Article Guru

‘นี่มันยุคของพวกเราแล้วเว่ย!’ สำรวจเพลงก่อนยุค 2020 — Bedroom Studio, Gen Z และหลายปัจจัยที่ทำให้แนวเพลงเปลี่ยนไป

หลายครั้งที่เราสามารถใช้แนวดนตรีเป็นตัวบ่งบอกยุคสมัยได้ อย่างเช่น Motown, folk, psychedelic ก็เป็นตัวแทนของ 60s ส่วน glam rock, synth pop หรือ post punk เป็นหน้าตาของ 80s เพราะยุคก่อน มีการบุกเบิก genre ใหม่ที่มีอัตลักษณ์ในตัวสูง จนมาถึงยุคมิลเลนเนียลที่บางคนตั้งคำถามว่าแล้วอะไรคือแนวเพลงของยุคนี้เพราะสิ่งที่ได้ฟังมักจะเป็นการยำใหญ่เอาส่วนผสมต่าง มามิกซ์กันจนแทบไม่สามารถระบุแนวเพลงได้ กลายเป็นดนตรีแนวผสมผสานที่บางคนจะเรียกรวมว่าเป็น contemporary หรือ alternative ก็ตามที

แต่หลังการประกาศรางวัล Grammy Awards 2020 ก็เกิดข้อสังเกตมากมาย Billie Eilish ได้รับการเสนอชื่อมากที่สุดและคว้า 4 รางวัลใหญ่ของรายการ ยังไม่รวมไปถึงช่วงก่อนหน้าที่เทรนด์ดนตรีเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด กับ Youtube suggestion algorithm ที่แนะนำเพลงลักษณะนึงให้เราได้ฟังซ้ำวนอยู่บ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราค้นพบข้อสรุปบางอย่างที่ค่อนข้างจะแน่ใจได้แล้วว่า อะไรคือแนวเพลงของยุคปลาย 2010s ที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน และอาจคงอยู่ไปอีก 5 ปีหรือมากกว่านั้นก็เป็นได้

เทรนด์ดนตรีโลกตั้งแต่ช่วงปี 2010s เป็นต้นมา เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้ฟังทั่วโลก แผ่นเสียง ซีดี เทปคาสเซ็ต ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการฟังเสียงอีกต่อไป แต่ที่มันกลับมาเพราะเป็นเทรนด์ nostalgia ที่คนโหยหาของจากในอดีต และสุดท้ายคนก็เลือกทางสะดวกและรวดเร็วกว่า—ซึ่งก็ไม่ผิดเลย—คือการโหลดเพลงไว้ฟังในมือถือจากโค้ดที่แถมมาในไวนิลอีกที (เพราะผู้ผลิต provide options ที่ตอบพฤติกรรมผู้บริโภคเอง และคนที่เป็น audiophile ที่ฟังจากแผ่นจริง ๆ ก็ยังมีอยู่) ไม่ก็ฟังในสตรีมมิงที่ค่าสมาชิกก็ไม่ได้แพงเกินรับไหว แถมได้ฟังเพลงจากทั่วทุกมุมโลก เพราะจุดนี้อีกที่ทำให้คนเลิกฟังทั้งอัลบั้ม แล้วเปลี่ยนเป็นซิงเกิล ทั้งหมดสะเทือนมายังคนทำเพลงอีกทีที่ต้องออกผลงานมาเป็นเพลง ๆ และทำ pre-order แผ่นเป็น limited edition แทนที่จะวางจำหน่ายตามร้านทีละมาก ๆ แบบเมื่อก่อน จนกลายเป็นวัฏจักรหมุนเวียนอุตสาหกรรมที่ไหลเอื่อยตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว 

กับอีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ generation z ที่เป็นแรงขับเคลื่อนทางสังคมอันทรงพลัง พวกเขามีแนวโน้มที่จะรับข่าวสารข้อมูลใหม่ ได้รวดเร็วกว่าคนรุ่นอื่นเพราะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่รุดหน้า เพรียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือต่าง อันสะดวกสบาย และสามารถเรียนรู้ทักษะเฉพาะทางได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส เพราะคนรุ่นก่อนหน้าได้แบ่งปัน know how กับพวกเขาผ่าน wikipedia และ YouTube ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายดายและรวดเร็วกว่าห้องสมุดชุมชนเสียอีก จึงไม่แปลกที่เราจะพบเห็นบุคลากรทางดนตรีที่ประสบความสำเร็จและมีอายุน้อยลงแทบทุกวัน

โลกาภิวัตน์ทำให้พรมแดนทางวัฒนธรรมและข่าวสารทลายลง generation z สายดนตรีผู้ได้รับการตกทอดทางข้อมูลที่ล่องลอยอยู่ใน cloud storage จึงสามารถหยิบจับเอเลเมนต์ที่พวกเขาชื่นชอบมาปั้นแต่งเป็นดนตรีในแบบของพวกเขาเอง streaming service เองก็เป็นปัจจัยนึงที่ทำให้พบว่าโลกนี้มีแนวดนตรีมากมาย และคนหนึ่งคนก็สามารถชอบได้มากกว่าแค่แนวเดียว โดยเฉพาะกับแถบ similar artists ที่บางครั้งแนวเพลงของศิลปินที่แนะนำมาก็ไม่ใช่แนวเดียวกันกับที่เราฟัง แต่มีองค์ประกอบของดนตรีบางแนวเป็นส่วนผสมอยู่เหมือนกัน หรือบางครั้งก็เกิดจากการเทียบเคียงจากสถิติของกลุ่มผู้ฟังที่เข้าไปฟังงานของศิลปิน A ว่านอกจากศิลปิน A เขายังฟังศิลปินคนไหนอีกบ้าง จึงทำให้ผู้ใช้ค้นพบเพลงแนวอื่น ได้มากขึ้น 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกเขาชื่นชมในความหลากหลาย ลื่นไหล ในฐานะคนสร้างงานเองก็พยายามสร้างสิ่งที่ไม่ตายตัว สังเกตได้ชัดกับเพลงยุคนี้ที่มีลูกเล่นในการเรียบเรียงที่จับทางแทบไม่ถูก หรือบางครั้งก็เอาเครื่องดนตรีพื้นถิ่น และวิธีการเรียบเรียงดนตรีของชนเผ่ามาเป็นส่วนผสม และบางครั้งเราจะสังเกตว่าเนื้อเพลงที่เขียนออกมาบางทีก็ไม่ต้องตรงกับลักษณะของเพลงแบบที่เคยเป็น อย่างเช่นเพลงช้าต้องพูดแต่เรื่องเศร้า ๆ เหล่านี้เป็นแนวคิดที่ต่อต้านการทำดนตรีแบบเดิม ที่มักจะมีจังหวะชัดเจน คงที่ มีแพตเทิร์นที่ตายตัว หรือสามารถบอกได้ทันทีว่าคือ genre อะไร 

ในหนึ่งเพลงของเพลงอินดี้ยุคนี้ เราอาจจะเจอกับเมโลดี้แบบป๊อปแสนจะติดหู บีตกลองฟุ้ง แบบในเพลงฮิปฮอปยุค 2000s ทำนองร้องแบบที่นักดนตรีโฟลก์ยุค 70s จะชอบร้องกัน แต่ดันร้องออกมาแบบกอสเปลประสานเสียง แต่ก็ยังกระซิบกระซาบ กีตาร์แบบเพลงคันทรี ที่สำคัญคือจะต้องมีเสียงสังเคราะห์แบบต่าง ในเพลง แล้วแต่ว่าจะใส่อะไรเข้ามาบ้าง แต่ส่วนมากที่ออกมาจะเป็นดนตรีที่ฟังแล้วรู้สึกล่องลอย มีความชิล เหมือนเป็นลูปไปเรื่อย ไม่ได้ตั้งใจให้มีท่อนพีค ท่อนดรอปหนัก หรือจังหวะชวนโดดให้เหนื่อย ทำให้คนฟังรู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกเสมือนจริงกึ่งฝันเสมอ 

อย่างที่บอกว่ายุคนี้คนทำเพลงอายุน้อยลงเรื่อย จากที่ฟังเพลงของ Billie Eilish, Cuco, Boy Pablo, Clairo, King Princess, beabadoobee, Snail Mail, Rex Orange County จุดร่วมในเพลงของพวกเขาก็จะมีความอ่อนต่อโลก ใสซื่อ ไม่ค่อยมีการเปรียบเปรยหรืออุปมาอุปมัย แสดงความตรงไปตรงมาทางความรู้สึก ซึ่งจะพบว่ามีความขัดแย้งในตัวเองพอสมควร เพราะความกลัว ความไม่แน่ใจ บทเพลงของพวกเขาจะมีกลิ่นอายความเป็น coming of age แบบเด็กที่กำลังโต กับคลื่นอารมณ์ที่ถาโถมเข้ามาระหว่างที่ต้อง struggle ในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเรื่องนึงที่หนีไม่พ้นในการเขียนเนื้อเพลงทุกยุคสมัยคือความสัมพันธ์ แต่มิติที่พวกเขานำเสนอสะท้อนไปถึง modern relationship ที่มีความซับซ้อน รักก็รักไม่สุด เกลียดก็เกลียดไม่สุด เทคโนโลยีกลายมาเป็นอุปกรณ์สานสัมพันธ์และถูกบอกเล่าในเพลง รสนิยมทางเพศที่เปิดกว้างขึ้น และแสดงออกถึงเรื่องที่สังคมยังไม่ยอบรับกันมากขึ้น บางครั้งก็จะพูดเรื่องใกล้ตัว สิ่งเล็ก ที่พบเจอในชีวิตประจำวันอย่างขนมยี่ห้อโปรด งานอดิเรก อยากเปลี่ยนสีผม สภาวะทางอารมณ์เพียงเสี้ยววินาที ที่บางคนอาจไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ก็ถูกเอามาเล่าเป็นเพลงได้อย่างรวดเร็วแค่เพียงมี Logic Pro และอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 

การเกิดมาของดนตรีแนวใหม่ ทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมาว่าอะไรคือเพลงที่ดีและเกิดข้อกังขาในรสนิยมของ mainstream จากการที่ไม่มีใครคอยชี้ว่านี่คือสิ่งที่เราควรฟังแบบที่รายการโทรทัศน์สมัยก่อนคอย shape รสนิยม และพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้รับชม ผ่านการนำเสนอของ music editor ช่องนั้น เราเคยเชื่อได้ว่าถ้าฟังเพลงจาก MTV, [V] หรือ Fat Radio คือสิ่งที่เจ๋ง ได้ไปดูคอนเสิร์ตของวงในตำนาน ได้ตามดูตามฟังพี่ดีเจคนนั้นคนนี้ว่าเขาจะมาเล่าเรื่องอะไรให้เราฟัง ได้สัมผัสรายละเอียดทางเสียงดนตรีแบบสด ๆ ให้ความรู้สึกราวกับได้ขึ้นสวรรค์แบบที่บางคนเรียกว่า ‘eargasm’ แต่กับตอนนี้สิ่งเหล่านั้นกำลังค่อย ๆ หายไปทุกที

การมี platform ต่าง ๆ รองรับและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้งานที่แตกต่างกัน เท่ากับว่าตอนนี้ทุกคนสามารถใช้วิจารณญาณ ประกอบกับประสบการณ์ทางการฟังของตัวเองได้เต็มเปี่ยม คำว่า role model ถูกย่อยให้สลายหายไปจากการที่ทุกคนเชื่อว่าฉันมีเรื่องราวของฉัน ที่จะบอกเล่าเองได้’ เกิดเป็นการล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ (ในทีนี้รวมถึงวิชาชีพนักข่าวสายดนตรี) อย่างที่เห็นได้ชัดคือโซเชียลมีเดียมีแรงกระตุ้นทำให้หลายคนกลายมาเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ซะเอง แบบที่เราเห็นเพจรีวิวเพลง รีวิวคอนเสิร์ต มีเกลื่อนตลาดเต็มไปหมด คงไม่มีใครมาบังคับให้เราฟังเพลงแบบเดียวได้อีกต่อไป และก็ไม่ผิดอะไรที่จะเลือกฟังเพลงที่ชอบ แม้จะถูกสายตาของนักฟังรุ่นพี่ค่อนขอดว่าเพลงเหล่านี้ ‘ตื้นเขิน’ แต่รุ่นพี่เองก็ต้องมองว่า ตอนนี้นิยามของการฟังดนตรีได้ต่างออกไปจากยุค 80s ที่ MTV ถือกำเนิดมานานแล้วโดยสิ้นเชิง

อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะคิดว่ามันเป็นข้อดีที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมดนตรี เป็นเครือข่ายโยงใยอันเปิดกว้างที่พร้อมให้แนวทางต่าง มา cross breed เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ได้เสมอ แบบที่ Iggy Pop ศิลปินร็อกแอนด์โรลจากยุค 70s พูดในรายการ BBC Radio 6 และเรียกยุคนี้ว่าเป็น ‘free jazz’ คืออะไรที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาก็ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรตายตัวอีกต่อไปแล้ว แต่ดนตรีเมื่อถูกนำเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมและกลายมาเป็นเรื่องตัวเงิน การให้ค่าต่อเพลงของศิลปินกับค่ายเพลงก็ต่างกัน มันเลยทำให้ยังมีเพลงจำพวกนึงที่จะเป็นที่นิยม หรือเรียกว่า ‘ขายได้’ มากกว่าเสมอ เพราะทุกคนยังแชร์ลักษณะร่วมจาก algorithm ที่ทำให้เกิดอุปาทานหมู่ทางรสนิยม (มีช่วงนึงที่ Plastic Love ของ Mariya Takeuchi ดังมาก ๆ ปล่อย auto play ทีไรจะขึ้นมาทุกที จน city pop กลายมาเป็นเทรนด์) และเพลงบางเพลงที่ไม่ถูกพูดถึงต้องจมหายไปในคลื่นของความหลากหลายและหลั่งล้นทางข้อมูลอย่างทุกวันนี้

Iggy Pop ยังเล่นกับคำว่า ‘free’ ในทำนองที่ว่า เมื่อ physical กลายเป็น digital ก็เลยทำให้มี piracy เข้ามา มันก็มีแนวโน้มที่คนจะขโมยเพลงไปฟังกันฟรี ๆ มากกว่าจะยอมจ่ายเพื่อสินค้าถูกลิขสิทธิ์นั่นเอง จนอุตสาหกรรมดนตรีเกิดการ disrupt ตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาที่คนในวงการกำลัง struggle และตื่นตัวเพื่อหาทางแก้กันอยู่ 

โดยพื้นฐานดนตรีถูกทรีตให้เป็นสิ่งสร้างความบันเทิง แต่ในช่วงหนึ่งมันเคยเป็น soft power ที่ทรงพลังในการบันทึกประวัติศาสตร์ หรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อบางอย่าง บางครั้งมันเป็นเครื่องบ่งบอกตัวตนของเรา หรืออาจเป็นไดอารีของใครสักคนที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมใด แต่นั่นก็เพราะสังคมเราโหดร้ายเกินกว่าที่จะมีใครรับฟังจึงต้องระบายอะไรลงไปและหวังว่าจะมีใครผ่านมาฟัง โดยไม่ต้องรู้ว่าเขาเป็นใครเลยก็ได้ จุดนั้นเองที่บางทีดนตรีก็ไม่ได้มีหน้าที่เป็นเครื่องสร้างความจรรโลงแก่โลกอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นการเข้ามาสำรวจพื้นที่ส่วนบุคคลของผู้ฟังหรือคนทำเพลงนั้น ๆ มากกว่า 

ข้อสันนิษฐานนี้อาจนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า ไม่ใช่ gen z ที่ทำลายสุนทรียะหรือวิถีทางดนตรีแบบเดิม เพียงแต่คนจากต่างยุคสมัยย่อมมีสเปกตรัมทางความคิดสร้างสรรค์ที่ต่างกันออกไป และถ้าไม่ปิดหูปิดใจจนเกินไปนัก เราก็ยังมีเพลงดี ๆ ที่เกิดจากพวกเขาให้ฟังอยู่อีกมากมาย สุดท้ายนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะมองดนตรียุคนี้อย่างไร และจะทรีตดนตรีอย่างไร เพราะต่างคนก็ให้คุณค่าและมีสุนทรียทางดนตรีที่ต่างกัน แม้แต่คำว่าตัดออกนิดเดียวของเรากับช่างตัดผมยังไม่เท่ากันเลย

Special thanks

Master Splinter
CEA

อ้างอิง

Why We Need MTV Now More Than Ever
the musical genre is dead, gen z killed it
Generation Z Is Making Music With Anti-Radical Tones
BBC Music John Peel Lecture – Iggy Pop’s Keynote Speech Transcript

อ่านต่อ

ร่วมหาทางออกให้อนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีไทย ในเวิร์กช็อป ‘The Future of Thai Music Industry’
ผิดไหม ถ้าจะสร้างรสนิยมการฟังเพลงให้กับลูกตั้งแต่เกิด
รสนิยมการฟังเพลงของเรามาจากไหน คำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ว่ายังไงบ้าง

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้