Article Guru

The 27 Club ตอนที่ 1 เงื่อนไขของอัจฉริยภาพทางดนตรีที่แลกมาด้วยความตาย

  • Writer: Geerapat Yodnil
  • Illustrator: Thanaporn Sookthavorn

โลกของเรามีความเชื่อมากมายที่เป็นสีสันคอยขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคนอยู่ และ ‘ศาสตร์ของตัวเลข’ ก็เป็นหนึ่งในความเชื่อยอดนิยมนั้น จึงทำให้มีการตีความหมายของจำนวนเลขไปต่าง ๆ นานา ให้ชีวิตสามารถหลบเลี่ยงความทุกข์เพื่อไปเจอกับความสุขได้อย่างปลอดภัย (เช่น เลข 9 มั่นคง เลข 13 โชคร้าย แตกต่างกันไปตามความเชื่อใครความเชื่อมัน บลา บลา บลา ) แต่ ! ในโลกของเสียงเพลง มีเลขอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็นมากกว่าความเชื่อและเหนือกว่าที่ความเป็นจริงจะพิสูจน์ได้ ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าตัวเลขจำนวนนี้จะทำให้มีความสุขหรือทุกข์ เพราะกว่าที่จะรู้ว่าตัวเลขนั้นมีอิทธิพลกับเราหรือไม่ เราก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมันไปแล้วตลอดกาล จำนวนนั้นคือ ‘27’ หรือในชื่อเต็มว่า ‘The 27 Club’ นั่นเอง

จากร่างไร้วิญญาณสู่คลับเฉพาะกลุ่ม

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ The 27 Club คือ นี่ไม่ใช่สารเสพติด ไม่ใช่สถานที่รวมตัวของกลุ่มชนใด และไม่ใช่วงดนตรีวงไหน แต่จริง ๆ แล้วมันคือ ‘ชื่อเรียก’ ของเหล่าศิลปินอัจฉริยะชื่อดังที่จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 27 ปี

ใช่ครับ คุณไม่ได้เข้าใจผิดหรอก 27 คลับมีแต่สมาชิกที่เป็นคนหนุ่มสาวอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น (เกือบทั้งหมดเป็นนักดนตรีร็อกสตาร์ผสมกับนักแสดงและศิลปินอีกนิดหน่อย) คลับนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1911 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (Anton Yelchin เป็นคนล่าสุดที่เข้ามาตอนปี 2016) เราเชื่อว่ามีสมาชิกหลายคนในนี้ที่ถึงแม้ใครไม่ใช่นักฟังเพลงตัวยงก็น่าจะรู้จักอย่าง Kurt Cobain, Amy Winehouse หรือ Jimi Hendrix เป็นต้น การมีอยู่ของคลับถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และน่าเศร้าของวงการดนตรี ที่คอยย้ำเตือนมาเสมอว่าโลกได้เสียโอกาสในการฟังเพลงดี ๆ อีกมากมายจากศิลปินเหล่านี้ไปตลอดกาล

จุดที่ทำให้ 27 คลับกลายเป็น ‘คำ’ ที่รู้จักอย่างกว้างขวางนั้น เริ่มขึ้นหลังจากการตายของ Kurt Cobain ในปี 1994 ตอนนั้นแฟนเพลงขี้สงสัยของเคิร์ทจำนวนหนึ่งเริ่มเชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับเหตุการณ์ของเหล่าศิลปินที่จากไปในช่วงต้นยุค 70s อย่าง Janis Joplin, Jim Morrison, Brian Jones และ Jimi Hendrix แล้วพบว่าทุกคนต่างจบชีวิตด้วยตัวเลขของ ‘อายุ’ ที่เท่ากันหมดเลย ! ไม่มีใครรวมถึงเราเองกล้ายืนยันว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของ ‘ความบังเอิญ’ และการมาถึงของ 27 คลับได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความเชื่อ’ ที่ดูไกลเกินกว่าที่จะเชื่อได้ในเวลาต่อมา ซึ่งต้องเล่าย้อนกลับไปที่ตรงนี้…

 

2017-07-27

 

โปรดปรบมือต้อนรับสมาชิกคนแรกของ 27 Club ด้วยครับ

ถ้าคุณรักการฟังเพลงเร็กเก้ คุณจะต้องรู้จัก Bob Marley เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเป็นคนเล่นกีตาร์และชอบฟังเพลงบลูส์คุณก็จะต้องรู้จัก Robert Johnson และเขาเป็นคนที่เข้ามาถึงคลับนี้ก่อนใครเพื่อนเลย

จอห์นสันมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1911 ไปจนถึงเดือนที่ 8 ของปี 1938 ก่อนที่จะทำบัตรสมาชิกเข้าสู่ 27 คลับอย่างเต็มตัว เขาเกิดในเมืองที่ชื่อ Hazlehurst ในรัฐ Mississippi ที่เดียวกับที่เป็นจุดกำเนิดของดนตรีที่เค้าครอบครองความเป็นตำนานเอาไว้อย่าง Delta Blues (ที่มีศิลปินดัง ๆ ในสายเดียวกันอย่าง Muddy Water และ John Lee Hooker) ซึ่งน่าจะตอบข้อสงสัยที่ว่าทำไมเขาถึงเล่นเพลงแนวนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญในระดับนึง ช่วงชีวิตของจอห์นสันเต็มไปด้วยความยากลำบาก เริ่มจากการเกิดมาในความสัมพันธ์นอกสมรสของ Julia Dodds กับ Noah Johnson ผู้เป็นพ่อและแม่ที่ภายหลังได้เลิกรากันไปจนทำให้เค้าต้องย้ายบ้านอยู่หลายครั้ง หลายหน พร้อมกับการมาถึงของพ่อเลี้ยงคนใหม่ในทุกครั้งที่ย้าย ส่วนชีวิตด้านการศึกษาก็ต้องยุติลงด้วยความสามารถทางการมองเห็นที่ย่ำแย่บวกกับความไม่เอาใส่ใจในการเรียนของตัวเขาเอง

แต่ในช่วงปลายของยุค 20s จอห์นสันกับวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้เริ่มเล่นกีตาร์เป็นครั้งแรก โดยมีแรงบันดาลใจในการเล่นจาก Charley Patton หรือที่ใครหลายคนต่างยกย่องให้เป็นบิดาแห่ง Delta Blues และศิลปิน blues guitar ในยุคเดียวกันอย่าง Willie Brown ความอัจฉริยะในการเล่นของจอห์นสันใช้วันเวลาที่สั้นมากสำหรับการพิสูจน์หากเทียบกับศิลปินหลาย ๆ คน พอเข้าช่วงปลายยุค 30s (อายุประมาณ 19) ก็ได้เล่นกับศิลปินบลูส์ชื่อดังมากมาย เช่น Robert Nighthawk, Elmore James, Honeyboy Edwards, Sonny Boy Williamson II จนฝีมือของเขากลายเป็นที่เฉิดฉายและเป็นที่อิจฉาสำหรับคนเล่นกีตาร์ในยุคนั้น อีกหกปีต่อมา (1936) ก็มีเพลงแรกเป็นของตัวเองในชื่อ Terraplane Blues (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพลงที่ขายดีที่สุดของ Vocalion ค่ายเพลงพิเศษในเครือของ Columbia Records) ก่อนที่จะมีเพลงชื่อดังมากมายอย่าง Cross Road Blues หรือ Sweet Home Chicago ตามมาทีหลัง วันสุดท้ายในชีวิตอันแสนสั้นของจอห์นสันเกิดอยู่ในเดือนสิงหาคม 1938 เขาได้บอกลาตัวเองด้วยการเล่นกีตาร์เป็นครั้งสุดท้ายในที่พักพร้อมกับการบรรเลงน้ำเมาที่อยู่ในขวดวิสกี้จนหนำใจ และสามวันต่อมาจอห์นสันก็ได้หยุดอายุขัยของตัวเองไปตลอดกาลด้วยตัวเลขที่ไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้กัน แต่คำถามคือ ถ้าหากความอัจฉริยะขนาดนี้เกิดมาจากการฝึกฝนเพียงอย่างเดียวจริง ๆ ทำไมเราถึงไม่เคยรู้จักจอห์นสันในแง่มุมของอัจฉริยะผู้มุมานะเลย ?

จำได้ไหมที่บอกว่าปี 1936 คือปีที่จอห์นสันมีเพลงแรกเป็นของตัวเองได้สำเร็จ แต่เบื้องหลังของความสำเร็จในตอนนั้นมีเรื่องราวประหลาด ๆ ซ่อนเร้นอยู่ เช่น จอห์นสันมักพูดอ้างอยู่บ่อย ๆ ว่าการเรียนรู้ในการเล่นกีตาร์ของเขามีที่มาจาก ‘ปีศาจ’ ในตัวของเอง และตลอดหลายปีที่ผ่านมาก่อนจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต เขามักมีพฤติกรรมไม่อยู่กับร่องกับรอย อารมณ์แปรปรวนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าคงไม่มีใครพิสูจน์ได้หรอกว่า ‘การขายวิญญาณให้กับปีศาจที่สี่แยก’ ของจอห์นสันเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น แต่สิ่งที่แน่นอนคือผู้คนมักมีความเชื่อว่าสมาชิกรุ่นต่อมาของคลับจะโยนให้เป็นเรื่อง ‘พันธสัญญา’ เช่นเดียวกับเรื่องราวของโรเบิร์ต จอห์นสัน

(อ่านเรื่องราวการทำสัญญากับปิศาจของเขาในแบบการ์ตูนได้ ที่นี่)

เป็นเพียงความบังเอิญหรือว่าเป็นสัญญาที่ต้องชดใช้ ?

Joseph Mazur นักคณิตศาสตร์และศาสตราจารย์จาก Marlboro College ให้คำอธิบายในเรื่องของ ‘ความบังเอิญ’ เอาไว้ว่า มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลยหากเรามีความเข้าใจหลักการความน่าจะเป็นในคณิตศาสตร์ที่มากพอ การเจอเรื่องที่ปกติธรรมดาในทุกวันทำให้การพบเจอสิ่งที่ต่างออกไปหรือที่เราเรียกกันว่า ‘ความบังเอิญ’ กลายเป็นเรื่องประหลาดน่าตกใจทั้ง ๆ ที่ก็เป็นแค่อีกเรื่องนึงที่ต่างออกไปจากเดิมเท่านั้นเอง

“คนเรามักเลือกที่จะใส่ใจ สังเกต และจดจำในเรื่องที่บังเอิญได้อย่างดีเสมอ แต่กลับไม่เคยใส่ใจเรื่องของความไม่บังเอิญที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา”

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความบังเอิญคือสิ่งที่เรา ๆ คิดกันไปเอง  

หลักการนี้ดูจะเข้าใจได้กับเลขอายุ 27 ที่มาพร้อมกัน แต่ความเชื่อในเรื่อง ‘การทำพันธสัญญากับปีศาจ’ (deal with the devil) ก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าสงสัยและยังไม่สามารถคลี่คลายได้อยู่ดี เพราะจริง ๆ แล้วนี่ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งมีใน 10 หรือ 20 ปี แต่กลับมีเรื่องเล่ามานานกว่าหลายร้อยปีแล้ว แต่เดิมนั้นเป็นเรื่องเล่าพื้นเพธรรมดาในเหล่าคติชนวิทยาและวรรณคดีจากทั่วโลก โดยมีเนื้อหาหลัก ๆ พูดถึงการทำสัญญาทั้งในรูปแบบลายลักษณ์อักษรและการปฏิญาณปากเปล่ากับซาตาน (satan) และปีศาจชั้นต่ำ (lesser demon) เพื่อทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนดวงวิญญาณ 1 ดวงกับความปรารถนาในรูปแบบต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเองเรื่องราวทั้งหมดก็มีต้นกำเนิดมาจากนิทานพื้นบ้านของคริสเตียนอีกที ซึ่งมีคำอธิบายความเป็นรูปธรรมในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติที่น้อยมาก แต่สิ่งที่ทุกคำบอกเล่าพูดตรงกันทั้งหมดคือผู้ที่ทำพิธีกรรมนี้จะต้องพบกับจุดจบของชีวิตทุกคน เราจะพาไปดูหนึ่งในบุคคลที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น ‘บรรพบุรุษ’ ของเหล่าสมาชิก 27 คลับกัน

Giuseppe Tartini (1692-1770) : จูเซปเป้ ตาร์ตินี่ ยอดนักประพันธ์และนักไวโอลินชาวอิตาเลียนบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์โลกดนตรี เพราะเขาคือผู้แต่งเพลง Il Trillo del Diavolo หรือรู้จักกันในชื่อ Devil’s Trill บทประพันธ์ไวโอลินโซนาตาชิ้นที่มีประวัติชวนให้รู้สึกขนลุกขนพองอย่างยิ่ง โดยทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นจากคืนหนึ่งในความฝันของตาร์ตินี่ ตอนช่วงปี 1765

le_songe_de_tartini_par_louis-leopold_boilly_1824-1การหลับใหลในวันนั้น พาให้หัวใจของตาร์ตินี่ได้พบกับบทเพลงไวโอลินโซนาตาที่ไพเราะที่สุดในชีวิตของเขา และพาดวงตาของตาร์ตินี่ไปพบกับปิศาจต้นตอกับเสียงเพลงนี้ ที่มอบบทเพลงแสนไพเราะนี้ให้เพื่อชีวิตการเป็นนักไวโอลินของเขาจะมีชื่อเสียง แต่แล้วทุกอย่างได้หายไป เมื่อตาร์ตินี่ตื่นขึ้น เขากลับไม่สามารถเขียนเพลงได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ได้ฟังมาจากในฝันเมื่อคืนเลย แต่ถึงอย่างไรก็ตามเพลงนี้ก็กลายเป็นที่น่าจดจำสำหรับโลก รวมถึงเรื่องราวอันพิศวงของตาร์ตินี่เองก็เป็นที่จดจำไม่แพ้กัน (อีก 5 ปีต่อมาตาร์ตินี่ได้จากโลกนี้ไปด้วยอายุขัย 27 ปี)

ทำไมต้อง 27 ?

จนถึงตอนนี้ยังคงไม่มีหลักฐานที่เป็นตัวชี้ชัดใด ๆ ว่าความหมายที่แท้จริงของการตายตอน 27 ของเหล่าสมาชิกจะสื่อถึงอะไร

“หรือจริง ๆ เลข 27 นั้นจะหมายถึงความโชคร้าย ?”

ก็ดูจะเป็นคำพูดไม่ถูกสักทีเดียว เพราะถ้าเราลองมองในรูปแบบความเชื่อของไทย ก็จะเห็นว่าเลขจำนวนนี้มีองค์ประกอบของ 2 และ 7 ที่หากนำมารวมกันจะได้ 9 ที่เป็นเลขแห่งความเจริญก้าวหน้าอย่างที่เราบอกไว้ในตอนต้นเรื่อง (ทำไมยิ่งพิมพ์ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองพูดเหมือนหมอแมน การิน) ซึ่งคนที่จะรู้เรื่องนี้ได้อย่างดีที่สุดก็คงจะเป็นพวกเขาและเธอผู้เป็นสมาชิกคลับที่ไม่มีวันกลับมาบอกอะไรใครได้อีกแล้ว    

ผู้คนสร้าง The 27 Club ขึ้นมาด้วยการตีความจากอายุขัย ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเป็นสมาชิก ผลงานของพวกเขาก็ยังคงเป็นที่จดจำและถูกพูดถึงมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลาย ๆ คนได้รับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตทั้งในแง่บวกและแง่ลบจากตัวตนของพวกเค้า หรือหลาย ๆ คนก็อาจจะมองแค่ว่า “เด็กพวกนี้มันก็แค่วัยรุ่นขี้ยาที่บังเอิญแต่งเพลงดังเท่านั้นหละวะ” แต่ไม่ว่าใครจะมองพวกเค้าด้วยมุมมองที่มีมิติที่ตื้นลึกหนาบางแค่ไหน เราบอกได้เลยว่าหลายคนในคลับล้วนแบกรับความเจ็บปวดไปด้วยเสมอก่อนที่จะได้กลายเป็นตำนานที่ตัวของเค้าเองก็อาจจะไม่ได้ต้องการเลย เจอกันใหม่ในตอนหน้าครับ

 

เครดิต

https://www.biography.com/people/robert-johnson-9356324

http://www.allmusic.com/style/delta-blues-ma0000002549

http://www.rollingstone.com/music/artists/robert-johnson/biography

https://www.facebook.com/thematterco/posts/1797890903759637:0

http://www.theoccultmuseum.com/5-true-stories-people-sold-soul-devil/

http://listverse.com/2010/05/10/10-people-who-sold-their-soul-to-the-devil/

http://www.allmusic.com/artist/giuseppe-tartini-mn0001182491/biography

 

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน