Ambient แนวดนตรีเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการใช้ชีวิต
- Writer: Piyakul Phusri
ถ้าจะมีแนวเพลงซักแนวที่ใจกว้างกับคนฟังในระดับที่ว่าถ้าได้ยินเสียงเพลงแนวนี้คุณจะฟังก็ได้ ไม่ฟังก็ไม่ว่ากัน ถ้าตั้งใจฟังก็ดี แต่ถ้าได้ยินแล้วเฉย ๆ ก็ตามนั้น เห็นจะไม่มีแนวเพลงไหนใจกว้างไปกว่าดนตรีแนวแอมเบียนต์ (ambient) ซึ่งจะว่าไปแล้ว น่าจะเป็นแนวดนตรีที่ให้ความเป็นอิสระกับคนทำเพลงและคนฟังเพลงสูงมากที่สุดแนวหนึ่ง เพราะเพลงแอมเบียนต์เกือบทั้งหมดไม่เล่าเรื่องราว ไม่บอกความต้องการว่าเพลงนี้จะพูดอะไรกับเรา แต่ในตัวเพลงก็กำลังสื่อสารอะไรบางอย่างอยู่กับตัวเรา รวมถึงถ่ายทอกบรรยากาศรอบตัวอยู่ตลอดทั้งเพลง
คำว่า ‘ambient’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘ambire’ เป็นภาษาละติน แปลว่า ‘โดยรอบ’ (to surround) ดนตรีแอมเบียนต์ทั่วไปมักเป็นเสียงสังเคราะห์จากซินธิไซเซอร์ หรือเสียงเครื่องดนตรีอะคูสติก เช่น เปียโน เครื่องสาย หรือ เครื่องเป่า ที่วางอยู่บนทำนองเนิบช้า เป็นเสียงซ้ำ ๆ ที่บ่อยครั้งมักจะมีเสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงหยดน้ำกระทบผิวน้ำ เสียงใบไม้กระทบกัน เสียงลมพัดผ่านช่องเขา ฯลฯ มาผสมผสานกันจนออกมาเป็นเสียงดนตรีที่โดดเด่นในเรื่องบรรยากาศของเสียง โดยเฉพาะบรรยากาศของความสงบทางจิตใจ ที่เกิดขึ้นผ่านประสาทสัมผัสทางเสียง
ลองนึกถึงภาพห้องเปล่าๆ สองห้อง ที่มีเครื่องเสียงหนึ่งชุดตั้งอยู่ตรงมุมห้อง ห้องหนึ่งเปิดเพลงเมทัลดังสนั่น อีกห้องเปิดเพลงแอมเบียนต์เบาๆ ไม่ว่าเราจะตั้งใจฟังหรือไม่ก็ตาม เสียงเพลงเมทัลก็จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจเกือบทั้งหมดที่เรามีต่อห้องแรกไปหามัน ด้วยความดังของเสียงและสไตล์ดนตรีที่ดุดัน แต่ในขณะเดียวกัน เสียงเพลงแอมเบียนต์ในห้องที่สองอาจจะทำให้เราสนใจในเสียงนั้นชั่วครู่ ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาถึงองค์ประกอบของห้องว่ามีอะไรบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง และเสียงเพลงแอมเบียนต์ก็จะถอยกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศโดยรวมของห้อง แต่หากเราจะตั้งใจฟังเพลงแอมเบียนต์เพลงนั้น ก็เหมือนกันเรากำลังตั้งใจพินิจพิจารณาถึงบรรยากาศโดยรวมของห้องเช่นกัน
แน่นอนว่าดนตรีแอมเบียนต์ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของดนตรีร่วมสมัยที่เป็นที่นิยมแนวอื่น ๆ ที่ต้องมีทำนอง เนื้อร้อง ท่อนฮุค ท่าเต้น ฯลฯ และบ่อยครั้ง ดนตรีแอมเบียนต์ก็ทำให้คนฟังเกิดคำถามกับตัวเองว่า เสียงน้ำไหลผ่านซอกหินและมีเสียงขลุ่ยไม้ไผ่ลอยมาแบบเบา ๆ หวิว ๆ ที่กำลังฟังอยู่ควรจะนับว่าสิ่งนี้เป็น ‘เพลง’ หรือ ‘เสียงประกอบฉากอะไรซักอย่าง’ ?
ซึ่งมันก็สามารถเป็นได้ทั้งสองอย่างอีกแหละ เพราะศิลปินผู้บุกเบิกดนตรีแนวนี้ ก็ตั้งใจให้มันถูกนำเสนอในรูปแบบนี้มานานกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว
———-
Erik Satie นักประพันธ์ดนตรี และนักเปียโนชาวฝรั่งเศส ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ได้ประพันธ์ผลงานเพลงที่น่าจะเรียกว่าเป็นสไตล์แอมเบียนต์ยุคแรก ๆ ขึ้น โดยเรียกแนวเพลงนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ‘musique d’ameublement’ ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็คงจะมีความหมายทำนองว่า ‘ดนตรีเพื่อประกอบบรรยากาศ’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นดนตรีที่สามารถบรรเลงระหว่างมื้ออาหารเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี โดยผู้ฟังไม่จำเป็นต้องจดจ่อกับการฟังเพลงเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือว่าแตกต่างจากขนบการฟังเพลงในโลกตะวันตกแบบดั้งเดิม เพราะไม่ว่าจะเป็นเพลงนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ หรือเพลงคลาสสิกที่บรรเลงด้วยวงออร์เคสตรา ล้วนมีขนบแบบแผนที่ชัดเจนทั้งการเล่นและการฟัง ผู้ฟังถูกคาดหมายให้ฟังเพลงอย่างจดจ่อ ขณะที่นักดนตรีก็ถูกคาดหมายให้เล่นตามโน้ตอย่างเคร่งครัด ซึ่งแตกต่างจากความมุ่งหมายในการประพันธ์ และการฟัง musique d’ameublement ของ Satie ผลงานการประพันธ์ดนตรีของเขายังมีอิทธิพลสืบเนื่องมาถึงศิลปินในแนว minimalism และ surrealism ในยุคต่อมา
Satie กล่าวถึงแนวคิดในการประพันธ์ดนตรีเพื่อประกอบบรรยากาศการดินเนอร์ของตนเองว่า ‘เป็นดนตรีที่เป็นส่วนหนึ่งกับเสียงอื่น ๆ ในสิ่งแวดล้อมนั้น… ผมคิดถึงดนตรีที่มีความไพเราะ ช่วยลดเสียงอึกทึกของการกระทบกันของมีดและส้อมระหว่างดินเนอร์ แต่ก็ไม่ได้เข้าไปควบคุมหรือแทนที่เสียงเหล่านั้น มันจะเข้าไปช่วยเติมช่องว่างของความเงียบระหว่างการสนทนาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อเพื่อนรับประทานดินเนอร์ด้วยกัน…’
———-
แต่ดนตรีแอมเบียนต์ปรากฏตัวขึ้นอย่างจริงจังและชัดเจนด้วยฝีมือของ Brian Eno โปรดิวเซอร์มือทองชาวอังกฤษ ที่ให้นิยามเพลงที่อยู่ในอัลบั้ม Ambient 1: Music for Airports ว่าเป็น ambient music โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรีของ ‘Muzak Inc.’ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำ background music สำหรับเปิดในห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่สาธารณต่าง ๆ (Muzak ยังถูกนำไปใช้เรียกเพลงที่นิยมเปิดในลิฟท์อย่างเหมารวม อ่านเพิ่มเติมได้ >ที่นี่<) โดย Eno เกิดความสนใจการใช้เพลงในฐานะเสียงประกอบบรรยากาศในสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้ใช้ดนตรีเพื่อเน้นขับบรรยากาศแบบ background music แบบเดิม (เช่น เปิดเพลงในห้าง เพื่อให้การจับจ่ายเป็นไปอย่างรื่นรมย์) แต่ Eno ให้ความสนใจกับการทำให้ดนตรีแอมเบียนต์เป็นเสียงที่สร้างความสงบและความเปิดกว้างทางความคิด
Eno กล่าวถึงดนตรีแอมเบียนต์อย่างใจกว้างว่า ‘ดนตรีแอมเบียนต์จะต้องสามารถเข้ากันได้กับระดับความตั้งใจในการฟังดนตรีที่หลากหลายโดยไม่ได้เป็นสิ่งที่บังคับผู้ฟัง มันจึงเป็นดนตรีที่จะไม่ฟังก็ได้ พอ ๆ กับการเป็นดนตรีที่น่าสนใจ’
สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งของดนตรีแอมเบียนต์ก็คือ มันเป็นแนวดนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมีนักดนตรีในความหมายของคนที่เล่นเครื่องดนตรีจริง ๆ เพราะด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือเครื่องใช้ในสตูดิโอก็เพียงพอที่จะทำดนตรีแอมเบียนต์ที่ดีได้ Brian Eno เองกล่าวว่า ซินธิไซเซอร์เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเหมือนเปียโน เขาจึงสามารถทำสิ่งใหม่ ๆ กับซินธิไซเซอร์ได้มากมาย ขณะเดียวกัน สตูดิโอก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาสามารถเป็นนักดนตรีได้สารพัดแนว และทำให้เขากลายเป็นจิตรกรที่วาดภาพด้วยเสียง ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากทีเดียว เพราะเป็นการรื้อถอนรากฐานความคิดของนักดนตรีสไตล์ดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
———-
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าดนตรีแอมเบียนต์ที่สร้างความรู้สึกสงบและเนิบช้า เข้าไปมีส่วนร่วมในวัฒนธรรม rave หรือ club culture ในอังกฤษ โดยดนตรีในสไตล์แอมเบียนต์และ downtempo ถูกใช้เพื่อเปิดในห้องพักผ่อนที่อยู่ติดกับ main room ที่ใช้เพื่อเต้นรำในไนต์คลับเพื่อให้นักเต้นโดยเฉพาะที่ใช้ยาเสพติดแบบหลอนประสาทหรือกระตุ้นประสาท ได้มาพักผ่อน และสงบจิตสงบใจจากการเต้นรำอันหนักหน่วงและจากฤทธิ์ยา ในเวลาต่อมา ดนตรีที่ใช้เปิดในห้องนักนักเต้นก็ถูกพัฒนาให้กลายเป็นแนวดนตรี ‘chillout’ ในที่สุด
———-
แม้ดนตรีแอมเบียนต์จะถูกครหาว่าเป็นแนวดนตรีที่น่าเบื่อ ฟังแล้วหลับ หรือต้องใช้ความรู้สึกในการทำความเข้าใจมากเกินไป แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าดนตรีแอมเบียนต์เป็นหนึ่งในแนวดนตรีที่ช่วยบรรเทาบรรยากาศอันตึงเครียดของสภาพสังคมที่วุ่นวายในปัจจุบัน
สังคมเมืองที่เต็มไปด้วยเสียงแห่งความสับสนอลหม่าน ดนตรีแอมเบียนต์กลับได้รับความนิยมในฐานะดนตรีเพื่อการผ่อนคลายและบำบัดจิตใจ หากคุณลองค้นหาใน YouTube จะพบว่า คลิปวีดิโอภาพสายฝน หรือต้นไม้ประกอบดนตรีแอมเบียนต์ที่เข้ากับภาพ ความยาวมากกว่า 8-10 ชั่วโมง มีคนฟังมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละคลิป และมีเพลย์ลิสต์เพลงแอมเบียนต์เพื่อความผ่อนคลายให้ฟังอยู่มากมาย
ในโลกที่เต็มไปด้วยสรรพเสียง ทั้งเสียงจริงและเสียงสังเคราะห์ บางครั้งเราก็คงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเสียงของธรรมชาติ และหากไม่สามารถออกไปหาเสียงจากธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง ลองปิดห้อง ปิดไฟ และฟังเพลงแอมเบียนต์ซักเพลงดูสิ คุณอาจจะพบสิ่งที่คุณกำลังค้นหาอยู่ก็ได้