เปลี่ยน Band ให้เป็น Brand กับเรื่องราวของโลโก้วงดนตรีสากล
- Writer: Piyakul Phusri
มีวงดนตรีอะไรบ้างที่เห็นแค่โลโก้ผ่าน ๆ ตา คุณก็สามารถบอกได้ว่านี่คือวงอะไร?
ปากกับลิ้นแดงแจ๋ของ Rolling Stones
อักษรตัวโอมีลูกศรเหมือนสัญลักษณ์เพศชายวางบนวงกลมสีแดง-ขาว-น้ำเงิน ของ The Who
อักษรสี่ตัวที่มีสายฟ้าผ่าตรงกลางของ AC/DC
ปืนและกุหลาบสุดเท่ของ Guns N’ Roses
ตัว R กลับด้านของวง Korn
ตัวอักษร NIN ที่มีตัว N กลับด้านของ Nine Inch Nails
และงาน typography ที่มีเอกลักษณ์ของ The Beatles, The Prodigy, Muse, Metallica, Anthrax, Slipknot, Daft Punk หรือ Nirvana
การที่วงดนตรีต้องมีโลโก้ของวง จะเป็นตัวหนังสือ หรือสัญลักษณ์ก็ตามแต่ เป็นการสร้างความจดจำให้เกิดขึ้นกับผู้พบเห็น นอกเหนือไปจากการจดจำวงดนตรีผ่านตัวเพลงเพียงอย่างเดียว และยังเป็นการทำให้วงดนตรีกลายเป็น ‘สินค้า’ อย่างเต็มรูปแบบ เพราะโลโก้เป็นการสร้าง branding ให้กับวงอย่างเป็นรูปธรรม
ลองนึกดูว่าถ้าบนปกซีดีหรือบนโปสเตอร์งานคอนเสิร์ต ชื่อของวงทั้งหมดถูกพิมพ์ด้วยฟอนต์ Cordia New สีดำเหมือนกันหมด ก็คงจะจืดชืด ชวนหดหู่ และไม่รู้ว่าวงไหนเป็นวงไหน จริงมั้ย?
แล้วการที่วงดนตรีมีโลโก้วงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมันเริ่มตั้งแต่ตอนไหน?
ในช่วงยุค 60s ซึ่งเป็นช่วงที่วงการดนตรีตะวันตกเฟื่องฟูอย่างถึงขีดสุด มีวงดนตรีระดับตำนานที่สร้างบรรทัดฐานให้กับดนตรีร่วมสมัยในปัจจุบันเกิดขึ้นมากมาย แต่บรรดาวงเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับการสร้าง และตอกย้ำโลโก้ของวงอย่างเป็นจริงเป็นจำ เพราะในยุคนั้นเมื่อพูดถึงวงดนตรีซักวง คนก็จะพูดถึงตัวนักดนตรี ภาพลักษณ์ของนักดนตรี และ ตัวบทเพลง วงดนตรียังไม่ได้มีลักษณะของการเป็นสินค้าอย่างสุดทาง แม้ว่าจะมีการผลิต และจำหน่ายแผ่นเสียง และการแสดงคอนเสิร์ตอย่างจริงจังแล้วก็ตาม แต่การตอกย้ำวงผ่านโลโก้ยังไม่ค่อยมี ปกแผ่นเสียงชุด Rubber Soul ของ The Beatles ถึงกับตัดชื่อวงบนปกออกไปเลย เหลือแค่หน้าของสี่เต่าทองกับทรงผมที่คุ้นตา และคำว่า Rubber Soul โลโก้ของวงที่มีเอกลักษณ์ตรงตัว T ที่จะลากยาวลงมาเลยตัวอักษรอื่น แม้จะอยู่บนหน้ากลองของ Ringo Starr มาตลอด แต่กว่าโลโก้นี้จะไปปรากฏตัวบนปกอัลบั้มของวง ก็ปาเข้าไปตั้งปี 1988 ในอัลบั้มรวมฮิตชุด Past Masters ซึ่งเป็นอัลบั้มรวมฮิตในรูปแบบซีดีอัลบั้มแรกของวง และเกิดขึ้นหลังวงแตกไปหลายปี
The Who ยอดวงจากอังกฤษอีกวงที่มีโลโก้สวยงาม แต่ทางวงก็เอาโลโก้ของวงไปปรากฏตัวอยู่บนปกอัลบั้มเพียงชุดเดียวคือ Quadrophenia อัลบั้มชุดที่ 6 ของวง และก็ไม่ใช่โลโก้แบบที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน โลโก้ของวง Rolling Stones ที่เป็นรูปปากและลิ้นที่เซ็กซี่ของป๋า Mick Jagger กว่าจะออกมาเป็นรูปร่างที่เราเห็นทุกวันนี้ก็ปาเข้าไปปี 1971 และในทางเทคนิคแล้ว จริง ๆ มันเป็นโลโก้ของค่ายเพลง Rolling Stones Records ไม่ใช่โลโก้ของวงหินกลิ้งเพียว ๆ ซะทีเดียว
แล้ววงอะไรที่ทำให้โลโก้ของวงเป็นที่จดจำผ่านการปรากฏตัวซ้ำ ๆ บนปกอัลบั้มจนในที่สุด แค่คนเห็นโลโก้ผ่าน ๆ ตาก็นึกออกทันทีว่าเป็นวงอะไร?
คำตอบคือ Chicago วงร็อกสัญชาติอเมริกันที่ก่อตั้งในปี 1967 ซึ่งหลัง ๆ หันมาทำเพลงบัลลาดติดหู โลโก้ของวงเป็นตัวอักษรคำว่า Chicago ที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ John Berg ในรูปแบบตัวเขียน โดยวงใช้โลโก้นี้วางตรงกลางปกอัลบั้มทุกชุดของวง ทำให้ภาพจำของวงมีความต่อเนื่อง และ artwork ของปกอัลบั้มแต่ละชุดของวงเป็นเอกภาพเดียวกัน ในปกอัลบั้มแต่ละชุดของวง โลโก้ Chicago ถูกจัดวางในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อยู่บนแท่งช็อกโกแลตบ้าง เป็นตึกสูงที่เป็นรูปโลโก้ Chicago บ้าง เป็นหญ้าที่ถูกตัดเป็นคำว่า Chicago บ้าง อยู่โลโก้อยู่บนก้อนหินบ้าง เป็นโลโก้ Chicago ถูกห่อด้วยกระดาษห่อของขวัญลายคริสต์มาสบ้าง เรียกได้ว่า ถ้า brand ไม่สตรองด้วยวิธีนี้ ก็คงยากที่จะหาวิธีอื่นในการตอกย้ำ brand ให้เป็นที่จดจำได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ ผ่านการสื่อสารด้วยโลโก้เดิมย้ำ ๆ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
ดูปกอัลบั้มอื่น ๆ ของ Chicago ได้ ที่นี่
และถ้าสังเกตดี ๆ ก็จะรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าโลโก้วงนี้มันคล้ายกับโลโก้อะไรซักอย่าง ตัว C มีเส้นตวัด ๆ แบบนี้ ตัว g กับตัว o มีเส้นตวัดไปเชื่อมถึงกัน มันเหมือนกับ…..เหมือนกับ…..
ถูกต้องแล้วครับ ดีไซน์เนอร์ที่ออกแบบโลโก้ของวง Chicago ได้แรงบันดาลใจมาจากโลโก้ Coca-Cola แบรนด์สินค้าที่มีโลโก้สตรองที่สุดในโลกนั่นเอง!
สิ่งที่น่าสนใจในการออกแบบปกอัลบั้มแบบนี้ก็คือ ตัวปกอัลบั้มไม่ได้สื่อความหมายอันใดไปถึงเพลงที่อยู่ในอัลบั้มเลย แฟนเพลงจึงทำได้เพียงเดากันไปต่างต่างนานาว่าไอ้ปกที่เป็นโลโก้วงปั๊มบนช็อกโกแลตนี่เพลงข้างในมันจะเป็นยังไง หรือปกที่เป็นโลโก้ของวงสลักอยู่บนหินเพลงข้างในมันจะหนักหน่วงขึ้นเหรอ หรือยังไงกันแน่ ในอีกทางหนึ่ง วงก็เล่นกับความสนใจใคร่รู้ของแฟนเพลงผ่านปกอัลบั้มที่มีเพียงโลโก้ปรากฏอยู่กลางปก
ยุค 70s เป็นยุคทองของการสร้างโลโก้ของวงดนตรี เพราะการสร้างความจดจำผ่านภาคดนตรีหรือตัวนักดนตรีไม่เพียงพอเสียแล้ว วงดนตรีต่าง ๆ โดยเฉพาะวงร็อกเอาจริงเอาจังกับการสร้างโลโก้ของวงให้เป็นที่จดจำ โลโก้ของวงเริ่มสื่อความหมายไปถึงตัวตนของวงดนตรีมากขึ้น เช่น โลโก้ติดปีกของ Aerosmith ปืนและดอกกุหลาบ ของ Guns N’ Roses หรือโลโก้ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสยดสยองหรือโลกหลังความตายของบรรดาวงเมทัลทั้งหลาย บางวงก็พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการมีมาสคอตประจำวงอย่าง Iron Maiden ที่มีซอมบี้ผมขาวปรากฏอยู่บนปกอัลบั้มจนเป็นที่จดจำ
แล้ววงของคุณล่ะ มีโลโก้ประจำวงหรือยัง?