Article Contributor of the Month
I am the Resurrection
- Writer: Kongdej Jaturanrasmee
I am the Resurrection
เราไม่ได้เอาเป็นเอาตายกับการหาเพลงใหม่ฟังเหมือนเมื่อก่อนนัก แต่ก็ยังตามอยู่เท่าที่จะตามได้ ในโลกที่เปิดกว้างขึ้น ทุกอย่างบนโลกมันมากองรวมกันอยู่ตรงหน้า บางทีมันก็ทำให้เราเลือกตามยากเหมือนกัน ผู้คนเปลี่ยน ค่ายเพลงเปลี่ยน ศิลปินเปลี่ยน และตัวเพลงก็เปลี่ยน
นาน ๆ ทีจะตกใจ เมื่อเห็นศิลปินรุ่นที่เราเคยจะเป็นจะตายกับการฟังเพลงของเขาออกงานใหม่ ๆ ออกมา บางทีแทบไม่ทันจะได้ฟังเพลงหรอก แต่ตกใจตรงที่เห็นหน้าแล้วแทบจะจำไม่ได้เลย
บางคนแก่เฉย บางคนหุ่นเจ๊ง บางคนเปลี่ยนสไตล์กลายเป็นลุงมึน ๆ ทำให้อดหันมามองดูตัวเองในกระจกไม่ได้ เออ มึงก็แก่แล้วเหมือนกันนะ (แต่ว่า young at heart จ้ะ)
Morrissey แห่ง The Smiths เคยเป็น sex symbol มาก่อน ปาดน้ำมันผมเยิ้ม ร้องเพลงคร่ำครวญอย่างเท่ จนกลายเป็นต้นแบบให้หลาย ๆ คน แต่มาวันนี้กลายเป็นลุงหุ่นหนา มาตรฐานเพลงขึ้น ๆ ลง ๆ พวกเธออาจจะจำเพลงของเค้าได้จากงานของ The Smiths คราวที่หนังฮิปอย่าง “(500) Days of Summer” เอามาประกอบให้กรี๊ดกร๊าดกัน ถ้าเธอเห็นสภาพเค้าตอนนี้ หน้าเธออาจจะเด๊ด กรี๊ดไม่ออกขึ้นมาทันที
Dr.Robert นักร้องนำของ The Blow Monkeys เคยเป็นตัวแทนของใบหน้าแบบ 80s เพลงเฟี้ยว ๆ อย่าง Digging Your Scene หรือ It Doesn’t Have to Be That Way เคยทำให้เราโยกย้ายส่ายสะโพกกันสนุกสนานทั้งค่ำคืน แต่เจอในคลิปยุคปัจจุบัน อืม…
Paddy McAloon เจ้าของเสียงชวนฝันของ Prefab Sprout หายหน้าไปนาน เปิดคลิปเจออีกที จากหนุ่มรูปงามแห่งอังกฤษกลายเป็นคาวบอยอ้วนแก่ ๆ เคราเต็มหน้า สวมแว่นกันแดดปรอท เหมือนกับลุงจากวง ZZ Top
ทุกคนที่ว่ามานี้ แม้เสียงและสปิริตยังคงเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน แต่เราก็เข้าใจเสมอมาแหละว่า งานของผู้คนเหล่านี้อาจจะไม่ถึงกับสามารถทะลุเวลามาเป็นที่นิยม สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ ได้อีกแล้ว มีบางคนที่เป็นข้อยกเว้น อย่าง Paul Weller หรือ David Bowie เท่านั้นแหละ
แต่ Bowie ก็ตายไปแล้ว…
พลอยทำให้นึกถึงเพลงแทร็กสุดท้ายที่ยาวเหยียดที่สุดในอัลบั้มแรกของ The Stone Roses อย่าง I Am The Resurrection นึกถึงการฟื้นจากความตายมามีชีวิตใหม่ของศิลปินหลาย ๆ คนที่เรารู้จัก บางครั้งเป็นการฟื้นที่ถึงแม้เราจะเชียร์ยังไงแต่ก็เห็นได้ถึงความโรยแรงและรู้ว่าเป็นความพยายามที่ไร้ค่า
แต่บางทีแค่การพยายามลุกขึ้นมา ก็น่าชื่นชมแล้วไม่ใช่เหรอ?
แน่นอน มันมีทั้งแบบที่ฟื้นขึ้นมาจากหลุมศพจริง ๆ อย่าง Ben Watt แห่ง Everything But The Girl คราวที่เป็นโรคร้ายและรอดชีวิตกลับมาทำเพลงดี ๆ แบบที่จู่ ๆ ก็เปลี่ยนแนวจากอะคูสติกป๊อป กลายเป็นเพลงเต้นรำชั้นดีอย่างเพลง Missing และต่อลมหายใจให้วงมาได้อีกเป็นสิบปีด้วยอัลบั้มคลาสสิกอย่าง Walking Wounded
หรือจะเป็น Richard Hawley แห่งวง Longpigs ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในช่วง alternative รุ่งเรือง แต่สองชุดก็จอด เพราะติดยา หาทางออกชีวิตไม่เจอ โชคดีที่ได้ Jarvis Cocker ช่วยเอาไว้ ให้มาเล่นสนับสนุนวง Pulp ด้วยกัน จนเริ่มลุกขึ้นมาออกอัลบั้มเดี่ยวเยี่ยม ๆ จนได้รางวัลอย่าง Coles Corner(ไตเติ้ลแทร็กที่สวยงามและแสนเศร้า) เสียงร้องของ Hawley ทำให้เรานึกถึง Roy Orbison แบบที่ตัดเสียงสูงออกไปหมด ทุ้มและกังวานก้องอยู่ในห้องปิดตายไร้รัก
แม้กระทั่ง Richard Ashcroft ที่ยังคงลุกขึ้นมาทำเพลงใหม่ ๆ (นี่ก็เพิ่งออกซิงเกิลใหม่หมาด ๆ ในมาดสกินเฮ้ดที่ทำเอารับแทบไม่ได้) ก็ต่อลมหายใจให้คนที่รัก The Verve ต่อไปได้อีก
แต่การฟื้นจากความตายยังมีอีกหลายประเภท เหมือนกับการที่บทเพลงในอดีตได้ทิ้งเชื้อซอมบี้เอาไว้ให้คนที่ได้ฟังติดเชื้อมัน และกลายเป็นอิทธิพลต่อวงรุ่นใหม่ ๆ ต่อมาต่างหาก นี่สิ ที่น่าจะเป็นการฟื้นจากความตายที่แท้จริง เพราะมันเป็นการฟื้นเพื่อแพร่ไปสู่คนรุ่นใหม่ และเหมือนที่เคยเขียนไปในตอนที่แล้วว่า เวลาที่เราได้ฟังสิ่งเหล่านี้ในวงใหม่ ๆ ก็มักจะทำให้เราชื่นใจไม่รู้ตัว
นั่นเป็นสาเหตุที่เราชื่นใจสุดขีดตอนที่ได้ฟัง Orlando วง Romo (Romantic Modernism) ยุค 90s เป็นครั้งแรก อัลบั้ม Passive Soulรวบรวมอิทธิพลไว้ครบ ทั้งลีลาสุดเกย์แบบ Morrissey ทั้งวิธีร้องเอื้อนอ้อนแบบ Dr. Robert และดนตรีแบบ The Style Council แต่ดันออกชุดเต็มมาแค่ชุดเดียว โผล่มาได้ไม่กี่ปีก็แยกย้าย ทิ้งเพลงโปรด Just For A Second ไว้ในใจเราแทน
อีกสักสิบปีต่อมามั้งที่ The Sonnets โผล่มาให้เรากระชุ่มกระชวยอีกครั้งด้วยอัลบั้ม Western Harbour Blue อัลบั้มที่ไม่อ้อมค้อมแม้แต่น้อยที่จะบอกว่า พวกเราคือผลผลิตจากการที่ได้ฟังเพลง The Style Council หรือ The Blow Monkeys (ชุดนี้บ้านเรามีเอามาขายด้วย ดีใจมาก)
หรือมรดกความป๊อปที่ Prefab Sprout สร้างไว้ ได้ตกทอดไปถึงวงยุคถัด ๆ ไป เพลง Rome Will Fall ของ Swan Dive ในชุด Circle (ชุดที่ดีที่สุดของวงนี้) ทำให้เรามีความหวังว่ามีคนจะมาสานต่องานของ Paddy แต่แล้ว Swan Dive ก็ผลิตซ้ำแต่เพลงน่าเบื่อออกมาอีกหลายชุด ไม่กี่ปีถัดมา เราก็พบเพลงจากนอร์เวย์ที่ทริบิวต์ให้กับ Prefab Sprout อย่างออกนอกหน้าเลยในเนื้อเพลง (Come with me to) Albuquerque ของ Dylan Mondegreen แต่ก็ถูกทำออกมาในสไตล์นั้นแค่เพียงเพลงเดียว ที่เหลือก็เป็นโฟล์คป๊อปหวานฉ่ำที่อยู่ในระดับเยี่ยมแต่ยังไม่พิเศษ วงที่สูสีว่ายังยืนยันในการทำเพลงป๊อป แม้จะไม่โอ่อ่าเท่า Prefab แต่ก็มีจิตวิญญาณใกล้เคียงกันน่าจะเป็น The Pearlfishers ที่ทุกเพลงไพเราะ และมีเพลงที่เศร้าถึงตายอย่าง Say Goodbye to the Fairground ให้เราอาลัยวัยเยาว์
เพราะเหตุนี้มั้ง Prefab Sprout จึงรีบออกอัลบั้มล่าสุด Crimson / Red เพื่อมาย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า กูยังไม่ตาย และแทร็ก List of the Impossible Things ก็ประกาศว่าเพลงกูยังน่าชื่นใจเหมือนเดิม
เราได้เสียงร้องกึ่งบ่นต้นแบบอย่าง Edwyn Collins หรือ Roddy Frameมาสู่งาน dub รุ่นใหม่อย่าง King Krule แม้แนวทางจะต่างกันลิบลับ แต่ฟังแล้วเคลิ้มไม่แพ้กัน เราได้มรดกของ Morrissey หล่นมาที่วงอย่าง Gene และหายสาบสูญไป จนกระทั่งอัลบั้มล่าสุดของ The Pains Of Being Pure At Heart ที่เฉลิมฉลองจังหวะโยกคลึงของโมเดิร์นป๊อปอีกครั้งด้วย Eurydice และ Simple and Sure เราโอบรับทั้งอัลบั้มนี้อย่างชื่นใจและรู้สึกโล่งใจ
โล่งใจว่าการฟื้นคืนชีพยังคงดำรงอยู่ต่อไป
อ่านตอนต่อไป ที่นี่
ตอนที่ 1 The Lost Songs
ตอนที่ 2 Pop for Pop Sake
ตอนที่ 4 แด่สโมซ่าส์