Article Contributor of the Month
David Bowie and I (Part 4)
- Writer: Wee Viraporn
- Photographer: Wee Viraporn
ข่าวการป่วยจนต้องหยุดทัวร์กลางคันของ David Bowie ในช่วงกลางปี 2004 เป็นเรื่องช็อกสำหรับทุกคน และหลังจากนั้น ข่าวคราวของ Bowie ก็เงียบหายไป ไม่มีใครรู้ว่าสุขภาพของเขาเป็นอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีอัลบัมใหม่ออกมาอีกหรือไม่ DVD คอนเสิร์ต A REALITY TOUR ที่ออกวางขายในช่วงปลายปี 2004 กลายเป็นของที่ระลึกถึงความสุดยอดบนเวทีของ Bowie ที่ผมเปิดดูซ้ำแล้วซ้ำอีก
ผมกลับเมืองไทยในปี 2005 และยังคอยเช็กข่าวคราวของ Bowie อยู่เสมอจะได้มีอะไรให้ชื่นใจบ้าง เช่น การขึ้นไปแจมกับวงรุ่นใหม่อย่าง Arcade Fire ในช่วงปลายปี 2005 ตามด้วยการไปปรากฎตัวในคอนเสิร์ตของ David Gilmour และขึ้นร่วมเวทีกับ Alicia Keys ในคอนเสิร์ตการกุศลเมื่อปี 2006 แต่น่าเสียดายที่ come back concert ของเขาที่ถูกวางไว้ช่วงต้นปี 2007 ใน Highline Festival กลับไม่ได้เกิดขึ้น เมื่อมีคลิปของบางเพลงจากโชว์ที่ Isle of Wight ถูกเอาไปขึ้นบน iTunes Store และ YouTube ผมพยายามมองหาตัวเองในกลุ่มผู้ชม แต่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ส่วนเว็บไซต์ของ Bowie ก็เหมือนถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่อย่างนั้น
ปี 2011 ผมได้มีโอกาสไปฟังการบรรยายของ Jonathan Barnbrook ในประเทศไทย และได้สัมภาษณ์เขาให้กับนิตยสาร Art4d ผมไม่ลืมที่จะหยิบหนังสือรวมผลงานของเขา พร้อมกับ CD อัลบั้ม Heathen ไปขอลายเซ็น
“ขอบคุณที่ชอบเพลงของ Bowie นะครับ เขาเป็นคนดีมากจริง ๆ” Barnbrook พูดขณะเซ็นชื่อให้ผม เล่าให้ฟังถึงอารมณ์ขันและความน่ารักของ Bowie ที่ส่งดอกไม้ให้คุณแม่ของเขาในวันเกิด ผมอดไม่ได้ที่จะถามว่า Bowie เป็นอย่างไรบ้าง และได้รับคำตอบว่า “ไม่ต้องห่วง Bowie ยังสบายดี แต่เขาดูจะยังไม่พร้อมที่จะกลับมาทำเพลงใหม่ ๆ เท่านั้นเอง”
ตลอดเวลาหลายปีที่ Bowie หายตัวไป ผมยังคงได้เล่าเรื่องราวของเขาให้คนรอบข้างฟังเสมอ ใครที่ใกล้ชิดผมคงรู้ดี
เมื่อโลกกำลังตื่นเต้นกับการมาของ Lady Gaga ผมบอกว่ามีผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวแบบนี้มาตั้งแต่ยุค 70s
เมื่อมีน้อง ๆ ดูหนัง The Perks of Being a Wallflower แล้วชอบเพลงในฉากขับรถลอดอุโมงค์ ผมได้บอกเขาว่านั่นคือเพลง Heroes และแนะนำให้เขารู้จัก David Bowie
ในพิธีเปิดและปิดกีฬาโอลิมปิก London 2012 ผมตื่นตาตื่นใจกับการที่ Bowie ถูกนำเสนอในฐานะสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป็อปและแฟชั่น ผมดีใจที่ได้เล่าเรื่องของเขา แม้จะแอบหวั่นใจว่าทำไมเขาไม่มาปรากฎตัว
นี่ถ้า Bowie เป็นสินค้า ผมคงเป็น brand ambassador ไปแล้ว 🙂 หรือบางทีสำหรับผม David Bowie อาจจะเป็นศาสนา
ระหว่างความคิดถึง บันทึกการแสดงสด A REALITY TOUR ถูกวางจำหน่ายในรูปแบบ CD ตอนต้นปี 2010 ผมรีบซื้อมาฟังทันที เพราะนอกจากมีเพลงเยอะกว่า DVD แล้ว ยังแอบคิดในใจว่านี่อาจเป็นอัลบัมสุดท้ายของเขาก็ได้ ในการฟังครั้งนี้ เพลง Bring Me The Disco King ถูกเล่นซ้ำมากเป็นพิเศษ ในจังหวะที่ผมเริ่มจะเชื่อว่า Bowie อาจจะไม่กลับมาอีกแล้ว ผมรู้สึกว่าเพลงปิดท้ายอัลบั้ม Reality เพลงนี้อาจจะเป็นเพลงสุดท้ายของ Bowie ดังที่เนื้อเพลงบอกไว้ “Soon there will be nothing left of me. Nothing left to release.”
8 มกราคม 2013 – วันนั้นเป็นวันเกิดปีที่ 66 ของ David Bowie ผมเข้าไปเช็กเฟสบุ๊กของเขาโดยไม่ได้คาดหวังอะไร และได้พบว่ามีมิวสิกวีดีโอเพลงใหม่เพลงแรกในรอบ 10 ปี Where Are We Now? ถูกปล่อยลงใน social media เว็บไซต์ davidbowie.com ถูกเปลี่ยนโฉมใหม่หมด และประกาศการกลับมาพร้อมกับกำหนดการออกอัลบัมใหม่ The Next Day ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีใครตั้งตัวหรือรู้ระแคะระคายอะไรมาก่อน ผมน้ำตาไหลตั้งแต่ได้ดู mv รอบแรก แล้วเหล่าแฟนเพลงทั่วโลกก็แสดงความยินดีกับการกลับมาของ Bowie กันอย่างถล่มทลาย พร้อมกับคำถามว่าเขาสามารถปิดเรื่องทุกอย่างให้เงียบอยู่ได้อย่างไร?
ในโลกที่ทุกคนกลายเป็นสื่อ ศิลปินเพลงหลายรายดูเหมือนจะใช้เวลาปฏิสัมพันธ์กับแฟน ๆ ผ่าน social media มากกว่าผลิตผลงานใหม่หรือฝึกซ้อม ในกระแสข้อมูลที่ทำให้เชื่อว่าได้ใกล้ชิดและรับรู้ความเคลื่อนไหวทุกขณะของบุคคลสาธารณะ ในยุคที่จะทำอะไรก็ต้องมี teaser หรือแม้แต่ teaser ของ trailer ผมรู้สึกว่า Bowie ได้ตั้งคำถามกับทุกคนว่า เราได้สูญเสียความสุขและความยินดีของการเฝ้ารออะไรบางอย่างไปหรือเปล่า?
ระหว่างปี 2012 มีข่าวออกมาว่า Victoria & Albert Museum (V&A) ที่ลอนดอน จะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับทุกอย่างในชีวิตของ David Bowie ในชื่อ ‘David Bowie Is’ ในปีถัดไป จึงดูเป็นเรื่องประจวบเหมาะที่อัลบัมใหม่ออกมาไล่เลี่ยกับนิทรรศการ แต่ทางผู้จัดนิทรรศการก็ยืนยันว่าไม่เคยรู้เรื่องการเตรียมออกอัลบัมใหม่มาก่อน (เป็นไปได้ไง!?) ผมแอบลุ้นว่า Bowie น่าจะกลับมาเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้ง และหวังว่าจะได้เดินทางไปชมนิทรรศการและดูคอนเสิร์ตของเขาอีกครั้งในทริปเดียว แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อมีข่าวว่า Bowie จะไม่ออกทัวร์อีก แต่อาจจะมีคอนเสิร์ตครั้งเดียว และ Bowie ก็ไม่ปรากฎตัวในงานเปิดนิทรรศการด้วยซ้ำ แม้ว่าภาพของเขาที่ออกมาในสื่อจะดูดี แข็งแรง และเท่ที่สุดเท่าที่ชายอายุ 60 กว่าจะเป็นได้ เมื่อลุ้นมานานแต่ก็ไม่มีข่าวของคอนเสิร์ตซักที สุดท้ายผมจึงตัดสินใจเดินทางไปลอนดอนเพื่อชมนิทรรศการนั้นในเดือนมิถุนายน 2013 แล้วพาตัวเองเข้าไปอยู่ในทุกกิจกรรมเกี่ยวกับ David Bowie เหมือนที่เคยทำตอนยังเรียนอยู่ที่ลอนดอน ซึ่งผมก็ได้พบกับความหลากหลายของผู้ชม และมิตรภาพจากหมู่แฟนเพลงเหมือนกับที่เคยได้เจอ ผมรู้สึกว่าเป็นนิทรรศการที่ทำให้เราได้รู้จัก David Bowie ได้ทุกแง่มุม และยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรี ต่อให้คุณไม่ใช่แฟน Bowie ก็ยังควรดู (ถ้าให้เขียนรีวิวนิทรรศการคงต้องแยกเป็นอีกบทความหนึ่ง)
แม้จะไม่มีการออกแสดงคอนเสิร์ต และไม่มีการปรากฎตัวต่อสาธารณะ แต่ตลอดปี 2013-2015 Bowie ผลิตงานออกมาไม่หยุด อัลบัม The Next Day มีมิวสิกวิดิโอออกมาหลายเพลง ปี 2014 เขาได้รับรางวัล Brit Awards แต่มอบหมายให้ Kate Moss ใส่ชุดจากยุค 70s ของเขามารับรางวัลแทน (เห็นภาพแล้วสรุปได้ว่า Bowie ยุค 70s ผอมกว่า Kate Moss ในปี 2014) มีการออกอัลบัมรวมเพลง Nothing Has Changed ได้แต่งเพลงให้ละครบรอดเวย์ และยังมีละครเพลงจากเพลงของเขา คือ Lazarus (Bowie เคยพูดไว้นานแล้วว่าอยากมีละครเพลงของตัวเอง) เปิดแสดงในช่วงปลายปี 2015 พร้อม ๆ กับมิวสิกวิดิโอเพลงแรกของอัลบัมใหม่ Blackstar ที่จะออกวางจำหน่ายในวันเกิดปีที่ 69 ของเขา 8 มกราคม 2016 ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง แฟนเพลงและนักวิจารณ์ก็ให้การตอบรับกับอัลบัมใหม่อย่างดีตามคาด ผมตื่นเต้นที่พบว่าในอัลบัมใหม่นี้ Bowie ยังทดลองหาแนวทางใหม่กับดนตรีแจ๊ส ผมรู้สึกว่า Bowie ในวันนี้ได้กลับมาอย่างยิ่งใหญ่เหมือนช่วงปี 2003-2004 แต่แล้วทุกอย่างจบลงอย่างกระทันหันอีกครั้ง ด้วยข่าวการเสียชีวิตของ David Bowie สองวันถัดมา… 10 มกราคม 2016
ทันทีที่รู้ข่าว ผมอยู่ในสภาพทำงานไม่ได้ไปร่วม 2 ชั่วโมง คงมีไม่กี่ครั้งในชีวิตที่เราจะร้องไห้กับการจากไปของคนที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อคนคนนั้นมีความหมายต่อชีวิตเรา เมื่อผลงานและการใช้ชีวิตของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เรามาเกือบทั้งชีวิต ความสูญเสียครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตสำหรับผม ไม่มีใครรู้มาก่อนว่า David Bowie ต่อสู้กับมะเร็งอยู่เป็นเวลา 18 เดือนก่อนจะเสียชีวิต เพราะในช่วงสุดท้าย เขาได้สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือว่าเขารู้ตัวว่าเวลาของตัวเองเหลืออยู่ไม่มากแล้ว? เมื่อมองย้อนกลับไปเราเห็นการบอกใบ้หลายอย่างอยู่ในมิวสิกวิดิโอ เพลง Lazarus ตั้งแต่เนื้อเพลงท่อนแรก “Look up here, I’m in heaven. I’ve got scars that can’t be seen.” ชุดของเขาที่เป็นชุดเดียวกับตัวละครหนึ่งของเขาในยุค 70s และการหายเข้าไปในความมืดของตู้ใบหนึ่ง หรือว่าอัลบัมสุดท้ายของเขาเป็นการบอกลา?
นอกจากการแสดงความเสียใจของแฟนเพลงในทุกช่องทางแล้ว ยังมีศิลปินอีกหลายคนออกมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิพลของ David Bowie เช่น Madonna เล่าเรื่องสมัยเป็นวัยรุ่น ที่ต้องแอบหนีออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปดูคอนเสิร์ตของ David Bowie ซึ่งโชว์นั้นทำให้เธอตัดสินใจจะเป็นนักร้อง และ Lady Gaga ก็เคยมีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน Elton John ก็เล่าว่า Bowie เป็นคนหาโปรดิวเซอร์ให้ตอนเจ้าป้าเพิ่งเข้าวางการ ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าโลกนี้ไม่เคยมี David Bowie วงการดนตรีจะมีรูปร่างแตกต่างไปจากทุกวันนี้แค่ไหน… และโลกนี้ที่ไม่มี David Bowie อีกต่อไปแล้ว จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?
ปกอัลบัมในยุคหลังของ Bowie ตั้งแต่ Heathen (2002) , Reality (2003), The Next Day (2013) จนถึง Blackstar (2016) ที่ออกแบบโดย Jonathan Barnbrook มีความต่อเนื่องเป็นจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือการลดความสำคัญของภาพ David Bowie ลงเรื่อย ๆ จาก Heathen ที่ภาพใบหน้าถูกทับด้วยตัวอักษรกลับหัว ถ้าจะอ่านให้ออก หน้าของ Bowie ก็ต้องเป็นฝ่ายกลับหัว
บนปก Reality ภาพของ Bowie กลายเป็นภาพประกอบโดย Rex Ray ซึ่งถ้าไม่มีตัวอักษรกำกับ อาจดูไม่ออกว่าเป็น Bowie
ปกของ The Next Day เป็นการเอาปกที่ถูกจดจำที่สุดอย่าง Heroes มาทำลาย ด้วยการวางกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวทับลงไป
จนสุดท้าย ปกของ Blackstar เหลือเพียงภาพดาวสีดำ บนพื้นสีดำ และชิ้นส่วนกราฟิกเรขาคณิตที่ถูกลดทอนจากรูปดาว ต้องตั้งใจอ่านอยู่พักหนึ่งจึงจะเข้าใจว่าเป็นชื่อ BOWIE
หรือนี่จะเป็นเจตนาที่จะบอกว่า David Bowie เป็นมากกว่าตัวบุคคล มนุษย์เพียงคนเดียวเคยเป็นไอคอนของดนตรีร็อกแห่งยุคสมัย เป็นตัวแทนของความกบฎ เป็นผู้เชิดชูอิสรภาพทางเพศ เป็นผู้นำแฟชั่น เป็นผู้นำเสนอความเป็นไปได้อันไม่รู้จบ ผมรู้สึกขอบคุณ David Bowie ที่สอนอะไรให้กับผมมากมายเหลือเกินตลอดช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่ผมได้รู้จักเขาผ่านผลงานทุกรูปแบบ แม้แต่ในวาระสุดท้ายของชีวิตและความตายที่ถูกร้อยเรียงได้ลงตัวอย่างหมดจดงดงามก็ยังให้บทเรียนยิ่งใหญ่แก่ผมเรื่องการใช้ชีวิต
ผมเชื่อในคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” และผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่สุดที่ David Bowie สร้างขึ้นคือชีวิตของเขา
David Bowie จะยังอยู่กับเรา