Article Guru

จาก Phonograph สู่ Mp3: คุณทันการฟังเพลงด้วยอะไรบ้าง?

  • Writer: Geerapat Yodnil

ยังจำเพลงโปรดในวันแรกที่คบกันได้มั้ย แล้วเพลงสุดท้ายที่ฟังก่อนเค้าจะจากไปล่ะยังจำได้รึเปล่า

ทุกเสียงเพลงในความทรงจำของทุกคนต่างมีเรื่องราวแฝงอยู่ในนั้นเสมอ ไม่ว่าจะสุข เศร้า เหงาหรือว่าดีใจ สิ่งนี้แหละที่ทำให้เพลงหนึ่งเพลง หรือซีดีหนึ่งแผ่น มีความหมายอย่างที่มันควรจะเป็น แต่รู้กันหรือเปล่าว่ากว่าจะมาเป็นซีดีหรือฟอร์แมตฟังเพลงให้เราได้ฟังกันนั้น ตัวของมันเองก็มีเรื่องราวที่ทั้งทุกข์สุขและสวยงามแฝงอยู่ ไม่แพ้เรื่องราวของพวกเราเลย    

*แด่ไวนิลทุกแผ่น เทปทุกตลับ และซีดีทุกอัลบั้ม ที่ทำให้ทุกการเติบโตมีความหมาย*

จุดเริ่มต้นของสรรพเสียง : (1877)

ทุกเรื่องเล่าย่อมมีที่มา ทุกศาสนาก็ย่อมต้องมีศาสดา เช่นเดียวกับเรื่องราวของเสียงเพลง ธงแห่งจุดเริ่มต้นของทุกอย่างนั้นได้ปักเอาไว้ที่ชื่อของชายที่ทุกคนทั่วโลกต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี Thomas Alva Edison ใช่ ๆ บุรุษผู้มาพร้อมกับหลอดไฟคนนั้นนั่นแหละ นอกจากศาสตร์แห่งแสงจะทำให้เขาโด่งดังแล้ว ศาสตร์แห่ง ‘เสียง’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจเช่นกัน

ในปี 1877 เอดิสันได้สร้างเครื่องอัดเสียงเครื่องแรกที่สามารถบันทึกเสียงเข้าไปแล้วเล่นกลับออกมาให้คนฟังได้จนสำเร็จ ในชื่อ phonograph โดยมีส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้

coming-of-age-of-platform-17

1. ที่เห็นว่ามีโลหะเส้นเล็ก ๆ พันอยู่รอบ ๆ แล้วมีกล้องจุลทัศน์คอยส่องอยู่อันนั้นคือ เม้าท์ (mouthpiece) ใช้บันทึกเสียงตรงปลายที่มีเข็ม เปรียบเสมือนไมโครโฟนที่เป็นตัวกลางนำพาเสียงร้องหรือเสียงพูดของเราไปสู่ตัวเครื่องเพื่อเล่นออกมาอีกที 2. กระบอกบันทึกเสียง music platform รุ่นแรกมาในรูปแบบของทรงกระบอกที่ห่อหุ่มด้วยดีบุกที่ถูกตีเป็นแผ่นบาง ๆ อย่างในรูปคือกระบอกทรงไม้ไผ่ 3. กระบอกเสียง (cylinder) มีหน้าที่เล่นเสียงที่เราบันทึกลงไปออกมาให้เราฟัง หน้าที่เหมือนลำโพงนั่นแหละแต่ลำโพงจะมีปากคล้าย ๆ แตร แต่จากในรูปอันนี้จะอยู่ซ้ายสุด หน้าตาคล้ายยางรถยนต์นั่นเอง

หลักการทำงานของเจ้าเครื่องนี้ก็ง่าย ๆ เลย เพียงเราพูดใส่เมาท์พร้อมกับไขลานด้ามจับที่ติดมากับตัวกระบอกเสียง คลื่นเสียงของเราก็จะทำปฏิกิริยากับแผ่นไดอะแฟรมของเมาท์ และเข็มเหล็กที่อยู่ตรงปลายเมาท์ก็จะสร้างร่องเสียงขึ้นด้วยการขูดกับแผ่นดีบุกที่พันอยู่รอบ ๆ ตัวกระบอกเสียง ก็เป็นอันเสร็จ (ไหนบอกว่าง่าย) ข้อเสียของ phonograph คือ เสียงที่อัดไว้มีอายุการใช้งานที่สั้นมาก นำกลับมาเล่นใหม่ได้ไม่กี่ครั้งแผ่นดีบุกก็จะยับและไม่สามารถเล่นได้อีกแล้ว แต่ข้อดีก็คือ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกเต็มไปด้วยเสียงเพลงมาจนถึงทุกวันนี้ จากประโยค ‘Mary Had a Little Lamb’ ซึ่งเป็นประโยคแรกที่ถูกบันทึกลงใน phonograph โดยตัวเอดิสันเอง

เรดิโอฟีเว่อร์ อยู่เป็นเพื่อนกันทุกเวลา : (1906)

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังเป็นเพียงแค่ความฝันที่ยังมาไม่ถึง เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการฟังวิทยุคือใบเบิกทางเดียวของนักฟังเพลงในตอนนั้น ที่โลกของเสียงเพลงเป็นเหมือนแดนลับแลที่มีสมบัติกองมหาศาลรอให้เข้าไปค้นหา

รากของสถานีวิทยุถูกปลูกขึ้นในปี 1897 โดยเริ่มจากการให้กำเนิดการส่งสัญญาณที่ไม่ต้องใช้สายไฟเป็นตัวนำพาซึ่งกันและกันแต่จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า wireless ซึ่งเป็นนวัตกรรมของนักวิศวกรไฟฟ้าชื่ออ่านยาก Guglielmo Marconi มาร์โคนีสร้างประวัติศาสตร์โดยการนำสัญญาณไร้สายของเค้าไปใช้กับเครื่องโทรเลขจนทำให้เกิดวิทยุโทรเลขขึ้น ก่อนที่อีกสี่ปีถัดมาสัญญาณมอร์สของวิทยุโทรเลขจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นเสียงพูด จนส่งผลให้ปี 1920 กลายเป็นปีที่คลื่นวิทยุสาธารณะได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อโลกในเวลาต่อมา

ส่วนประวัติศาสตร์คลื่นวิทยุของไทยเราก็ได้เริ่มต้นขึ้นทีหลังในช่วง 1927 ด้วยการบุกเบิกของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ ‘บิดาแห่งวงการวิทยุกระจายเสียงไทย’ ซึ่งการออกอากาศในสมัยนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่ประชาชนเป็นหลัก แล้วคลื่นวิทยุที่เปิดเพลงที่ฟัง ๆ กันอยู่ทุกวันนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ตอนไหนกันล่ะ

ช่วงประมาณปี 1960 – 1990 คือช่วงปีที่น่าจดจำช่วงหนึ่งของวงการวิทยุเพลงในประเทศไทย เป็นยุคที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ‘รุ่งเรือง’ จริง ๆ ดังนั้นเราจึงจะขอยกส่วนหนึ่งของรายการเด่นในดวงใจในอดีต เพื่อเป็นการละลึกถึงภาพจำอันหอมหวนในครั้งนั้นกันอีกครั้งนึงครับ

เพลง In My Life ของ The Beatles ค่อย ๆ บรรเลงขึ้นมา

I.S. Song Hit รายการเพลงสุดฮิตในช่วงยุค 60s ที่เกิดจากการเปิดเพลงในรูปแบบเฉพาะตัวของ เล็ก วงศ์สว่าง ความมหัศจรรย์ก็คือ แฟนเพลงของรายการนี้ชอบที่จะขอเนื้อเพลงที่คุณเล็กเปิดเพื่อเอาไปร้องตามระหว่างฟังไปด้วย จึงทำให้คุณเล็กเกิดไอเดียนำไปต่อยอดเป็นหนังสือเพลงมีคอร์ดกีตาร์เจ้าแรกของประเทศไทยในชื่อ The Guitar นั่นเอง

ถัดมาในช่วงปี 70s เชื่อว่าไม่มีนักฟังเพลงสายเลือดฮาร์ดร็อกคนไหนไม่รู้จัก วิฑูล วทัญญู และ Top Teen Talent อย่างแน่นอน ด้วยความเท่ของรายการที่มีคอนเซปต์เจ๋ง ๆ อย่างการเปิดเพลง Hoedown ของวง Emerson Lake & Palmer เป็นจิงเกิ้ลเปิดและปิดรายการทุกครั้ง หรือการชอบตั้งฉายาให้กับวงดนตรีต่าง ๆ เช่น Queen : ราชันย์ในนามราชินี, Scorpion : แมงป่องผยองเดช Led Zeppelin : เรือเหาะว่องเวหา เป็นต้น บวกกับวาทศิลป์และการเปิดเพลงที่โดนใจวัยรุ่น ทำให้คุณวิฑูลเป็นนักรายจัดรายการวิทยุที่ผู้ฟังในตอนนั้นยังคงจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ (เพราะพ่อและลุง ๆ ของเรามักพูดถึงตัวรายการและคุณวิฑูลด้วยท่าทีที่มีความสุขทุกครั้ง) หากให้ลองยกตัวอย่างคลื่นวิทยุนอกกระแสขึ้นมาคนละหนึ่งคลื่น หลาย ๆ คนก็อาจจะนึกถึง Cat Radio หรือคนที่ไม่ฟังวิทยุก็อาจจะยกคลื่นวิทยุในหนังสุดห่ามอย่าง The Boat That Rocked (2009) มาเป็นคำตอบแทน แล้วถ้าให้ลองจินตนาการถึงคลื่นวิทยุนอกกระแสในอดีตเราจะนึกถึงรายการไหน

Nite Spot รายการวิทยุปี 1980 ที่มีหัวเรือหลักอย่าง อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของคำถามนี้ ความแตกต่างของไนต์สปอตกับคลื่นวิทยุอื่น ๆ คือเป็นเจ้าแรกที่เปิดเพลงจากฝั่งอังกฤษและนำพังก์เข้ามาสู่ประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นคลื่นวิทยุที่มีการจัดรายการแบบ dj เป็นเจ้าแรก ๆ อีกด้วย แล้วไนต์สปอตอีกนั่นแหละที่เป็นโปรโมเตอร์เจ้าแรกในการเอาศิลปินต่างประเทศมาเล่นในบ้านเราก่อนที่จะมี DudesweetHave You Heard?, Seen Scene Space หรือ Conflakes และอีกมากมายหลายเจ้าเสียอีก แต่สุดท้ายไนต์สปอตก็ต้องปิดตัวลงในปี 1989 เช่นเดียวกับทุกรายการที่เราพูดถึงมาในตอนต้นและหลายรายการที่เราไม่ได้พูดถึง ด้วยเหตุผลเดียวคือ ‘ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค’

เสน่ห์ที่เกิดจากความละเอียดอ่อน : (1940)   

coming-of-age-of-platform-18

วิวัฒนาการของ เครื่องเล่นแผ่นเสียง (turntable) นั้น มีต้นกำเนิดมาจากตัว phonograph ของเอดิสันนั่นแหละ ซึ่งตัวแผ่น (vinyl) รุ่นแรกอันเป็นรูปแบบที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นผลงานในปี 1887 ของ Emile Berliner โดยการนำแผ่นสังกะสีมาตัดขอบเป็นวงกลม ใช้ยางย้อมสีดำและน้ำมันแชล็คผสมกับขี้ครั่ง เขาตั้งชื่อให้มันด้วยชื่อที่คนรักแผ่นเสียงทั่วโลกต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีในเวลาต่อมาว่า gramophone

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ‘การเล่นแผ่นเสียงคือศาสตร์ที่ไม่มีวันจบ’ ก็ดูจะเป็นคำพูดที่ไม่เกินเลยไปจากความจริงเสียทีเดียว เพราะจากประสบการณ์โดยตรงที่มีพ่อเป็นคนคลั่งแผ่นเสียง ทำให้ได้รู้ว่าโลกของการเล่นแผ่นเสียงนั้นมีทั้งความจริงและความเชื่อปะปนกันอยู่เต็มไปหมด เช่น ยิ่งเข้าใกล้ความอานาล็อกเท่าไหร่เสียงที่ออกมาจะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น, แผ่นที่ปั๊มล็อตแรกหรือว่า ‘first pressing’ คือแผ่นที่เสียงดีที่สุดเสมอ, ความหนา (gram) ที่ยิ่งมาก ยิ่งทำให้เสียงดี, หัวเข็ม (cartridge) แบบ MC มีรายละเอียดดีกว่าแบบ MM จริง ๆ นะ เป็นต้น ส่วนวิธีการทำงานเครื่องเล่นชนิดนี้แทบจะไม่แตกต่างจากเครื่องบรรพบุรุษของมันเลย หลัก ๆ ก็คือ ตัวไวนิลจะแบ่งเพลงแต่ละแทร็คตามจำนวนร่องแผ่นเสียง (groove) แบ่งเป็นหน้า-หลัง (A side – B side) ตัวแผ่นจะถูกอ่านค่าด้วยหัวเข็มของตัวเครื่องเพื่อแปลงเป็นสัญญาณเสียงสู่ลำโพง (speaker) อีกที อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าแผ่นไวนิลทรงกลมสีดำที่ทุกคนเห็นกันอย่างชินตาถูกสร้างสำเร็จครั้งแรกในปี 1887 แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าการเล่นแผ่นเสียงจะเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกก็ต้องใช้เวลาอีกตั้ง 53 ปี

ปี 1940 คือจุดเริ่มต้นความป๊อปปูล่าของการเล่นไวนิล ซึ่งเป็นปีที่โลกขับเคลื่อนไปด้วยเพลงแจ๊สจากศิลปินที่กลายเป็นตำนานตลอดกาลอย่าง Frank Sinatra, Ella Fitzgerald หรือกระทั่ง Louis Armstrong เองก็อยู่ในยุคนี้ด้วย วัฒนธรรมของการเล่นแผ่นเสียงของคนหมู่มากเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี เพราะทางที่เดินข้างหน้าคือการมาถึงของ ‘เทปคาสเซ็ท’ (cassette tape) และ ‘ซีดี’ (cd) ที่มีจุดเด่นกว่าในเรื่องของขนาดที่สะดวกสบาย จนกระทั่งปี 1980 วัฒนธรรมการเล่นแผ่นเสียงก็กลายเป็นกิจกรรมของชนกลุ่มน้อยไป

coming-of-age-of-platform-19

แต่แล้วเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมนี้ก็ได้กลับมาคึกคักอีกครั้งนึง ไม่เว้นแม่แต่ประเทศไทยของเราเองที่ก็มีร้านแผ่นเสียงมากมายรองรับการเล่นของผู้ที่สนใจอย่างมากขึ้น ว่าแต่ร้านเหล่านี้อยู่ตรงไหนบ้าง เราจะขอชี้พิกัดพร้อมข้อมูลอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้ทุกคนที่เล่นและเริ่มเล่นอยู่พร้อมใจไปเสียเงินกัน

Garage Records : ร้านแผ่นเสียงย่านลาดพร้าวซอย 8 แหล่งรถติดของคนกรุงเทพ ฯ ที่แต่เดิมเคยมีหน้าร้านอยู่ทางออนไลน์ ภายในอุดมไปด้วยแผ่นอัลเทอร์เนทีฟร็อกยุค 80s-90s เป็นส่วนใหญ่ แต่แผ่นวงยุค 2000s อัพทางร้านก็มีนำเข้ามาเหมือนกันนะ

8 Musique : ร้านแผ่นเสียงใจกลางเมืองย่านทองหล่อ ที่นอกจากมีแผ่นไวนิลมือหนึ่งมือสองให้เลือกช็อปแล้ว ทางร้านก็ยังมีซีดีไทยหลากหลายแนวรวมถึงซีดีนำเข้าที่น่าสนใจอีกมากมาย หากอยากรู้ว่าผนังลาย Abbey Road ของทางร้านขลังแค่ไหนก็ต้องลองไปดู

Vinyllica : แหล่งขุมทรัพย์เก่าของคนรักแผ่นเสียงที่เปิดมานานกว่า 10 ปีบนห้างสรรพสินค้า Fortune Tower ไม่พูดอะไรมากสำหรับร้านนี้ บอกได้คำเดียวเลยว่า “ละลานตาและโคตรเพลิน”

นี่เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งในจำนวนร้านอีกมากมาย หากลองศึกษาประวัติของการแผ่นเสียงดูจะรู้ว่ามันไม่เคยเลิกผลิตและหายไปไหนเลย ไม่เว้นแม่แต่วงดนตรีในยุคใหม่ ๆ (ล่าสุดพึ่งได้อัลบั้ม Sound and Colour ของ Alabama Shake มา กรี๊ดหนักมาก) เหตุผลที่ยังคงดำรงอยู่ได้ของไวนิลก็คงจะเป็นเหตุผลเดียวกับคนที่ฟังมานานและคนที่เพิ่งเริ่มฟัง นั่นคือ ‘เสน่ห์ของเสียง’ ซาวด์ที่ไม่ว่า format ไหนก็ไม่มีวันเหมือนคือสิ่งที่ทุกคนพร้อมใจพูดเป็นเสียงเดียวกัน แต่เหตุผลของเราต่างออกไป สำหรับเรามันอยู่ในความประณีตก่อนที่เสียงจะเกิดขึ้น ทั้งการจับแผ่นอย่างช้า ๆ ไปวางบนเครื่องเล่น กดให้แผ่นหมุนแล้วจึงค่อย ๆ วางหัวเข็มไปบนร่องในแทร็คที่เราปรารถนา กลับไปนั่งที่เก้าอี้พร้อมกับมือที่ถือ booklet ขนาดเท่ากับปกอัลบั้ม เราว่าตรงนี้แหละที่มันเป็นเสน่ห์ของการเล่นแผ่นเสียงจริง ๆ

ตำนานเด็ก 90s : (1963)

coming-of-age-of-platform-20

“นาย ๆ เป็นเด็ก 90s รึเปล่าอะ”

“แล้วรู้มั้ยว่าไอ้ประวัติของสิ่งที่นายเรียกว่า เทปคาสเซ็ต เนี่ย มันเริ่มจากตรงไหน”

โอเค ๆ จริง ๆ ไม่ต้องรู้ขนาดนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นเด็ก 90s ได้อยู่แล้วแหละ (ถ้าเกิดมาทันที่จะใช้ชีวิตในช่วงนั้นน่ะนะ) แต่รู้ว่าก็ไม่เสียหาย จุดกำเนิดของหนึ่งใน accessories ชิ้นสำคัญของยุค 90s เริ่มเมื่อปี 1963 (ปีเดียวกับที่ The Beatles ปล่อยอัลบั้มชุดแรก Please Please Me พอดีเลย) โดย William “Bill” Powell Lear หรือที่เป็นที่รู้จักกันดีในตำแหน่งผู้ก่อตั้ง Lear Jet Corporation บริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจเครื่องบินเจ็ตเจ้าแรก ๆ ของโลก เป็นผู้คิดค้น 8-track tape หรือก็คือต้นกำเนิดของเทปคาสเซ็ทในปัจจุบันนั่นเอง

“จะดีแค่ไหน หากเราสามารถฟังเพลงโปรดของตัวเองได้ทุกที่ในขณะที่ขับรถ” และนี่ก็คือสรรพคุณแสนวิเศษที่มีเฉพาะเจ้าเทปนี้เท่านั้นที่สามารถทำได้ในตอนนั้น แต่ถึงแม้ ‘เทป 8 แทร็ค’ จะเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สามารถขึ้นมาแทนที่ไวนิลได้ แต่เวลาของมันก็ไม่ได้ยืดยาวนัก เพราะเมื่อ ‘เทปคาสเซ็ต’ เดินทางมาถึงช่วงธุรกิจเพลงในปี 1970 นั่นก็หมายถึงเวลาของการอำลาของเทป 8 แทร็คเข้าสู่พิพิธภัณฑ์… เราไม่ได้เปรียบเปรยนะ มันมี The Eight Track Museum อยู่จริง ๆ ด้วยเหตุผลท่ีว่า คาสเซ็ตมีคุณภาพเสียงที่ดีกว่าเยอะ สองคือขนาดที่เทอะทะของ 8 แทร็ค (ใหญ่ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของม้วนวิดีโอได้) ทำให้คาสเซ็ตที่มาด้วยรูปร่างกระทัดรัดกลายเป็นผู้ชนะไป และสุดท้ายคือเรื่องของราคาที่ทำให้ 8 แทร๊คกลายเป็นผู้แพ้อย่างราบคาไปในที่สุด

หลักการทำงานของเทปคาสเซ็ตที่มองด้วยตาเปล่าก็จะเห็นแค่สายพันสีดำที่ค่อย ๆ วิ่งตามกันไปเรื่อย ๆ แท้จริงแล้วมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งกว่านั้น และส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถได้ยินเสียงเพลงได้นั้นมาจากองค์ประกอบที่เรียกว่า ‘หัวเทป’ บวกกับทฤษฎีของแม่เหล็กที่ไปทำปฏิกิริยากับ ‘เส้นเทป’ ที่ถูกฉาบด้วยสารแม่เหล็ก จนเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าและถูกนำไปขยายสัญญาณให้แรงยิ่งขึ้นก่อนออกสู่ปลายทางที่ลำโพงอีกที (พิมพ์มาถึงตรงนี้รู้สึกฉลาดอย่างแปลก ๆ) ส่วนยุคตลับเทปในไทยนั้นจริง ๆ มีมานานตั้งแต่สมัยก่อน 80s แล้ว เช่น วงสตริงคอมโบตำนานของไทย ดิ อิมพอสซิเบิ้ล  (1972) หรือจุดสูงสุดของวงเพื่อชีวิตอย่าง คาราบาว (1981) กระทั่งยุคบุกเบิกและหนึ่งในผู้ก่อตั้งแกรมมี่ของไทย เต๋อ เรวัต (1983)

ส่วน 90s อันเป็นที่ถกเถียงของไทยเรานั้น ถือเป็นยุคนึงที่เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงในบ้านเรา ‘ยุคอัลเทอร์เนทีฟไทย’ ก็เริ่มต้นและรุ่งเรืองที่สุดจากตรงนี้แหละ ด้วยการก่อตัวของ Bakery Music ในปี 1994 ที่ทำให้เรารู้จักวงดนตรีผู้มาก่อนกาลอย่าง Modern Dog แล้วอีกสิบเอ็ดปีต่อมา รูปแบบของเพลงรักในบ้านเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปด้วยการมาถึงของ LoveIs 

สมัยก่อนการหาซื้อเทปคาสเซ็ตสักม้วนอาจจะเป็นเรื่องที่ง่าย แต่ในปัจจุบันเทปเป็นเสมือนแฟชันที่ประดับอยู่บนร้านขายซีดีบางร้าน การเอาดินสอมาแก้อาการยานของเทปดูเป็นเรื่องยุ่งยากของคนในยุคนี้และก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแทบจะไม่มีใครฟังเทปอีกแล้ว

ยุคที่อะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อน : (1982)

coming-of-age-of-platform-21

หนึ่งในยุคที่มีฟอร์แมตเพลงดีที่สุด ฮิตที่สุด และแย่ที่สุดเริ่มจากตรงนี้ ปี 1982 บริษัทยักษ์ใหญ่สองบริษัทที่มีอิทธิพลต่อด้านอุตสาหกรรมดนตรีของโลกที่เรารู้จักกันในชื่อ Philips และ Sony ได้ร่วมกันพัฒนา Compact Disc หรือ CD จนสำเร็จพร้อมใช้ ถึงแม้จะต้องใช้เวลาอีกกว่าหลายเดือนที่จะทำให้การเล่นซีดีเป็นที่นิยมได้ (จริง ๆ การมาถึงในครั้งแรกของทุก format ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกันทั้งนั้น) แต่สุดท้ายผลลัพธ์ก็อย่างที่ทุกคนรู้ เพราะข้อดีของซีดีนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหักล้างทุกขนบเดิมที่ music player เคยมีมา ทั้งการจุข้อมูลที่ทำได้มากกว่าหลายขุม เพียงแผ่นเดียวก็สามารถฟังทุกแทร็คจาก A side B side ของไวนิลและคาสเซ็ตได้เลย อายุการใช้งานก็ยาวนานกว่าและสะอาดกว่าเพราะไร้ซึ่งเสียงรบกวน (noise) ขณะฟัง (ถ้าไม่ทำแผ่นเป็นรอยนะ) จนไปถึงเสียงที่มีรายละเอียดและมิติที่คมกว่าเยอะด้วยการเป็นฟอร์แมตแรกที่พาโลกของเสียงเพลงเข้าสู่ยุคของดิจิทัล วัฒนธรรมความป๊อปของซีดีแผ่ขยายอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเอง ส่วนหนึ่งวัดได้จากการที่มีร้านขายแผ่นเกิดขึ้นมากมายในสมัยนั้น หลาย ๆ ได้กลายเป็นตำนานไปแล้วด้วยเหตุผลที่เราจะเขียนถึงต่อจากนี้ เช่น

เจ.ยู. พันทิพย์ ตำนานร้านซีดียุคนูเมทัลแห่งพันทิพย์พลาซ่า ที่มีเจ้าของร้านชื่อ เจ๊จู คอยต้อนรับขับสู้อยู่ ความมหัศจรรย์ของร้านนี้ก็คือ ด้วยบุคลิกภายนอกอันแสนเรียบง่ายของเจ๊จูที่ดูขัดกับสินค้าภายในร้านนั้น คนอาจจะคิดว่าแกเป็นเพียงคนเฝ้าร้านแทนเจ้าของร้านตัวจริงเฉย ๆ แต่! คุณคิดผิดครับ เจ๊จูนี่แหละคือกูรูตัวจริงด้านเพลงสายนูเมทัลที่แกขาย แต่สุดท้าย เจ.ยู. ก็ต้องปิดตัวลงในปี 2552 ตามด้วยการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเจ๊จูในเดือนมกราคมของปีถัดมา 

D.J. สยาม ตำนานร้านซีดีย่านสยาม ที่มีไอค่อนแห่งนักขายซีดีอย่าง เปี๊ยก ดีเจสยาม นอกจากลีลาการขายของพี่เปี๊ยกที่เป็นจุดเด่นแล้ว อีกจุดหนึ่งของร้านนี้คือศิลปินที่ออกอัลบั้มชุดใหม่จะได้มาเล่นมินิคอนเสิร์ตที่นี่ด้วย อย่าง Bodyslam หรือ Pru ก็เคยเล่นมาแล้วทั้งนั้น ปัจจุบันดีเจสยามที่เคยมีหน้าร้านกว้างขวางได้ลดขนาดเหลือเพียงบูธเล็ก ๆ บูธเดียวไปแล้ว

โดเรมี สยาม อีกหนึ่งตำนานร้านซีดีย่านสยาม ที่หากใครมองหาแผ่น import ก็จะต้องมาที่ร้านนี้เลย ไม่แน่ใจว่าใครเรียกเจ้าของร้านว่ายังไง แต่เรากับเพื่อนเรียกแกว่า ป้าโดเรมี มาโดยตลอด ปัจจุบันร้านยังคงเปิดแม้จะย้ายไปอยู่อีกซอย และป้าโดก็ยังคงขายอยู่นะ ถามอะไร อยากได้แผ่นของใคร ป้าโดรู้หมดอีกเหมือนกัน กราบ

น้องท่าพระจันทร์ ร้านชื่อดังในอดีตและปัจจุบัน ที่เปิดร้านมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี (1979) สมัยที่คาสเซ็ตรุ่งเรืองจนมาถึงปัจจุบันด้วยเจ้าของเดิมมาโดยตลอด จุดเด่นของร้านก็คือซีดีไทยหลากแนวและซีดี import คือตั้งแต่อินดี้ไปแมสที่ร้านมีหมด กิจกรรมหลักในช่วงนี้คือทางร้านจะมีศิลปินมาเปิดมินิคอนเสิร์ตให้แฟนเพลงได้มาฟังและรับชมใกล้ชิดอีกด้วย

ใครจะนึกว่าฟอร์แมตซีดีจะกลายเป็นดาบสองคมในเวลาต่อมา ในปี 1989 ชีวิตประจำวันของทุกคนเริ่มเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มตัว จุดนี้แหละที่นักฟังเพลงอย่างเรา ๆ ได้เจอกับ MP3 เป็นครั้งแรก และสตรีมมิ่งเพลงมากมายต่างเกิดขึ้นหลังจากในยุคนี้นิดหน่อย ก่อนจะมี Joox หรือ ฟังใจ ทุกคนในตอนนั้นต่างเคยเพลิดเพลินกับ You 2 Play, Kapook Music หรือ 365 Jukebox มาแล้วทั้งนั้น

กลับมาที่ mp3 การหาเพลง(เถื่อน)ฟังเริ่มจะง่ายพอ ๆ กับการหาแผ่นแท้บนแผง เงินก็ไม่ต้องเสีย เพลงบางเพลงที่บางวงไม่ได้บรรจุลงในซีดีอัลบั้มเราก็สามารถบรรจุลงเองได้เลย แถมยังสร้างเพลย์ลิสต์เพลงโปรดจากศิลปินหลากแนวด้วยงบ 0 บาทได้อีกต่างหาก (หากใครเคยซื้อ vampire ก็จะรู้ว่ามันง่ายและเยอะจริง ๆ) แล้วซีดียังจะจำเป็นอีกเหรอ

ต่อมาในปี 2001 Apple ได้ผลิตนวัตกรรมฟังเพลงที่เรียกว่า iPod ออกมา นับเป็น portable music player ตัวแรกของโลก การมาของเครื่องนี้ทำให้วัฒนธรรมของคนฟังเพลงค่อย ๆ เปลี่ยนไป พร้อมกับการถดถอยของธุรกิจซีดี จนปี 2003 Apple พลิกโฉมหน้าการฟังเพลงอีกครั้งด้วยการ สร้าง iTune Music Store ขึ้นมา เพลงมากมายจากศิลปินเก่าและใหม่ต่างหลั่งไหลกันเข้าไปขายบนออนไลน์หมด ด้วยคุณภาพเสียงที่ดี ด้วยความสะดวกสบาย แล้วทำไมคนยังจะต้องการฟอร์แมตฟังเพลงอื่นอยู่อีก

ปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถซื้อเพลงที่อยากฟังได้ง่าย ๆ ด้วยปลายนิ้ว touch เพียงไม่กี่ครั้ง เพลงและมิวสิกวิดิโอมากมายที่ไม่อยากซื้อแต่อยากดูและแค่ฟังเฉย ๆ ก็สามารถทำได้ทั้งหมดใน YouTube ซีดีที่ผลิตจำนวนน้อยลงเป็นเหมือนของสะสมสำหรับคนล้าหลัง คงไม่ต้องพูดถึงคาสเซ็ตหรือไวนิลที่ชะตากรรมแทบจะไม่ต่างกัน แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อยทุกบทเพลงที่เกิดจากทุกเครื่องเล่นในทุกยุคสมัยของแต่ละคนก็จะยังคงไพเราะและสวยงามในความทรงจำของเค้าคนนั้นตลอดไป

 

อ้างอิง

phonograph
http://phonographmania.weebly.com/facts.html
http://www.robinsonlibrary.com/technology/manufactures/audio/phonograph.htm
https://www.britannica.com/biography/Thomas-Edison
ไวนิล
https://mywattanawit.wordpress.com/2011/08/27/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4/
http://www.retrowaste.com/1940s/music-in-the-1940s/
Happening ฉบับ Vinyl Republic (a Guide For Music Lovers)
http://soimilk.com/city-living/news/best-vinyl-record-stores-bangkok
วิทยุ
https://www.ieee.ca/millennium/radio/radio_differences.html
http://nbt.prd.go.th/derivate.html
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000152258
เทป
https://www.britannica.com/biography/William-P-Lear
http://www.npr.org/sections/therecord/2011/02/17/133692586/8-track-tapes-belong-in-a-museum
http://cassettelover.blogspot.com/
ซีดี
https://www.gizmodo.com.au/2012/08/the-history-of-the-compact-disc/
http://positioningmag.com/10386
http://headbangkok.com/ju-pantip-memorial/
ไทม์ไลน์หลัก
https://www.virgin.com/music/infographic-brief-history-music-players

 

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน