มาเป็นนักดนตรีกัน! เพราะวิทยาศาสตร์อยากให้ทุกคนเล่นเครื่องดนตรีเป็นอย่างน้อย 1 ชิ้น
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Art Director: Karin Lertchaiprasert
เห็นด้วยไหมว่าชีวิตประจำวันเดี๋ยวนี้ขาดเสียงเพลงไม่ได้เลย วันแย่ ๆ หรืออะไรไม่เป็นใจถ้าได้ฟังเพลงซักหน่อยก็ช่วยปลอบใจเราได้เหมือนกัน แต่ความมหัศจรรย์ของเสียงเพลงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การฟัง ถ้าเราเป็นคนที่เล่นดนตรีจะพบว่ามันเยียวยาเราได้มากกว่าการฟังเป็นสิบเท่า การฝึกเล่นเครื่องดนตรีซักชิ้นไม่ได้ทำให้เราดูดีแค่ภายนอก แต่ยังมีผลดีกับสมองและจิตใจเราอย่างมหาศาลเลย
การฝึกเล่นดนตรีชิ้นเดียวช่วยพัฒนาทักษะทางปัญญา (cognitive skill เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ การคิดการใช้เหตุผล) และทักษะนอกเหนือปัญญา (non-cognitive skill ได้แก่การเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์และความพากเพียร) ได้สูงขึ้นเป็นสองเท่าจากการเล่นกีฬา เรียนการแสดง หรือเรียนเต้น การเล่นดนตรีไม่ได้ใช้ความเข้าใจหรือการจำอย่างเดียว แต่ต้องใช้ทักษะทางร่างกายที่ซับซ้อนด้วย และทักษะเหล่านี้จะติดตัวเราไปตลอดกาลแม้เราจะหยุดเล่นดนตรีไปก็ตาม
ยิ่งมีงานวิจัยว่าถ้าคุณฝึกเล่นดนตรีตั้งแต่เด็ก ๆ จะทำให้พัฒนาการทุกด้านรวดเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน แถมยังพบว่าพวกเขามีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์น้อยลงด้วยเมื่อโตขึ้น ในกลุ่มนักดนตรีที่เข้าสู่ช่วงวัยชรา พวกเขาก็มีศักยภาพทางสมองที่ทำงานได้ดีกว่าคนรุ่นเดียวกันผ่านการทำแบบทดสอบเกี่ยวกับการรับข้อมูลใหม่ ๆ
มีการเก็บข้อมูลว่า นักศึกษาที่เคยฝึกการเล่นดนตรีมาก่อนมีแนวโน้มที่จะจบการศึกษามากกว่าเด็กที่ไม่เคยเล่นดนตรีด้วย พวกเขามักทำเกรดในบางวิชาได้สูงกว่ามาตรฐานหรือทำข้อสอบย่อยได้อยู่ในเกณฑ์ดีตลอดปีการศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะฝึกเล่นดนตรีช่วยฝึกสมาธิ ทำให้โฟกัสกับเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และพวกเขามีกราฟการเรียนรู้ที่สูงทุกการเก็บข้อมูล
แม้บางครั้งงานวิจัยจะเก็บข้อมูลในวงแคบ ๆ แต่การฝึกเล่นดนตรีซักชิ้นก็ช่วยเปลี่ยนชีวิตใครบางคนไปเลยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้มีวีดีโอสอนอยู่มากมายบน YouTube แค่เราขวนขวายซักนิดก็ไม่ยากเกินพยายามแน่นอน แต่จะให้ดีก็เรียนกับผู้เชี่ยวชาญน่าจะทำให้เราไปได้เร็วกว่า และผลลัพธ์ที่ดีของการเล่นดนตรีนั้น ต้องมาจากความสนุกหรือความสุขในเสียงเพลงจริง ๆ ไม่ใช่การเล่นเพื่อตอบความต้องการของใครด้วย
อ้างอิง