A Brief History of Beatboxing ประวัติศาสตร์อย่างย่อของบีตบ็อกซ์
- Writer: Piyakul Phusri
ผู้สันทัดกรณีในวงการฮิปฮอปกล่าวไว้ว่า องค์ประกอบของดนตรีฮิปฮอปประกอบไปด้วย MC DJ การเต้นเบรกแดนซ์ และกราฟิตี้ เหมือนหัวใจมีสี่ห้องยังไงยังงั้น แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่ห้าของดนตรีฮิปฮอป นั่นก็คือ ‘beatboxing’ หรือการใช้ปาก คอ จมูก ทำเสียงเลียนแบบเครื่องดนตรีต่าง ๆ
ปัจจุบันบีตบ็อกซ์ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะเราสามารถเห็นการแสดงบีตบ็อกซ์ได้ทั่วไปตั้งแต่การแสดงของนักดนตรีข้างถนน ไปจนถึงรายการประกวดความสามารถทางโทรทัศน์ นักบีตบอกซ์พัฒนาความซับซ้อนของเสียง ความเร็ว และ เทคนิคใหม่ ๆ ที่ทำให้การแสดงบีตบ็อกซ์มีความน่าสนใจ และตื่นตาตื่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่กว่าที่จะเป็นบีตบ็อกซ์อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ มันเป็นศิลปะที่มีพัฒนาการ และความเป็นมาที่น่าสนใจเลยทีเดียว
———-
ก่อนที่สิ่งที่จะเรียกว่าเป็น บีตบ็อกซ์ จะเกิดขึ้น เทคนิคการใช้กลุ่มอวัยวะในการเปล่งเสียงอย่าง ปาก คอ จมูก เพื่อการทำเสียงเลียนแบบเครื่องดนตรีอยู่ในดนตรีอเมริกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยอยู่ในเพลงพื้นบ้านทั้งของคนผิวขาวและผิวดำ เพลงทางศาสนา เพลงบลูส์ เพลง ragtime (แนวเพลงเต้นรำยุคปี 1900 ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงเพลงบลูส์และแจ๊ส) การแสดงละครเบ็ดเตล็ดที่รวมการร้องและเต้นรำเข้าด้วยกัน (vaudeville) และเพลง hokum (เพลงบลูส์แขนงหนึ่งที่มีเนื้อหาตลกโปกฮา) ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าจะส่งอิทธิพลต่อการกำเนิดขึ้นของบีตบ็อกซ์ก็คืออิทธิพลจากดนตรีพื้นเมืองแอฟริกัน ที่นิยมใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสร้างเสียงเลียนแบบเครื่องเคาะ และการสร้างเสียงโดยการหายใจเข้าออกแรง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคของบีตบ็อกซ์ในปัจจุบัน
แล้วคำว่า ‘บีตบ็อกซ์’ มาจากไหน?
บีตบ็อกซ์ เป็นศัพท์สแลงที่ใช้เรียกดรัมแมชชีนรุ่นแรก ๆ ของ Roland ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกว่าเป็น ‘rhythm machine’ เช่น Roland TR Rhythm Series TR-33 และ TR-55 ที่ออกสู่ตลาดในปี 1972 ต่อมา คำว่า บีตบ็อกซ์ ถูกนำไปใช้เรียกรุ่นของดรัมแมชชีนรุ่นต่อมาของ Roland อย่าง Roland CR series และ TR series
นอกจากนี้ ยังมีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า บีตบ็อกซ์ อาจจะมีที่มาจากเครื่อง rhythm machine รุ่นแรกของโลก ‘Wurlitzer Sideman’ ที่ถูกผลิตระหว่างปี 1959 – 1964 ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องใบใหญ่ ก็เป็นไปได้ว่าคำว่า บีตบ็อกซ์ อาจจะมีที่มาจากเจ้าเครื่องนี้ก็เป็นได้
คำว่า บีต บ็อกซ์ ถูกใช้เพื่อสื่อความหมายถึงเครื่องประดิษฐ์เสียงดนตรีเป็นครั้งแรก โดยถูกใช้เรียกเครื่องอนาล็อกดรัมแมชชีนรุ่น ELI CompuRhythm CR-7030 Beat Box
และสิ่งที่เป็น ‘ต้นเสียง’ ให้กับนักบีตบ็อกซ์ยุคแรก ๆ และเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ทางดนตรีที่ทำให้ฮิปฮอปและดนตรีเต้นรำอิเล็กทรอนิก (EDM) ถือกำเนิดขึ้นบนโลกอย่างมั่นคงก็คือดรัมแมชชีน Roland TR-808 ที่วางจำหน่ายในปี 1982 ซึ่งถือเป็นดรัมแมชชีนที่เปิดโลกดนตรีตะวันตกไปสู่มิติใหม่ ๆ อย่างแท้จริง
———-
ในเมื่อมีเครื่องดรัมแมชชีนแล้ว เราจะยังต้องการ บีตบ็อกซ์ จากปากของมนุษย์ไปอีกทำไม?
บีตบ็อกซ์ เป็นรูปแบบหนุ่งของศิลปะที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองทำนองเดียวกับกราฟิตี้ ในย่านที่วัฒนธรรมฮิปฮอปเฟื่องฟูอย่างเช่นย่าน Bronx ในนิวยอร์ก แม้ว่าฮิปฮอปจะได้รับความนิยมอย่างสูงก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินซื้อดรัมแมชชีนและซินธิไซเซอร์มาทำเพลงได้ ด้วยความจำเป็นนี้เอง นวัตกรรมจากช่องปากมนุษย์ในนาม บีตบ็อกซ์ จึงถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก
แล้วถ้าจะพูดถึงผู้มีส่วนในการส่งเสริม พัฒนา และ ยกระดับบีตบ็อกซ์ ในระยะตั้งไข่ ก็ต้องพูดถึงปรมาจารย์แห่งบีตบ็อกซ์ 3 คน ได้แก่ Darren ‘Buffy’ Robinson, Doug E Fresh และ Biz Markie ที่ถือเป็นสามตัวเอ้แห่งวงการบีตบ็อกซ์ในยุค 80s
Darren ‘Buffy’ Robinson
เมื่อปี 1983 วัยรุ่นสามคนจาก Brooklyn ในนาม The Disco Three ได้แก่ Mark ‘Prince Markie Dee’ Morales, Damon ‘Kool Rock-Ski’ Wimbley และ Darren ‘Buff the Human Beat Box’ เข้าแข่งขัน และชนะการประกวดความสามารถที่ Radio City Music Hall นิวยอร์ก หัวใจสำคัญที่ทำให้ The Disco Three ชนะการประกวดก็คือ ความสามารถพิเศษในการใช้ปากทำเสียงจังหวะฮิปฮอปและเสียงเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ของ Darren ‘Buffy’ Robinson ซึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางด้านบีตบ็อกซ์ของเขาคือเทคนอคการเป่าลมหายใจให้เป็นเสียงเบสหนัก ๆ ซึ่งรางวัลจากการประกวดในครั้งนี้ก็คือสัญญาจากค่ายเทป
Darren ‘Buffy’ Robinson และผองเพื่อนที่นามกลุ่ม The Fat Boys ประสบความสำเร็จในวงการฮิปฮอปเป็นอย่างดี แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงยุค 90s ก่อนที่จะแยกวงกันไป Darren ‘Buffy’ Robinson เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1995 ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
Doug E Fresh
เขาคือคนที่อ้างว่าเป็น human beatbox คนแรก โดยเขายืนยันว่า ดีเจ Barry B จาก Get Fresh Crew เป็นคนยกคำนี้ขึ้นมาให้เขาใช้ประกอบการแสดง ในปี 1984 Doug E Fresh ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Beat Street ซึ่งถือเป็นหนังเกี่ยวกับฮิพ-ฮอพที่เข้าขั้นคลาสสิค Doug ได้รับการยกย่องเรื่องเอกลักษณ์ในการผสมผสานเสียงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ต่อมาในปี 1985 Doug และ Get Fresh Crew ก็ได้ออก double-A side คลาสสิคของวงการฮิปฮอป The Show/La Di Da Di ที่ถือเป็นผลงานขึ้นหิ้งในปัจจุบัน
Biz Markie
แม้จะเป็นแร็ปเปอร์ แต่ Biz Markie ก็ใช้เทคนิค human beatbox ในการแสดงร่วมกับ Roxanne Shanté และได้พัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ให้กับวงการบีตบ็อกซ์ เช่น การเป็น mc ไปด้วยระหว่างบีตบ็อกซ์ การทำเสียง inward hand clap และ harmonic tap Biz ยังได้รับการยกย่องในความโดดเด่นของเทคนิคการร้องเพลงผสมกับการบีตบ็อกซ์ ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่ช่วยยกระดับจินตนาการ และความซับซ้อนทางดนตรีของบีตบ็อกซ์ไปอีกขั้น
———-
ในช่วงปี 1990s บีตบอกซ์ก็แพร่หลายไปในแวดวงฮิปฮอปเหมือนไฟลามทุ่งจนดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็ทำได้ และทุกการแสดงของกลุ่มนักดนตรีฮิพ-ฮอพ สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ บีตบ็อกซ์ จนทำให้หลายคนรู้สึกเฝือ ๆ น่าเบื่อไปบ้าง แต่บีตบ็อกซ์ก็ได้เดินทางไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นที่มันถือกำเนิดมา Bobby McFerrin นำบีตบ็อกซ์เข้าไปเป็นส่วนผสมในเพลงแจ๊ส The HouseJacks นำบีตบ็อกซ์เข้าไปคลุกกับเพลงร็อก เกิด Queen Latifah เป็นนักบีตบ็อกซ์ให้กับ Ladies Fresh กลุ่มศิลปินฮิพ-ฮอพหญิงล้วนกลุ่มแรก Rahzel และ Kenny Muhammad ที่ถือว่าเป็นแกนนำบีตบ็อกซ์คลื่นลูกที่สอง และเป็นตัวพ่อของวงการบีตบ็อกซ์ร่วมสมัย ก็ได้พัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ขึ้นอีกมากมาย ศิลปินบางกลุ่มนำบีตบ็อกซ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีเต้นรำอย่าง drum and bass ในปี 2005 มีการแข่งขันบีตบ็อกซ์นานาชาติครั้งแรกที่เมืองไลป์ซิก (Leipzig) ในเยอรมนี แม้แต่ศิลปินอย่าง Justin Timberlake, Daniel Beddingfield หรือ Björk ก็นำบีตบ็อกซ์ไปเป็นส่วนหนึ่งของเพลงของพวกเขา
และเชื่อเถอะ ว่าตราบใดที่ปากของมนุษย์ยังขยับได้ เราก็จะยังได้ยินเทคนิคบีตบ็อกซ์ใหม่ ๆ ให้ได้ตื่นตะลึงกันอยู่เสมออย่างแน่นอน