When Geek Meets Rave: Algorave เมื่อการเขียนโค้ดสามารถสร้างดนตรีเต้นรำได้
- Writer: Montipa Virojpan
ใครบางคนเคยบอกว่าสักวันหนึ่งดนตรีจะต้องเจอข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถสร้างแนวเพลงใหม่ ๆ ได้อีก เราก็ไม่ปฏิเสธความจริงข้อนี้เมื่อรูปแบบของดนตรียุคปัจจุบันเป็นการผสมวัตถุดิบหรือองค์ประกอบของแนวดนตรีดั้งเดิมต่าง ๆ เข้ามาให้เกิดเป็นส่วนผสมใหม่เสียมากกว่า แต่ในทางกลับกันวิธีการนำเสนอดนตรีนับว่าเป็นประดิษฐกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไร้ที่สิ้นสุด เราสามารถสร้างเครื่องดนตรีขึ้นมาใหม่ หรือหาวิธีถ่ายทอดเสียงเหล่านั้นให้ออกมาแตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิมได้ ซึ่ง Algorave ก็คือรสชาติใหม่ของดนตรีเต้นรำที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปกว่า 40 เมืองทั่วโลกในขณะนี้ รวมถึงกรุงเทพ ฯ เองก็เป็นหนึ่งในนั้น…
If music is a form of code, then perhaps code is the form of music.
เราอาจเคยชินกับการแสดงของดีเจหรือนักดนตรีก้มหน้าก้มตาเล่นเพลงของตัวเองไป โดยสิ่งที่เรารับรู้คือเนื้อเพลงหรือเมโลดี้ที่เขาถ่ายทอดมาให้เราอีกที ผ่านการได้ยินและได้เห็นมูฟเมนต์บนเวที แต่อัลกอเรฟเป็นเหมือนการพาเราไปสู่อีกขั้นของการแสดงและการรับชมดนตรีอิเล็กทรอนิกแบบสด ๆ ยิ่งเพิ่มคำสั่งเข้าไป เราก็จะได้ยินความเปลี่ยนแปลงของบทเพลงนั้น ๆ จากการที่พวกเขาการสร้างเสียงรูปแบบต่าง ๆ หรือกำหนดจังหวะช้าเร็วผ่านการใช้อัลกอริธึม เราจะตื่นเต้นเมื่อได้เห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่บนภาพที่ฉายไปยังเบื้องหลังผู้เล่นที่กำลังมีความคืบหน้าไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจวิธีการทำงานของมันทั้งหมด และบางทีก็อาจจะมี live visual ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นสด ๆ ด้วยวิธีเดียวกันเพื่อให้เข้ากับดนตรีที่กำลังบรรเลงอยู่ กระบวนการทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นัก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผู้ริเริ่มการใช้โค้ดในการเขียนเพลงมาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี
ย้อนไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกคนรู้จัก Alan Turing ในฐานะหนึ่งในโปรแกรมเมอร์ที่สามารถสร้างเครื่อง Enigma หรือคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ๆ ที่ช่วยดักจับการส่งสัญญาณของฝ่ายอักษะ และทำให้ฝั่งสัมพันธมิตรสามารถพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะในสงครามได้ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือเขาเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเขียนโน้ตดนตรีขึ้นมาได้ช่วงปี 1950s
นอกจากนี้แล้ว ในปี 1970s แนวคิดการใช้อัลกอริธึมในดนตรีถูกนำไปพัฒนาครั้งแรกในแวดวงดนตรีอิเล็กทรอนิกโดย Brian Eno ที่เริ่มทำดนตรีแนวทดลองและแอมเบียนต์ขึ้นมา ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานของเขาก็มีอิทธิพลอย่างมากในแวดวง rave ยุค 90s ที่มีศิลปินคนสำคัญ ๆ อย่าง Farmers Manual, Autechre และ Aphex Twin ที่พวกเขามีความตั้งใจสร้างเพลงอิเล็กทรอนิกที่บีตไม่เป็นลูปซ้ำกัน รวมถึงเพลง drum and bass (หรือ happy hard core ในยุคแรก ๆ) ก็มีการเขียนโค้ดลงไป จนต่อมาก็เกิดเป็น glitch music ที่ใช้หลักการคล้าย ๆ กัน
ในเวลาต่อมาก็มีศิลปินและโปรดิวเซอร์ดนตรีอิเล็กทรอนิกหลายคนที่ยังยึดหลักการอัลกอริธึมและหาทางพัฒนารูปแบบการใช้งานของมันเรื่อย ๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการสร้างดนตรีอิเล็กทรอนิกจากซอฟต์แวร์ตามปกติเป็นการสร้างกำแพงที่จำกัดกรอบความคิดสร้างสรรค์ระหว่างคนทำเพลงและซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเหล่านั้น แต่ถ้าคนทำเพลงสามารถหยิบเอาอัลกอริธึมเหล่านั้นมาเขียนโน้ตลงไปทีละตัว ๆ ด้วยมือของพวกเขาเอง มันจะช่วยทลายข้อจำกัดนั้นลง และช่วยส่งเสริมกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ไปได้อีกขั้น โดย Alex McLean และ Nick Collins เป็นคนที่ทำให้อัลกอเรฟถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 2012 ที่เมืองเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ โดยพวกเขามีเป้าหมายจะทำให้ movement นี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
Alex McLean เริ่มทำงานที่แรกตอนปี 2000 และตอนนั้นเขาก็เก็บเงินซื้อซินธิไซเซอร์ตัวแรกในชีวิตได้ แต่แล้วเขาก็เกิดความคิดว่า ‘ไหน ๆ ก็ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์แล้ว ทำไมถึงไม่เขียนโค้ดขึ้นมาเองแล้วควบคุมให้มันสร้างเสียงต่าง ๆ จากนั้นค่อยมาดูว่าข้อมูลที่ป้อนเข้าไปมันจะถึงขีดจำกัดตอนไหน’ ซึ่งขณะนั้น Adrian Ward เพื่อนของเขาก็สร้าง visual art ด้วยการเขียนโค้ด รวมถึงทดลองสร้าง interface สำหรับเขียนเพลงด้วยโค้ด นั่นเลยทำให้พวกเขาและ Dave Griffiths ตัดสินใจตั้งวง Slub ขึ้นมา และทำเพลงจากการเขียนโค้ดอย่างจริงจัง แต่ตอนที่พวกเขาเริ่มทำในช่วงแรก ๆ คนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการเขียนโปรแกรมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการใช้สร้างสรรค์ได้ ต่อมาพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากการได้ฟัง Autechre อิเล็กทรอนิกดูโอ้จากแมนเชสเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ตัวเองเขียนขึ้นมาเองในการทำเพลงแดนซ์ นั่นทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน
“ผมว่ามันคือการสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมในดนตรีที่เชื่อมเอาความรู้สึก ความคิด และการเคลื่อนไหวของเราเข้าด้วยกัน แล้วมันเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคมที่ว่าหลาย ๆ คนกลัวเรื่องอัลกอริธึม หรือการเก็บข้อมูลในโลกที่ big data สามารถจะทำอะไรกับชีวิตประจำวันของเราก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าจริง ๆ แล้วอัลกอริธึมมันมีอยู่หลายประเภทมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้มันทำอะไร ซึ่งอันนี้เราใช้มันในการสร้างสรรค์ดนตรี” McLean ว่า “เอาจริงนะ ดนตรีอัลกอริธึมมันเป็นอะไรที่เป็นนามธรรมมาก ๆ มันไม่ใช่แค่การเขียนโค้ดลงไปเฉย ๆ แต่มันมักจะได้ขั้นตอนหรือแบบแผนอะไรขึ้นมาเพื่อให้เราได้คิดต่อว่าจะสร้างเสียงอะไรต่อไป”
เช่นกันกับ Alexandra Cárdenas หรือ tiemposdelruido นักประพันธ์เพลงคลาสสิกที่หันมาสนใจฟรีซอฟต์แวร์สำหรับ live coding จากการเหนื่อยหน่ายกับซอฟต์แวร์ทำเพลงที่ต้องจ่ายในราคาแพง แล้วต้องมาพบกับข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถสร้างเสียงที่เธอต้องการ และมองว่าอัลกอเรฟสามารถทลายขอบเขตที่ดนตรีเคยมี ทั้งนี้เธอยังมีความเชื่อคล้าย ๆ กันกับ McLean ว่าอัลกอเรฟเป็นเรื่องของรสนิยม สุนทรียศาสตร์ และความชอบส่วนตัวของแต่ละคน เพราะพลังของศิลปะไม่ได้ถูกกำหนดโดยเครื่องมือที่ใช้ แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ศิลปินนั้น ๆ อยากจะสื่อสารออกมามากกว่า เพราะก็มีศิลปินอัลกอเรฟบางคนที่ไม่ได้เขียนโค้ดขึ้นมาสด ๆ อย่าง Dane Law ใช้วิธีการบันทึกเสียงการอิมโพรไวส์ด้วยอัลกอริธึมก่อนนำมาแสดงสด โดยเขาเรียกขั้นตอนนี้ว่า ‘aleatoric processes’ นี่ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าอัลกอเรฟคืองานศิลปะที่ไม่จำกัดรูปแบบ เพราะแม้แต่ภาษาหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้เขียนโค้ดอย่าง SuperCollider, TidalCycles, Gibber, Extempore, IXI Lang, puredata, Max/MSP, Fluxus, Sonic Pi, FoxDot หรือ Cyril ก็เป็นการเลือกใช้ตามแต่ความถนัดของแต่ละคน บางคนถึงกับเขียนโปรแกรมสำหรับทำ live coding ขึ้นมาเองด้วยซ้ำ
“ถ้าให้เทียบกับสิ่งที่คนพอรู้จักคือการเขียนโปรแกรมแบบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์หรือวิศวะคอม ฯ ซึ่งแนวคิดของวิศวะเนี่ย เขาเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง แต่ live coding เหมือนเป็นการสร้างอะไรที่มันวุ่นวายขึ้นมาแล้วตบให้ลงเป็นแพตเทิร์น นี่คือสิ่งที่ต่าง แล้วเรายังต้องยอมรับความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะบั๊กเพราะความที่มันเป็นคอม ฯ บางทีถ้าเขียนผิดก็ล่มได้ มันเลยท้าทายว่าคุณกล้าทำอะไรแผลง ๆ หรือเปล่า เพราะนี่คือการสร้างปัญหาชัด ๆ” กิจ—กิจจาศักดิ์ ตริยานนท์ หรือ KijJazz Monotone เล่าถึงคอนเซปต์ของ live coding ให้เราฟัง เขาคือหนึ่งในนักดนตรีที่สนใจการเขียนโค้ดขึ้นมาเป็นเพลง ซึ่งอาจจะเป็นคนแรก ๆ ของบ้านเราที่เริ่มทำเพลงอิเล็กทรอนิกลักษณะนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อน “ความมันของ live coding คือนักดนตรีเขาไม่ได้เตรียมแบบนั้นจากที่บ้านแล้วแสดงแบบเดิมเป๊ะ ๆ เขาสามารถเขียนโปรแกรมตามคนดูได้ สามารถเปลี่ยน strategy ตามอารมณ์ได้เลยตรงนั้น improvise มาก อันที่จริง live coding มันก็เหมือนการเปลี่ยนเครื่องดนตรีที่เราใช้สื่อสารเพลงของเรานั่นแหละ จากแค่การกดซินธ์ เล่นกีตาร์ ก็กลายมาเป็นการเขียนโค้ดลงไป”
ด้วยความที่การเขียนโปรแกรมเป็นงานอดิเรกตั้งแต่เด็กของเขา บวกกับการมาทำงานด้านดนตรี กิจจึงอยากจะลองเขียนโปรแกรมสำหรับทำดนตรีด้วย ต่อมาเขาก็เริ่มมองหาระบบหรือภาษาที่ช่วยในการเขียนโปรแกรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างเสียง ทั้งสำหรับการแสดงดนตรีอิเล็กทรอนิกสด ๆ และการทำ sound design ของงานเบื้องหลัง รวมถึง open source ต่าง ๆ ที่คนทั่วโลกช่วยกันพัฒนา ทำให้เขาพบว่าสังคมนี้เปิดกว้างและเป็นที่สำหรับทุกคนจริง ๆ “เราชอบในไอเดียของ live coding เพราะเขาเหมือนเป็นชุมชนที่ซัพพอร์ตกันเอง ทุกคนจะแชร์กัน และเปิดให้ทุกคนเข้าไปศึกษาแล้วลองเล่นได้ มันไม่เหมือนยุคก่อนที่ความรู้พวกนี้เป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม พวกมหาลัยต่าง ๆ ที่อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ที่เขาทำวิจัยเรื่องเสียงหรือดนตรี เขาจะใช้พวกนี้ในการเรียนการสอน มีรายงานการศึกษาออกมาตลอดเวลา”
ในปี 2003 มีการเสวนาของกลุ่มคนที่ทำ live coding เกิดขึ้นที่ฮัมบูกร์ เยอรมนี พวกเขาเริ่มเข้ามาแลกเปลี่ยนทักษะและร่วมศึกษาการเขียนเพลงด้วยโค้ดกัน จนเกิดขึ้นมาเป็นคอมมิวนิตี้ที่ชื่อ TOPLAP ขึ้นมาและกลายเป็นองค์กรนานาชาติสำหรับคนที่อยากพัฒนาให้การเขียนโปรแกรมสามารถนำมาใช้แสดงดนตรีสดได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งในเว็บไซต์ http://toplap.org ก็เป็นแหล่งรวมบทความและข่าวสารทุกอย่างของ live coding ทั้งงานด้านเสียง งานด้านภาพ รวมถึงรวบรวมฟรีซอฟต์แวร์สำหรับผู้ผลิตงาน แถมยังระบุตารางอีเวนต์ live coding ทั่วโลกไว้ในเว็บไซต์นี้ด้วย
“ซอฟต์แวร์ที่พวกเราใช้ส่วนใหญ่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ซึ่งพอฟรีแล้วเราก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่แชร์มันกับคนอื่น ๆ เพราะโค้ดมันก็เป็นภาษาหนึ่งที่ใช้สื่อสารได้เหมือนกัน และมันมีภาษาหลายแบบมาก ถ้าเราไม่แชร์ภาษาเหล่านี้กับคนอื่นมันก็ไม่ทำให้เกิดความหมายใหม่ ๆ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร” Renick Bell ศิลปินอัลกอเรฟกล่าว
ด้วยการขยายตัวของชุมชนคนทำ live coding เริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีบางคนเริ่มคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขาจะสร้างจุดร่วมระหว่างวิถีแบบแฮคเกอร์ กีคเทคโนโลยี และคนที่ชอบการเข้าคลับเข้าไว้ด้วยกัน นี่จึงทำให้อัลกอเรฟเกิดขึ้นมาต่อยอดแนวคิดที่เล่ามาข้างต้น และความนิยมนี้เองก็ทำให้มีเทศกาลดนตรีอัลกอเรฟโดยเฉพาะที่ชื่อ ‘Algomech’ ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นปีที่สามแล้ว (Algomech ปีนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 16-19 พฤษภาคม ที่เมืองเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ) นอกจากจะมีปาร์ตี้อัลกอเรฟแล้ว พวกเขาจะนำเสนอศิลปะอื่น ๆ ผ่านรูปแบบของโค้ด หุ่นยนต์ และประดิษฐกรรมใหม่ ๆ ภายในงานนี้ด้วย
Antonio Roberts หรือ hellocatfood visual artist จากเบอร์มิงแฮมที่ทำงาน glitch art มาตั้งแต่ปี 2009 ก็ได้มารู้จักกับอัลกอเรฟและร่วมแสดงไปพร้อม ๆ กับศิลปินที่ทำดนตรี เล่าความรู้สึกของเขาที่มีต่อ live coding ว่า “ก็เหมือนกับที่ผมชอบคอมพิวเตอร์เวลาที่มันสามารถทำอะไรได้โดยอัตโนมัตินั่นแหละ แค่คราวนี้ผมอยากที่จะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของมัน แล้วยึดการควบคุมทั้งหมดมาเป็นของผมเอง นั่นทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมชอบ live coding คือทุกอย่างเกิดขึ้นมาจากการทำมันสด ๆ ณ เวลานั้น”
สิ่งที่เป็นตัวชูโรงของอัลกอเรฟคือการแสดงสด บทเพลงที่คุณจะได้ยินอาจจะมีทั้ง drum and bass, dubstep, glitch music, math, techno, tech house, ambient หรือแม้แต่ฮิปฮอป ตามแต่ว่าศิลปินคนนั้น ๆ ต้องการจะนำเสนออะไร บางทีมันก็อาจทำให้คุณเต้นตามไม่ถูก แต่คุณจะรู้สึกเชื่อมโยงกับคนตรงหน้าคุณได้อย่างน่าประหลาด เช่นกันกับที่หนึ่งในทีมงาน Fungjaizine ของเราเคยได้รับชม จิม—กานต์ปพนธ์ บุญพุฒ หรือ The ███████ (The Black Codes) แสดงสดที่ NOMA ก็บอกเล่ากับเราแบบนี้ เพราะไลฟ์ในช่วงหลังของพวกเขาไม่ใช่การใช้ซินธิไซเซอร์ แต่เป็นการ live coding และมีการฉายสิ่งที่เขาเขียนขึ้นมาลงไปยังผนังโล่ง ๆ เบื้องหลังเขา
“นี่เป็นอีก era นึงของ The ███████ เรากำลังตัดสินใจว่าจะไปใน direction ไหน แต่ตอนนี้กำลังเขียนโปรแกรมของตัวเองไว้เล่นเอง ก่อนหน้านี้เราเริ่มจากการใช้ Sonic Pi แล้วรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ไม่ค่อยใช่ทาง ก็เลยหาใหม่และไปเจอกับ TidalCycles ซึ่งเป็นอะไรที่ถนัดมากกว่า” จิมเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “สำหรับเรา สิ่งที่ทำให้โชว์อัลกอเรฟน่าสนใจคือมันมีหลายมิติ เรื่องเสียงอาจจะไม่ต่าง ไม่มีอะไรที่ดีกว่าอะไร แต่มันเป็นการเข้าถึงดนตรีในอีกรูปแบบที่พ่วงมาด้วยวิธีคิดบางอย่าง ตามแต่ลักษณะของเครื่องมือที่เรามี ตอนโชว์ก็วางแผนให้มีลำดับขั้น ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เปรี้ยงออกมาเป็นโค้ดเลย คนดูก็จะพอเก็ตว่าเสียงที่เราสร้างมันเริ่มจากอันนี้แล้วป้อนโค้ดไปจนซับซ้อนขึ้น คล้าย ๆ modular คนแสดงคือคนที่เป็นผู้ฟังด้วย มันจะโต้ตอบกันระหว่างเรากับเครื่องมือของเราที่พอเล่นไปพักนึงแล้วจะให้แนวคิดแบบนึงกลับมา แล้วเราก็ต้องโยนไอเดียเพิ่มลงไป”
เขาได้รู้จักกับ live coding เมื่อ 2-3 ปีก่อนจากอัลกอริธึมอีกเช่นกัน แต่เป็นอัลกอริธึมของ Facebook ที่ได้ suggest รูปภาพขึ้นมาบน news feed ให้เขาได้ตามต่อไปเรื่อย ๆ จนไปเจอกับวง Slub ของ Alex McLean ซึ่งทำให้เขาสนใจศาสตร์แห่งอัลกอเรฟขึ้นมาและเริ่มศึกษาด้วยตัวเองเพราะเขาไม่มีความรู้ของการเขียนโปรแกรมมาก่อนเลย “ก็ต้องเป็นคนกีคประมาณนึง”
จากการคุยกับจิม ทำให้เราพบว่ามีศิลปินอัลกอเรฟในไทยอีกหลายคน อย่าง บ๊อก—ขจีศักดิ์ สอาดศรี เดิมทีเขาเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิก ที่รู้สึกว่าแนวคิดของของการเขียนเพลงหยุดนิ่งมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคโรแมนติก แต่วันนึงเขาไปเจอนักประพันธ์เพลงที่ชื่อ Iannis Xenakis ที่ใช้ห่วงโซ่มาร์คอฟ (Markov Chains) มาทำเป็นเพลง และทำให้เขารู้จักกับการเขียนเพลงโดยใช้อัลกอริธึม ต่อมาเขาก็ได้พบว่านักดนตรีสายนี้คือคนวางรากฐานเทคโนโลยีดนตรีที่ใช้ในปัจจุบัน อย่างสถาบันดนตรี IRCAM หรือ CCRMA ที่มีคนเก่ง ๆ อย่าง Ge Wang ก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างดี
“เหมือนกับที่ค้นพบเครื่องมือในยุคสำริด เหมือนกับเรารู้จักการเพาะปลูกในยุคเกษตรกรรม เหมือนกับการค้นพบเครื่องจักรกลในยุคอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงศิลปะและการมองเห็นโลกของเราไปโดยสิ้นเชิง เปิดประตูสู่คำถามใหม่ ๆ ซึ่งในแต่ละยุคก็มีภาพสะท้อนออกมาจากศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นยุคมืดที่ศาสนาเรืองอำนาจ เพลงทุกเพลงถูกแต่งให้พระเจ้า ยุคเรืองปัญญาที่ดนตรีมุ่งเข้าหาความสมบูรณ์ ภาพของ Georges Seurat ที่สะท้อนการมองโลกแบบยุคอุตสาหกรรม ดนตรี ของ Claude Debussy ที่แสดงให้เห็นแนวคิดของยุคล่าอาญานิคม dance music หรือดนตรีอื่น ๆ คือการสืบทอดองค์ความรู้เดิมของศิลปะในยุคเก่า สิ่งเหล่านี้พยามสร้างรูปแบบในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะพื้นที่หรือเวลา แม้ว่ามีหลากหลายกระบวนการ แต่จุดมุ่งหมายคือผลลัพธ์ของการสร้างรูปแบบครับ มาถึงยุคศตวรรษที่ 21 อัลกอริธึมเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมคิดว่า algorithmic music คือดนตรีที่นำเสนอสติปัญญาของยุคเราได้ดีที่สุดแล้ว” บ๊อกยังบอกเราอีกว่า ขณะนี้เขากำลังรวบรวมตัวนักดนตรีอัลกอเรฟเพราะหวังว่าในอนาคตเราอาจจะมีเทศกาลดนตรีอัลกอเรฟให้ได้ชมกันแบบที่เชฟฟีลด์บ้าง
ความไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยีและการสร้างสรรค์สามารถดึงเอาแง่มุมใหม่ ๆ ของดนตรีออกมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ในโลกที่ทุกคนเชื่อว่าเทคโนโลยีจะกันให้มนุษย์แยกห่างจากกันไปทุกที Algorave อาจจะเป็นอีกความหวังที่ทำให้เรากลับมาเชื่อมต่อ และเกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นอีกครั้ง
แนะนำศิลปินอัลกอเรฟให้ไปฟังกันต่อ
yaxu (Alex McLean)
heavy lifting (Lucy Cheeseman)
kindohm (Mike Hodnick)
Joanne Armitage
ALGOBABEZ
Renick Bell
Varut_O
The ███████ (The Black Codes)