเวอร์ในประเทศอเมริกา จะมีบริษัทหรือองค์กรที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อขออนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์การทำซ้ำให้กับเจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลง อย่าง HFA (Harry Fox Agency), Easy Song Licensing และ Loudr ที่มีการเก็บค่าบริการเล็กน้อย (ประมาณ US$15 ต่อเพลง) และจ่ายค่า Mechanical Licensing อีก US$0.091 ต่อก็อปปี้ ไม่ว่าจะเป็น เทป ซีดี หรือการขายดาวน์โหลด หรืออีก $US0.01 ต่อการฟังเพลงหนึ่งครั้งในระบบมิวสิคสตรีมมิง ซึ่งเป็นราคามาตรฐาน (อ้างอิงจาก Loudr)

แต่สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีบริษัทหรือองค์กรในลักษณะเดียวกันนี้ หรือราคามาตรฐาน จึงต้องทำการติดต่อกับนักแต่งเพลง ค่ายเพลง เจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลง หรือผ่านบริษัท Publishing หรือไม่ก็ลองติดต่อ MCT ดูก็ได้

การคัฟเวอร์เพลงเพื่อเผยแพร่ทาง YouTube

ค่าลิขสิทธิ์เพื่อประกอบภาพเคลื่อนไหว (Synchronization Licensing)

คำว่า Synchronize แปลตรงตัวคือการประสานเวลาให้เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งในที่นี้หมายถึงการประสานกันระหว่างภาพเคลื่อนไหวและเสียงดนตรี เพราะฉะนั้นคำว่า Synchronization Rights หมายถึงสิทธิในการนำงานลิขสิทธิ์ไปเป็นเพลงประกอบภาพเคลื่อนไหว อย่างเช่น ภาพยนตร์ โฆษณาโทรทัศน์ มิวสิควีดีโอ ฯลฯ และ Synchronization Licensing หมายถึงค่าลิขสิทธิ์เพื่อนำเพลงไปประกอบภาพเคลื่อนไหวนั่นเอง

ราคาค่าลิขสิทธิ์เพื่อประกอบภาพเคลื่อนไหว ไม่ได้มีราคามาตรฐาน แต่จะต้องเป็นการติดต่อต่อรองกับนักแต่งเพลง ค่ายเพลง เจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลง ผ่านบริษัท Publishing หรือไม่ก็ลองติดต่อ MCT ดูได้ เช่นเดียวกับกรณีค่าลิขสิทธิ์การในการบันทึกในสื่อบันทึกเสียงที่เขียนถึงแล้วข้างต้น

แต่ค่าลิขสิทธิ์ส่วนนี้ เป็นเพียงค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายเพื่อให้สามารถนำเพลงคัฟเวอร์ที่ทำขึ้นมาไปประกอบกับภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ายังไม่สามารถเผยแพร่ได้ เช่น เผยแพร่ทาง YouTube เพราะฉะนั้น หากต้องการที่จะเผยแพร่ทาง YouTube อย่างถูกต้อง และได้รับรายได้จาก YouTube ผู้คัฟเวอร์เพลงจะต้องของอนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์อีกประเภทหนึ่ง คือ ค่าลิขสิทธิ์ในการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ค่าลิขสิทธิ์ในการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Public Performance Licensing)

ในการเผยแพร่วีดีโอที่เราเล่นเพลงคัฟเวอร์บน YouTube นั้น จะต้องมีการขออนุญาตเจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลง แล้วมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามการตกลงกัน จึงจะเผยแพร่ได้ และรับรายได้จาก YouTube ได้ ซึ่งก็ไม่ได้มีราคามาตรฐาน ต้องแล้วแต่การตกลงเท่านั้น

(แหล่งอ้างอิง DIY Musician, New Media Rockstars)

สรุปสั้น ๆ เรื่องการขออนุญาต และการจ่ายค่าลิขสิทธิ์

ถ้าต้องการคัฟเวอร์เพลงเพื่อขายเป็นสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทป ซีดี ดาวน์โหลด สตรีมมิ่ง ฯลฯ จะต้องมีการขออนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อบันทึกในสื่อบันทึกเสียง (Mechanical Licensing)

ถ้าต้องการคัฟเวอร์เพลง แล้วเอาไปประกอบกับภาพเคลื่อนไหว อย่างเช่น มิวสิควีดีโอ หรือแค่ถ่ายตัวเองขณะแสดงดนตรีอยู่ จะต้องมีการขออนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อประกอบภาพเคลื่อนไหว (Synchronization Licensing) และหากต้องการรับรายได้จากการเผยแพร่มิวสิควีดีโอ จะต้องมีการขออนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์การนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Public Performance Licensing)

อย่างไรก็ตาม โดยหลักการ จะมีเพียงเจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลงเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจฟ้องร้อง หรือแจ้งให้ลบวีดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจาก YouTube

แต่หากสังเกตดู เราก็จะพบว่ามีวีดีโอเพลงคัฟเวอร์อยู่มากมายที่ยังเผยแพร่อยู่ต่อไปได้ สาเหตุหนึ่งก็คือเจ้าของหรือตัวแทนลิขสิทธิ์เพลงอาจจะเห็นว่าการมีคนคัฟเวอร์เพลงของเขาเยอะๆ จะช่วยประชาสัมพันธ์และกระตุ้นยอดขายของเขาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นเหตุผลทางการตลาด ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่เขาไม่ได้แจ้งลบวีดีโอก็คือ เขายังไม่พบวีดีโอเพลงคัฟเวอร์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ YouTube ก็มีทางเลือกให้เจ้าของหรือตัวแทนของลิขสิทธิ์เพลงเคลมเอารายได้จากค่าโฆษณาที่ไปโผล่บนวีดีโอเพลงคัฟเวอร์โดยคนอื่นมาเป็นของตัวเองได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องสั่งลบวีดีโอนั้นๆ ทำให้เป็นหนทางหารายได้ของเขาเองได้ อีกทั้งศิลปินคัฟเวอร์ก็ยังได้ประโยชน์ สามารถเผยแพร่วีดีโอเพลงคัฟเวอร์เพื่อโปรโมตตัวเองได้ต่อไป

สัมภาษณ์ความเห็นจากค่ายเพลง เรื่องเพลงคัฟเวอร์

โดย ‘ก้าน’ กมลกานต์ โกศลกาญจน์

นับตั้งแต่ความคุ้นเคยของการร้องเพลงคัฟเวอร์จากศิลปินที่เราโปรดปรานหน้าห้องเรียน หรือการฟอร์มวงกับเพื่อนเพื่อประกวดในเวทีต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นการคัฟเวอร์เพลงที่ใกล้ตัวและคุ้นเคยกันมากที่สุด จนเมื่อมีการมาถึงของเทคโลยี และการเกิดขึ้นของ Youtube ก็ทำให้เราเห็น Cover version ของคนอื่นๆ อีกมหาศาล และปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้ทำให้เพลงบางเพลงนั้นสามารถสร้างกระแสความฮิตไปได้ทั่วบ้านทั่วเมือง บ่อยครั้งไปที่เราได้ยินฉบับคัฟเวอร์ก่อนจะได้ยินเพลงที่เป็นต้นฉบับเสียอีก

นอกเหนือจากต้นทางอย่างศิลปินแล้ว ค่ายเพลงเองก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องเผชิญกับ “Cover Version” หลายรูปแบบไม่แพ้กัน เรามีโอกาสได้คุยกับ 2 หัวเรือใหญ่ของ 2 ค่ายเพลงที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ พี่ ‘อาร์ม’ รัฐการ น้อยประสิทธิ์ Senior Label Director ของค่ายเพลง White Music และ พี่ ‘มอย’ สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการ ค่ายเพลง What the Duck ว่าในฐานะค่ายเพลงแล้ว พวกเขามีวิธีการรับมือกับปรากฏการณ์การคัฟเวอร์เพลงในปัจจุบันกันอย่างไร

6-4

‘อาร์ม’ รัฐการ น้อยประสิทธิ์ Senior Label Director ค่ายเพลง White Music

พี่อาร์มบอกกับเราว่า การคัฟเวอร์เพลงนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการพื้นที่แสดงออกถึงตัวตน โดยเฉพาะเมื่อเพลงจากค่าย White Music ที่โด่งดังได้ยินฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง PLEASE ของ ‘อะตอม’ ชนกันต์ รัตนอุดม ที่เกิดเวอร์ชันร้องตามกันมาอีกนับร้อยเวอร์ชันใน YouTube ในทางหนึ่งนั่นคือการช่วยโปรโมตเพลงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และจากแต่ละคนที่นำเพลงไปคัฟเวอร์นั้น เขาเองก็มองเห็นความน่าสนใจ มองเห็นคาเเรกเตอร์ของนักร้องคัฟเวอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ค่ายเพลงจะมองหานอกเหนือจากเสียงที่ใช้ได้แล้วก็คือความครีเอทีฟในการออกแบบดนตรี หรือความครีเอทีฟในด้านภาพ ที่ช่วยสนับสนุนให้เพลงคัฟเวอร์ของตัวเองนั้นดูมีความน่าสนใจขึ้นมา

สิ่งสำคัญที่ค่ายเพลงจะมองหานอกเหนือจากเสียงที่ใช้ได้แล้วก็คือความครีเอทีฟในการออกแบบดนตรี หรือความครีเอทีฟในด้านภาพ ที่ช่วยสนับสนุนให้เพลงคัฟเวอร์ของตัวเองนั้นดูมีความน่าสนใจขึ้นมา

สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือ ค่ายเพลง White Music นั้นมีนักร้องสาวเสียงใสอย่าง เอิ้ต ภัทรวี ที่หลายคนรู้จักจากการปรากฏตัวในซีรีย์ฮอร์โมน รู้จักจากเสียงเพราะที่ร้องกับ แอมมี่ The Bottom Blues หรือล่าสุดที่เห็นเธอไปทัวร์คอนเสิร์ตกับอะตอม แต่สำหรับในแวดวงการคัฟเวอร์แล้ว เอิ๊ตเปรียบเป็นเหมือนกับป็อปสตาร์ที่เป็นต้นแบบของการร้องเพลงคัฟเวอร์จนประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่เกิด Youtube ขึ้น เอิ๊ตเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้ช่องทางนี้ในการนำเสนอความสามารถของตัวเองสู่สาธารณะ จนมาเข้าตาค่ายเพลงและได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน เกิดเป็นเพลงในแบบฉบับของตัวเอง พร้อมกับนำฐานแฟนคลับเดิมและสร้างฐานแฟนคลับใหม่ให้ติดตามได้อย่างเหนียวแน่น จากการร้องคัฟเวอร์มาสู่การเป็นศิลปินเต็มตัว White Music ในฐานะค่ายเพลงก็ต้องช่วยสนับสนุนความชัดเจนให้กับตัวตน พร้อมให้สามารถเติบโตเป็นนักร้องคุณภาพได้อย่างแท้จริง

6-5

‘มอย’ สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการ ค่ายเพลง What the Duck

สำหรับค่ายเพลง What the Duck ที่ศิลปินในค่ายนั้นมีเพลงฮิตติดหูและขึ้นอันดับเพลงที่ถูกนำไปคัฟเวอร์กันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สิงโต นำโชค, Musketeers หรือ Ten to Twelve พี่มอยมีมุมมองว่า การที่เพลงของศิลปินถูกนำไปคัฟเวอร์นั้นคือโอกาส เพราะการที่เพลงหนึ่งเพลงจะถูกเลือกแล้วนำมาคัฟเวอร์ต่อนั้นแปลว่า กลุ่มคนที่คัฟเวอร์ต้องมองเห็นศักยภาพบางอย่างในเพลงนั้น ที่สำคัญคือ ยิ่งเพลงคัฟเวอร์ดังมากเท่าไหร่ คนฟังก็จะยิ่งกลับมาหาเพลงต้นฉบับฟังตามมากขึ้นเท่านั้น การคัฟเวอร์เพลงจึงถือเป็นการช่วยโปรโมตเพลงของค่ายในอีกหนึ่งช่องทาง โดยมีความเชื่อมั่นว่าศิลปินเองก็ยินดีและเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจ

บางคนที่นำเพลงไปคัฟเวอร์มีลายเซ็นของตัวเองที่ชัดเจนมาก ร้องเพลงคนอื่นได้เป็นเหมือนกับเพลงของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ แต่กลับต้องพบกับปัญหาบางประการ อย่างการที่เมื่อมาร้องเพลงที่เป็นของตัวเองจริง ๆ เสน่ห์ที่เคยมีอยู่นั้นกลับหายไปทันที

ประเด็นที่น่าสนใจของการมองหาศิลปินหน้าใหม่จาก YouTube สำหรับพี่มอยแล้ว ในหลายๆครั้ง เขาพบกับคนที่นำเพลงไปคัฟเวอร์ที่มีลายเซ็นของตัวเองที่ชัดเจนมาก ร้องเพลงคนอื่นได้เป็นเหมือนกับเพลงของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ แต่กลับต้องพบกับปัญหาบางประการ อย่างการที่เมื่อมาร้องเพลงที่เป็นของตัวเองจริงๆ เสน่ห์ที่เคยมีอยู่นั้นกลับหายไปทันที ความแตกต่างส่วนนี้จึงเป็นเหมือนความท้าทายของค่ายเพลงที่ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า การเลือกศิลปินคัฟเวอร์จาก YouTube นั้นเหมาะสมกับการเป็นศิลปินเต็มตัวจริงหรือไม่ แม้ว่าจำนวนผู้ติดตามในช่องทางจะมากมายมหาศาล แต่ในความเป็นจริงคือฐานคนฟังเหล่านั้นก็รอคอยเพลงคัฟเวอร์เพลงใหม่ๆ มากกว่ารอคอยเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาใหม่เพื่อให้ร้องโดยเฉพาะ เมื่อเป็นเช่นนี้เเล้ว การหาศิลปินหน้าใหม่จึงต้องอาศัยองค์ประกอบส่วนอื่นเพิ่มเติม อาทิ คาเเรกเตอร์เฉพาะตัว วิธีการแสดง วิธีการเล่นสดบนเวที ความสามารถในการร้อง และที่สำคัญที่สุดคือเสน่ห์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว

นอกจากนี้ ค่ายเพลง What the Duck มีการค้นหาศิลปินหน้าใหม่จากเวทีการประกวดดนตรีอยู่เสมอ แล้วทางค่ายยังเปิดรับเดโมเพลงจากศิลปินหน้าใหม่ บางครั้งก็มีการเข้าไปลองฟังเพลงจากวงดนตรีหน้าใหม่ในเว็บไซต์ฟังใจ และเข้าไปดูหน้า fanpage ของวง เพื่อดูวิธีการสื่อสารกับคนฟัง การตอบคำถาม จนถึงการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อจะได้ช่วยนำวงที่มีศักยภาพจะต่อยอดได้ไปศึกษาเพิ่มเติม


การคัฟเวอร์เพลงนั้น เป็นทั้งวิธีการฝึกฝนฝีมือ วิธีการแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองผ่านบทเพลงคนอื่น หนทางสู่การมีชื่อเสียงจนได้เป็นศิลปินที่มีเพลงของตัวเอง และช่องทางการสร้างรายได้ อีกทั้งเป็นช่องทางการโปรโมตของค่ายเพลงอีกด้วย ซึ่งเราได้มีการยกตัวอย่าง วิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อความในเชิงวิชาการทั้งในตอนที่แล้ว และตอนนี้

นอกจากนี้ เราหวังว่าความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ที่เรานำเสนอจะช่วยทำให้คุณทำเพลงคัฟเวอร์ได้อย่างถูกต้อง และมีรายได้อีกด้วย แม้จะดูยุ่งยากในตอนนี้ แต่ในอนาคตน่าจะมีบริษัทหรือองค์กรที่ช่วยให้ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ขอสนับสนุนให้ทำงานอย่างตั้งใจ และเคารพสิทธิ์ของกันและกันนะครับ

Facebook Comments

Next:


Piyapong Meunprasertdee

นักวิชาการอุตสาหกรรมดนตรี รักแมว รักโลก เคยทำงานเป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Sustainability & Climate Change) เคยมีวงอินดี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และจากการที่ไปทำงานในบริษัทเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ที่อเมริกา ก็เลยมีความคิดอยากมีส่วนช่วยพัฒนาวงการดนตรีไทยให้มีความแข็งแรงและยั่งยืนยิ่งขึ้น