How to ส่งวงไทยไปเล่นญี่ปุ่น
- Writer: Piyapong Muenprasertdee, Sy Chonato
- Illustrator: Lalita Chatromyen
วงดนตรีหลายๆวงอาจจะมีความฝันที่จะได้ไปเล่นที่ประเทศญี่ปุ่นสักครั้งในชีวิต และมีศิลปินที่ได้ไปทัวร์แล้วหลายๆวงด้วยกัน เช่น แสตมป์ อภิวัชร์, Yellow Fang, Two Million Thanks, Gym and Swim หรือ Jelly Rocket
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รักศิลปะ มีพื้นที่ให้เล่นมากมายกับโลกดนตรีและศิลปะต่างๆ ตลาดเพลงที่นี่มีคนฟังเปิดกว้างรับแนวเพลง Genre ต่างๆมากมาย การได้ไปเล่นที่นั่นไม่ง่ายเลย แต่ที่ยากกว่าคือจะชนะใจมิตรรักแฟนเพลงญี่ปุ่นอย่างไร
วันนี้จึงขอเล่าเรื่องราวแชร์ประสบการณ์เมื่อ ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี Co-Founder และ Community Director ของฟังใจได้ไปร่วมงานสัมมนาทางดนตรีที่งาน Zandari Festa และ MU:CON ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
สิ่งที่ควรรู้ไว้หากจะไปเล่นดนตรีที่ญี่ปุ่น
1. ชนะใจแฟนเพลงญี่ปุ่นไม่ง่าย
-
- คนญี่ปุ่นมีความตั้งใจ ขยัน มีวินัยมากๆ ถ้าตั้งใจทำอะไรก็ไม่แพ้ใครในโลก ศิลปินญี่ปุ่นทักษะทางดนตรีเทพมาก ถ้าเรายังเล่นได้ไม่ดี ยังไม่เจ๋งพอ อาจจะไม่มีโอกาสชนะวงท้องถิ่นได้เลย ดังนั้นต้องซ้อมมากๆๆ ต้องแม่น ต้องแน่น ต้องเป๊ะ
- แทบจะมีทุกแนวเพลงในญี่ปุ่นอยู่แล้ว ไม่มีแนวไหนที่ใหม่ว้าวสำหรับตลาดคนฟังอินดี้ญี่ปุ่น อย่าหวังว่าเขาจะเซอร์ไพรส์กับแนวของเรา เพราะเขาอาจจะเคยเห็นมาก่อน แต่ข้อดีคือ ในตลาดที่หลากหลายแบบนี้ มีผู้ฟังทุกแบบอยู่ในตลาดการฟังที่ยินดีต้อนรับแนวเพลงแบบเรา เพี้ยนประสาทแค่ไหนถ้าดีจริงก็มีคนฟัง
- คนญี่ปุ่นไม่ได้เสาะแสวงหาเพลงจากต่างประเทศขนาดนั้น พวกเขาไม่ได้ตื่นเต้นกับวงต่างชาติเท่าไหร่โดยเฉพาะที่โตเกียว เพราะมีวงต่างประเทศมาเล่นบ่อยจนชิน แต่เมืองเล็กๆ อาจจะตื่นเต้นให้ความสนใจและให้การต้อนรับดีกว่า
คนญี่ปุ่นมีความตั้งใจ ขยัน มีวินัยมากๆ ถ้าตั้งใจทำอะไรก็ไม่แพ้ใครในโลก ศิลปินญี่ปุ่นทักษะทางดนตรีเทพมาก ถ้าเรายังเล่นได้ไม่ดี ยังไม่เจ๋งพอ อาจจะไม่มีโอกาสชนะวงท้องถิ่นได้เลย
2. วิธีการคุยงานกับมนุษย์ญี่ปุ่น
- ติดต่อเป็นภาษาญี่ปุ่นจะดีที่สุด หาคนที่ช่วยเหลือเราให้ได้ ส่วนมากคนญี่ปุ่นจะไม่เก่งภาษาอังกฤษมากนัก การใช้ภาษาของเขาจะทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจ และเห็นถึงความพยายามของเรา
- สุภาพมากๆ ขอโทษขอโพย และไม่ตรงไปตรงมา สไตล์การติดต่องานกับคนญี่ปุ่นจะไม่กระชับห้วนๆแบบคนตะวันตก ดังนั้นต้องปรับการสื่อสารของเรา ต้องฟังดูเหมือนเราขอโทษที่รบกวนเขาเสมอ เขาอาจจะตอบกลับอีเมลช้าถึงประมาณ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้คนญี่ปุ่นปฏิเสธไม่เก่ง ถ้าเขาไม่ตอบกลับ คิดไว้เลยว่าอาจแปลว่า ’ไม่’
- พวกเขาไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าและคนนอก ควรจะอ้างอิงคนที่แนะนำเรามา อ้างอิงว่ารู้จักจากคนนี้ก่อนจะติดต่อไปโดยตรง ควรพูดชัดเจนว่านอกจากเขา คุณได้ติดต่อใครอีกบ้าง พวกเขาอาจจะรู้จักกันและผนึกกำลังกันช่วยเรา
3. ส่องวัฒนธรรมดูดนตรีสดของคนญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมี live house เป็นพันแห่งทั่วประเทศ แต่ละที่มักจะมีวงเล่น 3-5 วงต่อคืน และมีคนไปดูดนตรีสดเป็นปกติคือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ เมื่อดนตรีสดเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแรง มีทั้งวงดนตรีมากมายที่คึกคักและคนฟังที่แข็งแรง จึงมีโอกาสที่วงบ้านเราจะเข้าไปแทรกเพิ่มสีสันให้ซีนดนตรีของเขา
- ใช้โมเดล Pay to Play คือจ่ายเงินเพื่อได้เช่าสถานที่เล่น แล้วพอคนมาซื้อบัตรดู วงก็เก็บค่าบัตรเอา แต่วงต่างชาติแบบเราๆ มักไม่ต้องเสียเงินค่าเช่า ถือเป็นการต้อนรับตามมารยาทจากเจ้าบ้าน
- แต่ละไลฟ์เฮ้าส์นิยมแนวดนตรีต่างกัน เลือกอันที่เหมาะสมกับแนวที่คุณเล่น บางสถานที่ไม่ได้หาวงที่กำลังทัวร์อยู่มาลง ดังนั้นควรจะเช็คให้ดีก่อนว่าธรรมชาติของสถานที่ที่เราจะไปเล่นเป็นอย่างไร
- ทำตัวสุภาพให้มากๆๆๆกับทีมงานของเขา ในวงการดนตรีนอกกระแส แต่ละไลฟ์เฮ้าส์รู้จักกันหมด เป็นเครือข่ายดนตรี ถ้าไม่อยากร่วมงานกับใคร พวกเขาจะบอกคนในวงสังคมดนตรีให้ออกห่าง ดังนั้นทำตัวดีๆ ถ่อมตัว มีมารยาท
4. วางแผนล่วงหน้านานๆ
- จองล่วงหน้า 6-9 เดือน (9-12 เดือนสำหรับวงแจ๊ส)
- ถ้ามีงบควรจะทัวร์ให้ทั่วทิศจากเหนือลงใต้หรือใต้ขึ้นเหนือยาวไป
- เผื่อใจไว้ว่า บางสถานที่ก็ไม่รับวงทัวร์นอกประเทศมาแสดง
5. หากมีเงินและเวลา โปรดเผื่อไว้หน่อยหนา สำหรับโปรโมต
- เวบไซต์ Bandsintown.com ฮิตในญี่ปุ่นมาก ใช้เพื่อส่องว่ามีวงไหนเล่นบ้าง โปรดใช้เพื่อสื่อสารโปรโมตให้ไปถึงคนท้องถิ่นว่าเราจะมาเยือนนะ
- ผลิตโปสเตอร์และแผ่นพับแจก จำนวนที่แนะนำคือ 10,000 ใบสำหรับโตเกียว หรือสอดแทรกแผ่นพับไว้ในซีดี
- สร้างเวบเพจวงสั้นๆที่เป็นภาษาญี่ปุ่น เผื่อเขาสนใจจะได้อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้
- ส่ง Press Release ให้กับสื่อญี่ปุ่นทั้งหลาย
- วิทยุอาจจะไม่ได้ช่วยมาก แต่ลองดูก็ได้ไม่เสียหาย รายการเพลงที่เข้มข้นบางสถานียังเป็นที่สนใจของคนฟัง คนญี่ปุ่นมักใช้การขนส่งสาธารณะไม่ได้ขับรถ จึงอาจจะไม่ได้ฟังวิทยุมากนัก นอกจากนี้ ชาร์ตนั้นเกิดจากยอดขายซีดีมากกว่ายอดฟัง ดังนั้นวงเราน่าจะติดชาร์ตยากมากๆ
- การจัดจำหน่าย ลองใส่เพลงของคุณไว้ใน Streaming Site ท้องถิ่นต่างๆ ได้แก่ AWA, Line, Rakuten, d-hits, Reco Choku Best และของต่างประเทศ เช่น Apple, Google Play, Amazon Prime Music, Spotify
6. ทำไมคนญี่ปุ่นจึงรักการซื้อซีดีนัก
ในประเทศญี่ปุ่น รายได้ศิลปินมาจากการขายแผ่นซีดี 80% จากช่องทางดิจิตัล 20%
เราอาจพอได้รู้กันมาว่า คนญี่ปุ่นยังรักและหลงใหลในสิ่งของที่จับต้องได้ บ้าเก็บสะสมเป็น Collection ส่วนตัว การใช้บัตรเครดิตไม่นิยมในญี่ปุ่นเท่าประเทศอื่นจึงทำให้ไม่ค่อยซื้อของออนไลน์ และมีเพลงจำนวนมากที่ไม่ยอมปล่อยในรูปแบบของดิจิตอลหรือออนไลน์ คนจึงขวนขวายหาเพลงฟังผ่านซีดีที่ซื้อมา
นอกจากนี้กฎหมายเผยแพร่คอนเทนต์ออนไลน์ในญี่ปุ่น ยังมีความซับซ้อนมากเพราะต้องได้รับอนุญาตจากทุกฝ่ายถึงจะเผยแพร่ได้ ทำให้เอกสารลิขสิทธิ์จัดการยุ่งยาก เนื่องจากค่ายใหญ่ๆไม่อยากให้การซื้อขายออนไลน์มาเป็นคู่แข่งกับตลาดของเขา การเข้าถึงเพลงออนไลน์จึงทำได้ยาก แฟนเพลงจึงต้องถูกบังคับกลายๆให้ซื้อผ่านช่องทางเดิม คือแผ่นซีดี
เนื่องจากค่ายใหญ่ๆไม่อยากให้การซื้อขายออนไลน์มาเป็นคู่แข่งกับตลาดของเขา การเข้าถึงเพลงออนไลน์จึงทำได้ยาก แฟนเพลงจึงต้องถูกบังคับกลายๆให้ซื้อผ่านช่องทางเดิม คือแผ่นซีดี
แผนล่อให้ซื้อโดยแอบสุ่มใส่ตั๋วนำโชคไว้ในกล่องซีดี
ค่ายเพลงญี่ปุ่นนิยมแอบสุ่มใส่ตั๋วนำโชคไว้ให้เสี่ยงดวงสนุกๆไว้ในแผ่นซีดี แฟนเพลงบางคนที่ซื้อซีดีแล้วได้ตั๋ว อาจจะได้โอกาสพบปะ Meet & Greet กับศิลปินที่ตัวเองปลื้ม นอกจากนี้ยังมีการทำซีดีหลายเวอร์ชั่น ออกหลายๆรอบ ให้แฟนคลับซื้อหาสะสมไม่รู้จบ
7. อาจต้องไปทัวร์ 3 ครั้งกว่าจะติดตลาด
- ทัวร์ครั้งแรก คือช่วงแนะนำตัว อาจจะไม่สามารถหาเงินได้ ยกเว้นเป็นแนว R&B หรือ Soul ที่เจ๋งจริงๆ
- ทัวร์ครั้งที่สอง ถ้าเขาชอบคุณ เขาจะติดต่อให้คุณมาเล่นอีก
- ทัวร์ครั้งที่สาม ครั้งนี้คุณจะได้รู้ว่าได้ติดตลาดที่นี่รึยัง จากผลตอบรับในครั้งนี้
8. Tips อื่นๆที่อาจมีประโยชน์
- ใช้นักดนตรีแบ็กอัพจากญี่ปุ่น เพราะอาจจะถูกกว่าค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับของทุกคนในวง นักดนตรีคนญี่ปุ่นมีทักษะสูงและมีวินัยมากๆ นอกจากนี้พวกเขาอาจจะมีแฟนๆที่ติดตามพวกเขามาดูด้วย
- เล่นเปิดให้วงดังๆท้องถิ่น พวกเขาอาจจะพาแฟนคลับของเขามาดูเราเล่น
อย่างที่บอกไป การไปเล่นทัวร์ที่ญี่ปุ่นไม่ง่ายเลย ต้องตั้งใจ ทุ่มเททั้งแรง เวลา และเงินถึงจะมีโอกาส แต่ก็เป็นเป้าหมายและประสบการณ์ที่ดีของการทำวงดนตรีเล็กๆที่เริ่มมีฐานเสียงและอยากไปเล่นที่อื่นดูเพื่อจะได้เปิดหูเปิดตา พบมิตรวงดนตรีและผูกสัมพันธ์ ได้สัมผัสวัฒนธรรมการฟังดนตรีสดที่แข็งแรง ส่วนนักฟัง หากไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อาจจะพบเป้าหมายใหม่ของการไปสำรวจประเทศนี้ คือไปลองฟังดนตรีที่แข็งแรงและเล่นแน่น คักคัก ส่องความหลากหลายและพบความเป็นไปได้ใหม่ๆในโลกการฟัง
อ้างอิง:
- สุนทรพจน์โดย Apryl Peredo ประธานบริษัท Inter Idoru เป็นบริษัทจัดการศิลปิน
- สุนทรพจน์โดย Takuya Yamazaki นักกฎหมายกีฬาและธุรกิจบันเทิง และผู้ก่อตั้งสำนักทนาย Field-R Law Firm
- Noisy
- Wikipedia