chrome music lab

Article Story

เปิดแล็บทดลองทางดนตรีแสนสนุก ไปกับ Chrome Music Lab มือใหม่เล่นได้ มืออาชีพเล่นดี

ใครที่ถูกหล่อหลอมด้วยการฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากพ่อหรือแม่มาโดยตรงและพร้อมซัพพอร์ตจนไปได้สุด พวกเขาก็คงมองหาแพชชั่นทางดนตรีที่เร่าร้อนได้ง่าย ๆ อาจมากพอจะผลักดันให้พวกเขาเข้ามาเดินบนเส้นทางนักดนตรีในทันที แต่กับใครอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนดนตรีพื้นฐานมา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเริ่มต้นยังไง แค่การเป็นชอบฟังเพลงก็อาจจะไม่เพียงพอให้เรามีความมั่นใจในการทำเพลงขึ้นมาซักเพลงหนึ่ง

‘ดนตรีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวคนทุกคน’ นี่คือเหตุผลง่าย ๆ ที่ Google อยากเปิดแล็บทดลองทางดนตรีแห่งนี้ขึ้นมา Chrome Music Lab คือเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่ให้เราสนุกกับเสียงดนตรี ผ่านรูปแบบการสอนที่อยู่ระหว่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กับศิลปะ แต่ละบทเรียนก็เต็มไปด้วยกราฟิกน่ารัก ๆ และระบบโต้ตอบเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนเพราะอยากให้ทุกคนสนุกกับมัน ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับดนตรีก็เล่นได้ ให้ทุกคนได้ซึมซับ เข้าใจโปรดักชันพื้นฐานของการทำเพลง และได้ลองสัมผัสเสียงดนตรีด้วยตัวเองกันอย่างจริงจัง

ด้วยความที่มันเป็นห้องทดลอง แน่นอนว่าไม่มีอะไรผิดหรือถูก เราอยากลองทำอะไรก็ใส่ความรู้สึกหรือความคิดสร้างสรรค์เข้าไปได้เลย จะเข้าเว็บผ่านคอมหรือมือถือก็สามารถใช้งานได้ฟรี แถมสะดวกเหมือนกันไม่ต้องล็อกอินหรือดาวน์โหลดอะไรให้วุ่นวาย ซึ่งทุกเสียงในแล็บนี้สามารถเอามาทำเพลงได้จริง ๆ อย่าง YouTuber ข้างล่างคนนี้ก็แต่งเพลงด้วยซาวด์ที่มีได้เจ๋งมาก แต่ยังเพิ่งกดดันตัวเอง ลองตามไปเล่นแต่ละบทด้วยกันก่อน

ในเว็บประกอบด้วยบทเรียน 13 หัวข้อให้เราลองเล่นที่ชวนเราทดลองสร้างเสียงด้วยวิธีต่าง ๆ หลายอันเราอาจคุ้นชินกันอยู่แล้วเช่น

Piano Roll ที่ชวนฟังเสียงแต่ละคีย์ผ่านเพลงคลาสสิกที่ไพเราะ ให้เห็นความต่างในเสียงสูงต่ำของแต่ละโน้ต เรายังสามารถสลับระหว่างเสียงเปียโนกับคลื่นเสียงแอนะล็อกได้ หรืออัดเสียงตัวเองลงไปแล้วเสียงของเราจะเข้าไปอยู่ในคีย์แต่ละคีย์ก็ชวนขบขันไปอีกแบบ

Melody Maker ที่ให้เราเติมช่องสีลงไปในแต่ละโน้ตได้อิสระ แล้วเปิดลูปน่ารัก ๆ ให้เราฟังไปเรื่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความเร็วได้ตามต้องการ ทำให้ได้เพลงที่ต่างกันอย่างน่าทึ่ง

Chords ที่ไล่เสียงเมเจอร์กับไมเนอร์แต่ละคอร์ดให้เราลองฟัง

Rhythm ก็ให้เหล่าสัตว์ทั้งหลายมาตีกลองตามจุดที่เราเติมลงไป ซึ่งแต่ละตัวก็มาพร้อมเครื่องดนตรีที่ไม่เหมือนกัน ต่อให้เราเติมลงไปยังไงพอจังหวะมันลูปแล้วก็ดูเป็นดนตรีขึ้นมาได้ทุกครั้ง บางบทเรียนก็สร้างสรรค์ได้อย่างน่าทึ่ง

Kandinsky ที่ให้เราวาดรูปอะไรลงไปก็ได้ แล้วมันจะเปลี่ยนเป็นเสียงดนตรี พอเป็นวงกลมก็จะเปลี่ยนเป็นเสียงคอรัส เส้น ๆ ก็กลายเป็นเสียงกีตาร์ เสียงกลองก็จะโดดเด้งขึ้นมาทุกสามเหลี่ยม แถมยังเปลี่ยนสีเพื่อเปลี่ยนแนวเพลงได้อีกด้วย ถ้าสังเกตดี ๆ ตำแหน่งของสิ่งที่เราวาดก็จะทำให้เสียงเปลี่ยนไปตามคีย์ดนตรีด้วย

แต่บางบทก็ดูเป็นวิทยาศาสตร์มาก ๆ ไปเลยอย่าง Oscillator ที่แปลงสัญญาณไฟฟ้าให้กลายเป็นเสียงแหลมชวนรื่นรมย์ จำลองสัญญาณไฟฟ้าแต่ละแบบมาให้เราลองเล่นกันดึงเข้าก้อนน้องได้มันมือมาก

Spectrogram ที่ฉายความเข้มข้นของคลื่นเสียงในแต่ละแบบให้เราเห็น ในบทนี้ก็มีตัวอย่างเสียงให้เราลองเยอะมาก เสียงพิณ เสียงผิวปาก เสียงนก เสียงเครื่องเป่าทั้งหรือจะอัดเสียงเราเข้าไปหรือลากเสียงเอาเองก็ได้ ทีมงานก็ยังแอบใส่เสียงต่อเน็ตด้วยโมเด็มสมัยก่อนลงไปด้วย เรียกว่าดักแก่มากเลย

และพระเอกของแล็บนี้ก็คือ Song Maker ที่เปิดสนามทดลองให้เราได้ลองเขียนเพลงในแบบของตัวเองอย่างอิสระ แค่เราเลือกเครื่องดนตรีที่เราชอบแล้วเติมแต่ละห้องให้กลายเป็นคีย์เสียงต่าง ๆ ด้วยสีสันสดใสจนพอใจ ปรับจังหวะให้ช้าเร็วตามต้องการ แล้วลองกดเพลย์ฟังผลงานตัวเองเป็นลูปดูได้ แล้วยังสามารถเซฟเก็บไว้เป็นลิงก์ส่งต่อให้คนอื่นลองฟังเพลงของเรา หรือเอาไปโพสต์ลงโซเชียลได้ทันใจ

นอกจากจะเอาไว้สอนเกี่ยวกับเสียงดนตรีแล้ว มันยังถูกนำไปใช้เป็นสื่อการสอนในคาบวิชาต่าง ๆ ทั่วโลก ใช้สอนการนับผ่านจังหวะดนตรี วิชาศิลปะที่ปล่อยให้เด็กสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างการสอนเกี่ยวกับคลื่นเสียงกับความถี่ในวิชาวิทยาสตร์ก็สามารถอธิบายได้เข้าใจง่าย พร้อมมีตัวอย่างในนักเรียนทดลองด้วยตัวเองอย่างสนุกสนาน หรือใช้ในการสอนเรื่องจังหวะหรือความบันเทิงในเด็กเล็กก็สนุกไปอีกแบบ ขึ้นอยู่กับคุณครูจะมีศักยภาพมากพอที่จะดึงสิ่งเหล่านี้มาสอนนักเรียนได้ยังไง

สิ่งที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่มีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์ได้ขนาดนี้ เพราะพวกเขายังคงทดลองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ Chrome Music Lab ก็เป็นแค่อีกหนึ่งโปรเจกต์เล็ก ๆ ของพวกเขา แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าสิ่งนี้จะพัฒนาศักยภาพของทุกคนได้อย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในสิ่งที่ Google พยายามจะจ่ายคืนให้กับสังคมเหมือนกัน ถ้าเราอยากเป็นนักดนตรีที่เก่งขึ้น ก็อาจจะต้องทดลองอะไรใหม่ ๆ และกล้าที่จะออกจากกรอบของตัวเองบ้างก็ได้ เริ่มจากลงไปเล่นเว็บนี้ด้วยตัวเองดูก่อน แล้วแรงบันดาลใจคงจะตามมาในไม่ช้าแน่นอน

ส่งท้ายด้วยคลิปนึงของชาวเน็ตที่ใช้ Song Maker ในการทำเพลงมีมติดหูของทุกคน เพื่อให้เห็นว่าถ้าได้ลองทำ ใคร ๆ ก็ทำได้แน่นอน เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว

อ่านต่อ

จากคนฟังเพลงสู่คนทำเพลง ความยากลำบากที่แค่ฟังคงไม่เข้าใจ

ชวนเข้าคอร์สสอนทำเพลงแบบเร่งรัด ไม่กี่คลิกก็เก็ตการทำเพลงเลย!

7 ช่อง YouTube รวมเทคนิคการทำเพลง ที่นักดนตรีทุกคนต้องสับตะไคร้เอาไว้

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา