รวมศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับการจัดคอนเสิร์ต ศึกษาไว้ก่อนจัดงานของตัวเอง
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
เดี๋ยวนี้ใคร ๆ อาจจะคิดว่าการจัดคอนเสิร์ตจริง ๆ ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่มีเงินซักก้อนพร้อมคอนเน็กชันซักหน่อยก็สามารถจัดได้ สังเกตว่ามีคนจัดคอนเสิร์ตเจ้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งวงไทยและวงนอก แต่เอาเข้าจริงการจะจัดงานทั้งทีต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดและค่าใช้จ่ายทั้งหมดซะก่อนว่า มันมีหลายชีวิตที่เข้ามามีส่วนร่วม และต้องมีการเตรียมงานเบื้องหลังเยอะมากกว่าจะทำให้เกิดงานหนึ่งขึ้นมาได้
นอกจากใจรักในเสียงดนตรีแล้ว เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับซีนนี้ด้วยเหมือนกัน ไหน ๆ เราก็จัดคอนเสิร์ตมาบ่อยแล้ว เลยอยากแชร์คำศัพท์น่ารู้ในการจัดคอนเสิร์ต มีประดับตัวไว้จะได้เข้าใจการทำงานบนเวทีมากขึ้น
Billing ไม่ได้เกี่ยวกับการแจ้งหนี้หรือคิดตังอะไรทั้งนั้น ‘bill’ แปลได้อีกความหมายหนึ่งได้ว่า ‘โปสเตอร์’ และ ‘billing’ แปลว่า ‘โฆษณา’ ได้เหมือนกัน ในวงการบันเทิงเปรียบเสมือนการจัดอันดับ หรือตำแหน่งในวงการ billing ในที่นี้จึงหมายถึงศิลปินคนไหนอยู่ลำดับไหนในเทศกาล เช่น เป็น headliner หรือวงหลักของงานที่มีคนอยากดูกันเยอะมาก มักเล่นเป็นวงสุดท้ายและโชว์อลังการสุด มี sub-headliner ที่ใหญ่รองลงมาและมีชื่อเสียงพอตัว หรือมีชื่อตัวเล็ก ๆ อยู่ท้ายโปสเตอร์เรียกว่า mid-tier ศิลปินที่ยังมีชื่อเสียงไม่มากหรือเป็นศิลปินท้องถิ่นที่เจ้าของงานอยากดัน
สำหรับศิลปินบางรายที่ยังไม่มีตัวแทนหรืออำนาจต่อรองยังไม่มากนัก บางผู้จัดก็จะยื่น ‘landed offer’ ให้แทน ซึ่งเป็นค่าตัวในราคาที่วงบินมาถึงสนามบินแล้ว โดยศิลปินต้องจัดการค่าเดินทางทั้งหมดก่อนหน้านี้ด้วยตัวเอง พอมาถึงงานผู้จัดก็จะคอยเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี ส่วนหนึ่งเพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยรวมนั่นเอง
เติมความรู้รอบตัวกันไปแล้ว เติมความรู้ด้านเทคนิกกันหน่อย สิ่งที่เราจะเห็นได้ในทุกคอนเสิร์ตเลยคือเต๊นท์หรือคอกใหญ่ ๆ ที่อยู่ตรงข้ามเวทีเลย โซนนี้เรียกว่า ‘front of house’ (FOH) คือจุดคอนโทรลโดยรวมของคอนเสิร์ตเกือบทั้งหมด สำหรับคนทำงานควบคุมโปรดักชั่นจะมารวมกันที่จุดนี้ เหล่า sound engineer ที่ควบคุมเสียงโดยรวมทั้งหมดที่ทุกคนจะได้ยินในงาน เป็นหัวใจหลักของงานเลยก็ว่าได้ monitor engineer คนมิกซ์เสียงที่นักดนตรีจะได้ยิน เป็นคนกลางให้พวกเขาได้ถ่ายทอดดนตรีออกมาอย่างถูกต้อง และ visual designer / lighting designer ที่คอยกดไฟหรือวิชวลบนเวที เป็นอีกคนที่ต้องออกแบบโชว์โดยรวมให้ลงตัวกับศิลปินเหมือนกัน
สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในแต่ละคอนเสิร์ตคือ rider มันคือไบเบิลจากศิลปินที่ใช้แจ้งแต่ละคอนเสิร์ตว่าพวกเขาต้องการอะไร ในนั้นจะเต็มไปด้วยลิสต์เครื่องดนตรี อุปกรณ์ เครื่องเสียง ฯลฯ ที่ศิลปินมีหรือต้องการ โดยใส่รายละเอียดทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่นยี่ห้อ รุ่น กำลังไฟไว้ทั้งหมดเลย ละเอียดถึงขั้นมี stage plot ระบุตำแหน่งชัดเจนของสมาชิกแต่ละคนว่าใครจะยืนตรงไหนบ้าง กีตาร์ยืนตรงไหน คีย์บอร์ดยืนตรงไหน แล้วแต่ละคนต้องการมอนิเตอร์หรือตู้แอมป์กี่ตัว วางตรงไหนบ้าง เพื่อให้ทีมงานออกแบบเวทีหรือจัดวางได้ถูกต้องตามที่ศิลปินต้องการ ซึ่งเวลาทีมงานพูดถึงอุปกรณ์ทั้งหลายบนเวทีจะเรียกกันติดปากว่า backline
ตัวอย่าง Tech Riders by The Tame and The Wild
บนเวทีก็งานยุ่งไม่แพ้กัน ที่ขาดไม่ได้เลยคือเหล่า technician ผู้ปิดทองหลังพระอีกคนที่สำคัญมาก อย่าเข้าใจผิดว่าพวกเขามีหน้าที่แค่ยกของให้ศิลปินเท่านั้น พวกเขาอำนวยความสะดวกช่วยเหลือนักดนตรีในด้านเทคนิค ตั้งแต่ซาวด์เช็ก ต่ออุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงตอนแสดงสดที่จะต้องช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นบนเวที เสียงไม่ออก สายขาด ปลั๊กหลุด หรืออื่น ๆ อีกมากมาย หลังแสดงสดก็จะเป็นคนดูแลเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ ของวงให้เรียบร้อย โดยจะมี stagehand ลูกมือคอยช่วยหยิบจับโน่นนี่อีกทีนึง ทุกงานนี่ขาดพวกเขาไม่ได้เลย
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องรู้ก็ได้คือ riser ใช้เรียกแท่นหรือแผ่นที่ยกตัวศิลปินหรืออุปกรณ์ให้สูงขึ้นจากพื้นเวทีปกติ เพื่อความสวยงามของเวทีหรือศิลปินบางคนก็อยากดูโดดเด่นขึ้น ถ้าแบบมีล้อเลื่อนได้เรียก rolling riser ทีมงานใช้เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องดนตรีได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลด changeover หรือระยะเวลาระหว่างเปลี่ยนวงบนเวทีเดียวกันให้น้อยลงได้
บางคอนเสิร์ตที่เราเห็นว่ามีหน้าจอถ่ายทอดสดอยู่ข้างเวที สิ่งนี้เรียกว่า กล้อง OB ย่อมาจาก ‘outside broadcasting’ หรือการถ่ายทอดสดนอกสถานที่ มักจะมี 2 ตัวขึ้นไปเพื่อตัดสลับภาพระหว่างกล้องไปมาให้ดูไม่น่าเบื่อเกินไป หรือแทรกภาพกับวีดีโอสำหรับอธิบายจากอีกทีหนึ่งเข้ามา ซึ่งบางงานอาจมีกล้องมากถึง 40 ตัวเลยก็ได้ เช่นการแข่งฟุตบอลรายการสำคัญ ๆ แล้วมีระบบกลางที่จะตัดภาพไปมาจากทุกกล้อง แถมยังถ่ายทอดสดขึ้นทีวีหรือไลฟ์บนโซเชียลได้ทันที
ก่อนหน้านี่เราพูดถึง rider กันไปแล้ว แต่มันเรียกแบบลงลึกว่า techincal rider โดยมันถูกแยกย่อยออกมาให้ชัดเจนไปเลยว่าเป็นสิ่งของที่ศิลปินต้องการบนเวที แต่การทัวร์หรือไปเล่นในประเทศที่ไม่คุ้นเคยศิลปินหลายคนก็ต้องการความผ่อนคลายบ้าง พวกเขาจึงส่ง hospitality rider มาล่วงหน้าด้วย เรียกง่าย ๆ มันคือลิสต์ของสิ่งที่จะทำให้ศิลปินมีความสุข เช่น เบียร์ ไวน์ อาหารขนมผลไม้ที่พวกเขาชอบ ฯลฯ ซึ่งอาจจะระบุยี่ห้อและวิธีการเตรียมอย่างละเอียด บางคนไปต่างบ้านต่างเมืองก็อยากจะกินอาหารท้องถิ่น ก็สามารถร้องขอกับผู้จัดได้เหมือนกัน แต่ในลิสต์ศิลปินระดับโลก ก็มีของที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเอามาให้เหมือนกัน เช่น อ่างจากุซซี่ หรืออยากได้แมว 20 ตัวในห้องพัก
Maho Rasop Festival เคยรวบรวม hospitality rider ของศิลปินในปี 2018 ไว้เหมือนกัน ไปเดาเล่น ๆ ว่าวงไหนรีเควสอะไรบ้าง
สุดท้ายแล้ว ขอแถมโบนัสคำศัพท์ที่คนชอบจำสลับหรือชอบลืมให้จ้า ก่อนอื่นเลยคือ line up คือรายชื่อศิลปินทั้งหมดที่จะมาในงานนี้ ไม่ได้ใช้เรียกตารางโชว์ ตารางเวลาของงานเรียกว่า show schedule ส่วน setlist คือรายชื่อเพลงที่ศิลปินจะเล่นหรือมี sequence ลำดับโชว์พิเศษที่จะแสดง อย่างโซโล่เบสหรือเต้นคัฟเวอร์โชว์ door open คือเวลาที่ประตูงานเปิด ไม่ใช่ชื่อวง แฮ่ และ smoking area คือพื้นที่ที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ รบกวนสูบในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ไม่ใช่สูบในงานนาจา ฉันขอร้อง