Article Contributor of the Month
Pop for Pop Sake
- Writer: Kongdej Jaturanrasmee
Pop for Pop Sake
ทุกครั้งเวลาที่เราค้นพบเมโลดี้ที่เราชอบ บรรยากาศของเพลงที่เราชอบแล้ว มันมักจะติดตัวเราไป อยู่กับเราไปทั้งชีวิต มันไม่ใช่เรื่องของแนวเพลง มันไม่ใช่เรื่องของรุ่น (เหมือนที่น้อง ๆ รุ่นใหม่หลายคนไปค้นพบเพลงเก่าแล้วหลงรัก) เราจะขุดคุ้ยไปยังต้นตอของมัน เฝ้ามองหาสิ่งเหล่านี้ในเพลงต่อ ๆ ไปที่เราฟัง และเมื่อเวลาผ่านไป บางทีเป็นสิบปีแล้วเราเจอวงใหม่ ๆ ที่เสิร์ฟเมโลดี้แบบที่เราชอบหรือบรรยากาศแบบที่เราชอบให้เรา เราอดไม่ได้ที่จะดีใจ โล่งใจ และปลาบปลื้มกับมัน
มันเป็นคำสาปของคนที่เลือกจะจมดิ่งไปกับเสียงเพลง
ครั้งแรกที่ A Kind of Eden ของ The Orchids ดังเข้าหูเรา เราก็รู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว แม้ต้องยอมรับว่าการฟัง The Orchids ทั้งอัลบั้มจะไม่ได้ประทับใจนัก แต่เพลงนั้นเพลงเดียวก็คุ้มพอที่จะใช้เวลาในชีวิตเพื่อสืบหาที่มาของมัน
แล้วเราก็พบกับ Sarah Records ค่ายเพลงอิสระจากเมือง Bristol ประเทศอังกฤษที่มอบนิยามแห่งเพลงอินดี้ป๊อปในช่วงยุค 90s ให้กับเรา ค่ายที่มีอายุสั้นไม่ถึงสิบปี แต่ในช่วงเวลาเท่านั้นก็ออกผลงานดี ๆ มาอย่างไม่ขาดสาย ทุกครั้งที่ฟังเพลงจากค่ายนี้ เราจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ใส่หมด ถ่อมตัว ไม่เคยมีเพลงบิ๊กโปรดักชัน ซาวนด์ของซาร่าฉ่ำ ใส และแฉะแบบแอนะล็อก เราได้ค้นพบวงมากมายจากค่ายนี้ ไม่ว่าจะเป็น The Field Mice, Another Sunny Day, East River Pipe, Blueboy, Even As We Speak, The Hit Parade และ Harvey Williams
นี่คือเพลงป๊อปเพื่อความป๊อป และถ้าจะพั้งค์ก็เพื่อความพั้งค์ หลายเพลงเนื้อหาวนเวียนอยู่กับเรื่องความรัก การตัดพ้อ ความรวดร้าว เพลงเพื่อเชิดชูสปิริตของหนุ่มสาว เสียงร้องของผู้ชายก็อ่อนหวาน ของผู้หญิงก็สดใส ดนตรีไม่ซับซ้อน คัดไว้แต่สิ่งที่ใช่ นี่ไม่ใช่ค่ายเพลงของ “นักดนตรี” แต่เป็นกระบอกเสียงของความรู้สึกวัยทีน นี่คือชุมชนของคนที่มองโลกเป็นสีเดียวกัน นักดนตรีหลายวงในลิสต์ที่บอกไป ต่างรีไซเคิลตัวเอง เดี๋ยวไปอยู่วงนั้น เดี๋ยวออกงานโซโล่ของตัวเอง ความรู้สึกคล้าย Panda Records เหมือนกันนะ
The Hit Parade คือวงแรกที่เราจะแนะนำ วงที่ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงจากวรรณกรรมมากมาย เสียงร้องและเมโลดี้กีตาร์หวานฉ่ำบนใบหน้าเนิร์ด ๆ และบ้าพอที่จะแปะคำเตือนไว้ด้านหลังบางชุดว่า “ระวังนะ เพลงเราเพราะมาก และเนื้อหาก็แฝงไปด้วยความคิดด้วย” (นี่มึงบ้ามากเลยนะ) หรือบางชุดก็ใจกว้างพอที่จะบอก essential guide ว่าพวกเราฟังเพลงอะไรบ้าง (ก็เหมือนกับลายแทงนี้ที่ให้ไปตามหาฟังกันต่อ) เพลงเพราะที่ยังฝังใจคนฟังมาตลอดก็มีมากมายอย่าง Road to Beaconsfield, See You in Havana และเสียงคร่ำครวญอันตราตรึงจากเพลง So This is London หลังจากจบยุคสมัยของ Sarah ไปแล้ว วงนี้ก็ยังไม่ยอมตาย ย้ายค่ายไปเรื่อย และนาน ๆ ทีจะมีงานใหม่ออกมา ควบกับรวมเพลงเก่าบ้างมาหากินเรื่อย ๆ (เอ๊ะ นี่มันคล้าย ๆ สี่เตาเธอนี่หว่า)
Harvey Williams นี่ก็อีกหนึ่งเนิร์ดที่เริ่มจากการเป็นสมาชิกของวง Another Sunny Day แต่ชอบทำตัวเหมือนเงาของคนอื่น คือไปเล่นดนตรีให้กับหลายวงมาก ๆ จะ The Field Mice, The Hit Parade หรือ Blueboy พี่เค้าไปหมด คือเป็นทั้งนักร้องและมือกีตาร์ แต่พอตอนออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง ก็ทำแต่เพลงเหงา ๆ ที่มีเปียโนและออร์แกนเป็นองค์ประกอบหลัก อัลบั้มสั้น ๆ เพลงสั้น ๆ Rebellion คืออัลบั้มสั้น ๆ ที่เรารักมาก มันคือยี่สิบนาทีแห่งแสงสลัวและอากาศชื้น
และแล้ว Sarah Records ก็ปิดตัวลงเมื่อถึงเวลาอันสมควร โดยมีอัลบั้ม Sarah 100 There and Back Again Lane อัลบั้มที่รวมเพลงสำคัญ ๆ ของวงในค่าย อัลบั้มที่มองวันชื่นคืนสุขด้วยสายตาอาลัย
การจะติดตามจับตาดูการสูญสลายลงของ Sarah records อย่างใกล้ชิดและตามลายแทงหลังค่ายแตกที่ดี ต้องตามที่วง Blueboy ขณะที่อยู่ Sarah Records อัลบั้มสำคัญตลอดกาลอย่าง Unisex ถูกผลิตออกมา และเมื่อค่ายแยกย้าย Blueboy ก็ตามหนึ่งในผู้ก่อตั้งของค่ายมาอยู่ที่ค่ายใหม่อย่าง Shinkansen Recordings โดยมีอีกหลายวงตามออกมาด้วย อย่าง The Hit Parade, Harvey Williams รวมทั้ง The Field Mice ที่กลายมาเป็น Trembling Blue Stars ในเวลาต่อมา (วงนี้ก็เด็ด อัลบั้ม Her Handwriting เปราะบางมากที่สุดในสามโลก) จิตวิญญาณของ Sarah Records ยังคงอยู่อย่างครบถ้วนที่ Shinkansen แม้ว่าหลังจากไม่กี่ปีแรก ค่ายก็ชักจะไม่ active สักเท่าไหร่ แต่สองสมาชิกหลักของวง Blueboy ก็เริ่มแตกหน่อต่อยอด กระทั่งฟอร์มวงใหม่เป็น Arabesque และBeaumont และออกงานกับค่าย Siesta Records ของสเปน
Siesta at Day, Fiesta at Night…
Siesta เป็นค่ายที่มีรสนิยมสูงผิดกับความดิบสดของ Sarah แผ่ขยายอารมณ์ฝันกลางวันตามชื่อค่ายได้อย่างสมราคา อัลบั้ม This is… ของ Beaumont มาในรูปลักษณ์ของไวนิลสีขาวครีม นวลทั้งแผ่น นวลทั้งเพลง อัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงที่ทำให้เราน้ำตาไหล สมการรอคอยมาหลายปี
การได้รู้จักค่ายเพลงฝันกลางวันนี้ ทำให้เราได้ค้นพบวงดี ๆ อีกมากมาย เว็บไซต์ของค่ายน่ารักและอธิบายงานที่ออกทุกชิ้นอย่างครบครันและเชิดชู Siesta มีความครอบคลุมแนวเพลงที่หลากหลายกว่า แต่ล้วนยืนอยู่บนความป๊อป The Orchids ก็ตามมาอยู่ที่นี่ Swan Dive ก็มาออกงานกับที่นี่จำนวนนึง นอกจากนี้เรายังได้พบกับ The Legendary Jim Ruiz Groupป๊อปแบบที่เอะอะมะเทิ่ง พบกับเพลง lounge ดี ๆ อย่าง Rita Calypso, Barry Gemso เพลงอะคูสติกมีระดับอย่าง Ramon Leal ป๊อปชวนฝันอย่าง Milky และที่สำคัญ ได้พบกับ Edwin Moses
Edwin Moses คือวงที่รวมนักดนตรีฝีมือเยี่ยม รสนิยมดี และได้รับอิทธิพลจากงานเพลงของคนผิวสีอย่าง Curtis Mayfield, The Jackson 5 นำทัพโดย Pedro Vigil สุดยอดโปรดิวเซอร์ที่เรานั่งฟังครั้งแรกแล้วก็เผลอคิดไปเองว่า นี่น่าจะเป็นงานของคนผิวดำที่ทำเพลงได้ป๊อปละมุนละไมเหลือเกิน ทั้งจากปกของแผ่นเสียง 7 นิ้วสีส้มชุดแรกที่มาในรูปของนักบาสผิวดำ ทั้งจากเสียงร้องที่ร้องแบบเสียงหลบของคนดำ จนได้มาฟังงานเดี่ยวของคุณ Pedro ในนาม Vigil เองในภายหลัง ซึ่งมาในรูปแบบเพลงบรรเลงทั้งสามชุด ก็ยิ่งหลงใหลงานของตาคนนี้มากขึ้นทุกขณะ คงไม่ง่ายนักที่เราจะหาเพลงที่แสดงถึงความคารวะ ยาสุจิโร่ โอซุ ในเพลงบรรเลงสักชิ้น และเพลงนั้นก็สง่างามเหลือเกิน
แต่แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปอย่างเงียบ ๆ ค่ายเพลงนี้จากไปอย่างสงบมา 6 – 7 ปีแล้ว เธอจะพบเพียงภาพเว็บไซต์น่ารักนี้เวลาที่เสิร์ชชื่อ www.siesta.es (ย้ำว่า .es เท่านั้น ถ้า .com จะไปเจออีกค่ายทันที) แต่เป็นเว็บไซต์ที่ไม่ active แล้วเช่นกัน ไม่มีศิลปินออกใหม่ ไม่สามารถสั่งซื้ออัลบั้มกับค่ายได้เหมือนเดิม ทุกอย่างหยุดลงตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ก็น่าจะเดาได้นะว่าการเปลี่ยนรูปแบบการฟังเพลงแบบที่เป็นกันทั่วโลกนั่นแหละที่ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดลง
แต่เรายังนึกถึงวันที่ได้รับแผ่นเสียงที่ถูกส่งไปรษณีย์แพ็คมาเป็นอย่างดี แถมมีโปสการ์ดอวยพรเขียนด้วยลายมือว่า “ขอให้คุณเอนจอยกับเพลงที่คุณกำลังจะได้ฟัง” จะยังมีใครใส่ใจอะไรแบบนี้อีกบ้างหรือเปล่าในโลกทุกวันนี้ เราซวยเองที่ดันเกิดมาทันทุกฟอร์แมต ตั้งแต่แผ่นเสียง คาสเซตต์ ซีดี ดิจิทัลไฟล์ ทันเห็นทุกอย่างพุ่งขึ้นและดิ่งลงตามเวลา
โชคยังดีที่ทุกวันนี้เราไปญี่ปุ่นแล้วไม่ต้องลุ้นวีซ่าอีกต่อไป อย่างน้อยทุกการเดินทาง เรายังคงหาโอกาสแวะเข้าไปในร้านแผ่นเสียงซีดีต่าง ๆ และเฝ้ามองหาเพื่อนเก่า ๆ ตามชั้น ทุกครั้งที่เราเจอแผ่นของค่ายที่สูญหายเหล่านี้ บ้างใหม่ บ้างมือสอง เราไม่ลังเลที่จะหยิบมันขึ้นมา ลูบไล้ปกมันด้วยสายตาอีโรติกปนนอสตาลเจีย เหมือนกับทักทายว่า แกยังสบายดีอยู่ใช่มั้ยเหล่าสหายเพลงป๊อปทั้งหลาย?…
เพลงป๊อปเพื่อป๊อป
อ่านตอนต่อไป ที่นี่
ตอนที่ 1 The Lost Songs
ตอนที่ 3 I am the Resurrection
ตอนที่ 4 แด่สโมซ่าส์