Article Contributor of the Month
โลกระบำ ตอนที่ 2: ไฟเปิด
- Writer: กร วรศะริน และ กฤษ มอร์ตัน
หลังจากตื่นนอนมาได้ซักพัก ผมก็เลื่อนหน้าจอโทรศัพท์เพื่อรีเฟรชเฟสบุ๊กไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลืออะไรจะให้ดูแล้วจริง ๆ ถึงได้ลุกขึ้นไปล้างหน้าแปรงฟันอาบน้ำ เสียงฝักบัวดังซ่า ไปพร้อม ๆ กับเสียง วิ้ง ๆ ที่เป็นสัญญาณของการที่หูถูกใช้งานหนัก หลังจากแต่งตัวเสร็จก็ออกไปหาอะไรทานและนั่งเหม่อ ๆ ในร้านอาหารตามสั่ง สักพัก เสียงแชทในมือถือดังขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าเพื่อน ๆ ของผมได้ฟื้นคืนชีพจากศึกหนักเมื่อคืนนี้แล้ว ต่างคนต่างเล่าถึงเรื่องราวที่พอจำความได้ พร้อมวางแผนเพื่อไปลุยกันต่อในคืนนี้
ทุกวันนี้มีคลับ บาร์มากมายในกรุงเทพ ฯ แต่สถานที่สำหรับชาวเรานั้นมีไม่เยอะเลย ถึงแม้จะมีคลับใหม่ ๆ โปรโมเตอร์เจ้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาบ้าง แล้วเมื่อก่อนชาว underground เขาไปเที่ยวที่ไหน การจะไปเที่ยวแต่ละคืนมันเป็นยังไง
ในยุคนั้น มันเต็มไปด้วยความกระหายในเสียงเพลงและความสนุกสนานในทุกค่ำคืน เพราะการรวมตัวกันของผู้คนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั้นสร้างพลังงานในแต่ละคืนได้อย่างดีเยี่ยม “เมื่อก่อนผู้ฟังยังไม่มีมากเท่านี้ เเต่มันก็มีเสน่ห์นะ ชุมชนของเรามีความเป็นพี่น้อง เเละเเต่ละคนก็มีเเนวที่ตัวเองชอบชัดเจนดี จะว่าไปเเล้วผมคิดถึงยุค Astra ที่สุด มันมีความดิบ ไม่ลงตัว เเต่พลังงานมันบริสุทธิ์ ไร้เรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง” ประสบการณ์ตรงจากผู้ที่ซัพพอร์ตซีนของเราอยู่เสมอ ตุล ไวฑูรเกียรติ หรือ ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า
“Party แต่ล่ะงานที่ผมได้ไปเที่ยวหรือ ได้ไปร่วมเล่นด้วย ส่วนมากสามารถสัมผัสได้ถึง อารมณ์คนที่สนุก คนหลับตาเต้นไปกับจังหวะดนตรี ที่ดีเจตั้งใจเสิร์ฟเพลงที่ดีที่สุดให้กับ dance floor จะมีน้อยคนนัก หรือแทบไม่มีใครเลยที่จะสนใจกับเสื้อผ้าหน้าผม ทั้ง ๆ เพลงส่วนใหญ่พวกเขาแทบจะไม่เคยได้ฟังมาก่อน ไม่มีฟอร์มอะไรทั้งนั้น ส่วนใหญ่ party ที่จัดจะมีค่าเข้าแทบทั้งสิ้น คนก็พร้อมที่จะจ่าย แล้วเข้ามาเสพเพลง มันเป็นความรู้สึกที่ดีทุกครั้งที่ผมนึกย้อนกลับไป” บรรยากาศในอดีตจาก ต้อม Funky Gangster
“ในยุคที่กระแส rave party* เข้ามาในบ้านเรา พวกพี่ ๆ ที่เป็นนักเรียนนอก เค้าก็เริ่มเอาเพลงใหม่ ๆ เข้ามา เริ่มมีการจัดงาน rave party ตามโรงถ่าย โรงแรม เพราะตามคลับทั่วไปเขาไม่เก็ต ซึ่งการจัดงานแบบนี้มันผิดกฎหมายนะ ผมเคยวิ่งหนีตำรวจตอนเค้าบุกจับมาแล้ว ฮ่า ๆ” อีกหนึ่งประสบการณ์ตรงจาก โน้ต Yaak Lab “ผมว่าช่วงที่สนุกสุดคือยุคถัดมา คือตอนที่เกิดร้าน Cafe Democ และ Astra ประมาณปี 2003 – 2006 ผมจะชอบช่วงนี้มากที่สุด เพราะเวลาที่ไปเที่ยวมักจะได้เจอคนที่ชอบเพลงคล้าย ๆ กัน คนที่มาเพื่อเต้นรําเเละรักในเสียงเพลงเหมือนกัน เเล้วเวลาไปเที่ยว ต่อให้คุณไม่รู้ว่าวันนี้มีงานอะไร คุณไปมั่ว ๆ คุณก็จะเจอเเต่เพลงดี ๆ ดีเจดี ๆ ที่เล่น selection ดี ๆ มี set ที่เล่าเรื่องพาคุณทัวร์ออกไปอีกกาเเล็กซี่ได้เลย”
“ช่วงเวลานั้นก็ร่วมกับเพื่อนคอเดียวกันตระเวนจัด underground party ตามที่รกร้าง ไม่ก็ตามร้านเล็ก ๆ ที่เขาไม่ค่อยมีลูกค้า (มันถูกดีไง) ไปจนถึงบอลรูมในโรงแรม (หลอกเค้าว่าจัดงานวันเกิด ฮ่า ๆ) หลังจากจัดงานกับเพื่อนมาได้ซักพัก ผมก็ได้เปิดร้านที่ชื่อว่า Cafe Democ อยู่ประมาณสิบสี่ปี ช่วงเวลานั้นก็ได้เปิด club อีกสองแห่ง อันแรกอยู่ที่ถนน RCA ใช้ชื่อว่า Club Astra อันที่สองคือ Club Culture ที่ถนนพญาไท ต่อมาย้ายไปที่ถนนราชดําเนินกลางใกล้ ๆ Cafe Democ และช่วงที่ทำ Club Culture ยังมีโอกาส (บ้าดีเดือด) ได้ทำ outdoor international dance music festival ที่ถือว่าเป็นงานแรกของเมืองไทยก็ว่าได้ โดยทำติดต่อกันถึงห้าปี (ห้าครั้งนั่นแหละ) ใช้ชื่องานว่า Culture One” เรื่องราวของ ตุ๋ย-อภิชาติ ชัยแก้ว ผู้คร่ำหวอดในวงการ underound dance music ปัจจุบันคือเจ้าของ Dickinson’s Culture Cafe นั่นเอง
ความสนุกสนานเหมือนจะมีต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด มีคลับผุดขึ้นมาจำนวนพอสมควร และรวมไปถึงเทศกาลดนตรี ที่ทำให้ฐานคนฟังนั้นใหญ่มากขึ้น กลุ่มคนที่ไปเที่ยวในแต่ละคืนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
คุณตุ๋ยเล่าให้ฟังอีกว่า แน่นอนว่าวงการนี้ หลีกเลี่ยงคำว่ายาเสพติดไม่ได้ แม้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ก็ยังคงมีผู้ใช้มันเพื่อเสริมความสุนทรีในการฟังดนตรี ในขณะเดียวกัน ก็คงเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายวงการไปด้วย “ขึ้นสุดก็ลงสุด ความรุ่งเรืองของ underground scene ของบ้านเรา คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมาพร้อมกับยาเสพติดเคมีคอลนานาชนิดจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะโดยฝรั่งนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มนักเรียนนอกที่ว่าใช้กันอย่างแพร่หลายจนเป็นแฟชั่น หลาย ๆ คนไม่ได้เข้าใจเพลงและ scene เลยแม้แต่น้อยก็เข้ามาและเสพมัน ความเห็นส่วนตัวผมว่านี่แหละที่เป็นตัวขับให้มาถึงยุคเสี่อมถอย โอเคล่ะว่ามันอาจเป็นยาตัวเดียวกันกับที่เขาใช้ใน rave scene ที่เมืองนอก แต่อย่าลืมนะว่าดนตรีแบบนี้โน้ตเพลงแบบนี้ ฝรั่งเขาได้ยินมันมาตั้งแต่เกิด มันอยู่ในสายเลือดของเค้าเลยก็ว่าได้ รวมถึงคนไทยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาดนตรีเหล่านี้มาพอสมควร แล้วบางคนพวกนี้ เวลาที่เขาเสพ เขาจะมีจินตนาการอารมณ์ต่อยอดในดนตรีนั้น คนที่ว่านั้นมันมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่คือไม่ได้เข้าใจแบบจริงจังเลย คือคิดต่อยอดไม่ได้เพราะไม่มีฐานไงครับ ผลที่ได้คือภาพจำ จำว่าวันที่ใช้ยามันสนุกมีความสุขขนาดไหนและจำไปอีกว่าเป็นเพลงแบบไหน ที่สำคัญต่อมาทุกครั้งที่ไปเที่ยวและเสพจะต้องฟังเพลงแบบนั้นซ้ำ ๆ กันอยู่”
“พอหลังจากยุคนั้นก็จะเริ่มมีพวกดีเจเซเลบเกิดขึ้นมา ซึ่งเขาก็จะมิกซ์ไม่เป็น ใช้อุปกรณ์ก็ไม่เป็น EQ ก็ไม่เป็น เพลงที่เอามาเล่นก็เป็น mp3 ที่ resolution ตํ่า ๆ เสียงที่เล่นออกมามันก็เลยเเย่ คราวนี้ทุกอย่างก็เริ่มเละ” โน้ต เล่าต่อถึงความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้น “การที่อยู่ ๆ วัยรุ่นทุกคนก็อยากจะเป็นดีเจ มันก็ทําให้เกิดการล้นตลาด เกิด sexy DJ หรือดีเจพริตตี้ขึ้นมา ซึ่งส่วนตัวผมว่าจะไปโทษน้อง ๆ ที่อยากจะเป็นดีเจก็คงไม่ได้ เพราะพอเขาเห็นคนอื่น ๆ ทําเเล้วดังเขาก็อยากจะมีชื่อเสียงเเบบนั้นบ้าง ส่วนที่เกี่ยวข้องมากที่สุดน่าจะเป็นคลับดัง ๆ ดี ๆ ทั้งหลาย ที่บุ๊กดีเจพวกนี้มาเล่น ยอมให้โปรโมเตอร์พวกนี้มาจัดงาน พอไปเเล้วมันไม่ได้มีเเต่อีเวนต์ underground ดี ๆ เเล้วไง หลงเข้าไปในบางงานนี่เเทบอยากจะคืนค่าตั๋วเลยนะ คือถ้าเห็นเเก่เงินที่จะได้จากเเฟนเพลงพวกนี้ คุณก็จะเสียฐานเเฟนเพลงเดิมที่เหนียวเเน่นไปไง ร้านดี ๆ ที่เคยมีอยู่พังเพราะมุกนี้เเทบทุกร้าน”
ความคล่องตัวของธุรกิจของคลับแต่ละแห่งก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนซีน เมื่อวันนึงมันไปต่อไม่ได้ก็ต้องดิ้นรนหาทางรอดให้กับธุรกิจของตัวเอง ชาลี DCNXTR เสริมว่า “ผมคิดว่าเนื่องจาก club ส่วนใหญ่พยายามจะเอาตัวรอดจากการโดนปิดกิจการ โดยการพยายามมบอกดีเจให้เปิดเพลงที่ mainstream มากขึ้นในสมัยนี้สิ่งที่ผมเห็นคือ หลาย ๆ คนชอบคิดว่า dance music ต้องเป็นซาวด์แบบ EDM คือตื้ดหนักเลย แต่พอเจอดีเจดี ๆ หลาย ๆ คนที่เปิด พวก house หรือ techno แบบ groove ดี ๆ กลุ่มคนฟังที่โตมากับ EDM จะคิดว่า โห ไรวะ ไม่มันเลย พาลหาว่าดีเจคนนั้นห่วยไปซะอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก ซึ่งผมคิดว่าพวกเขาควรซัดเหล้าให้หนัก ๆ แล้วเปิดใจลองสนุกไปกับมัน”
“พอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป เราสามารถหาเพลงฟังได้อย่างง่ายมากในทุกหนทาง แต่คนกลับอยากได้ยินแต่เพลงที่ตัวเองรู้จัก หรือที่เห็นเค้าโพสกันในโลกออนไลน์เหลือแต่กลุ่มน้อยนักที่เปิดใจอยากรับรู้ หรือศึกษาสิ่งใหม่ ๆ ยุคนี้คนเที่ยวคลับแต่เข้าไปเล่นมือถือ แทบไม่ได้สนใจเพลงที่ดีเจเสิร์ฟให้ ทั้ง ๆ ที่มีเทคโนโลยีและสิ่งต่าง ๆ เอื้อต่อความสะดวกสบายทั้งหมด” อีกความเห็นจากต้อม Funky Gangster
“ก็เลยทำให้เกิดยุคเพลงยำไง คือเอาเพลงที่เคยฮิตมาตัดแปะกันมั่วไปหมดเพื่อเอาใจนักเที่ยวกลุ่มนั้น ไม่ตํ่ากว่าหกปีนะครับที่เราหยุดโลกไว้ประเทศเดียว ในขนะที่ประเทศอื่น ๆ นั้นเค้าก็หมุนไปกับโลกตามปกติ นั่นแหละคือสาเหตุว่าประเทศที่เคยตามหลังเราเขาก้าวผ่านเราไปหมดไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือแม้แต่สิงคโปร์” คุณตุ๋ยเสริม
กาลเวลาผ่านไป ก็มีกระแสในวงการเกิดขึ้นมากมาย แนวเก่าไป แนวใหม่มา รวมถึงแนวเพลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นกันมาอย่างไม่ขาดสาย
แล้ว underground dance music หมายถึงอะไรกันแน่ “ถ้าหมายถึงเพลงละก็ ในโลกนี้ไม่มีเพลงแนวนี้นะครับ มันเป็น culture หรือ scene ชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นดนตรีอาจหมายถึงพวก sub culture ชนิดต่าง ๆ อีกเป็นล้านเลย” คำกล่าวจากคุณตุ๋ย
สำหรับผม จริง ๆ แล้วคำว่า underground สามารถแตกไปได้หลายแขนง แนวเพลงแต่ละแนวเอง ก็มีความ underground อยู่ไม่ว่าจะเป็นพังก์ ร็อก ฮิปฮอป ป็อป ท้ายที่สุดแล้ว มันคือการที่ศิลปินที่มีศักยภาพ ต้องการที่จะเผยแพร่ผลงานไปสู่คนฟังที่รักและรู้สึกกับเสียงเพลงจริง ๆ เพื่อแชร์ความรู้สึก และสนุกไปพร้อม ๆ กัน ในครั้งต่อไป ผมจะพาทุกคนไปท่องโลก underground dance music scene ในไทย โดยนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าในวงการนี้มีใครทำอะไรกันอยู่บ้าง หรือเราจะไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง
*Rave party ก็คือ underground party ที่บ้านเราเรียกนั่นแหละ จริง ๆ มันเริ่มที่ Manchester ช่วงปลาย 80s ต้น 90s จากคลับที่ชื่อว่า The Haçienda ของวง New Order เขาจะเรียกว่า rave party ไม่ใช่ underground party เพราะ underground มันเป็น scene ไม่ใช่ party และไม่ใช่เพลงด้วยนะ
ส่วนบ้านเรา rave หนักมากช่วงกลาง 90s ส่วนใหญ่มักจะเช่า ballroom โรงแรมไม่ก็ studioใหญ่ ๆ ที่เด่น ๆ เช่นงาน SWEAT จัดที่ Studio Bangkok ลาดพล้าว ส่วนงานที่อื้อฉาวที่สุดก็เป็นที่ ราชันย์มิวสิคฮอล รังสิต (เซเลบโดนจับเพียบ ฮ่า ๆ) แต่จุดเริ่มจริง ๆ ในบ้านเราเป็นบาร์เล็ก ๆ ในสีลมซอย 4 ที่ชื่อว่า Deeper
อ่านตอนต่อไปได้ที่นี่
โลกระบำ ตอนที่ 1: แก้วแรก
โลกระบำ ตอนที่ 3: ไฟปิด
โลกระบำ ตอนที่ 4: ไปต่อ