ดนตรีสัตว์สัตว์: หลายเรื่องราวว่าด้วยดนตรีสำหรับสัตว์ หมา ลิง ช้าง ก็ฟังเพลงนะ
- Writer: Piyakul Phusri
เราเชื่อว่ามนุษย์ส่วนมากชอบฟังเพลง และต่อให้ไม่ชอบฟังเพลง เราก็เชื่อว่ามนุษย์ส่วนมากสามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่เรียกว่า เพลง เสียง และเสียงรบกวน (noise) ออกจากกันได้
แต่สัตว์ชอบฟังเพลงแบบเราหรือเปล่า? นี่เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นหาคำตอบมาอย่างต่อเนื่อง
เราพบว่าสัตว์บางชนิด เช่น ช้าง สามารถ ‘เข้าใจ’ จังหวะทำนองดนตรีในแบบที่มนุษย์ฟัง และมีแนวโน้มที่จะชอบฟังเพลงแบบที่มนุษย์ฟังซะด้วย เราเลยเห็นช้างเต้นตามสวนสัตว์ ลานแสดงช้าง หรืองานบวชช้างแบบไทย ๆ
Charles Snowden และ Megan Savage นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเมดิสัน-วิสคอนซิน ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า สัตว์หลายชนิดก็รู้จักโยกย้ายร่างกายไปตามจังหวะกลองอย่างแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ดนตรีที่จำเพาะเจาะจงไปตามสายพันธุ์’ โดยมีสมมติฐานว่า ดนตรีจะมีผลกับสิ่งมีชีวิตใด ๆ ขึ้นอยู่กับย่านความถี่ และเทมโป ของเสียงดนตรีนั้นว่าคล้ายคลึงกับเสียงที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้นใช้สื่อสารกันแค่ไหน
– ช้างไทยอายุ 80 ปี ยืนสงบนิ่งฟังเพลง Clair de Lune ของ Claude Debussy
มนุษย์เรารู้สึกพึงพอใจกับเสียงดนตรีที่มีเทมโปคล้ายกับจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่สำหรับสัตว์ทั่วไปแล้ว ดนตรีที่มนุษย์ชอบฟังนั้นออกจะไม่เป็นที่พึงพอใจ หรือสามารถเข้าใจได้ของเหล่าสัตว์ เนื่องจากความสามารถในการรับฟังย่านเสียงที่ต่างจากมนุษย์ และอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่เหมือนกับของคนเรา ในปี 2009 Charles Snowden และ David Teie นักประพันธ์ดนตรี และนักเชลโล ได้ลองแต่งเพลงสำหรับลิงทามาริน โดยเป็นลิงมีเสียงร้องที่สูงกว่าเสียงมนุษย์สามอ็อกเทฟ (octave) และมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่ามนุษย์สองเท่า ผลการทดลองพบว่า เมื่อเปิดเพลงเร็วที่แต่งให้ลิงฟัง ลิงมีอาการตื่นเต้นกระตือรือร้น และเมื่อเปิดเพลงช้าที่แต่งสำหรับลิง พวกมันกลับมีท่าทีสงบตามจังหวะของดนตรี
ลองฟังเพลงสำหรับลิงทามารินได้ที่นี่ เราว่าไม่เลวเลยนะ
ส่วนเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์อย่างสุนัขนั้นยิ่งแตกต่างหลากหลายกันไปตามสายพันธุ์ที่มีขนาด เสียงร้อง และ อัตราการเต้นของหัวใจต่างกัน อย่างไรก็ดี สุนัขพันธุ์ขนาดใหญ่อย่างลาบราดอร์ หรือมัสตีฟ มีย่านเสียงใกล้เคียงกับมนุษย์ผู้ใหญ่เพศชาย ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าพวกมันอาจจะมีการตอบสนองกับย่านความถี่เสียงเดียวกับคนเรา Snowden จึงมีข้อสันนิษฐานว่า สุนัขพันธุ์ขนาดใหญ่น่าจะตอบสนองกับดนตรีของมนุษย์ได้ดีกว่าสุนัขพันธุ์เล็กอย่างชิวาว่า
งานวิจัยของ Deborah Wells แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ ในกรุงเบลฟาสท์ ของไอร์แลนด์เหนือ ยังแสดงให้เห็นว่าสุนัขยังสามารถแยกแยะแนวเพลงของมนุษย์ได้ โดยสุนัขจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันเมื่อได้ฟังดนตรีต่างแนวกัน เช่น สุนัขจะมีพฤติกรรมสงบเมื่อได้ฟังดนตรีคลาสสิก และจะมีพฤติกรรมกระสับกระส่ายเมื่อได้ฟังดนตรีเมทัล
แต่น่าเสียดาย ที่แม้ว่าสัตว์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงส่วนใหญ่จะสามารถแยกแยะเสียงที่ต่างกันของโน้ตแต่ละตัวได้ แต่พวกมันไม่สามารถเข้าใจโน้ตคู่ ดังนั้น เวลามีคนชมว่าคุณหูดีเหมือนหมา อาจจะแปลว่าคุณหูดีในระดับที่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างโน้ตได้อย่างแม่นยำ แต่ถ้าคุณมีระบบการฟังแบบหมาจริง ๆ คุณก็จะไม่เข้าใจดนตรีในแบบมนุษย์
มาถึงเจ้านายของพวกทาสอย่างแมวกันบ้าง แมวเป็นสัตว์ที่มีการฟังดีมาก (แม้ว่ามันจะไม่สนใจคำพูดของทาสซักเท่าไหร่) แมวมีกล้ามเนื้อหูถึง 64 มัด (ข้างละ 32มัด) แมวเป็นสัตว์ที่มีระบบการฟังดีกว่าสุนัข โดยสามารถได้ยินเสียงที่ย่านความถี่ 55 เฮิร์ตซ์ ไปจนถึง 79 กิโลเฮิรตซ์ ทำให้แมวสามารถฟังเสียงที่มีความถี่สูงกว่าที่มนุษย์ได้ยิน 1.6 อ็อกเทฟ แต่เสียใจด้วยที่แมวไม่ได้ชื่นชอบดนตรีแบบที่เจ้าของมันฟังเลย เพลงที่แมวชอบฟังจึงเป็นเพลงสำหรับแมวโดยเฉพาะที่แต่งขึ้นโดยอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และกายวิภาคของแมว (อ่านเรื่อง ดนตรีเพื่อแมวเหมียวโดยเฉพาะได้ ที่นี่) นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าแมวเด็ก และ แมวแก่ มีการตอบสนองต่อเสียงดนตรีมากกว่าแมววัยกลางคน (หรือว่าแมวก็อาจจะมี midlife crisis เหมือนกับคนเรา?)
ถ้าอยากจะลองทำเพลงให้แมวฟัง เรามีคำแนะนำมาบอก เพื่อสุนทรียะของแมวที่คุณรัก
- ควรใช้เครื่องดนตรีที่มีพิทช์เสียงสูงอย่างไวโอลิน เชลโล หรือ คีย์บอร์ด เพราะแมวตอบสนองต่อย่านเสียงความถี่สูงได้ดี
- ไม่ควรทำเพลงให้เสียงดังเกินไป เพราะแมวมีประสาทการได้ยินที่ดีกว่ามนุษย์
- หลีกเลี่ยงการเล่นคอร์ด เพราะแมวไม่รู้จักโน้ตคู่ เล่นโน้ตเดี่ยว ๆ จะดีกว่า
- ห้ามใช้ noise (แบบมนุษย์) เพราะนั่นไม่ใช่เสียงที่แมวพึงพอใจ
- ใส่เสียงครางในคอ (purr) หรือ เสียงของการดูดของเหลว จะช่วยให้เพลง ‘ป๊อป’ สำหรับแมวมากขึ้น
ทำแล้วได้ผลอย่างไร เอามาแบ่งกันฟังที่ ฟังใจ ก็ได้นะ
ที่มา:
What Type of Music Do Pets Like?
Cats don’t like human music — play them this instead
Do Cats Like Music? What Type Do They Enjoy? Is There Music Made For Cats?
CATS AND MUSIC: WHAT YOU SHOULD KNOW