Article Guru

อัฒจันทร์กรีกโบราณ มหัศจรรย์เวทีขยายเสียง (issue NOV 2015)

  • Writer: Fungjai Staff

เนื่องด้วยในเดือนนี้ (พฤศจิกายน 2558) ฟังใจซีนมีคอนเซ็ปต์ที่เน้นดนตรีโฟล์คและอะคูสติก เห็ดกูรูก็เลยอยากจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการแสดงดนตรีในยุคสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียง จึงได้ไปพบข้อมูลเกี่ยวกับโรงละครเอพิดอรัส หรือ Theatre of Epidaurus ซึ่งเป็นโรงละครกลางแจ้งที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี จุคนได้กว่า 14,000 คน แล้วผู้ชมสามารถได้ยินเสียงนักแสดงและเครื่องดนตรีอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องมีเครื่องขยายเสียง แม้แต่เสียงเหรียญตกพื้นยังสามารถได้ยินไปถึงแถวสุดท้ายของอัฒจันทร์ ถือได้ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์จริง ๆ โดยนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะไขความลับของโรงละครนี้ได้เมื่อไม่นานมาเอง ซึ่งผู้เขียนขอนำความรู้ที่ได้มาเรียบเรียงให้ทุกคนได้อ่านกันครับ

Greece, Epidaurus. Ancient Theatre
ภาพโรงละครเอพิดอรัส จาก: http://travel.kapook.com/view105378.html

 

ประวัติย่อ โรงละครเอพิดอรัส (Theatre of Epidaurus)

โรงละครเอพิดอรัส ตั้งอยู่ในเมือง Epidaurus บริเวณที่ราบ Argolis ในแหลม Peloponnesus ทางตอนใต้ของประเทศกรีซ (Greece) ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเอเธนส์ (Athens) เมืองหลวงของประเทศประมาณ 2 ชั่วโมงทางรถยนต์ โดยที่มาของชื่อ Epidaurus มาจากชื่อของ Epidaros โอรสแห่งเทพ Apollo เทพแห่งดวงอาทิตย์ ดนตรี ความจริงและคำทำนาย การรักษาโรคและโรคระบาด บทกวี และอีกมากมาย

โรงละครนี้ คาดว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อ 330 ปีก่อนคริสตกาลในยุคกรีก โดยช่างแกะสลักและสถาปนิก Polyclitus the Younger (สะกดอีกแบบว่า Polykleitos) ผู้มีนามเดียวกันกับบิดาผู้เป็นช่างแกะสลักและสถาปนิกที่มีชื่อเสียงเช่นกัน โดยเรียกกันไม่ให้สับสนว่า Polyclitus the Elder ซึ่งโรงละครนี้มีสภาพที่ยังสมบูรณ์มาก ๆ เนื่องจากถูกฝังกลับด้วยดินหนากว่า 6 เมตร ทำให้ไม่โดนสภาพอากาศทำลาย และถูกขุดพบเมื่อปี ค.ศ. 1881 โดยนักโบราณคดีชื่อว่า Panagís Kavadías (ที่มาของข้อมูล: Watchtower Online Library)

โรงละครเอพิดอรัส

ทำไมโรงละครนี้ ถึงขยายเสียงได้ดี?

มีผู้คนมากมายพยายามหาคำอธิบายว่าทำไมโรงละครนี้ถึงได้ขยายเสียงให้ผู้ชมกว่า 14,000 คนสามารถได้ยินการแสดงได้อย่างชัดเจน คำอธิบายหนึ่งที่มีเหตุผลที่สุดก็คือเรื่องการออกแบบรูปร่างของอัฒจันทร์ที่ค่อย ๆ ชันขึ้นเมื่อขึ้นสู่แถวที่นั่งที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยลดระยะห่างระหว่างผู้ชมและนักแสดงข้างล่าง ทำให้แถวที่ไกลที่สุดไม่ได้ไกลเท่ากับการออกแบบโดยให้ความชันของอัฒจรรย์คงที่

บางคนให้เหตุผลว่าน่าจะเป็นเพราะทิศทางของลมที่เป็นธรรมชาติของที่นั่น พัดขึ้นจากเวทีไปหาผู้ชม ทำให้สามารถพัดพาเสียงให้ไปได้ไกลขึ้น บางคนก็คิดว่าเป็นเพราะรูปร่างของอัฒจันทร์ที่ชันขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เสียงสะท้อนกับพื้นและที่นั่งจนเดินทางไปได้ไกลขึ้น แล้วก็มีบ้างที่ให้เหตุผลว่าน่าจะเป็นเพราะรูปร่างของหน้ากากที่นักแสดงใส่นั้นช่วยขยายเสียงพูดให้ดังขึ้น (นักแสดงกรีกโบราณมักใส่หน้ากากแสดง) และก็มีที่คิดว่าน่าจะเป็นเพราะจังหวะในการพูดภาษากรีกเอื้อต่อการได้ยินในระยะทางไกล ๆ แต่นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลแห่ง Georgia Institute of Technology ได้ค้นพบว่า ความลับของโรงละคนนี้ แท้จริงแล้วอยู่ที่วัสดุของที่นั่งที่ทำจากหินปูน (Limestone) ต่างหาก

 

Ancient theatre in Epidaurus, Greece
โครงสร้างโบราณสถานที่ทำจากหินปูน ภาพจาก: http://travel.kapook.com/view105378.html

คุณสมบัติทางเสียงของหินปูน

หินปูน มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นเสียงความถี่ต่ำกว่า 500 Hz และสะท้อนคลื่นเสียงความถี่สูงกว่า 500 Hz ได้ดี จึงช่วยทำให้ลดเสียงดังพึมพำของผู้ชมที่เป็นเสียงรบกวน (Background Noise) ความถี่ต่ำลงได้ และทำให้เสียงของนักแสดงสะท้อนและเดินทางไปยังผู้ชมแถวหลังสุดได้ แต่นั่นก็แปลว่า เสียงต่ำของนักแสดงก็จะถูกดูดซับไปจนไม่ได้ยินเหมือนกัน

ปรากฎการณ์ “สร้างเสียงที่หายไป” ของสมองมนุษย์

สมองมนุษย์สามารถสร้างและเติมคลื่นเสียงที่หายไปได้ ทำให้เรารู้สึกว่าได้ยินเสียงต่ำ ๆ ได้ แม้ในความเป็นจริงไม่มีเสียงในย่านนั้น ๆ อยู่เลย เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Virtual Pitch” ยกตัวอย่างเช่น เสียงที่ออกจากลำโพงดอกเล็ก ๆ อย่างในโทรศัพท์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุค ตัวดอกลำโพงจะไม่มีความสามารถในการสั่นให้เกิดคลื่นเสียงความถี่ต่ำได้ ทำให้ไม่มีเสียงเบส (Bass) แต่ด้วยความที่คนเราคาดการณ์เสียงเหล่านั้นเองโดยธรรมชาติ สมองจึงเติมเสียงเบสเหล่านั้นอย่างอัตโนมัติ

โรงละครที่สร้างเลียนแบบไม่ได้ เพราะดันไม่รู้เรื่องวัสดุสำคัญ

โรงละครเอพิดอรัสมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในเรื่องความชัดเจนของเสียงการแสดง จนมีผู้คนสร้างเลียนแบบโดยอิงดีไซน์รูปร่างของอัฒจันทร์เป็นหลัก แต่เนื่องจากไม่มีใครรู้ถึงคุณสมบัติทางเสียงของหินปูน จึงได้สร้างที่นั่งด้วยวัสดุอื่น ๆ เช่น ไม้ ทำให้ไม่สามารถทำให้ได้คุณลักษณะทางเสียงที่ดีเท่ากันได้ และทำให้สถาปนิกออกแบบโรงละครของกรีกและโรมัน เลิกใช้ดีไซน์ของโรงละครนี้เป็นต้นแบบในการสร้างอัฒจันทร์ในเวลาต่อมา

(ที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์ของ Georgia Institute of Technology)

โรงละครเอพิดอรัสในปัจจุบัน ภาพจาก: http://greekfestival.gr/en/venues/view/ancient-theatre-of-epidaurus
โรงละครเอพิดอรัสในปัจจุบัน ภาพจาก: http://greekfestival.gr/en/venues/view/ancient-theatre-of-epidaurus

โรงละครเอพิดอรัส ยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และมีเทศกาล Athens & Epidaurus Festival ที่จัดการแสดงที่โรงละครนี้อยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งหากว่าผู้เขียนมีโอกาส ก็คงอยากได้ไปชมซักวันหนึ่ง

บทความนี้ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ใหม่ ๆ ในเรื่องเสียงไปไม่มากก็น้อย ทำให้ได้รู้ว่าในสมัยโบราณ แม้จะไม่มีเครื่องขยายเสียงอย่างในปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากก็ยังได้ฟังการแสดงละครและดนตรีได้อย่างชัดเจนได้อย่างไร

ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะกลับมาอ่านความรู้ดี ๆ ที่จะมานำเสนออีกทุก ๆ เดือนนะครับ ขอบคุณที่อ่านครับ 🙂

Facebook Comments

Next: