ชวนย้อนดู 6 ‘ปีทอง’ ที่วงการดนตรีเฟื่องฟูที่สุด!
- Writer: Malaivee Swangpol
- Visual Designer: Tas Suwanasang
เชื่อว่าหลาย ๆ คนล้วนมีแนวดนตรีในดวงใจที่แตกต่างกัน บางคนชอบฟังเพลงเก่ายุค 60s บางคนสายบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ปยุค 90s และบางคนก็ชอบเพลงหลากหลายในช่วงปี 10s ซึ่งในยุคต่าง ๆ กันนั้นก็ล้วนมี ‘ปีทอง’ ของ วงการดนตรี อยู่
ซึ่งปีทองก็เป็นสิ่งที่วัดกันด้วยความรู้สึกได้ยาก น้่นก็เพราะทุกคนต่างมียุคดนตรีที่ชอบที่ต่างกันนั่นเอง และเราก็มีแนวโน้มที่จะบอกปีจากยุควัยรุ่นของเราเพราะเราผูกพันกับมันมากที่สุด
Seth Stephens-Davidowitz นักเศรษฐศาสตร์ได้สรุปข้อมูลจากการฟังใน Spotify ของทุกคน ซึ่งเขาก็พบข้อสรุปหลาย ๆ อย่าง อย่างเพลงที่ปล่อยมาตอนเราเป็นวัยรุ่น จะยังอยู่ในเพลย์ลิสต์ของคนอายุเท่า ๆ เราไปอีกประมาณ 10 ปี ยกตัวอย่างเช่นเพลง Radiohead — Creep เป็นเพลงในฮิตในหมู่ผู้ชายอายุ 38 ปี (ที่มีอายุ 14 ในตอนที่เพลงนี้ออกในปี 1993) แต่สำหรับคนอายุ 20 เพลงนี้ไม่ติดท็อป 300 เพลงด้วยซ้ำ และอายุที่เพลงจะมีอิทธิพลของเรามากที่สุด สำหรับผู้หญิงอยู่ที่ 13-16 และสำหรับผู้ชายอยู่ที่ปลาย ๆ อายุ 11-14 หรืออย่างเพลง The Cure — Just Like Heaven ที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิงอายุ 41 ซึ่งมีอายุ 11 ตอนเพลงนี้ปล่อยออมา ส่วน Carly Rae Jepsen — Call Me Maybe ก็ฮิตในกลุ่มคนอายุ 20 มีอีกสถิติสนุก ๆ คือในวันวาเลนไทน์ คนอายุ 30 มักจะเฉลิมฉลองด้วยเพลง Beyoncé — Crazy in Love สำหรับคนอายุ 45 จะเป็นเพลง Van Halen — When It’s Love และคนอายุ 60 จะเป็นเพลง Marvin Gaye — Let’s Get It On
อีกเหตุผลสนับสนุนจากนักประสาทจิตวิทยาการรับรู้ (cognitive neuropsychologist) Dr. Catherine Loveday ที่ได้บอก BBC ไว้ว่า “ในช่วงวัยรุ่นเราจะได้ตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิต มีความสัมพันธ์ระยะยาวที่มีความสำคัญ สร้างความเชื่อด้านวัฒนธรรมและความเชื่อด้านการเมือง ซึ่งสุดท้ายเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนของเราขึ้นมา โดยดนตรีเป็นที่กักเก็บความทรงจำที่สามารถดึงเอาความทรงจำกลับมาได้ ทำให้เพลงเหล่านั้นติดตรึงอยู่กับความทรงจำอันสำคัญ ทั้งแง่ดีและแง่ลบ”
ผลสำรวจจาก BPI (British Photonographic Industry) ที่ได้สรุปเพลงที่ชาวอังกฤษฟังในปี 2019 ทำให้ได้ลิสต์ของปีที่มีเพลงฮิตมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคร็อกแอนด์โรลล์เป็นต้นมา โดยได้ผลสรุปว่าปีทองของ วงการดนตรี ประกอบไปด้วย 1969, 1977, 1984, 1999, 2006, 2017 ซึ่งเพลงฮิตจากแต่ละปีก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะเป็นเพลงฮิตของยุคนั้นเสมอไป อย่างเพลง Smash Mouth — All Star ซึ่งขึ้นไปแค่อันดับ 24 ในปีนั้น แต่ติดชาร์ตเพลงยอดฮิตจากปี 1999 นั่นก็เพราะว่ามันกลายเป็นเพลงสุดฮิตในร้านคาราโอเกะหลังจากเข้าไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง Shrek ภาคแรก นอกจากนี้ Queen ก็ยังติดอันดับบน ๆ น่าจะเพราะภาพยนตร์ ‘Bohemian Rhapsody’ ที่ทำให้คนกลับมาฟังในสตรีมมิ่งมากขึ้น (เราคนนึงเลย) นอกจากนี้เพลงอมตะของ The Beatles, Wham! และ Fleetwood Mac ก็ยังเป็นที่นิยมยาวนานข้ามกาลเวลา
1969
หลังจากอัลบั้มเริ่มขายดีแซงหน้าซิงเกิ้ลไปในปี 1967 หลาย ๆ อย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื้อเพลงเริ่มเล่าเนื้อหาที่โตขึ้น ฉลาด และเกี่ยวกับสังคมมากขึ้น ปีนี้คือยุคสงครามเวียดนาม โดยมีหมุดหมายสำคัญคือ Woodstock เฟสติวัลฮิปปี้ 3 วันติด กับผู้คนเกือบครึ่งล้านที่ไปชมศิลปินอย่าง Joan Baez, The Who, Jimi Hendrix ฯลฯ ปีนี้คือหนึ่งในปีสำคัญของวงการร็อก Led Zeppelin ปล่อย 2 อัลบั้มแรก ส่วน King Crimson — In The Court Of The Crimson King ก็กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มโปรเกรสซีฟร็อกที่สำคัญมาก ๆ ของยุคนั้น ส่วนอัลบั้ม David Bowie — Space Oddity ก็ออกมาพอดิบพอดีกับการไปเยือนดวงจันทร์ของยาน Apollo 11 นอกจากนี้ก็ยังเป็นปีที่ปล่อยอัลบั้มอมตะอย่าง The Beatles — Abbey Road, The Who – Tommy และ The Rolling Stones – Let It Bleed
1977
หากยุค 60s คือจุดเริ่มต้นของดนตรีป๊อปแบบสมัยนี้ ปี 1977 นี้คือจุดเริ่มต้นของความเกรี้ยวกราด และความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุด วัยรุ่นเริ่มแหกขนบ ทดลองอะไรใหม่ ๆ แบบสุดทาง ซึ่งทำให้วงดนตรีมากมายนับปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง ในวงการพังก์ก็มี Sex Pistols — Never Mind The Bollocks และ The Clash — The Clash หรืออย่างฝั่งโปรเกสซีฟ Pink Floyd — Animals และ ELO — Out Of The Blue ส่วนป๊อปมีอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่ควรมีติดบ้านอย่าง Fleetwood Mac — Rumours และ David Bowie — Low กับ Heroes โดย Queen — News Of The World ก็ได้รับอิทธิพลของเพลงฮาร์ดร็อกมาด้วย จนเกิดเป็นเพลงฮิตที่กลายเป็นเพลงชาติของชาวร็อก We Are the Champions และ We Will Rock You และในแนวอื่น ๆ ก็ยังมี Bob Marley — Exodus, Kraftwerk — Trans-Europe Express และ Steely Dan — Aja
1984
ปีที่ mv Michael Jackson — Thriller ออกอากาศใน MTV เป็นครั้งแรก ซึ่งในที่สุดก็ได้เปลี่ยนให้ mv เป็นหนึ่งในช่องทางโปรโมตที่สำคัญ รวมถึงยกระดับ MTV ให้กลายเป็นช่องที่ทุกคนต้องดู โดยใน วงการดนตรี ป๊อปก็ยังมี Madonna — Like A Virgin, Prince — Purple Rain และนิวเวฟสัญชาตินอร์เวย์ A-ha — Hunting High and Low ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นวงนอร์เวย์วงแรกที่ได้ชิงรางวัล GRAMMYs ในสาขา Best New Artist รวมถึงเพลงการกุศลระดับโลกเพื่อช่วยผู้ทุกข์ยากจากความหิวโหยในเอธิโอเปีย Band Aid — Do They Know It’s Christmas? ที่นำโดย Sir Bob Geldof (คนที่อยู่ในหนัง Bohemian Rhapsody ตอน Live Aid) โดยมีผู้ร่วมร้องอย่าง Boy George, George Michael, Bono, David Bowie, Phil Collins, Paul McCartney ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังเป็นปีที่ Red Hot Chili Peppers และ Bon Jovi ปล่อยอัลบั้มเดบิวต์ และ Queen ปล่อยอัลบั้ม Works ที่มาพร้อมกับ mv I Want To Break Free สุดอื้อฉาว (ในสมัยนั้น) ที่โดนแบน mv ในสหรัฐอเมริกา
1999
ปลายยุค 90s หลังเพลงกรันจ์จาก Seattle มาเขย่าโลก ก็ถึงตาของแนวดนตรีอื่น ๆ อย่างเพลงพังก์ก็มี Blink-128 ที่ปล่อยอัลบั้ม Enema of the State ซึ่งมีเพลงอย่าง What’s My Age Again และ All The Small Things และเพลงป๊อปก็เฟื่องฟูมาก ๆ ด้วยแนวดนตรีหลากหลายที่คาดเดาไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึง 1999 ก็ต้องพูดถึง Britney Spears — … Baby One More Time เพลงป๊อปสุดฮิตตลอดกาล Backstreet Boys — I Want It That Way จากอัลบั้ม Millennium และ TLC — No Scrubs จากอัลบั้ม FanMail เพลงนี้พาพวกเธอไปชิงรางวัล GRAMMYs สาขา Record of the Year และติดชาร์ทประจำทศวรรษในลำดับที่ 33 สายแร็ปก็ไม่น้อยหน้า เพราะมี Kid Rock – Devil Without a Cause และ Eminem – The Slim Shady LP (อัลบั้มแรกกับค่าย Interscope Records) นอกจากนี้ก็ยังมี Shania Twain – Come on Over, Santana — Super Natural, Third Eye Blind — Third Eye Blind และ Lenny Kravitz — 5
2006
เป็นปีที่อัลบั้มสองของ Beyoncé, Justin Timberlake, Gwen Stefani และ Rihanna ก็ล้วนสร้างแรงกระเพื่อมให้กับ วงการดนตรี ป๊อป ซึ่งซิงเกิ้ลที่ขึ้นอันดับ 1 นานที่สุดก็ตกเป็นของเพลงป๊อปฟังสบายอย่าง Bad Day โดย Daniel Powter ข้ามมาฝั่งร็อก ปีนี้คึกคักเป็นพิเศษ ไล่ตั้งแต่ My Chemical Romance — The Black Parade, Muse — Black Holes and Revelations, Arctic Monkeys — Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not รวมถึงอัลบั้มเดบิวต์ของ The Kooks — Inside In / Inside Out ที่มีเพลงอย่าง Naïve และ She Moves In Her Own Way ซึ่งปีนี้เป็นที่ Nas ประกาศผ่านชื่ออัลบั้มว่า Hip Hop Is Dead แต่ก็ยังมีอัลบั้มฮิปฮอประดับตำนานมากมายที่ปล่อยในปีนี้ อย่าง Jay-Z — Kingdom Come ที่เป็น comeback album สำหรับเขา เพราะเดิมประกาศอำลาวงการไปแล้วในปี 2003
2017
ทิ้งท้ายไปด้วยปี 2017 ซึ่งผ่านมาไม่นาน ปีนี้มีหลากหลายแนวที่ยึดครองชาร์ท ฝั่งป๊อปมี Lorde — Melodrama, Ed Sheeran — ÷(ที่มากับเพลง Perfect และ Shape Of You ซึ่งยังหลอนหูถึงทุกวันนี้), Taylor Swift — reputation, Lana Del Rey — Lust For Life ส่วนอินดี้ร็อก ปีนี้ก็เป็นปีที่วงยุค 00s กลับมาปล่อยอัลบั้มกันเยอะมากหลังจากพักวง อย่าง Arcade Fire, LCD Soundsystem, the National, Fleet Foxes ฯลฯ ส่วนรุ่นใหม่ ๆ ก็มี King Krule — The OOZ ฟากฮิป-ฮอปก็มี Kendrick Lamar — DAMN. (ที่มีเพลง HUMBLE.), SZA — Ctrl, Jay – Z — 4:44, Tyler, The Creator — Flower Boy
ปีนี้มีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งคือการเปิดตัว Spotify ในไทยด้วย หลังจากอ่านคอนเทนต์นี้จบแล้ว ลองกลับไปดู Spotify Wrapped ของทุกคนในปี 2017 ด้วยล่ะ ว่าฟังเพลงอะไรอยู่ เผื่อจะเป็น ‘ปีทอง’ ของคุณเหมือนกัน
อ่านต่อ
The Beatles หนึ่งในแรงขับเคลื่อน ที่ทำให้ชาวตะวันตกสนใจการทำสมาธิ
ทำไมเราถึงฟังเพลงที่เราชอบซ้ำไปซ้ำมาได้ไม่มีวันเบื่อเลย งานวิจัยมีคำตอบ
งานวิจัยยืนยัน! เนื้อเพลงจะอยู่ในหัวเราตลอดไป อัลไซเมอร์ก็เอามันไปไม่ได้
รสนิยมการฟังเพลงของเรามาจากไหน คำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ว่ายังไงบ้าง
อ้างอิง
What was the best year for music? The Songs That Bind Battle of the music years – which was REALLY the best ever year in music history? Woodstock 15 greatest years in music history Flashback: Band Aid Raises Millions With ‘Do They Know It’s Christmas?’ Do They Know It’s Christmas? News of the World (album) Hunting High and Low The Works (Queen album) Why 1999 Was The Greatest Year In Music History The Slim Shady LP 1999 in music Why 1999 Was the Best Musical Year of the ’90s No Scrubs The Year in Music: 2006 All Songs Considered: The Year In Music 2017 The Year “Indie Rock” Meant Something Different