Article Contributor of the Month

David Bowie and I ( part 1 )

  • Writer: Wee Viraporn

ต้นปี 2016 มีเหตุการณ์ที่สะเทือนใจผมที่สุดเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน นั่นคือการเสียชีวิตของ David Bowie ชายที่เป็นทั้งไอดอล และแรงบันดาลใจในชีวิตของผมมานานกว่าศิลปินทุกคน ในทุกสาขา ดังที่หลายคนรอบตัวรู้ว่าผมชื่นชมและเทิดทูน David Bowie และมีหลายครั้งที่ผมจะถูกถามว่าทำไมถึงปลื้มเขาได้มากขนาดนี้ คำตอบที่ผมใช้บ่อยที่สุด คือ ‘เพราะเขาเป็นมนุษย์ที่เท่ที่สุดในโลก’ ซึ่งเจ้าคำตอบสั้น ๆ นี้ไม่ใช่ว่าได้มาง่าย ๆ แต่เป็นข้อสรุปจากหลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้จากมนุษย์คนหนึ่งผ่านชีวิตและผลงานของเขาในช่วงเวลา 30 ปี

labyrinth-1986-original

ผมรู้จัก David Bowie ครั้งแรกในปี 1986 จากภาพยนตร์เรื่อง Labyrinth ซึ่งใช้ชื่อไทยตอนเข้าโรงว่า ‘มหัศจรรย์เขาวงกต’ ตอนนั้นก็ตามประสาเด็กชายที่พ่อเคยพาเข้าโรงไปดู Star Wars มาแล้ว ผมจึงยังสนใจสัตว์ประหลาดในเรื่องมากกว่าจะกรี๊ด Jennifer Connelly และยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะตื่นเต้นไปกับกางเกงเป้าตุงของ The Goblin King สำหรับเด็กชายคนหนึ่งที่ยังไม่เริ่มฟังเพลงอย่างจริงจัง ผมรู้ว่าหนังเรื่องนี้เพลงเพราะ และได้รู้จากผู้ปกครองว่า ‘เขาเป็นนักร้องด้วยนะ’ นั่นกลับทำให้ผมมีคำถามว่า ‘แล้วตอนร้องเพลงเขาแต่งตัวแบบนี้หรือเปล่า’ แต่ความสนใจที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้พาผมเข้าไปรู้จัก Bowie มากไปกว่าเพลงฮิตประจำยุคสมัยอย่าง Let’s Dance

การฟังเพลงสากลในโลกยุคก่อนอินเทอร์เน็ตของหลายคนเริ่มจากติดใจเพลงที่ถูกใช้ในโฆษณา และสื่อกระแสหลักยังคงมีความแมสเหลือหลายผมก็เหมือนเด็กยุคนั้นอีกหลายล้านคนที่ชอบ Michael Jackson และ Madonna อาจจะมีแปลกกว่าคนอื่นหน่อยตรงที่เริ่มชอบ Prince จาก soundtrack ของ Batman ฉบับ Tim Burton (1989) หลังจาก Labyrinth เด็กชายอายุไม่ถึง 10 ขวบคนนั้นก็เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นพร้อม ๆ กับที่โลกเข้าสู่ยุค 90 ถึงจุดหนึ่งผมเริ่มรู้สึกแปลกแยกเมื่อเพื่อน ๆ รอบตัวกำลังคลั่ง Bon Jovi, Guns N’ Roses แต่เรากลับไม่ได้คิดว่ามันเจ๋งขนาดนั้น โชคยังดีที่ความช่างสงสัยทำให้ผมไปคุ้ยของในบ้านจนพบกับคลังเพลงที่คุณพ่อคุณแม่ฟังตอนที่ท่านเรียนอยู่อเมริกา ในช่วงปี 1972-73 กองเทปที่มีอายุเกือบ 20 ปีบางม้วนเสื่อมสภาพจนฟังไม่ได้ กลายเป็นขุมทรัพย์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ผมได้รู้ว่าคุณพ่อแสนสุภาพที่เปิดแต่อะไรซอฟท์ ๆ ก็เคยเป็นแฟน Black Sabbath ส่วนคุณแม่สายป็อปก็เคยไปกรี๊ดในโชว์ของ Moody Blues

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ผมได้ค้นพบคัมภีร์ที่ช่วยใเปลี่ยนชีวิตการฟังเพลงของผมไปตลอดกาลคือนิตยสาร Music Express ฉบับที่ 100 ความพิเศษของมันคือการรวบรวมอัลบัมเด่นในแต่ละปี พร้อมข้อความสั้น ๆ ว่าทำไมอัลบัมนั้นถึงเจ๋งพอที่จะถูกเลือกให้อยู่ในเล่ม ไล่ตั้งแต่ยุค 60s เป็นต้นมา สำหรับวัยรุ่นที่รักเสียงเพลงแต่ไม่มีกำลังซื้อมากนัก หนังสือเล่มนี้กลายเป็นลายแทงขุมทรัพย์ที่คอยนำทางให้รู้ว่าควรไปขุดหาอะไรตรงไหนต่อ และเปิดโอกาสให้มองเห็นความเชื่อมโยงของหลากหลายศิลปิน รู้สึกตัวอีกที เด็กวัยรุ่นคนนี้ก็ใช้เวลาในช่วงต้นยุค 90s ฟังเพลงจากยุค 70s เป็นหลักและการฟังเพลงย้อนยุคประกอบกับการศึกษางานออกแบบปกอัลบัมในช่วงนี้เอง ที่กลายเป็นรากฐานความสนใจด้านกราฟิกดีไซน์จนยึดถือเป็นอาชีพในปัจจุบัน

ระหว่างทางที่ผมโตขึ้นมาเป็นนักเรียนมัธยมที่สนใจศิลปะ ผมไม่แน่ใจว่าได้ดู Labyrinth อีกกี่รอบจากวีดีโอเทป (เชื่อว่าไม่น้อยกว่า Terminator 2) แต่มันค่อย ๆ บิลด์ความสนใจในตัว David Bowie ในฐานะศิลปินเพลงขึ้นมาเรื่อย ๆ พร้อมกับคำถามมากมายที่เกิดขึ้นจากการอ่าน เช่น เพลงที่ฮิตขึ้นมาพร้อมกับการเหยียบดวงจันทร์เป็นเพลงแบบไหนนะ ดนตรีที่สูญพันธุ์ไปแล้วพร้อมกับแฟชั่นอย่าง glam rock เป็นยังไง ผมเลือกที่จะตอบคำถามนั้นด้วยการซื้อ Bowie : The Singles Collection อัลบั้มรวมเพลง 37 แทร็คในเทปคาสเซ็ตสองตลับคู่ ที่กลับทำให้มีคำถามตามมาอีกมากกว่าเก่า ภาพของ Bowie ต่างยุคสมัยในคอสตูมเจ็บ ๆ และแนวดนตรีที่ลื่นไหลจนไม่น่าจะมาจากศิลปินคนเดียวกัน ทำให้ยิ่งสงสัยว่าผู้ชายคนนี้เป็นใคร และอะไรทำให้เขาสร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมาได้

david-bowie-the-singles-collection-1993-uk

ถ้าเป็นยุคนี้ เด็กหนุ่มช่างสงสัยคนนั้นคงนั่งเปิด YouTube รัว ๆ แต่นั่นเป็นปี 1993 ที่พึ่งของผมจึงมีเพียงร้านโดเรมี และ Tower Records พอเริ่มพยายามต่อจุดว่าภาพ Bowie ในลุคนั้นมาจากอัลบัมไหนที่ออกมาในปีใด และในปีนั้น ๆ มีเหตุการณ์อะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง การตัดสินใจว่าจะเจียดเงินค่าขนมไปซื้ออัลบัมไหนของ Bowie เพื่อทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นก็กลายเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนเยอะเป็นพิเศษ ในยุคที่ข้อมูลยังเป็นสิ่งที่หายาก และค่าขนมเป็นจำนวนตายตัว การฟังเพลงใหม่ที่ซื้อมาแต่ละชุดจะไม่ใช่เปิดเป็นแบ็กกราวด์เพื่อทำอย่างอื่นไปด้วย แต่เป็นการตั้งใจใช้เวลาฟังไปพร้อมกับการอ่านเนื้อเพลงและข้อความแทบจะทุกตัวอักษรบนปกอัลบัม ข้อมูลที่สะสมมาเรื่อย ๆ ระหว่างทาง จาก Space Oddity จนถึง Black Tie White Noise ทำให้ผมเห็น Bowie เป็นตัวแทนของสิ่งที่ผมต้องการ—อิสรภาพ

สำหรับเด็กวัยรุ่นไทยในยุค 90s ที่กำลังตามหานิยามของตัวเอง ในสภาพแวดล้อมที่ทั้งบ้านและโรงเรียนพยามยามมาตีกรอบเราด้วยความคาดหวังต่างต่างนานา เช่น เก่งเลขก็เรียนวิศวะสิจะได้มีโลจิก แล้วก็ไปต่อ MBA นะ ชีวิตจะได้ก้าวหน้า ต่อให้เก่งภาษาอังกฤษด้วยก็อย่าไปเรียนสายศิลป์เลย ชอบวาดรูปก็เก็บไว้เป็นงานอดิเรก ความปรารถนาดีอันปราศจากความเข้าใจกลับกลายเป็นสิ่งกีดขวางและบั่นทอนกำลังใจ เหมือนอีกหลายคนในยุคเดียวกันที่ต้องทะเลาะกับพ่อแม่มากมายกว่าจะได้เรียนศิลปะ

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณอาจจะเกิดมาพร้อมกับข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ Bowie แสดงให้เห็นว่านั่นไม่ใช่ปัญหา เขาก้าวข้ามขอบเขตของดนตรีด้วยการผลิตผลงานหลากหลายแนวเพลง พร้อมกับการสร้างตัวตนใหม่ที่ไม่ยึดติดกับนิยามเก่าของตนเอง พาแฟชั่นและศิลปะการแสดงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดนตรี พร้อมกันกับการสร้างผลงานศิลปะแขนงอื่น เช่น จิตรกรรมและภาพยนตร์ และในความสัมพันธ์ส่วนตัวก็ดี เขาก้าวข้ามขอบเขตทางเพศสภาพและเชื้อชาติได้ ทั้งหมดที่ว่ามานั้นคืออิสรภาพ และเป็นอิสรภาพที่ได้มาจากการไม่หยุดมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ แล้วแสดงให้ทุกคนเห็นว่าคุณเก่งคุณล้ำกว่าคนอื่นในทุกสิ่งที่คุณเลือกทำ คนที่สร้างอิสรภาพให้ตัวเองได้ด้วยความสามารถคือโคตรเท่ !

นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมเชื่อว่า David Bowie เป็นมนุษย์ที่เท่ที่สุดในโลก

Facebook Comments

Next:


Wee Viraporn

A graphic designer who always wear floral shirt, riding a red bicycle, doing post-it art while listening to David Bowie