Article Contributor of the Month
โลกระบำ ตอนที่ 1: แก้วแรก
- Writer: กร วรศะริน และกฤษ มอร์ตัน
บ่ายนี้ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการปวดหัวหลังจากที่ดื่มอย่างหนักในปาร์ตี้เมื่อคืน แต่มีอีกอาการที่ยังคงติดค้างมาด้วยคือความสนุกของงาน การได้พูดคุยกับเพื่อนหรือคนที่ไปร่วมงาน รวมถึงการแชร์ภาพถ่ายและวิดิโออันแสนบ้าบิ่นในงานผ่านเฟสบุ๊กดำเนินไปตลอดทั้งวัน
การได้ไปคลับของผมในหนึ่งคืนสร้างอะไรให้กับผมมากมาย การได้พบปะผู้คนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเก่าหรือเพื่อนใหม่ ก็ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนทัศนคติและความคิดกับพวกเขาหลายคนนั้นได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้เต้นรำในบรรยากาศที่เหมาะสม นั่นคือการถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่มีความสุขและเต้นรำไปพร้อม ๆ กับเราในสิ่งที่ดีเจต้องการนำเสนอ รอยยิ้มและความสนุกสนานในค่ำคืนนั้น คือการที่เราได้แบ่งปันความรู้สึกกันโดยไม่ต้องใช้คำพูดใด ๆ
ภายในห้องนอนของผม ผมนอนนิ่งอยู่บนเตียงนอนพร้อมกับคิดไปพลาง ๆ ว่า มันยังมีอีกไหม ผู้คนที่รักในเสียงเพลงและพร้อมจะเต้นรำไปกับเรา เสียงดนตรีที่เราหลงใหลในคำนิยามหยาบ ๆ ว่า underground dance music แต่ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งค้นพบผู้คนเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ มีนักแต่งเพลงและศิลปินหลายท่านที่ผมได้ทำความรู้จักก็เป็นผู้ที่สนใจกับเพลงแนวนี้เช่นกัน ซึ่งผมก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า แล้วมันเกิดอะไรขึ้นทั้งที่เรามีศิลปินและนักแต่งเพลงอยู่มากมาย แต่ underground dance music กลับไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร
“จริง ๆ มันเคยเกือบจะไปได้สวยเเล้วนะ ตอนยุคปี 2000 ที่ Fat Radio มีช่วงเพลงเต้นรําให้กลุ่ม Homebass คือ ดีเจมังกร กับดีเจเหวิน จัดรายการออกอากาศ ตอนนั้นซีนมันคึกคักมาก เเต่ตอนนั้นเราดันมีโปรดิวเซอร์ไม่มากพอ” คำบอกเล่าจาก โน้ต-สุเมธ กิจธนโสภา หรือ Yaak Lab ถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน “เพราะยุคนั้นการจะทําเพลงอิเล็กทรอนิกมันต้องซื้ออุปกรณ์เยอะมาก เเล้วก็เเพงมากด้วย สุดท้ายมันก็เลยค่อย ๆ หายไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนผังรายการเพื่อความอยู่รอดของ Fat Radio”
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีในการทำเพลงต่าง ๆ นั้นก็ง่ายขึ้น และใกล้ตัวขึ้นมาก สมัยนี้สามารถทำเพลงจบขั้นตอนทุกอย่างได้ภายในคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว “ส่วนตัวคิดว่าเมื่อก่อน กลุ่มคนที่ชอบดนตรีอิเล็กทรอนิกก็ยังมีไม่เยอะเท่าตอนนี้ มีคนหลายคนหันมาสนใจดนตรีอิเล็กทรอนิกมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี มีการนำแนวต่าง ๆ มาผสมกัน ทำให้เกิดความน่าสนใจและมีตัวเลือกให้ไปฟังมากขึ้น” ความเห็นจาก ชาลี นิภานันท์ จากวง DCNXTR หนึ่งในผู้ที่ให้ความสนใจกับ underground dance music
“แต่สิ่งที่สมัยนี้ไม่ต่างกับสมัยก่อนเลยคือการที่เพลงที่แตกต่างจริง ๆ นั้นสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับผู้ฟังได้อย่างลงตัว” ความเห็นจาก ต้า Cyndi Seui กับการทำเพลงในปัจจุบัน “ดนตรีอิเล็กทรอนิกมันใกล้ตัวทุกคนเข้ามามากขึ้นทุกวัน คุณได้ยินมันแทบจะทุกวัน จากมุมมองของผม ผู้คนได้ก้าวขาเข้ามาในโลกของ ดนตรีอิเล็กทรอนิกไปแล้ว สุดท้ายมันคือความท้าทายของเรา ที่เราจะนำมันมาใช้อย่างลงตัวหรือเปล่า”
ยังมีนักดนตรี นักแต่งเพลงอีกหลายท่านที่มีความสามารถ และนำ element ในดนตรีอิเล็กทรอนิกเข้ามาใช้ แต่เดี๋ยวก่อน แล้วดนตรีเต้นรำล่ะ ? underground dance music ล่ะ?? มันคืออะไรกันแน่
มีหลายคนเคยตั้งคำถามกับผมว่า แล้วเพลงแบบไหนวะที่มันเต้นได้ เพลงแบบไหนคือ dance music ขอสารภาพว่าผมก็ไม่มีคำตอบที่ผมจะตอบได้เต็มปากว่ามันเป็นเพลงแบบไหน เพราะบางครั้งเราก็พร้อมจะโยกไปกับ dream pop และกระโดดโลดเต้นไปกับ rock & roll อ่าว… ก็เต้นได้นี่ แต่มันมีซีน และเพลงที่มันถูกออกแบบมาเพื่อเต้นรำจริง ๆ อย่างไม่หยุดยั้งเป็นชั่วโมง ๆ “ส่วนตัวหลัก ๆ คิดว่า เราไม่มีวัฒนธรรมนิยมการฟังเพลงเต้นรำในคลับแบบจริงจังเป็นรากฐาน คนบางกลุ่มคิดว่าคลับเป็นแหล่งมั่วสุม” ข้อสังเกตจาก ตั๋ง-จักรชัย ปัญจนนท์ ศิลปินวง Funky Wah Wah, Casinotoneและ เจ้าของค่าย Comet Records “คนไปคลับอาจจะยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างดีเจ ผู้ซึ่งเป็นคนเลือกสรรเพลงของศิลปินต่าง ๆ มานำเสนอในรูปแบบของตัวเองให้คนได้ฟัง กับศิลปินหรือโปรดิวเซอร์ที่ออกแบบและสร้างสรรค์เพลงของตัวเองขึ้นมา ถ้าผู้ฟังเริ่มเข้าใจและสนใจในตัวเพลง รวมถึงโปรโมเตอร์สนับสนุนศิลปินให้มีโอกาสแสดง น่าจะทำให้เพลงแนว club music เติบโตได้มากขึ้น”
แล้วทุกวันนี้ สิ่งที่มันเป็นอยู่คืออะไร ผับที่เปิด ๆ กันทุกวันนี้ มันคืออะไร เพลงที่เต้นกันอยู่ในทุกวันนี้ เขาเต้นรำกับเพลงอะไร คำตอบที่แท้จริง คือสิ่งที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ในโอกาสนี้ พวกเราขอพาทุกท่าน ไปท่องโลกแห่งดนตรีเต้นรำในเมืองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักกับซีนนี้ ซีนที่เรารัก ซึ่งเราขอนิยามมันว่า underground dance music scene
อ่านตอนต่อไปได้ ที่นี่
โลกระบำ ตอนที่ 2: ไฟเปิด
โลกระบำ ตอนที่ 3: ไฟปิด
โลกระบำ ตอนที่ 4: ไปต่อ