Article Guru

การปฏิวัติวงการดนตรี – Music Revolution (issue DEC 2015)

  • Writer: Fungjai Staff

 

เนื่องจากธีมของฟังใจซีนเดือนนี้ (ธันวาคม 2558) เป็นในเรื่องของประชาธิปไตยทางดนตรี ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงเรื่องการเมืองการปกครอง แล้วก็โยงไอเดียไปถึงเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วก็พยายามคิดว่าจะเกี่ยวข้องกับดนตรีได้อย่างไรบ้าง (หากท่านได้อ่านคอลัมน์นี้ของผู้เขียนมาบ้าง จะรู้ว่าผู้เขียนพยายามเขียนให้เกี่ยวข้องกับธีมหลักของฟังใจซีนทุกเดือน) แล้วก็เลยนึกถึงการปฏิวัติทางดนตรีว่ามีบ้างไหม มีมุมมองอะไรบ้าง จนมาคิดว่าเราควรปฏิวัติวงการดนตรีกันหรือเปล่าด้วย

ความหมายของการ ‘ปฏิวัติ’

คำว่า ‘ปฏิวัติ’ ในภาษาไทย เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี ประกอบไปด้วยคำว่า ‘ปฏิ’ และ ‘วตฺติ’ ซึ่งรวมกันแปลว่า ‘การหมุนกลับ‘ มีความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานว่า [การหมุนกลับ การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล การเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น ปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงระบอบการบริหารบ้านเมือง เช่น ปฏิวัติการปกครอง] ส่วนความหมายตามพจนานุกรม อ.เปลื้อง ณ นคร หมายถึง [การหมุนกลับ การเปลี่ยนแปลงหลักและระเบียบการเดิมอย่างรุนแรง บางทีใช้คู่กับคำว่า ‘รัฐประหาร’] (ที่มา: Dictionary.sanook.com) ในภาษาอังกฤษ คำว่าปฏิวัติคือ “Revolution” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก “revolve” ซึ่งหมายถึงการหมุนกลับเช่นกัน

คำว่าปฏิวัตินี้ มักจะใช้กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง (Political) และทางเศรษฐกิจสังคม (Socioeconomic) แต่ก็มีการปฏิวัติที่เป็นในเชิงเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ที่เกิดจากระบบการทำงาน องค์ความรู้ หรือค่านิยมใหม่ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างกว้างขวางด้วย เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution), การปฏิวัติเขียว (Green Revolution), การปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) และการปฏิวัติทางเพศ (Sexual Revolution) (ที่มา: Wikipedia.org/Revolution)

เพราะฉะนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าการปฏิวัติไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในความหมายของการเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจสังคมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานอยู่เดิมในวงกว้าง

ประเภทของการปฏิวัติ

นิยามของคำว่าปฏิวัติ รวมถึงชนิดประเภทของการปฏิวัติ เป็นที่ถกเถียงของนักวิชาการมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (ที่มา: Wikipedia.org/Revolution) แต่ผู้เขียนพบวิธีการจัดประเภทของการปฏิวัติ โดยเฉพาะในเรื่องการเมืองการปกครอง และเศรษฐศาสตร์สังคม อธิบายโดย Dr. Michael E. Brooks ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ โดยเขาได้อธิบายประเภทของการปฏิวัติไว้ ดังนี้

คำอธิบายประเภทของการปฏิวัติ โดย Dr. Michael E. Brooks

  1. Aristocratic Revolution – เป็นการปฏิวัติโดยชนชั้นสูง หรือขุนนาง
  2. Bourgeois Revolution – เป็นการปฏิวัติโดยชนชั้นพ่อค้า หรือเศรษฐี
  3. Proletarian Revolution – เป็นการปฏิวัติโดยชนชั้นแรงงาน หรือกรรมกร
  4. Peasant Revolution – เป็นการปฏิวัติโดยชนชั้นต่ำ หรือไร้การศึกษา

นอกจาก 4 ประเภทข้างต้นแล้ว ยังมี Coup d’état ที่หมายถึงการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นการยึดอำนาจคณะรัฐบาลปัจจุบันลงอย่างฉับพลันและผิดกฎหมาย ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ คนอาจไม่เห็นด้วยว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิวัติชนิดหนึ่ง

ตัวอย่างการปฏิวัติ

การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) – เกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1789-1799 ที่มีการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีสาเหตุย่อ ๆ มาจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐเก็บภาษีแพง คนรวยก็รวยขึ้น ส่วนคนจนก็จนลง โดยวิธีการปฏิวัติคือ ยึดอำนาจแล้วประหารผู้นำ ซึ่งก็คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16

การปฏิวัติอเมริกัน (American Revolution) – เกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1765-1783 โดยสาเหตุย่อ ๆ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาตอนนั้นที่เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรรู้สึกว่าตนถูกกดขี่ แถมไม่มีตัวแทนของตนในสภาผู้แทนราษฎรเลย จึงประกาศสงครามเพื่อแยกตัวออกเป็นอิสระ

การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) – เกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1760 ถึงช่วงประมาณ 1820-1840 เป็นการปฏิวัติจากเรื่องเทคโนโลยีและวิธีการทำงาน โดยตัวอย่างหนึ่งที่น่ายกมากล่าว ก็คือกรณีของ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ Ford ที่แก้ปัญหารถยนต์ราคาแพงทำให้คนทั่วไปไม่มีเงินซื้อ ด้วยการปรับปรุงระบบและกระบวนการผลิต ทำให้ผลิตได้เร็วขึ้น ต้นทุนต่ำลง ทำให้ราคาขายถูกลง แถมยังลดชั่วโมงการทำงานของคนงาน จาก 6 วัน/สัปดาห์ เหลือ 5 วัน/สัปดาห์ จาก 9 ชั่วโมง/วัน เหลือ 8 ชั่วโมง/วัน และเพิ่มค่าแรงจาก $2.34/วัน เป็น $5/วัน (ที่มา: History.com) ซึ่งนอกจากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานแล้ว ยังทำให้พวกเขาสามารถมีเงินเหลือพอที่จะกลับมาซื้อรถยนต์ของบริษัทไปใช้เองได้ และมีเวลาขับรถไปเที่ยวได้อีกด้วย

จากตัวอย่างด้านบน จะเห็นว่าการปฏิวัติทางการเมืองการปกครอง อย่างเช่นการปฏิวัติฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา มักจะเป็นการประหัตประหารกันระหว่างคนอย่างน้อย 2 ฝ่าย ผลของมันจะต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ซึ่งฝ่ายชนะก็จะเป็นผู้กำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ทุกอย่าง ส่วนฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็จะโดนบทลงโทษที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การปฏิวัติเชิงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างเช่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในกรณีของบริษัทรถยนต์ Ford นั้น ไม่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น และทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตั้งแต่รากหญ้าขึ้นมา

จากการศึกษาของผู้เขียน ผู้เขียนรู้สึกว่าการปฏิวัตินั้น เป็นการกระทำของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ผลของมันคือการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงระบบหรือระบอบที่มีอยู่เดิม ให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มตนเองมากขึ้น โดยมักมีต้นเหตุมาจากการที่เสียประโยชน์หรือถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ที่เป็นใหญ่ในระบบหรือระบอบที่มีอยู่เดิมนั้น เพราะฉะนั้น หากผู้เขียนจะขอนิยามคำว่า “ปฏิวัติ” ให้ชัดเจนสำหรับบทความนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้ความหมายมันว่า

การปฏิวัติ หมายถึง [การเปลี่ยนแปลงระบบหรือระบอบทางการเมืองการปกครอง (Political) หรือเศรษฐกิจสังคม (Socioeconomics) หนึ่ง ๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มผู้อยู่ภายใต้ระบบหรือระบอบนั้น ๆ ให้เป็นธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังบังคับหรือไม่ก็ตาม]

การปฏิวัติของดนตรีสมัยนิยมตะวันตก

ผู้เขียนลองค้นคว้าเกี่ยวกับการปฏิวัติทางดนตรี แล้วก็ได้มาพบกับข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิวัติของดนตรีสมัยนิยมตะวันตก (Western Pop Music) ซึ่งเป็นผลการศึกษาของ Queen Mary University of London และ Imperial College London ที่วิเคราะห์สไตล์ดนตรี เช่น ลักษณะเฉพาะของดนตรี (characteristics) ทั้งในแง่การประสานเสียง (harmony) การเปลี่ยนคอร์ด (chord changes) และโทนเสียงของดนตรี (timbre) ในชาร์ตเพลงดนตรีป๊อปตะวันตกยอดนิยม ที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจนเรียกได้ว่าเกิดการปฏิวัติทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน คือ

  1. ปี ค.ศ. 1964 – เกิดการหายไปของคอร์ดประเภท Dominant Sevenths ที่มีอยู่ในเพลงแจ๊ซและบลูส์ โดยมีวงอย่าง The Beatles และ The Rolling Stones ที่เป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงนี้
  2. ปี ค.ศ. 1983 – เป็นปีที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนแนวดนตรีให้เปลี่ยนไปอย่างมาก มีทั้งเสียงซินธิไซเซอร์ กลองไฟฟ้า และการ sampling
  3. ปี ค.ศ. 1991 – เป็นปีที่ Rap และ Hip-hop กลายเป็นดนตรีกระแสหลัก เป็นการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางดนตรีที่ไม่เน้นเรื่องเมโลดี้ แต่เน้นจังหวะจะโคนของเสียงพูดมากกว่า

จากตัวอย่างการปฏิวัติทางดนตรีที่กล่าวมานี้ เมื่อวิเคราะห์แล้ว เหมือนเป็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านรสนิยมของคนฟังเพลงส่วนใหญ่เท่านั้น ซึ่งเกิดจากการนำเสนอดนตรีแนวใหม่ของศิลปิน แต่ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบหรือระบอบที่ต่อต้านการกดขี่โดยคนหรือกลุ่มคนในชนชั้นปกครองเหมือนกับการปฏิวัติอื่น ๆ ที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจึงพยายามศึกษาเรื่องการปฏิวัติเชิงดนตรีต่อว่ามีในรูปแบบเหมือนกับการปฏิวัติที่นิยามไว้ข้างต้นบทความหรือไม่

การปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรี จริง ๆ แล้วควรเป็นอย่างไร?

จากที่ผู้เขียนได้เสนอความหมายของการปฏิวัติไว้ข้างบนนั้นว่าหมายถึง [การเปลี่ยนแปลงระบบหรือระบอบทางการเมืองการปกครอง (Political) หรือเศรษฐกิจสังคม (Socioeconomics) หนึ่ง ๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มผู้อยู่ภายใต้ระบบหรือระบอบนั้น ๆ ให้เป็นธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังบังคับหรือไม่ก็ตาม] ผู้เขียนคิดว่าต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ว่าในระบบอุตสาหกรรมดนตรี ใครคือกลุ่มคนที่เป็นผู้ควบคุมระบบ และใครคือกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้ระบบ ซึ่งคำตอบที่ผู้เขียนได้ก็คือ

  1. บริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ คือผู้ควบคุมระบบ; และ
  2. นักดนตรี รวมถึงแฟนเพลง เป็นผู้อยู่ใต้ระบบ

เพราะฉะนั้น ตลาดอุตสาหกรรมดนตรีอาจถือได้ว่า ถูกปกครองด้วย “ระบอบค่ายเพลง” ซึ่งถูกควบคุมไว้โดยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ (Major Labels) เพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้น

ทำไมค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ คือผู้ควบคุม “ระบอบค่ายเพลง”?

ผู้เขียนคิดว่ามีอยู่ 2 เหตุผลด้วยกัน คือ

1) เพราะเป็นเจ้าครองตลาด

ในยุคปลาย 60’s ต้น 70’s เป็นต้นมา สิ่งบันทึกเสียงอย่างแผ่นเสียงไวนิล เทป และซีดี เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงอย่างมหาศาล ทำให้ระบบค่ายเพลงเจริญขึ้น และมีอำนาจมากขึ้น (จริง ๆ ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องนี้แล้วในตอน “สูงสุดคืนสู่สามัญ – Back to Basics” ซึ่งผู้อ่านสามารถลองย้อนไปอ่านได้) การแข่งขันของเหล่าค่ายเพลงนั้นสูงมาก ๆ เรียกว่าสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง หรือถูกซื้อโดยค่ายที่ใหญ่กว่า จนทำให้เหลือค่ายเพลงที่ครองเกือบทั้งตลาดเพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ก่อนปี 1998 มีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งหมด 6 ค่าย คือ Sony, BMG, PolyGram, Universal, EMI และ Warner ต่อมาในปี 2004 ก็เหลือ 4 ค่าย คือ Sony รวมกับ BMG เป็น Sony BMG (ซึ่งถูกยุบเป็น Sony เฉย ๆ ในปี 2008) และ PolyGram ถูกซื้อโดย Universal สุดท้ายในปี 2012 EMI ถูกแยกขายให้กับ Universal และ Sony ทำให้ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 3 ค่าย คือ Universal, Sony และ Warner เท่านั้น (ที่มา: en.wikipedia.org/wiki/Music_industry)

ที่มาข้อมูล: theletitburnagency.tumblr.com
ที่มาข้อมูล: theletitburnagency.tumblr.com

จากข้อมูลส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งโลกในปี 2011 (ที่มาของข้อมูล: theletitburnagency.tumblr.com) พบว่ากว่า 90% เป็นของ Sony, Warner และ Universal รวมทั้งค่ายเพลงย่อย ๆ ที่อยู่ภายใต้สังกัดของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เหล่านี้รวมกัน ส่วนอีกไม่ถึง 10% เป็นของค่ายเพลงอิสระ (โดยนิยามแล้ว ค่ายเพลงอิสระ หรือ Independent Label หรือ Indie Label หมายถึงค่ายเพลงที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของค่ายใหญ่ 3 ค่ายดังกล่าว เช่น GMM Grammy ของไทยถือเป็นค่ายเพลงอิสระ แต่ค่าย BEC-TERO ถือว่าอยู่ในสังกัดของ Sony ภายใต้นิยามนี้)

การครองตลาดของค่ายยักษ์ใหญ่เพียง 3 ค่าย อาจทำให้ความหลากหลายของตลาดมีน้อยเกินไป อีกทั้งการกระทำอะไรก็ตามของพวกเขา ไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตาม จะส่งกระทบกับทุกคนทุกฝ่ายในตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2) เพราะครอบครองรายได้ส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมดนตรี

greatdivide-1 structure-of-a-major-record-label-1-728-2

ภาพซ้ายจาก: www.theroot.com; ภาพขวาจาก: www.slideshare.net/jackiemason

หากมาดูส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดในอุตสาหกรรมดนตรีในกราฟด้านซ้ายบน (ที่มาของข้อมูล: www.theroot.com) จะพบว่ารายได้มากถึง 63% เป็นของค่ายเพลง อีก 24% อยู่ที่พ่อค้าคนกลาง ประมาณ 4% จะเป็นของฝ่ายจัดการ ฝ่ายกฎหมาย และโปรดิวเซอร์ของวงดนตรี ส่วนสมาชิกวงดนตรีทุกคนรวมกันจะได้ประมาณ 9% เท่านั้น

หากพยายามมองในแง่ดี ก็อาจจะคิดได้ว่าค่ายเพลงมีพนักงานจำนวนมากที่ต้องคอยดูแลจัดการศิลปินจำนวนหลาย ๆ คน เงินที่ได้รับมาก็ต้องนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงาน ซึ่งหากว่าดูแผนภาพทางด้านขวาที่แสดงโครงสร้างของค่ายเพลงขนาดใหญ่ทั่วไป จะเห็นได้ว่ามีพนักงานหลายระดับ รวมทั้งแผนกหลายแผนกประกอบอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม การมีรายได้ที่มากเกินไปเมื่อเทียบกับผู้อื่น อาจทำให้มีอำนาจต่อรองที่สูงเกินไป เพราะเงินกับอำนาจมักจะแปรผันตามกัน

การที่มีบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เพียง 3 ค่ายที่ครองตลาดรวมกันกว่า 90% และรับส่วนแบ่งรายได้จากอุตสาหกรรมดนตรีถึง 63% อาจถือได้ว่ามีอำนาจที่มากจนเกินไป ซึ่งหากไม่มีการคานอำนาจ จะทำให้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบค่ายเพลงไม่มีอิสระ และทำให้วงการดนตรีไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่ควรเป็น

เทคโนโลยี คือชนวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรี

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีดนตรีได้รับการพัฒนาและแพร่หลายจนกระทั่งสามารถทดแทนการทำงานของค่ายเพลงได้หลายอย่างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อน การประชาสัมพันธ์จะต้องมีการติดต่อสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงในการเข้าถึง แต่สมัยนี้ วงดนตรีสามารถใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook และ YouTube ประชาสัมพันธ์ด้วยตัวเองได้แล้ว อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการจัดจำหน่าย ซึ่งสมัยก่อน ค่ายเพลงจะมีเครือข่ายการจัดจำหน่าย ส่งเทปซีดีไปขายยังร้านต่าง ๆ แต่ตอนนี้ ใคร ๆ ก็สามารถขายเพลงบน iTunes ซึ่งขายได้ทั่วโลกแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เครือข่ายการจัดจำหน่ายของค่ายเพลงอีกต่อไป ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจทำให้ศิลปินไม่ต้องพึ่งพาระบบของค่ายเพลงอีกต่อไปก็ได้

ผู้เขียนคิดว่าการปฏิวัติของดนตรีได้เริ่มขึ้นไปแล้ว และยังคงดำเนินอยู่โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ โดยผู้เขียนได้จำแนกการปฏิวัติดนตรีออกเป็น 2 ระลอก ซึ่งเริ่มต้นโดยกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้ระบบค่ายเพลง 2 ฝ่าย ดังนี้

1) การปฏิวัติดนตรีระลอกที่ 1 – ค.ศ. 1999 เป็นต้นมา : “การปฏิวัติโดยแฟนเพลง”

ที่มา: news.jazzjournalists.org
ที่มา: news.jazzjournalists.org

ปี ค.ศ. 1999 คือปีที่เว็บไซต์แชร์เพลงที่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนฟังเพลงอเมริกันชื่อว่า Napster กำเนิดขึ้น ซึ่งทำให้พฤติกรรมการแชร์เพลง และเว็บไซต์แชร์เพลงอย่างผิดลิขสิทธิ์ระบาดอย่างหนัก จนถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขาลงของอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียง ซึ่งเห็นได้จากยอดขายที่ตกลงมาตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมาในกราฟด้านบนนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการสูญเสียรายได้และอำนาจครั้งใหญ่ของเหล่าค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ แต่เทคโนโลยีใหม่นี้ทำให้แฟนเพลงได้เข้าถึงบทเพลงต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ทำให้สามารถคานอำนาจค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง แต่ผลเสียก็คือทำให้เกิดความเสียหายต่อศิลปินนักดนตรีอย่างมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะศิลปินที่อยู่ภายใต้การดูแลของค่ายเพลง

2) การปฏิวัติดนตรีระลอกที่ 2 – ค.ศ. 2000’s เป็นต้นมา : “การปฏิวัติโดยศิลปิน”

จากการปฏิวัติของแฟนเพลงข้างบน ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเพลงฟรี ๆ แพร่หลายมากจนกู่แทบไม่กลับเลยทีเดียว ทำให้รายได้ของศิลปินนักดนตรีตกฮวบลงมาอย่างหนักเนื่องจากขายสิ่งบันทึกเสียงแทบจะไม่ได้ แต่ศิลปินนักดนตรีก็ใช่ว่าจะเสียหายไปซะทุกคน เพราะว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดตามมา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การทำเพลงที่คุณภาพสูงขึ้นและราคาถูกลง สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Myspace, FacebookYouTube รวมถึงสื่อในการเผยแพร่จัดจำหน่ายเพลงอย่าง iTunes, Spotify, Bandcamp ได้ปลดแอกศิลปินให้ได้เผยแพร่รวมทั้งขายผลงานของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบที่ถูกควบคุมดูแลโดยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย

ระบบเทคโนโลยีดนตรีสมัยใหม่ เริ่มแทนที่ระบบค่ายเพลง (Technology is Unbundling the Record Label Business)

Steve Albini โปรดิวเซอร์ของวง Nirvana ชุด In Utero กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Face The Music 2014 ที่ประเทศออสเตรเลีย

“In the 70s and 80s, most bands went through their entire lifecycle without so much as a note of their music recorded.  [Now] The internet has facilitated the most direct and efficient, compact relationship ever between band and audience.  Fans can find the music they like and develop direct relationships with the bands.  Music went from being rare, expensive … to being free worldwide.  What a fantastic development.” – Steve Albini (ที่มา: www.theguardian.com)

ข้อความข้างบนนี้ คือเนื้อหาบางส่วนจากสุนทรพจน์ของ Steve Albini โปรดิวเซอร์ของวง Nirvana ชุด In Utero ที่ผู้เขียนเอามาแปะต่อ ๆ กัน (ที่มา: www.theguardian.com) ซึ่งเนื้อหาหลัก ๆ ที่เขาพูดถึงก็คือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้น มีส่วนช่วยในการพัฒนาวงการดนตรีเป็นอย่างมาก โดยเปิดโอกาสให้วงเล็ก ๆ ที่ถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มีวันแม้แต่จะเข้าห้องอัด ได้มีโอกาสเป็นที่รู้จัก และสามารถมีแฟนเพลงจากทั่วทุกมุมโลกได้

ในปัจจุบันนี้ เราได้เริ่มเห็นเครื่องมือออนไลน์ต่าง ๆ ที่วงดนตรีสามารถใช้เพื่อทดแทนระบบการทำงานหลาย ๆ ส่วนของค่ายเพลง เช่น Facebook และ YouTube ใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์; iTunes และ Bandcamp ใช้ในการจัดจำหน่ายสิ่งบันทึกเสียง; KickStarter ใช้ในการหาเงินทุนทำเพลง; Sonicbids ใช้ในการหางานแสดง; และ BandsInTown ช่วยในการเชิญชวนแฟนเพลงให้มาซื้อตั๋วชมงานคอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือออนไลน์ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการแยกกระบวนการทำงานที่เคยถูกควบรวมไว้โดยค่ายเพลง ให้ออกมาเป็นก้อนเล็ก ๆ (Unbundling) เรียกได้ว่า ระบบเทคโนโลยีดนตรีสมัยใหม่ เริ่มเข้ามาแทนที่ระบบค่ายเพลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้เขียนคาดการณ์ไว้ว่า ระบบค่ายเพลงจะถูกลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ จนหายไปในที่สุด แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าค่ายเพลงที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

ทำไมต้องปฏิวัติวงการดนตรี?

ในบทความนี้ ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าการปฏิวัติวงการดนตรีนั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และอยากอธิบายเหตุผลที่เราควรที่จะร่วมสนับสนุนให้การปฏิวัตินี้สำเร็จลุล่วงว่าอุตสาหกรรมดนตรีนั้นถูกควบคุมดูแลโดยบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ค่าย ที่นอกจากจะเอารายได้ส่วนใหญ่ไปแล้ว ยังจะกีดกันไม่ให้ศิลปินส่วนใหญ่ได้มีโอกาสเกิดเลยด้วยซ้ำ แถมยังจำกัดให้แฟนเพลงต้องฟังต้องเสพสิ่งที่พวกเขาผลิตและควบคุมอยู่อย่างไร้อิสรภาพอีกด้วย

ในเมื่อค่ายเพลงยักษ์ใหญ่มีอำนาจและเงินทองที่มากเกินไป แถมยังเอาเปรียบผู้ที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมดนตรี พวกเราที่เป็นคนส่วนใหญ่ ควรมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเรา โดยเฉพาะตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธที่เราจะใช้ต่อกรกับพวกเขาได้แล้ว

เราจะปฏิวัติวงการดนตรีได้อย่างไร?

การปฏิวัติวงการดนตรี เป็นการปฏิวัติที่ไม่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อ แถมยังได้ถูกเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ผลลัพธ์ของมันควรจะเป็นประโยชน์กับคนทุกฝ่าย และเป็นไปอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนวทางในการปฏิวัติวงการดนตรี ดังนี้

  1. แฟนเพลงเปิดใจให้กับเสียงดนตรีมากขึ้น ลองรับฟังเพลงหลากหลายแนว และฟังเพลงของศิลปินที่ไม่ได้อยู่ค่ายเพลงใหญ่ ๆ บ้าง
  2. แฟนเพลงเลือกบริโภคเพลงจากช่องทางที่ศิลปินได้ประโยชน์จริง ๆ และไม่สนับสนุนช่องทางที่เอาเปรียบศิลปิน เช่น เว็บไซต์ดาวน์โหลดเพลงเถื่อน
  3. ศิลปินเลือกใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในการทำงาน รวมทั้งศึกษาหาความรู้ในการบริหารตัวเองให้มากขึ้น
  4. ศิลปินและแฟนเพลงควรได้พบปะ และร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีประโยชน์สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย เช่น งานแสดงดนตรี งานคอนเสิร์ต โดยตั้งราคาตั๋วค่าเข้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้ศิลปิน, supplier, เจ้าของสถานที่, รวมไปถึงผู้จัดงาน มีรายได้ที่เพียงพอ และหากไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องรับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ใด ๆ

ในความคิดของผู้เขียน คนที่สำคัญที่สุดในวงการดนตรีมีเพียงแค่ “ศิลปิน” กับ “แฟนเพลง” เท่านั้น บุคคลที่เหลือเป็นเพียงผู้สนับสนุน หรือผู้กีดกันคนสองฝ่ายนี้เท่านั้น

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดนตรีถูกครอบครองและครอบงำโดยบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถล้มล้างเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราอาจเรียกว่า “ระบอบค่ายเพลง” ได้แล้ว ซึ่งการปฏิวัติวงการดนตรี หากกระทำโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม และมีความเคารพซึ่งกันและกัน จะเป็นการปฏิวัติที่ศิลปินและแฟนเพลง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องคนอื่น ๆ ได้รับประโยชน์ และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความจำเป็น และร่วมสนับสนุนการปฏิวัติวงการดนตรีที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยครับ

ขอบคุณมากที่อ่านบทความนี้จนจบครับ

Facebook Comments

Next: