ม่วนโดยมิได้นัดหมาย? ทำไมวงจากแอฟริกา หรือละติน ถึงคล้ายหมอลำขนาดนี้!?
- Writer: Montipa Virojpan
- Visual Designer: Tas Suwanasang
ในหลาย ๆ ครั้งที่เราฟังดนตรีโลก (world music) ที่ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน ทวีปไหน ก็จะพบกับความน่ามหัศจรรย์ของเสียงเพลงเหล่านี้ที่จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งเสมอ ยิ่งถ้าได้ฟังเพลงจากทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกัน เราจะรู้สึกว่า ทำไมเสียงเครื่องดนตรี โครงสร้างเพลง จังหวะ หรือวิธีการร้อง มันละม้ายคล้ายคลึงกับหมอลำทางภาคอีสานจังเลย
เรื่องนี้มีเหตุผลแบบบังเอิญ ๆ ที่ก็ไม่บังเอิญซะทีเดียว
ย้อนกลับไปตั้งแต่จุดกำเนิดของเพลงแอฟริกันกับเพลงหมอลำ จุดที่ทำให้มีความคล้ายคลึงกัน เพราะบริบทในสังคมของทั้งสองพื้นถิ่นนี้มีความใกล้เคียงกันอยู่ คนไทยในภาคอีสาน และคนในทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่ในพื้นที่ธุรกันดาร แห้งแล้ง พบเจอกับความลำบาก ปัจจัยจากสภาพแวดล้อมนี้เองที่ทำให้เกิดแนวเพลง หรือการเรียบเรียงดนตรีดังที่เราได้ยินกัน โดยคนทั้งสองคนเผ่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางชาติพันธุ์แต่อย่างใด
“ถ้าพูดภาพรวมดนตรีแอฟริกันกับหมอลำ อาจจะไม่ได้เหมือนกันมาก แต่คอนเซ็ปต์การเล่าเรื่องใกล้เคียงกัน คือเล่าเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน แต่ถึงแม้ว่าชีวิตของพวกเขาลำบาก แร้นแค้น ก็ไม่จำเป็นต้องทำแต่เพลงท่วงทำนองเศร้าสร้อย สังเกตได้จากเพลงส่วนใหญ่ของอีสาน หรือแอฟริกัน จะทำออกมาเป็นเพลงสนุก มีจังหวะครื้นเครง เพราะพวกเขาต้องการสร้างความสนุกมาเพื่อปลอบประโลมชีวิต” ต้นตระกูล แก้วหย่อง อาจารย์วิชาดนตรีร่วมสมัย สาขาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล หรือที่พวกเรารู้จักเขาในฐานะศิลปินเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน Tontrakul, Asia 7 และ Nisatiwa เล่าให้เราฟังถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เพลงจากสองทวีปมีความใกล้เคียงกัน
เรื่องนี้ก็ชวนให้เรานึกถึงกรณีที่สงสัยว่า เพลงนั้น ทำไมเหมือนเพลงนี้จัง ก็อปกันมาหรือเปล่า คุณต้นก็เล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะแอฟริกันหรือหมอลำ แต่ต้นกำเนิดของเพลงที่มีมาแต่โบราณ สามารถใช้คำนิยามว่า ‘ร้อยเนื้อ ทำนองเดียว’ เพราะเพลงก็ถูกนำมาเล่าต่อ ๆ กันปากต่อปาก เปลี่ยนผ่านตามกาลเวลาและถิ่นที่ที่มันเดินทางไปเรื่อย ๆ
“เรื่องโครงสร้างบทเพลง เสียงของดนตรีแอฟริกันกับดนตรีอีสานจะใช้ระบบเสียง 5 เสียง เรียกว่า ‘pentatonic scale’ (โด เร มี ซอล ลา) บางทีเป็นระบบ 6 เสียง 7 เสียงก็มี ซึ่งความจริงระบบพวกนี้ก็ใช้กันทั่วโลก แต่บังเอิญดนตรีอีสานกับแอฟริกัน มีการจัดวางโน้ต วางเมโลดี้ใกล้เคียงกัน แล้วเอกลักษณ์ของดนตรีแอฟริกันกับอีสานคือการมี improvisation ในดนตรี รวมไปถึงการร้องด้วย”
ที่เสียงดนตรีสองทวีปนี้ใกล้เคียงกัน มาจากวัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรี?
“จริง ๆ มันก็มีความใกล้เคียงกันอีก วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีในแถบ South East Asia จะใช้ไม้ไผ่ หรือพวกไม้เนื้อแข็งที่ไม่ได้แข็งมาก และจะมีเครื่องโลหะที่ถูกนำมาทำเป็นเครื่องดนตรีตระกูลฆ้องทั้งหมด รวมถึงกลองที่ใช้ขึงกับหนังสัตว์ด้วย แต่เรื่องจังหวะ แพตเทิร์นไม่ได้ซับซ้อนเกินไป ส่วนเครื่องดนตรีแอฟริกาจะทำมาจากไม้เนื้อแข็งเป็นหลัก อย่างพวก baraphone หรือ ระนาดแอฟริกัน ก็สร้างขึ้นมาเพื่อเล่นกับวง อาจมีเครื่องดนตรียิบย่อยอย่างคาลิมบา แต่เครื่องดนตรีแอฟริกาที่เด่นที่สุดคือ percussion หรือพวกกลองนั่นเอง”
จนกระทั่งเกิดโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเดินทางข้ามผ่านหากัน จะด้วยการค้าขาย การอพยพ หรือสงครามก็ตาม ก็มักจะพาวัฒนธรรมเข้ามาทำความรู้จักในอีกซีกโลกเสมอ ดนตรีก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่นกันกับอาหาร หรือภาษา
“อย่างที่เรารู้ว่าดนตรีแอฟริกันมีต้นกำเนิดที่ลึกพอสมควร แต่ดนตรีแอฟริกันที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมดนตรีของโลกคือฝั่ง West Africa แต่กว่าที่มันจะเดินทางมาถึงอเมริกาหรือยุโรป มันก็ถูกผสมผสานเข้ากับดนตรีมุสลิมหรือ Middle East ไม่มากก็น้อย ตรงนี้มันเลยเกิดการเชื่อมจากระบบ 5 เสียง เป็น 6 7 เสียง อันที่จริงดนตรีอย่างอื่นก็มี 7 เสียง แต่ไม่ได้เรียง major scale (โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด) ทำให้เพลงฝั่งแอฟริกันตะวันตกบางที่เหมือนหมอลำ บางที่ไม่เหมือน แล้วพอพวกนี้อพยพไปอเมริกากลาง แคริบเบียน เซาธ์อเมริกา ก็โดนเอาไปผสมกับดนตรีท้องถิ่นละตินจนเกิดเป็นแนวใหม่ ๆ ขึ้นมา ถ้าชัดที่สุดยกให้แถบโคลัมเบีย หรือเปรู ที่มีแนวเพลง ‘cumbia’
“จนมาถึงฝั่งหมอลำ สำเนียงพิณในยุค 50s – 60s จะเริ่มเอาดนตรีตะวันตกมาผสมผสาน ทั้งฟังก์ ไซเคเดลิก ร็อก เพราะก็มีวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามา จนทำให้เกิดแนวดนตรีที่ทั่วโลกเรียกกันว่า ‘Thai funk’ บางทีจะมีดนตรีจากฝั่งละตินที่เป็น African fusion มาแล้วประมาณนึง พวก cumbia, calypso ซาวด์ใกล้ ๆ กันผ่านมาทางฟิลิปปินส์ เราก็เอามาดัดแปลงทำให้ไส้ในอาจจะเป็นลูกทุ่ง หมอลำ ร้องเป็นภาษาไทยอีสานก็ได้”
เข้าใจกันไปประมาณนึงแล้วถึงความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ เราเลยจะขอรวบรวมตัวอย่าง world music จากที่ต่าง ๆ ที่มีดนตรีละม้ายคล้ายกับหมอลำบ้านเรา เพลงร่วมสมัยที่ได้อิทธิพลจากประเทศข้างเคียงของไทย ไปจนถึงวงที่ได้รับอิทธิพลจากหมอลำยุคก่อน มาให้ลองฟังกัน
Songhoy Blues
วงดนตรีสนุก ๆ จากประเทศมาลี ที่มีพื้นหลังน่าเจ็บปวด เดิมพวกเขาเป็นวงดนตรีที่เกิดขึ้นมาจากการถูกขับไล่ให้ออกจากบ้านเกิดที่อยู่ทางตอนเหนือใกล้ Timbaktu ให้มาอยู่ที่เมืองหลวงคือ Bamako ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เพราะกลุ่มเคร่งศาสนา Ansar Dine บังคับใช้กฎหมายอิสลาม โดยแบนบุหรี่ สุรา และดนตรีที่เมืองนั้น พวกเขาเลยเลือกจะสร้างดนตรีขึ้นมาใหม่โดยคงไว้ซึ่งบรรยากาศของเมืองตอนเหนือที่เขาจากมาให้ผู้อพยพได้รำลึกถึง โดยใช้ภาษาของชาว ‘Songhoy’ ชนพื้นเมืองฝั่งแอฟริกันตะวันตก เล่าเรื่องต่าง ๆ ผ่านจังหวะกลองพื้นเมือง ร่วมด้วยริฟกีตาร์บลูส์ที่เพิ่มลูก improvise เฉพาะตัว และการร้องเอื้อนที่คล้ายการร้องลำ
Ibibio Sound Machine
เป็นอีกหนึ่งวงอังกฤษที่เข้าข่าย เมื่อ Eno Williams นักร้องนำใช้เวลาช่วงวัยเด็กกับครอบครัวที่ไนจีเรีย ทำให้เธอหยิบเอาวัฒนธรรมส่วนนั้นมาใส่ในเพลง ฟังแล้วคล้ายกันตรึม หรือเพลงภาษาเขมรที่มักพบในอีสานตอนใต้อยู่เหมือนกัน ส่วนดนตรีก็เน้นความเป็นโมเดิร์นฟังก์ ดิสโก้ อิเล็กทรอนิก้า 80s รวมถึงจังหวะบางทีก็มีกลิ่นของ drum n bass 90s และใส่รากของ Afrobeat ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดนตรีป๊อปอเมริกันหลาย ๆ เพลงในยุคนี้ ฟังไปฟังมาก็ได้อารมณ์เหมือนลูกทุ่งแดนซ์บ้านเรา
Dengue Fever
สองพี่น้องจากลอสแอนเจลิส ได้ค้นพบกับดนตรีเขมรยุค 60s 70s ที่ได้อิทธิพล psychedelic rock จากบ้านเกิดของพวกเขาเองโดยบังเอิญ พวกเขาเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์และพบว่าสมัยก่อนวงการดนตรีร็อกแอนด์โรลที่กัมพูชารุ่งเรื่องมาก จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงการปกครองของเขมรแดง ศิลปินเหล่าถูกสังหาร และถูกบังคับให้สูญหาย จนบทเพลงเหล่านั้นได้สูญหายไป พวกเขาเลยตั้งวงขึ้นมาและเริ่มคัฟเวอร์เพลงเหล่านั้นอีกครั้ง ประกอบกับ Chhom Nimol นักร้องชาวกัมพูชาที่เติบโตมาในค่ายผู้ลี้ภัยเขมรแดงในประเทศไทย เธออพยพมาอยู่ที่อเมริกาและร้องเพลงอยู่ตามบาร์และร้านอาหารใน Long Beach ซึ่งต่อมาวงก็ได้มาพบเธอ และชวนให้มาร้องเพลงภาษาเขมรและใส่ท่วงทำนองแบบเพลงพื้นบ้านเขมร ซึ่งมีความใกล้เคียงกับเพลงอีสานตอนใต้ของไทยด้วย
อ่านต่อเรื่องบทเพลงก่อนเขมรแดง They Sang Before They Were Killed เรื่องราวบางเสี้ยวของบทเพลงกัมพูชายุคก่อนเขมรแดง
Khruangbin
ไม่พูดถึงวงนี้ไม่ได้ วงจาก Houston, Texas ที่พวกเขาบอกเองว่าได้แรงบันดาลใจจากดนตรี 60s มาเต็ม ๆ เพราะมีการผสมผสานเข้ากับเพลงกรูฟเบสหนักหน่วง ความ psychedelic surf rock รวมไปถึง Thai funk ที่พวกเขาค้นพบจากบล็อก ‘มนต์รักเพลงไทย’ ที่ทำให้วงประทับใจในความแปลกใหม่ตรงนี้ ขนาดชื่อวงยังตั้งเป็นภาษาไทย อ่านว่า ‘เครื่องบิน’ แล้วยังมีเพลงที่ชื่อ เดินกะลา เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองแบบเพลงไทยสมัยก่อนชัดเจนมาก แต่งานชุดหลัง ๆ พวกเขาเขยิบไปอิน world music ฝั่ง middle east พวก Iranian กันแล้ว
อ่านต่อ Iranian Revolution ความเรืองรองของดนตรีที่หายไปกว่า 40 ปีหลังการปฏิวัติ
ถ้ายังม่วนกันไม่พอ ขอแนะนำเพลงมีมที่จะหลอนหูคุณไปอีกพักใหญ่ ๆ Mexican El Sonidito ของ Hechizeros Band ที่ชาวเน็ตเรียกกันว่า ‘Mexican Beep Song’ ฟังทีแรกถึงกับสะดุ้งว่าจะไปเซิ้งรถแห่กันที่ไหน หรือเพลง Rapidito ก็ลูกทุ่งมาก ๆ เพราะเสียงเครื่องเป่าทองเหลือง และจังหวะเคาะ cowbell ที่เราแทบจะลุกขึ้นเซิ้งไปด้วย
เนี่ยแหละคือความสนุกของการหาดนตรีใหม่ ๆ ฟัง ตอนนี้อินเทอร์เน็ตได้ให้สิทธิพิเศษในการท่องโลกกันแล้ว ก็เลือกใช้ให้คุ้มแพคเกจ เพราะแค่เพียงคลิกเดียว มันสามารถพาเราไปค้นพบกับอะไรที่คาดไม่ถึงได้เสมอ
ขอขอบคุณ ต้นตระกูล แก้วหย่อง
อ่านต่อ
มารู้จักกับ Rasmee หมอลำอีสานโซลจากเชียงใหม่ ก่อนพบกับเธอที่กรุงเทพ ฯ สิ้นเดือนนี้
TONTRAKUL ลำล่องหมอลำร่วมสมัยในดนตรีอิเล็กทรอนิก
คุยเรื่องดนตรีและวัฒนธรรมกับ The Paradise Bangkok Molam International Band
Yaan โลกแห่งดนตรีและจิตวิญญาณ