สูงสุดคืนสู่สามัญ – Back to Basics (issue SEP 2015)
- Writer: Fungjai Staff
เนื้อหาของฟังใจซีนฉบับนี้ (กันยายน 2558) มาในธีมย้อนอดีต “Retro Future” ผู้เขียนก็เลยอยากนำเสนอเรื่องราวของธุรกิจดนตรีตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน แล้วก็มาคุยกันเรื่องอนาคตของวงการดนตรีว่าน่าจะเป็นเช่นไร
ดนตรีมีมาแต่โบราณ
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistory) คือก่อนที่มนุษย์จะมีการเขียนบันทึกสิ่งต่างๆเป็นตัวหนังสือ ดนตรีก็ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว โดยนักประวัติศาสตร์คิดว่าเครื่องดนตรีชิ้นแรกก็คือเสียงของมนุษย์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงฮัมในลำคอ ผิวปาก กระดกลิ้น การไอ หรือการหาว โดยน่าจะเป็นการเลียนแบบธรรมชาติก่อน ทั้งในแง่ของเสียงและจังหวะ จากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาโดยการสร้างรูปแบบที่แน่นอนขึ้น มีการทำเสียงเดิมวนๆ เป็นแพตเทิร์น แล้วก็เปลี่ยนโทนเสียงสูงต่ำ ซึ่งจุดประสงค์ในการสร้างเสียงดนตรีมีทั้งในแง่ของพิธีกรรม หรือใช้ระหว่างการล่าสัตว์ เนื่องจากดนตรีนั้นมีอยู่ในทุกๆวัฒนธรรมบนโลก ไม่ว่าจะมีถิ่นฐานที่ห่างไกลกลุ่มคนอื่นๆขนาดไหนก็ตาม จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์นั้นได้ประดิษฐ์คิดค้นดนตรีตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มย้ายถิ่นฐานออกจากทวีปอัฟริกาเมื่อ 55,000 ปีที่แล้ว (ข้อมูลจาก: Wikipedia.org/wiki/History_of_music)
ขลุ่ยที่ค้นพบในถ้ำแถบตอนใต้ของประเทศประเทศเยอรมนี อายุประมาณ 42,000-43,000 ปี (ภาพจาก: www.bbc.com)
นักโบราณคดีได้ค้นพบขลุ่ยที่ทำจากกระดูกนกและกระดูกช้างแมมมอธในถ้ำ Geissenkloesterle ในแถบตอนใต้ของประเทศประเทศเยอรมนี อายุประมาณ 42,000-43,000 ปี ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบเจอมา (ข้อมูลจาก: BBC.com) แต่สำหรับเครื่องดนตรีเคาะจังหวะ น่าจะเริ่มต้นมาจากการปรบมือ หรือการนำหินหรือวัสดุอื่นๆมาเคาะกันให้เกิดจังหวะ ซึ่งอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากการที่มนุษย์นำหินมาทุบรากไม้หรือเมล็ดเปลือกแข็งเพื่อนำมาเป็นอาหาร ทำให้คาดการณ์ได้ว่าดนตรีแบบเคาะจังหวะอาจจะมีมาตั้งแต่ยุคหินเก่าโดยมนุษย์โบราณสายพันธุ์ Hominids ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึง 2.5 ล้านปีก่อนก็ได้ (ข้อมูลจาก: Wikipedia.org/wiki/Prehistoric_music)
ต่อมาในยุคโบราณ (Ancient History) คือยุคที่มีการประดิษฐ์ตัวหนังสือแล้ว นักโบราณคดีมีการค้นพบเพลงที่เขียนด้วยตัวหนังสือ Cuneiform อายุประมาณ 4,000 ปี ซึ่งมีการเขียนเมโลดี้อีกด้วย นับเป็นบันทึกของเพลงที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยค้นพบมา (ข้อมูลจาก: Wikipedia.org/wiki/Ancient_music)
จุดประสงค์ของดนตรีในยุคโบราณ
ในมุมมองเชิงจิตวิทยา ดนตรีนั้นสามารถปลุกเร้าอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ซึ่งปัจจัยทั้งสองเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “การสืบพันธุ์” และ “ความอยู่รอด”
ในเรื่องการสืบพันธุ์ แม้จะไม่มีผลการศึกษาที่ระบุชัดเจนถึงความเชื่อมโยงระหว่างดนตรีและการสืบพันธุ์ แต่ก็อาจตั้งสมมติฐานได้ว่านักดนตรีเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก และสื่อสารความหมายและอารมณ์ต่างๆได้ดี ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะที่ดี ด้วยสัญชาตญาณในตัวมนุษย์ จึงทำให้เพศตรงข้ามอยากสืบพันธุ์ด้วย เพราะจะได้มีทายาทที่มีคุณสมบัติเดียวกันสืบต่อไป ซึ่งการเปรียบเทียบแบบนี้จะคล้ายกับพฤติกรรมของสัตว์บางชนิด เช่น นกที่ร้อง และ/หรือ เต้นเพื่อแสดงความฟิตของร่างกายในกระบวนการหาคู่
ส่วนในเชิงความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ อาจพิจารณาได้ว่าสังคมที่มีวัฒนธรรมดนตรี น่าจะช่วยทำให้สังคมนั้นมีการสื่อสารและส่งต่ออารมณ์ร่วมถึงกันได้ดีกว่า โดยเฉพาะดนตรีที่ใช้ในเชิงพิธีกรรม นอกจากนี้ความแน่นแฟ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมนั้นๆ แข่งขันต่อสู้กับสังคมกลุ่มอื่นๆได้ดีกว่า (ข้อมูลจาก: Wikipedia.org/wiki/Prehistoric_music)
ดนตรีนั้น ‘สด’ มาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง
ผู้เขียนได้ไปฟังสุนทรพจน์ของคุณ Terry Ellis หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Chrysalis Records ในตำนาน ที่เคยมีศิลปินชื่อดังในสังกัดมากมาย อย่างเช่น Blondie, Billy Idol, Sinéad O’Connor และ Robbie Williams ที่งาน Music Matters 2015 ที่สิงคโปร์ ซึ่งเขาได้เกริ่นถึงประวัติศาสตร์ดนตรี เล่าถึงชีวิตการทำงานในวงการดนตรี ปัญหาในวงการดนตรี และอนาคตของวงการดนตรีได้อย่างสนุกสนานและได้ข้อคิด
Terry Ellis หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Chrysalis Records
คุณ Ellis เล่าว่าธุรกิจดนตรี (Music Business) มีมาเป็นพันๆหมี่นๆปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีในพิธีกรรมหรือเพื่อความบันเทิง ทั้งหมดนั้นเป็นการเล่นดนตรีสดๆทั้งสิ้น จนเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้วเองที่เครื่องบันทึกเสียงถูกประดิษฐ์ขึ้น คนจึงไม่ต้องไปฟังเพลงต่อหน้านักดนตรีก็สามารถฟังเสียงเพลงที่ถูกบันทึกไว้ได้ ก่อเกิดเป็นธุรกิจสิ่งบันทึกเสียง (Recording Business) ที่กลายเป็นธุรกิจขนาด 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน
คุณ Ellis นั้นเรียนจบด้วยเกียรตินิยมในสาขาคณิตศาสตร์และโลหวิทยา แต่ระหว่างเรียน เขาได้จัดงานดนตรีในมหาวิทยาลัย Newcastle upon Tyne ที่เขาเรียนอยู่เป็นประจำ โดยจะออกไปชมวงดนตรีแล้วเชื้อเชิญวงที่เขาชอบมาเล่น ซึ่งเขาเล่าว่ามีหลายๆวงที่เขาเลือกมาที่ตอนนั้นเป็นวงโนเนม แต่ต่อมาได้กลายเป็นวงยักษ์ใหญ่ในตำนานอย่าง The Yardbirds ซึ่งมีสมาชิกอย่าง Jeff Beck, Eric Clapton และ Jimmy Page แห่ง Led Zepplin แล้วก็ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์ Bob Dylan สำหรับหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ทั้งๆที่ Bob Dylan ไม่ยอมให้สื่ออื่นๆของอังกฤษสัมภาษณ์เลยเพราะความรำคาญ หลังจากเรียนจบ เขาก็ทำงานประจำโดยก็ยังจัดและโปรโมทโชว์อยู่ จนกระทั่งพบกับ Chris Wright และต่อมาก็ลาออกมาก่อตั้งค่าย Chrysalis Records ร่วมกันในที่สุด
Terry Ellis สัมภาษณ์ Bob Dylan ในยุค 60’s
แผ่นเสียงมีไว้เพื่อทำให้คนอยากไปดูคอนเสิร์ต ไม่ใช่ขาย
คุณ Ellis เล่าอีกว่าในยุคที่เขาเริ่มต้นในวงการดนตรี ธุรกิจสิ่งบันทึกเสียง (Recording Business) แทบไม่มีเลย แผ่นเสียงไวนิลที่มีขายในตอนนั้นมีแต่เพลงคลาสสิก ราคาแพง และมีเพียงคนมีฐานะเท่านั้นที่จะซื้อ นอกจากนั้น สำหรับเพลงตลาดทั่วไป แผ่นไวนิลถูกใช้ในเชิงการตลาดมากกว่า คือจะถูกทำแจกไปยังสถานีวิทยุต่างๆ เพื่อเปิดเพลงให้คนรู้จัก และชักชวนให้เขาไปชมคอนเสิร์ตดนตรีสด เพราะฉะนั้น ศิลปินหรือค่ายเพลงไม่เคยทำเงินจากการขายสิ่งบันทึกเสียงเลย แต่ทำรายได้จากการเล่นสดเท่านั้น
ระบบค่ายเพลงครองอุตสาหกรรมดนตรี
ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่พัฒนาขึ้นจากไวนิล เป็นเทปคาสเซ็ตต์ แล้วก็เป็นซีดี ธุรกิจสิ่งบันทึกเสียง (Recording Business) เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้รวมต่อปีเป็น 3 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 15 ปี ระหว่างปี 1985-2000 จนทำให้ผู้คนคิดว่าอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียง (Recording Industry) เป็นสิ่งเดียวกันกับอุตสาหกรรมดนตรี (Music Industry) ซึ่งด้วยเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่ค่ายเพลงหรือค่ายบันทึกเสียง (Record Labels) ทำให้มันมีอำนาจควบคุมทุกอย่างไปเสียหมดเลย
กราฟยอดขายสื่อบันทึกเสียงชนิดต่างๆ ระหว่างปี 1973-2009 (ภาพจาก: news.jazzjournalists.org)
Music is (not) Dead
แต่แล้วการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์แชร์ไฟล์เพลง mp3 อย่าง Napster ในปี 1999 หรือเว็บไซต์แชร์ไฟล์อื่นๆอย่าง BitTorrent ก็ทำให้ยอดขายสิ่งบันทึกเสียงนั้นลดลงแบบฮวบฮาบ แล้วก็ทำให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างออกมาโวยวายเพราะสูญเสียรายได้ จนกระทั่งมีคำกล่าวที่ว่าอุตสาหกรรมดนตรีนั้นได้ตายแล้ว
เทคโนโลยีทำให้วงการดนตรีเปลี่ยนแปลงต่างหาก
แม้กระนั้น ก็มีศิลปินและคนในวงการดนตรีหลายๆคนเห็นต่าง เช่น John 5มือกีต้าร์ของ Rob Zombie และอดีตมือกีต้าร์ของ Marilyn Manson ที่ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ Gene Simmons มือเบสและนักร้องนำของ KISS ที่พูดว่า “Rock is dead” ว่าจริงๆแล้ว ไม่ว่าร็อก แร็ป หรือคันทรี่ มันไม่ได้ตาย แต่มันแค่เปลี่ยนไป (ข้อมูลจาก: www.blabbermouth.net) หรือ Steve Albiniอดีตโปรดิวเซอร์ของ Nirvana ที่กล่าวในสุนทรพจน์ที่งาน Face the Music ที่ออสเตรเลีย ที่เห็นด้วยกับการที่เทคโนโลยีและสื่อทางอินเตอร์เน็ตมาช่วยยึดอำนาจจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ให้โอกาสนักดนตรีและค่ายเพลงเล็กๆได้สร้างและเผยแพร่ผลงานของตัวเอง อีกทั้งได้สื่อสารพร้อมทั้งสร้างฐานแฟนเพลงได้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น เพราะในสมัยก่อนที่เขาเริ่มทำงานดนตรีใหม่ๆ วงดนตรีแทบจะไม่มีโอกาสเกิดเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากอุตสาหกรรมดนตรีถูกระบบของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ครอบงำอยู่เกือบทั้งหมด (ข้อมูลจาก: www.theguardian.com)
ประสบการณ์การชมดนตรีสด ทดแทนไม่ได้
ในโลกที่เทคโนโลยีทำให้เสียงดนตรีถูกแชร์ไปได้ข้ามโลก ก็ยังมีอยู่สิ่งหนึ่งที่มิอาจถูกแทนที่ได้ นั่นก็คือดนตรีสด เพราะมันคือประสบการณ์ที่ต้องไปรับรู้ด้วยตัวเองในสถานที่จริง นอกจากนี้ การแสดงดนตรีสดก็อาจเป็นทางรอดหนึ่งของวงดนตรี เพราะเป็นแหล่งรายได้ที่ค่อนข้างเป็นกอบเป็นกำมากกว่าอย่างอื่น
เพราะฉะนั้น หากวงดนตรีหนึ่งๆ ไม่สามารถหารายได้จากสิ่งบันทึกเสียงได้มากนัก ก็ให้ลองมองบริการของเทคโนโลยีต่างๆ ว่าจะสามารถดึงคนให้มาดูการแสดงสดได้หรือไม่ เหมือนกับในยุคที่คุณ Ellis เล่าถึงสมัยที่เขายังหนุ่มๆ ว่าแผ่นไวนิลมีไว้ส่งหาสถานีวิทยุเปิดเพลงเวลาจะออกทัวร์แสดงดนตรี ไม่ใช่เพื่อขาย
สื่อบันทึกเสียงเก่าๆเริ่มกลับมา
แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปจนเราไม่ต้องออกไปที่ร้านขายเทปขายซีดี และสามารถซื้อหรือฟังเพลงได้จากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แต่สิ่งบันทึกเสียงที่จับต้องได้นั้นก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อประสบการณ์การฟังเพลงของเราอยู่ แล้วก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญของวงดนตรีได้อีกด้วย
ข้อมูลยอดขายแผ่นไวนิล 1998-2014 (ภาพจาก: http://qz.com/387213/the-astonishing-comeback-and-undeniable-insignificance-of-vinyl/)
นอกจากแผ่นเสียงไวนิลเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้นแล้ว เทปคาสเซ็ตต์เองก็เริ่มกลับมามีให้เห็นมากขึ้น เช่นของ POLYCAT เอง แต่เป็นเพราะเพลงต่างๆนั้น มีให้ฟังออนไลน์ หรือซื้อหาได้ทางอินเตอร์เน็ต สื่อบันทึกเสียงรูปแบบเก่าๆนี้จึงเป็นในรูปแบบของสะสมหรือของที่ระลึกมากกว่า
สื่อบันทึกเสียง และคุณค่าทางจิตใจ
ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณตูน Stoondio เมื่อนานมาแล้ว (ใน blog Indie Campfire) ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ทำเพลงอัลบั้มแรกออกมานั้น เธอปล่อยให้คนฟังฟรี โหลดฟรี จากหลายๆที่ ไม่ว่าจะเป็นเว็บบอร์ดต่างๆ หรือว่าเว็บฯ 4shared โดยแค่หวังว่าคนจะได้ฟังเพลงเยอะๆ แต่แม้จะแจกไปฟรีๆ แฟนเพลงของเธอก็ยังซื้อแผ่นซีดีของเธอจนหมด 1,500 แผ่น
ในปัจจุบันนี้ เมื่อไรก็ตามที่มีแผ่นซีดีเพลงใหม่ออกมา ไม่นานนักก็ต้องมีคนที่แชร์เพลงเหล่านั้นออกไปทางอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ผู้เขียนไปร่วมงานแถลงข่าวอัลบั้มใหม่ของ สิงโต นำโชค ภายในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมงให้หลัง ก็ถูกอัพโหลดไปยังเว็บฯแชร์เพลงแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้คนโหลดฟรีเพื่อที่จะได้มีรายได้ ก็ต้องถูกขโมยไปอยู่ดี
กลับมาที่ Stoondio อีกครั้ง ซึ่งคุณตูนได้ให้เล่าให้ผู้เขียนว่า ประสบการณ์ทางดนตรีนั้นเป็นแบบบูรณาการ คือไม่ใช่ตัวเพลงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทั้งภาพ อารมณ์ และความรู้สึกอีกด้วย เพราะเธอนั้นมีการเขียนตอบพูดคุยกับแฟนเพลงบ่อยๆ ผ่านทาง Facebook จนเหมือนกลายเป็นเพื่อนกัน มีการโพสต์ภาพสวยๆประกอบคำพูดที่มีข้อคิด และในปกซีดียังมีรูปสวยๆ กับเรียงความที่สื่อความหมายของบทเพลงบรรจุอยู่อีกด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนเพลง และความใส่ใจในเรื่องบรรจุภัณฑ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ศิลปินหนึ่งๆขายเพลงได้จริงๆ