Article Contributor of the Month
Nothing has Changed : David Bowie กับพื้นที่ในความทรงจำส่วนตัว
- Writer: Wee Viraporn
- Photographer: Wee Viraporn
ประโยคที่ว่า ‘ทุกพื้นที่มีความทรงจำ’ เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนคงเคยได้ยินมาบ้าง แต่เราเคยคิดบ้างไหมว่าใครเป็นเจ้าของความทรงจำนั้น?
หากมองว่าความทรงจำเป็นเรื่องส่วนตัว ตลอดชีวิตของคนหนึ่งคน เราสร้างเรื่องราว เก็บสะสมประสบการณ์ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ให้จดจำโดยมีองค์ประกอบเป็นตัวละคร กิจกรรม ปัจจัยแวดล้อม และสถานที่
เมื่อเราอายุมากขึ้นประมาณหนึ่ง การได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดิมนานถึงจุดหนึ่งอาจทำให้เราคิดถึงความทรงจำเก่า ๆ ทุกครั้งที่ได้ไปอยู่ยังจุดจุดหนึ่ง สถานที่แห่งความทรงจำของคนหนึ่ง อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับคนอื่น ๆ
ถ้ามองความทรงจำเป็นเรื่องสาธารณะ เราจะเห็นว่าหลายสถานที่มีการบันทึก หรือสร้างสัญลักษณ์ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม ตั้งแต่ระดับโลก ระดับประเทศ จนถึงระดับกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน ดังปรากฏในรูปแบบของอนุสาวรีย์ แผ่นป้าย หมุดเหล็ก หรืออะไรอีกหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องใหญ่อย่างสถานที่ที่เกิดสงคราม การปฏิวัติ จนถึงเรื่องเล็กอย่างเช่น นักเขียนคนนี้เคยมาพักที่โรงแรมแห่งนี้เมื่อไหร่
เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ผมมาเรียนที่ลอนดอนใหม่ ๆ ผมพยายามพาตัวเองไปสร้างความทรงจำส่วนตัวบนพื้นที่ของความทรงจำสาธารณะ ด้วยการตามหาสถานที่บนปกอัลบัมเพลงที่ชื่นชอบ และก็เหมือนกับทุกเรื่อง เมื่อผ่านความตื่นเต้นของครั้งแรกไปแล้ว ความพิเศษของมันก็หายไป ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถไฟผ่านอาคาร Battersea Power Station จากปก Pink Floyd ชุด Animals หรือการนั่งรถเมล์ไปโรงเรียนผ่านถนน Abbey Road แล้วเห็นนักท่องเที่ยวถ่ายรูปขณะเดินข้ามถนนเหมือน The Beatles อยู่เรื่อย ๆ ก็ตาม
ตอนผมกลับไปเยี่ยมลอนดอนอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมแวะไปที่ Brixton ในวันแรก ผมมีความทรงจำส่วนตัวคือการได้ดูคอนเสิร์ตเจ๋ง ๆ ที่ Brixton Academy ส่วนในมุมของความทรงจำสาธารณะ ย่านนี้เป็นบ้านเกิดของ David Bowie และเพียงคุณข้ามถนนจากทางออกสถานีรถไฟใต้ดิน ก็จะได้พบกับ David Bowie Memorial จุดที่เหล่าแฟนเพลงมารวมตัวกันวางดอกไม้ไว้อาลัยกันอย่างล้นหลามในวันที่ David Bowie เสียชีวิต นั่นคือตรงหน้าผนังสีแดงที่มีภาพ Bowie จากปก Aladdin Sane แบบเปิดตา โดย Jimmy C ศิลปินชาวออสเตรเลียได้วาดไว้เมื่อปี 2013 หลังจากที่ภาพได้รับความเสียหายจากการขีดเขียน (และแม้ว่าศิลปินจะเข้ามาวาดซ่อมไปแล้ว) ในที่สุดทางภาครัฐก็ต้องติดตั้งแผ่นพลาสติกใสเพื่อปกป้องผลงานชิ้นนี้ หันไปฝั่งตรงข้าม มีเพิงขายของที่ระลึกเกี่ยวกับ Bowie ตั้งอยู่เงียบ ๆ
ผมหยุดยืนอยู่ตรงนั้นเพื่อมองภาพตรงหน้า ก่อนจะก้าวเข้าไปเพ่งมองในรายละเอียด มีดอกไม้ที่เพิ่งถูกวางใหม่ ๆ มีร่องรอยของการพยายามสอดการ์ดเข้าไปใต้พลาสติก มีข้อความใหม่และเก่าคละกัน ระหว่างนั่นก็มีคนที่เดินผ่านแล้วแวะถ่ายรูป แต่มีกลุ่มสองคุณลุงกับหนึ่งคุณป้าที่อยู่ตรงนั้นนานเป็นพิเศษ คุณลุงคนนั้นกำลังถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม Hasselblad และดูจะทุลักทุเลกับการพยายามถ่ายเซลฟี่สามคน ผมจึงเข้าไปช่วย พร้อมเสนอว่าจะถ่ายรูปหมู่ให้ด้วยกล้องของผมแล้วอีเมลตามไปให้ คุณลุงคนนั้นจึงถ่ายรูปเดี่ยวของผมให้เป็นการตอบแทน
บทสนทนาของผมกับคุณลุง Robert เริ่มต้นจากคำถามพื้นฐาน เช่น ‘คุณมาจากไหน’ ‘มาลอนดอนเป็นครั้งแรกหรือเปล่า’ แล้วกลายเป็นความสนุกขึ้นทันทีเมื่อผมเล่าให้ฟังว่าเคยเรียนอยู่ลอนดอนในช่วงปี 2003-2004 และได้ดูการแสดงสดของ Bowie สองครั้ง… ‘นั่นมันก่อนเขาจะป่วยเลยนี่! คุณโชคดีมากเลยนะ!’ ตามด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะแฟนเพลงกันอีกพักหนึ่ง บรรยากาศตรงนั้นไม่ต่างไปจากบทสนทนาของเหล่าแฟนเพลงบนเรือข้ามฟากตอนที่ผมเดินทางไป Isle of Wight Festival 2004
ถัดจาก Brixton ผมเดินทางมายัง Heddon Street ณ จุดที่เคยเป็นตรอกมืดลึกลับบนปกอัลบัม Ziggy Stardust ซึ่งตอนนี้กลายเป็นซอยที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและบาร์ มีการติดตั้งแผ่นป้ายที่ระลึกว่าตรงนี้เคยเป็นสถานที่ถ่ายปกตอนที่อัลบัม Ziggy Stardust มีอายุครบ 40 ปีในปี 2012
สิ่งที่ดูแปลกปลอมในสภาพแวดล้อมปัจจุบันคือตู้โทรศัพท์สีแดงบนปกหลังของอัลบัมที่ยังคงตั้งอยู่ตรงนั้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมายืนอยู่ที่ Heddon Street แต่เป็นครั้งแรกที่ผมยืนอยู่หน้าตู้โทรศัพท์นี้ หลังจากที่ Bowie จากไปแล้ว ผมไม่รู้ว่าโทรศัพท์ในตู้จะยังทำงานอยู่หรือเปล่า ไม่รู้ว่าถ้าเดินเข้าไปข้างในจะรู้สึกอย่างไร และต่อให้เดินเข้าไปข้างในก็คงไม่มีใครมาถ่ายรูปให้ ผมค่อย ๆ อ่านข้อความที่ถูกเขียนบนตู้โทรศัพท์ ระหว่างที่กำลังตื้นตันไปกับตัวอักษรที่อัดแน่นไปด้วยความคิดถึง ประตูบานข้าง ๆ ก็เปิดออก ผู้ชายชุดบ๋อยคนหนึ่งเดินยกของออกมา ก่อนจะหายเข้าไปในประตูร้านใกล้ ๆ เขาคงกำลังเตรียมเปิดร้านในช่วงเย็นวันนั้น ชีวิตเขาคงดำเนินต่อไปอย่างปกติ เขาคงเดินผ่านตู้โทรศัพท์นี้มาแล้วเป็นพันครั้งและอาจจะเห็นคนมาถ่ายรูปหรือยืนซึ้งหน้าตู้โทรศัพท์นี้มาแล้วหลายครั้งเช่นกัน
หลังจากทริปนั้นจบลง ผมส่งรูปของลุง Robert และเพื่อนให้เขาตามสัญญา การโต้ตอบอีเมลที่ตามมาทำให้ผมได้รู้ว่าเขาเป็นนักแต่งเพลง มี YouTube channel ของตัวเองด้วย ส่วนคุณลุงอีกคนเป็ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยชื่อดัง เคยเขียนบทความที่พูดถึง Bowie ในมุมมองปรัชญา และสมัยวัยรุ่นเคยทำผมสีส้มแบบ Bowie มาแล้ว!
กว่าผมจะได้เห็นภาพจากฟิล์มขาวดำของลุง Robert ก็ปาเข้าไปตั้ง 4 เดือน แต่สิ่งที่มีค่ากว่าภาพเหล่านั้นคือบทสนทนาระหว่างทางที่เกิดขึ้นได้เพราะสถานที่ในความทรงจำสาธารณะ ทำให้คนสองคนที่อยู่คนละซีกโลกเอาความทรงจำส่วนตัวมาแลกเปลี่ยนกัน จำได้ว่าตอนผมอาสาจะถ่ายรูปให้นั้นเขาดูดีใจมาก น้ำใจเล็กน้อยนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยในสังคมของเขากระมัง?
หลังจากกลับมาใช้ชีวิตในกรุงเทพ ฯ ผมนึกเสียดายที่เมืองบ้านเกิดแห่งนี้ไม่ค่อยมีการบันทึกความทรงจำสาธารณะในสถานที่ต่าง ๆ เหมือนว่าภาครัฐของเราจะไม่ค่อยอยากให้ประชาชนรับรู้อดีตของเมืองและสังคมในเวอร์ชันที่ระบบไม่ได้อนุมัติหรือให้ความสำคัญ เอาแค่เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงอายุของเรายังยากเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่เก่ากว่านั้น หรือเรื่องที่เฉพาะกลุ่มกว่านั้นอย่างดนตรี หรือวัฒนธรรมป๊อป
ลองคิดเล่น ๆ ดูสิ… อนุสาวรีย์ Triumphs Kingdom ในฐานะบรรพชนสายเดี่ยว ตั้งอยู่ตรงจุดที่เคยเป็นลานน้ำพุ Center Point จะทำให้เกิดบทสนทนาแบบไหนระหว่างคนต่างรุ่น?