Article Guru

สถิติงานดนตรีปี 2016 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ฯ

  • Writer: Abner Olivieri

บทความนี้ได้รับอนุญาตให้แปลและนำมาเผยแพร่แล้วจากเว็บไซต์ Live Music Tonight BKK

จำนวนอีเวนต์ดนตรีในกรุงเทพ ฯ ที่เกิดขึ้นในปี 2016 มีทั้งหมด 1,364 งาน

ผมหาโอกาสที่จะเขียนถึงเรื่องนี้มาสักพักนึงแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว ผมได้ตามไปสำรวจงานดนตรีที่เกินขึ้น ก่อนหน้าที่ผมจะทำเว็บไซต์ Live Music Tonight ที่เปิดตัวตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพราะผมอยากจะรู้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2016 อีเวนต์ดนตรีในกรุงเทพ ฯ จะเริ่มต้นและดำเนินไปในทิศทางไหน ถึงแม้ว่าสถิติที่ผมรวบรวมมานี้อาจจะไม่ใช่จำนวนจริง ๆ ของอีเวนต์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แม้จะพลาดไปบางงานที่จัดชนกันบ้าง หรือมีอะไรที่ตกหล่นไป แต่อย่างน้อยนี่ก็น่าจะเป็นการนำร่องการวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ได้ดีพอสมควร

ก่อนอื่น เรามาดูภาพรวมของซีนดนตรีในกรุงเทพ ฯ กันก่อน Live Music Tonight ได้นำข้อมูลมาจากเฟสบุ๊กแฟนเพจของวงดนตรี, สถานที่จัดงาน, ค่ายเพลง, เว็บจำหน่ายบัตร และสื่อต่าง ๆ กว่า 800 เจ้า ตลอดปีที่ผ่านมา เรามีความพยายามที่จะรวบรวมงานที่จัดขึ้นเองเพื่อกลับไปมองว่ามีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือมีข้อมูลเชิงลึกอย่างไรบ้างในวงการดนตรีกรุงเทพ ฯ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปสำหรับนักดนตรีและผู้ประกอบการในปี 2017 นี้

นี่จึงเป็นโอกาสที่เราจะตอบทุกข้อสงสัยจากข้อมูลที่สำรวจได้ในปีที่ผ่านมา

แนวดนตรีใดบ้างที่มีคนทำผลงานออกมาเยอะที่สุด และยังมีการเคลื่อนไหวอยู่

stats-003-final

จากชาร์ตนี้ เราดีใจที่ได้เห็นว่าซีนดนตรีมีความหลากหลายทางแนวเพลงให้เราได้เลือกฟังในกรุงเทพ ฯ แต่งานที่เป็นเพลงอิเล็กทรอนิก ร็อก และโฟล์ก ก็ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการจัดงานบ่อยกว่า และมีคนฟัง หรือทำเพลงออกมาเยอะกว่าแนวดนตรีอื่น ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีงานดนตรีป๊อป อินดี้ แจ๊ส และดนตรีคลาสสิกในทุกสัปดาห์ ส่วนงานเฉพาะทางอย่างดนตรีทดลอง แร็ป เร็กเก้ และโพสต์ร็อกก็มีจำนวนไม่เยอะเท่าแนวข้างต้นที่กล่าวมาแบบที่เราคาดคะเนไว้แต่แรก

แต่จากตัวเลขทั้งหมดสามารถบอกได้ว่าเมื่อปีที่แล้วมีการจัดงานดนตรีหลายงานที่เป็นการรวมเอาวงดนตรีที่มีแนวเพลงไม่เหมือนกันมาอยู่ในงานเดียวกันอย่างน้อยสี่วง ซึ่งเราคิดว่านี่เป็นความคิดที่ดีที่จะทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้รู้จักวงใหม่ ๆ มากขึ้น และเราคาดหวังจะให้ความนิยมนี้ยังดำเนินต่อไปในปี 2017

และจากข้อมูลนี้ ที่น่าดีใจที่สุดคือแทบไม่มีวีคไหนเลยที่ไม่มีงานดนตรี ทุกคนสามารถเสพงานได้ในทุกสัปดาห์เพราะจะมีงานแนวใดแนวนึงโผล่ขึ้นมาอยู่ตลอด

เพลงเหล่านั้นเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย

stats-002-final

ผมมักจะสงสัยว่าคนที่นี่เขาทำเพลงภาษาอะไรมากกว่ากัน ระหว่างภาษาไทยที่เป็นภาษาถิ่น กับภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล น่าแปลกใจมากที่ผลสำรวจออกมาว่าซีนดนตรีกรุงเทพ ฯ ทำงานทั้งสองภาษาออกมาในปริมาณพอ ๆ กัน นี่คงจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับชาวต่างชาติที่รักดนตรีและอาศัยอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีนอิเล็กทรอนิก โฟล์ก ร็อก และแจ๊ส มีงานที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่มากเป็นพิเศษ หรือแม้แต่วงอินดี้ไทยเล็ก ๆ เองก็ยังทำเพลงภาษาอังกฤษออกมาให้เราได้ฟังกัน แต่แน่นอนว่าก็มีวงโปรดของเราหลายวงที่ใช้ภาษาไทยในเพลงของพวกเขานะ

เข้าฟรี หรือมีค่าบัตร

stats-001-final

งานที่วงดนตรีหรือคนดนตรีจัดขึ้นเองส่วนใหญ่มักจะเก็บค่าเข้าหน้างาน และหลาย ๆ ออกาไนเซอร์ก็ยังประสบความสำเร็จกับช่องทางการขายนี้ ขณะเดียวกันก็มีหลาย ๆ งานที่ไม่เก็บค่าเข้า ซึ่งเราไม่คิดว่ามันส่งผลร้ายต่อนักดนตรีนะ เพราะงานพวกนี้มักจะจัดโดยบาร์หรือร้านอาหารที่มักจะมีลูกค้าเข้ามาอยู่แล้ว มิหนำซ้ำคือยังเพิ่มรายได้ให้กับนักดนตรีที่ทางร้านว่าจ้างมาโดยตรงด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นงานฟรี หรืองานที่เสียค่าบัตรถูกหรือแพง นักดนตรีจะยังได้เงินจากตรงนี้ และผู้ชมเองก็มักจะได้รับประสบการณ์การดูดนตรีสดจากเงินที่จ่ายไปอยู่ดี

วันไหนมีงานเล่นเยอะที่สุด

stats-004-final

วันเสาร์จะเป็นวันที่ผู้เสพดนตรีมีงานให้ไปเลือกชมเยอะที่สุด ในขณะที่วันจันทร์จะเป็นวันที่มีโชว์น้อยที่สุดเนื่องจากเป็นวันหยุดของนักดนตรีส่วนใหญ่

แต่สำหรับงานดนตรีนอกกระแส เราสังเกตว่าวันอาทิตย์มักจะจัดงานแจ๊ส ส่วนคืนวันศุกร์จะเนืองแน่นไปด้วยงานอิเล็กทรอนิก สำหรับวงดนตรีต่างประเทศก็จะเข้ามาเล่นช่วงวันอังคาร และบางครั้งก็จะมีงานที่จัดต่อเนื่องกันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ กันเลยทีเดียว

งานจะเริ่มตอนกี่โมง

stats-005-final

2 ทุ่มคือเวลาที่งานส่วนใหญ่จะเริ่ม แต่มันก็จะมีความซับซ้อนนิดนึงตรงที่หลาย ๆ งานก็ไม่ได้เริ่มตรงเวลาเป๊ะ ๆ แบบที่แจ้งไว้ เพราะบางงาน เวลาที่ระบุในอีเวนต์เพจจะเป็นเวลาก่อนที่วงขึ้นแสดงจริง ๆ ถ้าจะให้ดีคือต้องหมั่นเช็กตารางเวลาของทั้งงานที่ผู้จัดจะคอยอัพเดตกันในเพจ อย่างที่สังเกตได้ งานโฟล์กหรือป๊อปจะเริ่มตอน 1-2 ทุ่ม ขณะที่งานอิเล็กทรอนิกและงานร็อกจะเริ่มตอน 3-4 ทุ่มเป็นต้นไป

สรุป

ที่กรุงเทพ ฯ มีงานดนตรีนอกกระแสมากมายเกิดขึ้นและยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแนวไหนที่คุณอยากฟัง ทั้งไทยและเทศ ลองเช็กตารางให้ดี ๆ อาจจะมี 1-3 งานในหนึ่งสัปดาห์ที่รอให้คุณไปสนุกอยู่ก็ได้

แต่ถึงแม้จะมีอีเวนต์เยอะแยะมากมาย แต่ก็มีหลาย ๆ คนที่ไม่รู้ว่ากำลังมีงานเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ หรือต้องพลาดข่าวสารไปอย่างน่าเสียดาย อยากจะให้ช่วงปลายปี 2017 ที่เราจะได้มองย้อนกลับไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นการได้เห็นทุกคนได้สัมผัสกับงานดนตรีที่พวกเขาอยากดู อยากฟัง และได้รับรู้ว่าในกรุงเทพ ฯ ยังมีงานดนตรีดี ๆ ให้ไปร่วมสนุกได้อยู่จริง

อาจจะพูดได้ว่าตอนนี้ กรุงเทพ ฯ เป็นหนึ่งในซีนดนตรีสดที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังเติบโตขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรามารอดูกันดีกว่าว่าปี 2017 จะพาเราไปพบกับอะไรบ้าง

บทความต้นฉบับ Bangkok’s 2016 Music Scene in Numbers เขียนโดย Abner Olivieri สามารถเข้าไปอ่านได้ ที่นี่ และ Facebook Fanpage Live Music Tonight BKK

Facebook Comments

Next:


Abner Olivieri

I’m the founder of Live Music Tonight, a website that helps people discover their local music scene. I love going to gigs and getting lost in the music and I also like websites and teach in general. If you go to gigs in Bangkok, you’ll probably bump into me eventually.