Black Metal เพราะฉันรักสีดำ และหลงใหลในซาตาน
- Writer: Geerapat Yodnil
ทุกบทเพลงบนโลกนี้ล้วนซ่อนเรื่องราวมากกว่าที่คนฟังได้ยินและรู้สีกเสมอ บ้างเพลงอาจมีตอนจบที่สวยงามราวกับภาพฝันอย่าง Love Story ของ Taylor Swift บ้างก็ดำมืดแบบที่ Rehab ของหนึ่งในสมาชิก 27 club อย่าง Amy Winehouse และบางทีก็มีบทเพลงที่ดำมืดเกินกว่าจะจินตนาการถึง
เพื่อเป็นการบิลด์ให้เข้ากับธีมผีของ Fungjaizine ฉบับล่าสุด เห็ดกูรูคอลัมน์นี้จึงจะพูดถึง black metal แนวเพลงที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเบื้องหลังที่ยากจะพิสูจน์อย่างซาตานหรือพิธีกรรมการบูชายัน ถ้าทำใจกล้าพร้อมแล้วก็เลื่อนลงไปอ่านพร้อมกันเลย
Black metal คือแนวเพลงที่เติบโตมาจากการเป็น sub genre ของเพลง heavy metal (1970) ซึ่งสิ่งที่ทำให้แนวเพลงชนิดนี้แตกต่างจนถึงขนาดต้องนำคำว่า black มาเติมไว้ข้างหน้า อันดับแรกที่เด่นชัดที่สุดเลยก็คือ ‘corpse paint’ หรือสไตล์การเมคอัพใบหน้าที่ให้ความรู้สึกราวกับว่าเพิ่งไปเดินเล่นในนรกมา (ลองเสิร์ชดูแล้วคุณจะเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ) ต่อมาก็คือ element ของพาร์ตดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปในหลาย ๆ ด้าน เช่น จังหวะที่รวดเร็วมากขึ้น เสียงแตกของกีตาร์ที่หนักหน่วงมากเสียจนไม่แน่ใจว่าหูเรามันอื้ออยู่รึเปล่า มีการนำเทคนิคอัดเสียงที่เรียกว่า lo-fi มาใช้ เดินเรื่องราวด้วยการร้องที่โหยหวนราวกับเสียงของปีศาจ ทั้งในรูปแบบของการว้าก หรือ scream ทั้ง high tone และ low tone มีโครงสร้างเพลงที่แปลกประหลาดจากรูปแบบทั่ว ๆ ไป ไปจนถึงเนื้อหาในคำร้องที่บ้างพูดถึงการต่อต้านศาสนา บ้างหมกมุ่นอยู่กับความตาย และบ้างก็ปฏิเสธรูปแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘สังคม’ (anti-social) ก็เรียกว่ามืดหม่นสมชื่อเลยจริง ๆ แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่ดำที่สุดซะทีเดียว
Black is the Darkest Color
จุดเริ่มต้นของบทเพลงสีดำทั่วโลกถูกเชื่อต่อ ๆ มาว่ามีที่มาร่วมกันจากสตูดิโออัลบั้มในปี 1982 ของวง heavy metal จากเกาะอังกฤษ Venom ในชื่อ Black Metal ซึ่งสะกดเหมือนกับแนวเพลงที่ถูกบัญญัติขึ้นหลังจากที่อัลบั้มถูกปล่อยออกไป และนั่นก็ทำให้ Venom กลายเป็นหนึ่งในวงแบล็กเมทัลรุ่นแรก (first wave) พร้อมกับวงร่วมรุ่นอีกหลาย ๆ วงอย่าง Bathory หรือ Mercyful Fate ไปโดยทันที
แล้วรุ่นที่สองอยู่ตรงไหน ?
ถ้าเปรียบเรื่องราวของ Venom และชาว first wave เป็นหนังสือปกแข็งซักเล่ม พวกเขาก็ควรจะถูกจัดอยู่ในหน้าที่ถูกโปรยหัวข้อเอาไว้ด้วยคำว่า ‘บทนำ’ เพราะเนื้อหาที่พูดถึงการตื่นตัวของยุคสมัยแบล็กเมทัลที่รุ่งเรืองที่สุดเกิดขึ้นหลังจากการมีอยู่ของพวกเขาในอีก 10 ปีต่อมา (1990) โดยกลุ่มวงดนตรีรุ่นที่สอง (second wave) ที่ชาวหูรุนแรงทั่วโลกต่างจดจำในชื่อ Norwegian black metal
เรื่องราวทั้งหมดในตอนนี้มีฉากหลังอยู่ที่นอร์เวย์ ประเทศที่นอกจากการมีภูมิทัศน์ที่งดงามตามแบบฉบับของเมืองหนาวและซีนดนตรีที่ยอดเยี่ยมแล้ว (วัดจาก A-Ha , Aurora และอีกหลายวง) การมีอยู่ของดนตรีแบล็กเมทัลก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่รุ่งเรืองที่สุดที่ที่นี่เคยมีมา ในยุคของนอร์วีเจียนนั้น ภาพจำของแบล็กเมทัลต่อสายตาดนตรีกระแสหลักทั่วโลกที่เหล่า first wave ส่งต่อมายังปุถุชนรุ่นนี้คือภาพลักษณ์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของการต่อต้านเหล่าคริสเตียนอย่างออกรสออกชาติด้วยเนื้อเพลงที่ยิงตรง ๆ ไม่มีอ้อม แต่วงดนตรีที่เป็นหัวหอกของรุ่นนี้อย่าง Mayhem, Emperor, Enslaved, Immortal และ Darkthrone กลับเปลี่ยนแปลงภาพเก่า ๆ นั้นด้วยการใส่ใจในพาร์ตดนตรีให้เติบโตขึ้นแทน ซึ่งนั่นทำให้พวกเขากลายเป็นผู้รับไม้ต่อที่จุดประกายความหวังใหม่ให้กับดนตรีแบล็กเมทัล
แต่พอเข้าสู่ปี 1993 แบล็กเมทัลของเหล่านอร์วิเจียนกลับดูเหมือนจะก้าวไปไกลกว่าภาพที่รุ่นพี่ของพวกเขาเคยสร้างเอาไว้เสียอีก ความเกลียดชังและภาพความรุนแรงต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่จริงในคำร้องที่แต่งขึ้นและก็เคยเกิดขึ้นบ้างในชีวิตจริงบัดนี้มีมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ไม่ว่าจะการเผาโบสถ์ของอุดมการณ์ anti-christian ไปจนถึงการหมกมุ่นกับความตายที่นำไปสู่การฆาตกรรม (ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น) แต่ทว่าช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความมืดหม่นนี้กลับกลายเป็นที่สนใจของสื่อทั่วโลก ส่งผลให้พวกเขาต้องบอกลาพื้นที่ใต้ดินที่เคยอยู่เพื่อขึ้นมารับแสงสปอตไลท์ที่ส่องสว่างอยู่ข้างบนตลอดไป
In the Name of ‘Black’
นี่คงเป็นอัตลักษณ์จริง ๆ ของบทเพลงสีดำที่ไม่ว่าจะเหล่านอร์วิเจียนหรือใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ งั้นเราคงต้องพาคุณกลับไประลึกถึงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์อื่น ๆ เพื่อที่อาจจะได้เข้าใจว่าทำไม เพราะไม่ใช่แค่ปี 93 เท่านั้นที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น
วันที่ 8 เมษายน 1991
หากคุณยังจำ Mayhem ที่เป็นวงเดียวกันกับที่ถูกพูดถึงไปในช่วงนอร์วิเจียนแบล็กเมทัลซีนได้ ขอให้รู้เอาไว้เลยว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากฟรอนต์แมนของวง Per Yngve Ohlin หรือที่ชาวหูรุนแรงรู้จักันในชื่อ Dead สิ่งที่เกิดขึ้นกับเดธทำให้ทุกคนแน่ใจว่าชื่อนี้ของเขาไม่ได้เป็นแค่ชื่ออีกต่อไป ปืนลูกซอง ที่วางอยู่ข้างกับร่างที่กองอยู่ที่พื้น (และสมองที่กระจายอยู่ไม่ไกลกันนัก) ถูกสันนิษฐานว่าเป็นสิ่งที่ใช้ฆ่าตัวตาย แต่ความน่ากลัวของเรื่องนี้อยู่ตรงที่จดหมายลาตายของเดธถูกเขียนเอาไว้ด้วยข้อความว่า ‘Excuse all the blood, cheers,’ โดยที่ Euronymous เพื่อนผู้เป็นมือกีตาร์ร่วมวงเป็นคนพบศพเป็นคนแรก แทนที่จะแจ้งตำรวจ เขากลับวิ่งไปที่ร้านขายของชำที่ไกล้ที่สุดเพื่อซื้อกล้องแบบใช้แล้วทิ้งเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำของคนจริง ๆ (ซึ่งภายหลัง หนึ่งในภาพนั้นถูกโขมยและไปโผล่อีกครั้งใน bootleg live album ที่ชื่อ Dawn of the black hearts)
ย้อนกลับไปในช่วงประมาณต้นปี 2014 เหตุการณ์ในรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับซีนดนตรีแบล็กเมทัลของไทยเช่นกัน (เคยเป็นข่าวดังอยู่พอสมควรในบ้านเรา) ตัวละครหลักของเรื่องนี้คือมือเบส/นักร้องนำของวง Surrender of Divinity ในฉายา อเวจี หรือ สามองค์ ไตรศรัทธา ในชื่อจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการฆาตกรรมและเผยแพร่สู่เฟซบุ๊ก โดยผู้ลงมือได้เขียนข้อความที่ยาวเหยียด (พร้อมกับภาพประกอบที่แน่นอนว่าคือศพของอเวจี) มีเนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิซาตานทั้งสิ้น มีใจความหลัก ๆ ที่แฝงไปด้วยเหตุจูงใจประมาณว่า ‘อเวจีคือผู้ที่ทำให้ลัทธิซาตานต้องเสื่อมเสีย ถึงแม้ไม่ใช่ฉันที่ฆ่าเขาสักวันก็จะมีคนอื่นทำอยู่ดี’
ยังมีเหตุการณ์ประหลาดอีกมากมายที่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อของแบล็กเมทัล แต่ถ้าหากเราลองโยงทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เข้ากับพฤติกรรมต่อต้านศาสนา (รวมถึงการเผาโบสถ์) ที่ได้กล่าวไปในตอนต้น ก็คงไม่ผิดนักหากมันจะทำให้เราคิดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องของด้านมืดอย่าง ‘ซาตาน’ ที่แฝงมากับดนตรีแนวนี้อีกทีนึง
Clam Down with Heavy Music
แต่ดูเหมือนว่านักวิทยาศาสตร์จะคิดในทางตรงกันข้ามว่าแบล็กเมทัลไม่ใช่ปัจจัยของความรุนแรงที่เกิดขึ้น พวกเขาเชื่อว่าการฟังเพลงที่มีความรุนแรงเช่น พังก์ เมทัล อีโม หรือฮาร์ดคอร์ (รวมถึงเหล่า sub genre อย่างแบล็กเมทัล) คือหนทางสู่ความสงบมากกว่าความโกรธและเกลียดชังอย่างแน่นอน
Leah Sharman นักศึกษาเกียรตินิยมแห่ง University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย และ Dr.Genevieve Dingle อาจารย์ของเธอ ได้ทดสอบให้คน 39 คน ซึ่งเป็นคนทั่ว ๆ ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 34 ปี ลองฟังเพลงที่อยู่ใน genre เหล่านี้ดู
Sharman เล่าผลการวิจัยว่า ‘เราพบว่าเพลงเหล่านี้ช่วยควบคุมความเศร้าของคนฟังได้ดีขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่เป็นแฟนเพลงแนวนี้บอกกับพวกเราว่าเวลาที่รู้สึกโกรธเมื่อไหร่ พวกเขาจะชอบฟังเพลงที่สามารถจับคู่กับความโกรธนั้นได้ อีกทั้งตัวเพลงยังช่วยพวกเขาสำรวจช่วงอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ณ ขณะนั้น แต่ก็ปล่อยให้รู้สึกมีพลังและแรงบันดาลใจที่มากขึ้นไปพร้อม ๆ กัน’
เราไม่สามารถเล่าตอนจบของแบล็กเมทัลให้บริบูรณ์ได้ เพราะจนถึงปัจจุบันนี้พวกเขาก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดไม่ได้หายไปไหน (แม้จะไม่ได้รุ่งเรืองเท่าสมัยของนอร์วิเจียนแล้วก็ตาม) และเราก็จะไม่มาบอกว่าสิ่งไหนที่คุณควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เเต่เราจะขอทิ้งท้ายด้วยเพลย์ลิสต์สั้น ๆ ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของเหล่าแบล็กเมทัลหัวแถว ระหว่างที่ฟังก็คอยเฝ้าดูว่าในวันข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น แสงของสปอตไลต์จะส่องสว่างมาที่พวกเขาอีกไหม และเราก็หวังว่าแสงนั้นจะสาดส่องมาเฉพาะแต่เรื่องดนตรีเพียงเท่านั้นจริง ๆ
Mayhem – Deathcrush
Bathory – The Return of Darkness and Evil
Venom – Don’t Burn the Witch
Darkthrone – Fucked Up and Ready to Die
Emperor – I am the Black Wizards
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/music/2015/jun/22/listening-heavy-metal-punk-extreme-music-makes-you-calmer-not-angrier-study
http://norwegianarts.org.uk/black-metal-comes-of-age/
http://listverse.com/2015/07/11/10-shocking-things-done-in-the-name-of-black-metal/
http://www.metalstorm.net/pub/article.php?article_id=64
http://www.nme.com/photos/black-metal-murders-a-history-1413703
http://www.heavyblogisheavy.com/2017/01/26/the-devils-roots-satanism-in-black-metal/
http://www.browardpalmbeach.com/music/top-10-black-metal-songs-for-this-blackest-of-fridays-6431273/2
http://rateyourmusic.com/list/Jbrite405/my_top_100_black_metal_songs_of_all_time/
http://teamrock.com/feature/2016-03-14/black-metal-songs-primordial
http://rateyourmusic.com/list/CrimsonWing/top_10_black_metal_tracks/