Article Guru

เพลงในหนัง หนังในเพลง : ความอลเวงของการเต้นและเพลงในภาพยนตร์อินเดีย

  • Writer: Piyakul Phusri

ถึงแม้ว่าหนังอินเดียจะไม่ได้เข้าโรงฉายในเมืองไทยบ่อยนัก แต่เชื่อว่าหนังอินเดียเป็นหนังที่แค่ดูครั้งแรกก็สามารถสร้างภาพจำบางอย่างให้กับคนดูได้อย่างแน่นอน ด้วยความโดดเด่นด้านฟอร์มที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ซึ่งสิ่งที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของหนังอินเดียที่รู้กันดีก็คือ ฉากการร้องเพลงและเต้นรำ

ทั้งแบบเดี่ยว

คู่ชายหญิง

และ เป็นหมู่คณะ

 

น่าสนใจว่าสูตรสำเร็จของหนังอินเดียที่เต็มไปด้วยฉากร้องเพลง-เต้นรำแบบเซอร์เรียล ๆ ยังคงเป็นเหมือนเดิมมาตลอดหลายสิบปี และยังคงสืบทอดวัฒนธรรมนี้อย่างโนแคร์โนสนวงการภาพยนตร์โลกต่อไป ซึ่งในด้านการตลาด อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียก็ผลิตหนังเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ชมภายในประเทศ และคนอินเดียที่ไปอยู่ในประเทศอื่นซึ่งมีจำนวนมหาศาลมากกว่าพันล้านคนอยู่แล้ว ใยต้องแคร์ใคร?

แต่แล้วผู้ชมคนอินเดียเขาไม่เบื่อกับฟอร์มหนังแบบนี้บ้างเหรอ? ฟอร์มหนังอินเดียมันเป็นแบบนี้มานานหรือยัง? เราอาจจะต้องลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์อินเดียอย่างสั้น ๆ กันซักหน่อย

———-

รากฐานของภาพยนตร์อินเดียมีที่มาจากการแสดงที่เรียกว่า ‘สังคีตนาฏยะ’ (Sangeet Natya) ซึ่งเป็นการแสดงประเภทละครเวทีประกอบเพลง เชื่อกันว่าสังคีตนาฏยะเกิดขึ้นในรัฐมหาราษฏระทางภาคตะวันตกของอินเดียในศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมแพร่หลายทั้งในแถบนั้นรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งนักแสดงตัวหลัก ๆ ของสังคีตนาฏยะจะต้องมีความสามารถด้านการร้องเนื่องจากจะมีบทพูดสลับกับการเล่าเรื่องด้วยการร้องเพลง ซึ่งหัวใจและสิ่งที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบการแสดงประเภทนี้ไม่ใช่บทพูดหรือเนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่การร้องเพลงเป็นหลัก ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ศิลปะการแสดงของอินเดียไม่ว่าจะเป็นแบบคลาสสิกหรือพื้นบ้าน จะรวมเอาดนตรี การเต้นรำ และการแสดงเข้าไว้ด้วยกันอย่างไม่สามารถแยกองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งออกไปได้ และแม้ว่าอินเดียจะสร้างหนังใบ้ได้ตั้งแต่ปี 1912 แต่ก็มีการเล่นเครื่องดนตรีอินเดียอย่าง tabla และ harmonium ประกอบการฉายหนังอยู่ดี ขณะเดียวกัน ชาวอินเดียก็มีวัฒนธรรมการดูหนังในโรงหนังเหมือนกับดูการแสดงบนเวทีหรือการเชียร์กีฬา นั่นก็คือเมื่อนักแสดงที่ชอบปรากฏตัวบนจอ ตัวเอกออกลีลาแอ็กชั่นถูกใจ หรือมีฉากที่โดนใจ ผู้ชมจะก็ตะโกนโห่ร้อง เป่าปาก หรือปรบมือด้วยความสะใจ ต่างจากวัฒนธรรมการดูหนังแบบตะวันตกที่ทุกคนต้องเงียบแทบตลอดเวลา

การแสดงสังคีตนาฏยะ

ปฏิกิริยาของผู้ชมในโรงหนังเมื่อได้ชมทีเซอร์ของหนังเรื่อง Sultan

ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียอยู่ที่นครมุมไบ รัฐมหาราษฏระ เดิมนครมุมไบมีชื่อว่า ‘บอมเบย์’ ทำให้ภาพยนตร์ที่ผลิตจากเมืองนี้มีชื่อเรียกว่า บอลลีวู้ด (Bollywood) ล้อกับชื่อวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดของสหรัฐอเมริกา และบอลลีวู้ดยังเป็นชื่อเรียกอย่างกว้าง ๆ เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย เหมือนเวลาเราเรียกหนังจากอเมริกาแบบรวม ๆ ว่าหนังฮอลลีวู้ดนั่นเอง ดังนั้น เมื่อสังคีตนาฏยะเป็นการแสดงที่มีต้นกำเนิดในรัฐมหาราษฏระ และนครมุมไบก็อยู่ในรัฐนี้ จึงไม่แปลกที่อิทธิพลของการแสดงโบราณอย่างสังคีตนาฏยะจะเข้าไปมีอิทธิพลในรูปแบบภาพยนตร์บอลลีวู้ดในเวลาต่อมา (อันที่จริงภาพยนตร์บอลลีวู้ดส่วนมากเป็นภาษาฮินดี-อูรดู แต่อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางประชากรสูงมาก จึงมีภาพยนตร์ภาษาอื่น ๆ ได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน เช่น ภาษาเตลูกู หรือ ภาษาทมิฬ ซึ่งเป็นภาษาของคนส่วนใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งรายได้รวมของวงการภาพยนตร์อินเดียกว่า 43% มาจากภาพยนตร์บอลลีวู้ด ถือว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย)

alam_ara_poster_1931

โปสเตอร์หนังเรื่อง Alam Ara

ภาพยนตร์มีเสียงเรื่องแรกของอินเดียคือ Alam Ara ที่ออกฉายในปี 1931 มีเพลงประกอบทั้งหมด 7 เพลง และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จนรูปแบบของการทำหนังที่ต้องมีเพลงประกอบถูกทำซ้ำต่อมาเรื่อย ๆ การเผยแพร่เพลงประกอบละครทางสถานีวิทยุ และการนำหนังเพลงไปเร่ฉายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศทำให้คนอินเดีย ติดรูปแบบของภาพยนตร์ที่จะต้องมีทั้งเพลง-การแสดง-การเต้นรำ

มีข้อมูลว่าภาพยนตร์ภาษาฮินดีบางเรื่องมีเพลงประกอบ 40 เพลง และ มีภาพยนตร์ภาษาทมิฬบางเรื่องมีเพลงประกอบมากถึง 60 เพลง และภาพยนตร์อินเดียยุคแรก ๆ มีการโฆษณาว่า “All-talking, all-sing, all-dancing” และเนื่องจากความกว้างใหญ่ของประเทศอินเดีย ทั้งเครื่องดนตรีและท่วงทำนองจากดนตรีท้องถิ่นจึงถูกบรรจุไว้ในภาพยนตร์เพื่อตอบสนองผู้ชมที่หลากหลาย และในมุมหนึ่ง ภาพยนตร์อินเดียจึงเป็นเหมือนสิ่งที่รื้อฟื้นและอนุรักษ์ดนตรีท้องถิ่นให้ยังมีที่ทางในโลกของภาพยนตร์ แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียก็เปิดรับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกด้วยการหยิบเอาท่วงทำนองแบบตะวันตก และเครื่องดนตรีตะวันมาใช้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เช่นกัน

เพลงในหนังอินเดียจึงเป็นมากกว่า ‘องค์ประกอบเสริม’ ของหนัง แต่เป็นหนึ่งใน ‘หัวใจ’ ของหนังอินเดีย และเป็นทั้งสะพานเชื่อมระหว่างศิลปวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของอินเดียโบราณกับโลกสมัยใหม่ที่ความบันเทิงผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนแผ่ขยายอิทธิพลไปอย่างรวดเร็ว และความบันเทิงผ่านสื่อนี่เองที่กลายเป็นทั้งตัวกลาง และตัวกำหนดรสนิยมทางศิลปวัฒนธรรมของผู้คนไปโดยปริยาย

แล้วรูปแบบของภาพยนตร์อินเดียที่เต็มไปด้วยฉากการร้องเพลง-เต้นรำ เป็นเอกลักษณ์ที่ควรส่งเสริมให้เป็น signature ของชาติ หรือควรพิจารณามันใหม่ในมิติอื่น? โดยเฉพาะในแง่มุมที่ว่า ถึงแม้รูปแบบเดิม ๆ ของหนังอินเดียอาจจะได้รับความนิยมจากผู้ชมส่วนใหญ่ แต่มันก็อาจจะเป็นการแช่แข็งอุตสาหกรรมความบันเทิงอินเดียให้หยุดนิ่งทั้งในเชิงรูปแบบ และ เนื้อหา ตลอดจนเป็นการลดทอนความหลากหลายของอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศ

Mimansa Shekhar คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ India Times ได้เผยแพร่บทความเรื่อง ’11 เหตุผลที่บอลลีวู้ดต้องหันมาทำหนังที่ไม่มีเพลงและการเต้นซักที’ โดยเธอได้วิเคราะห์ และให้เหตุผลว่าทำไมเพลงและการเต้นที่คนทั้งโลกอาจจะมองว่าเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของภาพยนตร์อินเดีย อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้วงการบันเทิงอินเดียไปไม่ถึงไหนได้อย่างน่าคิด เราจะลองหยิบเอาบางเหตุผลมาดูกัน

เพลงที่เยอะเกินไปทำให้การดำเนินเรื่องหยุดชะงัก

ขณะที่เรื่องราวในหนังกำลังดำเนินไปใกล้จะถึงจุดพีค ปริศนาทั้งหมดกำลังจะถูกไขให้กระจ่าง ทันใดนั้น เสียงเพลงก็ดังมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ และตัวละครที่ก่อนหน้านี้กำลังพูดจาภาษาคนกันอยู่ดี ๆ ก็หันมาเต้น ๆๆๆ ….. พอเพลงจบ คุณอาจจะลืมเรื่องราวก่อนหน้าการเต้นไปแล้วก็ได้ สำหรับโปรดิวเซอร์ ส่วนนี้เป็นเหมือนผงมาซาล่าที่ใส่เพื่อปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหารให้มีความเป็นอินเดีย แต่สำหรับผู้ชมที่ต้องการดูหนังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การเต้นกลับเป็นส่วนที่แย่ที่สุดในหนัง เพราะมันโผล่เข้ามาในเรื่องอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และไม่เกี่ยวกับเรื่องเลยซักนิดเดียว

การเต้นทำให้เวลาที่เกิดขึ้นในหนังกระโดดข้ามไปมา

สมมติว่ามีหนังเรื่องราวชีวิตของชนชั้นกลางชาวอินเดียครอบครัวหนึ่ง มันก็ควรจะเกิดขึ้นในอินเดียจริงไหม ก็ใช่ ตอนซีนคุยกันก็นั่งคุยกันบนโซฟาในบ้านนี่แหละ แต่เมื่อถึงซีนเต้น อยู่ดี ๆ ทั้งพระเอก นางเอก เพื่อนพระเอก และแดนเซอร์ ก็วาร์ปไปเต้นอยู่หน้าหอไอเฟลหรือกลางทุ่งน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ พอเต้นจบเพลงก็กลับมาคุยกันใหม่ในบ้านหลังเดิมอย่างไม่จำเป็นต้องสนเหตุสนผล หรือบริบทอะไรทั้งสิ้น เอ้า…งงล่ะสิ?

การเต้นบั่นทอนทักษะทางการแสดงของนักแสดง

ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย แค่แสดงเก่ง ตีบทแตก อาจจะยังไม่พอ ต้องเต้นเก่งด้วย ดังนั้นเลยมีนักเต้นที่เข้าสู่วงการแสดงเป็นจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาก็เต้นเก่งจริง แต่มีทักษะการแสดงในระดับงั้น ๆ แหละ แล้วดันโด่งดังเป็นพลุแตกเพราะเต้นเก่ง ทำให้วงการภาพยนตร์อินเดียมีนักแสดงที่มีทักษะทางการแสดงเป็นเรื่องเป็นราวไม่มาก แต่มีนักเต้นที่มีทักษะการแสดงในระดับงั้น ๆ อยู่มากมาย

นักแสดงหญิงถูกลดทอนลงให้เป็นแค่อาหารตา

วงการภาพยนตร์อินเดียถูกควบคุมโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่นักแสดงชายต้องแข่งขันกันสร้างภาพจำให้ติดตาแฟน ๆ ด้วยลีลาการเต้นโยกย้ายส่ายสะโพกหรือบทบาทฮีโร่สุดเท่ นักแสดงหญิงกลับถูกลดทอนลงเป็นแค่ของประกอบฉากของนักแสดงชายหรือเป็นแค่อาหารตาของผู้ชมมากกว่าจะได้รับบทที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีความโดดเด่น

เพลงทำให้หนังอินเดียยืดยาวเกินไป

เป็นปัจจัยหนึ่งว่าทำไมคนทั่วโลกถึงสนใจหนังฮอลลีวู้ดมากกว่าบอลลีวู้ด เพราะคงไม่ค่อยมีใครอยากจะดูหนังที่เดี๋ยวก็ร้องเพลง เดี๋ยวก็เต้น และกินเวลายืดยาวแบบหนังอินเดียซักเท่าไหร่ (นอกจากผู้ชมในประเทศอินเดียเองและชาวอินเดียโพ้นทะเล) ดังนั้น ถ้าหนังอินเดียอยากจะโกอินเตอร์ การจัดการกับเพลงและฉากเต้นจึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

เพลงและการเต้นในหนังกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำลายวัฒนธรรมป๊อปในอินเดีย

ในขณะที่วัฒนธรรมป๊อปในโลกตะวันตกเต็มไปด้วยความหลากหลายของแนวเพลงสารพัด ศิลปินนักร้องดาวรุ่งเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน และมีแฟนคลับมากมาย แต่ในอินเดีย นักร้องกลับเป็นอะไรที่ค่อนข้างอาภัพ เพราะส่วนใหญ่ทำหน้าที่ร้องเพลงประกอบหนังให้นักแสดงที่ร้องลิปซิงค์ พอเพลงดัง แทนที่คนจะนึกถึงนักร้องก็กลับไปนึกถึงนักแสดงลิปซิงค์ซะอย่างนั้นเพราะไม่เคยเห็นหน้าค่าตาคนร้องเพลง โถ…ชีวิต

เพลงและการเต้นกลืนกินความบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ ไปจนหมด

ไม่ว่าจะเป็นงานรับรางวัล รายการประกวดความสามารถ หรืองานฉลองตามมหาวิทยาลัย กิจกรรมเหล่านี้จะไม่สมบูรณ์หากขาดการเต้นแบบหนังบอลลีวู้ด ซึ่งเป็นการทำลายพรสวรรค์และบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เพราะเอะอะก็จะให้โชว์ร้องเพลง เอะอะก็จะให้เต้น เรียกว่าถ้าอยากดัง ก็แค่ก็อปท่าเต้นฮิต ๆ จากในหนังมาก็ดังได้แล้ว ซึ่งไม่ค่อยโอเคซักเท่าไหร่

สุดท้าย แม้แต่หนังแนวอื่น ๆ ก็ตายเรียบ

เพราะหนังอินเดียเป็นหนังแนว romantic musical เกือบทั้งหมด แม้แต่หนังที่เนื้อเรื่องเข้มข้นก็ยังถูกยัดเยียดเพลงเข้ามา และแน่นอนว่าถึงจะเป็นหนังบู๊ล้างผลาญ หนังโศกนาฏกรรม หรือหนังตลก ก็ต้องมีเพลง ผู้เขียนบทความทิ้งท้ายด้วยการแซะวงการหนังอินเดียว่า ‘อินเดียเรานี้ มีทั้งหนังบู๊แอ๊คชั่นแนว romantic musical หนังสืบสวนแนว romantic musical หนังสยองขวัญแนว romantic musical หนังไซไฟแนว romantic musical หนังอาชญากรรมแนว romantic musical ฮ่วย!!’

———-

เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์อินเดียคงจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ตราบใดที่ผู้ชมยังต้องการเสพสื่อบันเทิงในรูปแบบเดิม และสตูดิโอก็สามารถทำกำไรจากการตอบสนองความต้องการนี้ แต่ไม่ว่าจะมองในแง่บวก หรือ แง่ลบ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ถ้าหนังอินเดียไม่มีเพลง เราคงจะรู้สึกแปลก ๆ และน่าจะคิดถึงฉากร้องเล่นเต้นระบำที่คุ้นเคยอย่างมากแน่นอน

FACT : ในปี 2017 บอลลีวู้ดผลิตภาพยนตร์ออกมาทั้งสิ้น 1,986 เรื่อง

 

อ้างอิง
Beeman, O. William. 1981. The Use of Music in Popular Film: East and West, India International Quarterly, Indian Popular Cinema: Myth, Meaning and Metaphor (8)1: 77-87
Skillman, Teri. 1986. The Bombay Hindi Film Song Genre: A Historical Survey, Yearbook for Traditional Music (18): 133-144
11 Reasons Bollywood Needs To Start Making Films Without Any Song And Dance
Bollywood
Natya Sangeet
Why do Indian movies always have songs?
Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี