เห็ดyoung #7 – กลยุทธ์การระดมทุนมวลชนสำหรับวงดนตรี
- Writer: Fungjai Staff
โดยปรกติแล้ว ศิลปินที่มีค่ายจะต้องขอเงิน advance มาจากค่ายเพลงเพื่อนำมาผลิตงานเพลง เสร็จแล้วขายได้เท่าไร ค่ายเพลงก็จะเอากำไรไปโดยแบ่งให้กับศิลปินส่วนหนึ่ง แต่พอเป็นศิลปินอิสระ ศิลปินก็จะต้องหาเงินมาลงทุนในการผลิตเพลงเอง ซึ่งหนทางหนึ่งที่เริ่มเป็นที่นิยมในวงการดนตรีอิสระต่างประเทศก็คือ Crowdfunding หรือการระดมทุนจากแฟนเพลงมาเพื่อผลิตผลงาน โดยตอบแทนเป็นสิ่งของ บริการ ส่วนลด หรือสิทธิพิเศษอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างของ Crowdfunding platform มีเช่น www.kickstarter.com, www.pledgemusic.com, www.indiegogo.com
ฟังใจได้รับเกียรติจาก Thailand Creative & Design Center (TCDC) ให้ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในโครงการ Creative Space Workshop 2015 เราจึงได้นำงานสัมมนา เห็ดyoung ของเราไปจัดรวมกับงานของเขาในครั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาครับ
ชมรูปถ่ายทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.415750925281074.1073741866.244406352415533&type=3
หลังจากคุณโอ่งบรรยายเสร็จ เราก็ได้บรรยายเนื้อหาเชิงวิชาการเรื่องกลยุทธ์การระดมทุนมวลชนสำหรับวงดนตรี แล้วก็ได้จัด workshop ควบคู่กับเนื้อหา โดยแบ่งกลุ่มให้ทุกคนได้ช่วยกันคิดวางแผนทำโครงการระดมทุนสำหรับวงดนตรีในจินตนาการ โดยมีเนื้อหาการเรียนการสอนย่อๆ และแบบฝึกหัดสำหรับ workshop ดังต่อไปนี้
1. กำหนดจุดประสงค์ และเป้าหมายของการระดมทุน ที่เป็นไปได้จริง (Know your purpose and set a realistic target)
วงดนตรีจะต้องคิดจุดประสงค์ของการระดมทุนให้ชัดเจนว่าจะทำการระดมทุนไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อจ่ายเป็นค่าห้องอัดในการทำซิงเกิ้ลหรืออัลบั้มใหม่ เพื่อเป็นค่าจองสถานที่หรือไลฟ์เฮาส์เพื่อเล่นสด เพื่อเป็นค่าเดินทางและค่าแรงตอนเดินทางเล่นทัวร์ เพื่อนำไปบริจากให้กับวัดอะไรหรือองค์กรการกุศลไหน ฯลฯ ซึ่งแปลว่าวงนั้นจะต้องคิดคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้ในการทำสิ่งที่ต้องการให้เรียบร้อยก่อนเริ่มแคมเปญระดมทุน
2. สร้างตารางการทำงานที่ชัดเจน (Set a solid timeline and milestones)
พอคิดจุดประสงค์และเป้าหมายได้แล้ว ก็ควรที่จะต้องวางแผนการทำงานให้ชัดเจน โดยอาจเริ่มคิดจากปลายทาง คือระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ (Deadline) แล้วย้อนกลับมาที่เวลาปัจจุบันก็ได้ เช่น หากวงต้องการปล่อยอัลบั้มใหม่ต้นปีหน้า ก็ต้องคิดย้อนกลับมาว่าควรจะต้องหาโปรดิวเซอร์เมื่อไร ต้องเริ่มเข้าห้องอัดเมื่อไร จะเลือกใครเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ จะมิกซ์กับมาสเตอร์เสร็จจนผลิดซีดีออกมาเมื่อไร แล้วมีแผนการโปรโมทรวมทั้งเล่นคอนเสิร์ตอย่างไรบ้าง ฯลฯ แม้สุดท้ายอาจจะไม่ได้ทำตามแผนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ควรต้องมีการคิดไว้อย่างน้อยก็คร่าวๆ เพื่อจะได้สื่อสารกับแฟนเพลงและสร้างความเชื่อใจให้เขาได้ว่าเงินที่เขาให้เราจะเกิดผลจริงๆ
3. สำรวจและเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของแฟนเพลง และรู้วิธีดึงดูดความสนใจของเขา (Know your fans, what they want and how to get their attention)
วงดนตรีควรต้องทำการสำรวจแฟนเพลงตัวเองก่อนที่จะประกาศเรื่องการระดมทุน โดยต้องรู้ให้ได้ว่ามีแฟนเพลงเป็นจำนวนประมาณเท่าไร มีสัดส่วนของเพศ อายุ และพฤติกรรมเป็นอย่างไร พบปะพวกเขาได้ทางช่องทางไหนบ้าง เช่น ตามงานคอนเสิร์ต งานอีเว้นท์ หรือออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram หรือ Twitter เป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องสำรวจความต้องการของแฟนเพลง ว่าต้องการบริโภคเพลงของเราผ่านทางช่องทางไหน ต้องการอะไรจากเราบ้าง และยอมเสียเงินให้กับเราเพื่อแลกกับสินค้าอะไร แล้วสำหรับวงดนตรีที่ยังไม่ค่อยมีแฟนเพลง ก็ควรต้องหาวิธีขยายฐานแฟนเพลง โดยอาจเริ่มจากการทำความเข้าใจฐานแฟนเพลงกลุ่มเดิม แล้วลองเข้าหากลุ่มคนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันผ่านช่องทางต่างๆที่สามารถทำได้ หรือจะลองเข้าหาคนกลุ่มใหม่ๆก็ย่อมทำได้
4. สร้างเรื่องราวที่น่าดึงดูด และเล่าออกมาให้น่าสนใจ (Create a compelling story and tell it well)
เปรียบเสมือนหนังสือหรือภาพยนตร์ เนื้อเรื่องที่ดีควรต้องมีเอกลักษณ์ มีวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ และจับใจผู้ชม สำหรับแคมเปญการระดมทุนก็เช่นกัน วงดนตรีควรต้องผูกเรื่องราวที่จับใจคนที่จะจ่ายเงินสนับสนุน บางครั้งอาจมีการไปเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นหรือจุดประสงค์อื่น เช่น ช่วยเหลือผู้พิการ ช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัด โครงการเพื่อการศึกษา บริจาครองเท้าเพื่อผู้ยากไร้ ฯลฯ นอกจากนี้ยังต้องมีวิธีการเล่าเรื่องที่ดีด้วย เช่น ถ่ายทำเป็นหนังสั้น วาดภาพการ์ตูน ทำวีดีโอไวรัล ฯลฯ โดยคำนึงถึงข้อความที่สื่อออกไปและสื่อที่จะส่งสารเข้าถึงตัวคนที่เล็งเอาไว้ แต่ว่าการเล่าเรื่องนี้ไม่ใช่การสร้างเรื่องหลอกลวงแฟนเพลง แล้วจริงๆก็ไม่ต้องผลิตเป็นสื่อออกมาก็ได้ เช่น รูปภาพ วีดีโอ ฯลฯ แต่ต้องมองว่ามันคือการสร้าง Branding ของวงดนตรี คือเรื่องที่เล่าถูกผนวกเข้าไปในภาพพจน์ของวงดนตรีอย่งกลมกลืนนั่นเอง
5. ให้แฟนเพลงมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ (Get fans involved early, update them often and engage them regularly)
ส่วนใหญ่แล้ว แฟนเพลงที่จะสนับสนุนวงดนตรีซักวงอย่างจริงจังนั้น มักจะต้องมีความรักความชอบและความภูมิใจที่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของวง เพราะฉะนั้น วงดนตรีที่จะทำการระดมทุนควรต้องเชิญชวนแฟนเพลงให้มีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งควรอัพเดทความคืบหน้า และจัดกิจกรรมที่ให้เขามีส่วนร่วมด้วยได้อย่างสม่ำเสมอ
6. สร้างรางวัลตอบแทนที่ชัดเจนและคุ้มค่าให้แก่แฟนเพลง (Create valuable rewards for fans who support your campaign)
วงดนตรี หลังจากที่รู้จักแฟนเพลง รู้จักความต้องการของพวกเขา และสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจรวมทั้งเล่าได้อย่างจับใจแล้ว ก็ควรต้องคิดแพ็คเกจของสิ่งตอบแทนรวมทั้งตั้งราคาและจำนวนที่จะขาย ที่แฟนเพลงจะรู้สึกคุ้มค่าและภูมิใจที่จะจ่ายเงินสนับสนุน ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของหรือเป็นการซื้อจองล่วงหน้าแบบพรีออเดอร์ก็ได้ เช่น มีแพ็คเกจการจ้างไปเล่นดนตรีสดในงานอีเว้นท์ส่วนตัว เล่นดนตรีในปาร์ตี้งานวันเกิด แม้แต่การนั่งจิบกาแฟคุยเล่นหรือการโทรศัพท์ไปคุยด้วย ก็อาจเป็นสิ่งที่แฟนเพลงต้องการและยินยอมจ่ายเงินก็เป็นได้
7. ขอบคุณผู้สนับสนุนอย่างจริงใจ (Thank them sincerely)
สุดท้าย แม้ว่าการระดมทุนจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม วงดนตรีก็ควรต้องขอบคุณทุกๆแรงการสนับสนุนจากแฟนเพลงอย่างจริงใจ ผ่านทุกๆสื่อที่สามารถเข้าถึงแฟนเพลงได้ และกระทำอย่างสม่ำเสมอในทุกขั้นตอน เพราะหากระดมทุนไม่สำเร็จ ก็อาจต้องมีการคืนเงินที่ได้รับมา แต่หากแฟนเพลงรักวงดนตรีวงนั้นจริงๆ ก็คงอยากสนับสนุนต่อไปและไม่เอาเงินคืนก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นความจริงใจคือสูตรลับที่สำคัญที่สุดในการระดมทุนจากมวลชนนั่นเอง
แบบฝึกหัด (Workshop)
หลังจากได้อ่านเนื้อความทั้งหมดด้านบนแล้ว วงดนตรีอาจยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นการทำแคมเปญการระดมทุนอย่างไร จึงขอเสนอแบบฝึกหัดให้ลองทำเพื่อเรียบเรียงไอเดียในการทำแคมเปญ ดังนี้
Workshop 1
จากเนื้อหาข้อ
1. กำหนดจุดประสงค์และเป้าหมายของการระดมทุนให้ชัดเจนที่เป็นไปได้จริง; และ
2. สร้างตารางการทำงานที่ชัดเจน
จงเขียนแผนการทำงาน และประมาณการเงินที่ต้องการระดมทุน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- อธิบายจุดประสงค์การระดมทุนที่สั้น กระชับ และสื่อสารต่อง่าย (คิดเสียว่าถ้าอธิบายให้แม่ฟัง แม่จะต้องไปเล่าต่อให้เพื่อนๆเขาฟังได้)
- จงบอกจำนวนเงินที่ต้องการ พร้อมเหตุผล
- อธิบายแผนงาน และกิจกรรมย่อยต่างๆ พอสังเขป
Workshop 2
จากเนื้อหาข้อ
3. สำรวจและเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของแฟนเพลง และรู้วิธีดึงดูดความสนใจของเขา
- จงอธิบายลักษณะของแฟนเพลงของตัวเอง โดยวิธีการสร้าง Persona ที่มีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- ชื่อ
- เพศ
- อายุ
- ฐานะทางเศรษฐกิจ
- ภูมิลำเนาและที่อยู่อาศัย
- ระดับการศึกษา
- สไตล์การแต่งตัว
- งานอดิเรก
- รวมตัวกันที่สถานที่ใด
- ติดต่อได้อย่างไร
- มีบุคลิกและอุปนิสัยเป็นอย่างไร
- ฯลฯ
Workshop 3
จากเนื้อหาข้อ
4. สร้างเรื่องราวที่น่าดึงดูด และเล่าออกมาให้น่าสนใจ; และ
5. ให้แฟนเพลงมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
จงออกแบบแคมเปญการระดมทุน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- จงอธิบายเรื่องที่จะเล่า พร้อมสื่อที่จะใช้
- จงอธิบายว่าจะอัพเดตแฟนเพลงเรื่องอะไร เมื่อไรบ้าง
Workshop 4
จากเนื้อหาข้อ
6. สร้างรางวัลตอบแทนที่ชัดเจนและคุ้มค่าให้แก่แฟนเพลง; และ
7. ขอบคุณผู้สนับสนุนอย่างจริงใจ
จงออกแบบ
- ชนิดของ สินค้า/บริการ/ผลิตภัณฑ์
- ราคา
- แพ็คเกจต่างๆ
- จดหมายหรือข้อความขอบคุณแฟนเพลงและผู้สนับสนุน
ดาวน์โหลดหนังสือเนื้อหาละเอียดยิบ ๆ ไปอ่านฟรี!
เนื้อหาในงานครั้งนี้มากเสียจนผู้เขียนนำมาเขียนเป็นหนังสือ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านแบบฟอร์มข้างล่างไปอ่านได้ฟรี และเราอยากรู้จักคุณว่าเป็นใคร ขอให้ช่วยแนะนำตัวเอง และเขียนถึงเราซักเล็กน้อยนะครับ ขอบคุณมากๆครับ ^_^