กิ้งก่า กิ้งกือ กิ้งก่า กิ้งกือ นี่หรือเพลงแหล่?
- Writer: Chokchai Riamthaisong
‘โอ้นิ่มน้องแม่ทองพันชั่ง พี่นาคขอสั่ง เอาวันละกั๊ก เอาวันละแบน เอาวันละกั๊กก็พอ โซดาไม่ต้อง…’ และวลีที่ว่า ‘อันบวชหัวใจเอ่ยยยยย อันละกิ้งก่า กิ้งกือ กิ้งก่า กิ้งกือ อืออืออือ’ ทั้ง 2 ส่วนที่ยกมานี้เป็นคำร้องเพลงแหล่ ในชุด ‘นาคสั่งสีกา’ ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และ ทศพล หิมพานต์ ซึ่งนับว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงนั้นที่ทำให้เพลงแหล่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งปกติเพลงแหล่คนจะเข้าใจกันว่าจะต้องให้ประกอบการเทศน์มหาชาติ แต่ในปัจจุบันมีใช้แหล่ประกอบในการทำขวัญนาค หรือให้แสดงในโอกาสต่าง ๆ ที่เหมาะสม
เรารู้จักเพลงแหล่กัน แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่าเพลงแหล่มีที่มาจากอะไร
จากการค้นคว้า ไปพบหนังสือที่ชื่อว่า ‘กะเทาะเปลือกเวสสันดร’ ของพระครูวิวิธธรรมโกศล (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน) สรุปได้ว่า คำว่า ‘แหล่’ นั้น เกิดจากประเพณีการเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก เมื่อพระเทศน์จบตอนหนึ่งหรือกัณฑ์หนึ่ง ในตอนใกล้จบเนื้อความจะมีคำลงท้ายว่า “นั่นแล” หรือ “นั้นแล” เช่น “ด้วยพระทัยอนุโมทนาในกาลบัดนั้นแล” “ดังพรรณนามาฉะนี้แล้วแล” เวลาลงเสียงมักลากเสียงยาว ๆ “แล” ญาติโยมจึงจึงพากันได้ยินว่า “แหล่” ลองนึกถึงว่าเวลาพระท่านเทศน์จบ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ สมัยผมยังเป็นเด็กคึกคะนองไปตามประสา ก็มักจะแผลงไปว่า เอวังก็มีด้วยประการชะนี ทำไมต้องชะนีไม่เข้าใจ แต่พอโตมาแล้วถึงเข้าใจว่าเสียงที่พระท่านเทศน์ออกจะเหน่อ ๆ หน่อย ผู้อ่านคงเข้าใจนะครับ สรุปแล้ว แหล่ ก็มาจากคำว่า ‘แล’
แล้วเพลงแหล่มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่
จากข้อสันนิษฐานของผม เพลงแหล่น่าจะมีมาไม่น่าเกินร้อยปี เพราะว่าไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่ามีการแหล่ครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ ๆ เพลงแหล่ต้องให้ประกอบการเทศน์มหาชาติแน่นอน เนื่องจากการฟังเทศน์มหาชาติเป็นที่นิยมฟังกันมากสมัยก่อน เพราะมีความเชื่อว่าหากใครสามารถฟังเทศน์มหาชาติจบครบ 13 กัณฑ์ ภายในวันเดียวจะได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์ ยุคในอุดมคติ (ถ้าในความเชื่อนี้เป็นจริง ผมคงได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์หลายรอบแน่นอน เพราะเปิดยูทูบฟังจบไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ) หากต้องการจะเทศน์ให้จบภายในวันเดียวคงทำได้ยาก เพราะกัณฑ์เทศน์แต่ละกัณฑ์นั้นยืดยาว พรรณาอธิบายแต่ละอย่าง สิงสาราสัตว์ ป่าเขาลำเนาไพร ความทุกข์ความโศกของพระนางมัทรี ฟังกันพากันหลับทีเดียว ยิ่งถ้าเทศน์เป็นทำนองหลวงด้วยนะ ตาย ๆๆ 3 วันก็ไม่จบ เพราะพระที่เทศน์จะแสดงฝีไม้ลายมือ โชว์ลูกคอกันเต็มที่ ยิ่งกัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี ด้วยแล้ว ถ้าทำให้ญาติโยมร้องไห้ตามได้เพราะสงสารพระนางมัทรี กัณหา ชาลี นับว่าเทศน์เก่งจริง สาเหตุนี้แหละมั้งครับที่ทำให้มีพระบางรูปท่านคิดแต่งกลอนเทศน์ขึ้น เพื่อใช้แหล่ โดยสรุปใจความของแต่ละเรื่อง หรือคัดเอาแต่ตอนที่เด่น ๆ สนุก ๆ เช่น กัณฑ์วนประเวสน์ ก็ดึงเอามาแต่งเป็น แหล่สี่กษัตริย์เดินดง นิยมกันมากหาฟังได้ในยูทูบมีหลายเวอร์ชัน เมื่อญาติโยมชอบ เวลาเทศน์ไปแหล่ไปถูกใจแม่ยก เอ๊ย ถูกใจญาติโยม ก็จะพากันติดกัณฑ์เทศน์เพิ่มหรือใส่ย่าม เมื่อแต่งเป็นกลอนแหล่แล้วก็เหลือไม่กี่หน้ากระดาษ ทำให้สามารถเทศน์จบได้ภายในวันเดียว
แล้วแบบไหนที่เรียกว่าแหล่
แหล่เหมือนกับเพลงฉ่อย หรือว่าลำตัดที่คุ้นเคยกันรึเปล่า ผมอยากจะให้ลองนึกภาพตามว่าเนื้อร้องหรือบทร้องเพลงแหล่มีฉันทลักษณ์คล้าย ๆ กับกาพย์ยานี 11 สมัยที่เรา ๆ เคยเรียนกันมาในประถม ซึ่งถือว่าเป็นฉันทลักษณ์ที่ง่ายในการแต่งเนื้อร้องแหล่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ หลายคนที่เคยดูโฆษณาหารสอง ที่ โน้ต-อุดม แต้พานิช ร้องไว้ว่า
บ้านก็เบอเร่อ เปิดไฟซะอ้าซ่า
อาม่ายังบ่นแสบตา ว่าคนหายไปไหน
ดูพี่แว่นนั่นสิครับ เปิดน้ำทิ้งกันเข้าไป
อยากถามว่าทำไม บ้านพี่มีเขื่อนหรือไงครับ
เปิดทีวีทิ้งไว้แล้วไม่ชอบดู พี่ทำอย่างนี้กับหนูมันบาปรู้ไหม
ดูพี่อ้วนนั่นสิครับ อาบน้ำยังมีกะใจ เรียกลูกหลานมามากมายให้มาอยู่ใต้พุง
ญาติก็จะไปใจก็จะขาด ญาติเห็นเปลืองกระดาษ ญาติเลยไม่อยากไป
ฟังเพลงนี้จบแล้วร่วมใจร่วมกัน หารสองพฤติกรรมบ้านเมืองจะได้เจริญซะที
พอจะนึกภาพออกแล้วนะครับว่าต่างจากฉ่อยที่ยิ่งแต่งได้ง่ายเข้าไปอีก ฉ่อยก็อย่างที่ทุกคนเคยจะได้ดูในรายการ ‘คุณพระช่วย’ ฉ่อยของสามน้า น้าโย่ง น้าพวง น้านงค์ ที่มีการประยุกต์เอามาจับเป็นเรื่องเป็นตอน เพลงฉ่อยมีลักษณะที่เรียกว่า กลอนหัวเดียว คือคำสุดท้ายจะต้องลงเสียงสระเสียงเดียวกันไปตลอด
ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงเพลงราชาเงินผ่อนของ คาราบาว ก็อยากจะใช้แต่สิ่งของจําเป็น ทีวี ตู้เย็นจําเป็นต้องใช้ ความสุขเล็กน้อยนี่ว่าจะถอยวีดีโอ มาฉายดูหนังโป๊ที่กลาดเกลื่อนเมืองไทย
ส่วนเรื่องการร้องแหล่อย่างที่บอกไปแล้วว่าในปัจจุบันนอกจากพระจะใช้แหล่ในการเทศน์มหาชาติ ก็ยังมีการประยุกต์เอาเนื้อเรื่องต่าง ๆ มาแต่งหรืออาจจะแหล่ให้พรญาติโยมก็ขึ้นอยู่กับลูกเล่นของพระแต่ละรูป ส่วนนักแหล่ที่มีชื่อเสียงก็มีไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ทศพล หิมพานต์ ,ชินกร ไกรลาส, ศรีไพร ไทยแท้ และที่ดูออกจะฮือฮามากหน่อยในการแหล่ก็คงเป็นแหล่การเมืองของโน้ต-อุดม หรือ ‘แร็พแหล่’ ใน ‘เดี่ยว 7’ ที่นำมามิกซ์กับแร็พได้อย่างลงตัว ก็มีหลายคนโจมตีหรือตำหนิว่าไม่เหมาะนะ แต่ผมเห็นว่าสร้างสรรค์ดีของเก่าอยู่แต่บนหิ้งก็มีแต่จะสูญหายไปตามกาลเวลา สู้มาทำให้ทันสมัยขึ้นทำให้คนรุ่นใหม่บางกลุ่มสนใจ ฟังแล้วแปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อดีกว่า