Article Interview

Chanudom ทุกคนล้วนมีรอยประหลาด

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj, Chanudom

 

ชนุดม กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของซีนดนตรีบ้านเราในเวลาไม่นานจากความสดใหม่ของโชว์ที่ไม่เหมือนใคร และทรงพลังในทุก ๆ รายละเอียดที่พวกเขาสร้างสรรค์ ซิงเกิล เลือดชั่ว ที่ปล่อยมาเป็นเพลงแรกก็ทำให้รู้เลยว่าจะต้องติดตามพวกเขาไว้ดี ๆ เพราะพวกเขาเหล่านี้คือวงหน้าใหม่ที่ไม่ธรรมดา

chan_04

สมาชิก
ชนุดม สุขสถิตย์ (พัด) ร้องนำ
สถาปัตย์ แสงสุวรรณ (แพท) กีตาร์
ธัชพล ชีวะปริยางบูรณ์ (ต๊อบ) กลอง

 

ชนุดม ชื่อที่บอกตัวตนของสมาชิกได้ดีที่สุด

ต๊อบ: ตอนนั้นเรารวมวงกันแล้วคิดชื่อไม่ได้ เลยไปปรึกษาพี่ตุล (ตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า) พี่ตุลก็ถามพัดว่าชื่อจริงชื่ออะไร ชนุดมหรอ พี่ตุลก็บอก เอาชื่อนี้สิ ตอนแรกพัดก็ไม่มั่นใจว่าจะดีหรอถ้าใช้ชื่อตัวเองคนเดียว เพราะเรามีกันสามคน แต่ไป ๆ มา ๆ เราสามคนกลับรู้สึกว่ามันเหมาะ มันเป็นชื่อไทยด้วย แล้วเราชอบชื่อนี้ บอกตามตรงว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ มันดูมีความเป็นเรา ไม่ดูเว่อร์ไป หรือน้อยไป มันอาจจะไม่ใช่ชื่อที่เท่อะไร แต่มันเป็นชื่อเฉพาะที่เราพอจะนึกออกว่าจะทำอะไรกับมันต่อได้บ้าง แล้วก็ใช้ได้โดยไม่เขิน เลยมาลงที่ชื่อนี้ ก็ขอบคุณพี่ตุลที่ช่วยชี้ชื่อนี้ให้เราเห็นทั้งที่เป็นชื่อที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด

ถ้าดูโชว์ของเรา คุณจะไม่ได้มาแค่ฟังเพลง เพราะนี่คือ theatrical rock

แพท: theatrical rock มันมาจากภาพรวมทั้งหมดของโชว์ ทั้งดนตรีที่เราแต่งในแต่ละเพลง เราก็พยายามที่จะร้อยเรียงให้มันมีเรื่องเล่าที่ซ่อนอยู่ในทุกวินาทีที่มันเกิดขึ้น หรือเสียงที่เราใช้มันก็มีความหมายอย่างเครื่องดนตรีชิ้นนั้นมันกำลังเล่าอะไร เพราะเนื้อเพลงมันเป็นอย่างนี้ มันเลยทำให้ดนตรีมีการพัฒนา บวกกับการโชว์ของฟรอนต์แมนเองด้วยที่พื้นฐานตัวเขาเป็นนักแสดงอยู่แล้ว เราก็พยายามจะผนวกดนตรีกับ performance ของเขาเข้าไปด้วยกัน

ต๊อบ: การได้ออกไปโชว์คือการออกไปดูว่าในแต่ละครั้ง เวลาไปเจอกลุ่มคนหรือสถานที่แบบนี้เราจะต้องเล่าเรื่องยังไง จะเปลี่ยนไปหรือมีเหมือนเดิมก็จะต้องปรับไปตามสภาพแวดล้อมและตัวของเราเองด้วย

แพท: เพราะแต่ละวันเราก็เจออะไรไม่เหมือนเดิมตลอดเวลา แล้วพอมารวมกันใหม่ สิ่งที่เราจะสื่อสารออกไปก็จะไม่เหมือนกับครั้งแรกที่เราเคยเล่น ตอนนี้เราก็เดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ

ต๊อบ: ต้องยอมรับว่าการแสดงแบบนี้ อย่างนึงเลยคือมันมีสคริปต์ แล้วมันถูกวางไว้ว่าเราจะทำอะไรบ้างในเวลาหนึ่งชั่วโมง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็มีการอิมโพรไวส์ด้วย เพราะฉะนั้น การอิมโพรไวส์ของฟรอนต์แมนที่เขาเล่าในแต่ละโชว์มันไม่เหมือนกัน เราที่ก็เป็นอีกตัวแสดงที่อยู่กับเขาก็ต้องตามว่าเขาจะพาไปที่ไหน ก็เป็นโชว์ที่มีความยืดหยุ่นครับ

แม้แต่ตอนจบโชว์ยังคงไว้ซึ่ง curtain call อันเป็นการขอบคุณในรูปแบบของละครเวที

ต๊อบ: เป็นความตั้งใจด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งมันก็เป็นการขอบคุณแทนที่จะพูดขอบคุณเฉย ๆ เลยให้เป็น curtain call เวลานักแสดงออกมาขอบคุณคนดู ขอบคุณทุกคนที่มาช่วยเรา ขอบคุณทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในโชว์นั้น แล้วเดี๋ยวเรามาเจอกันใหม่ คือความหมายของตรงนี้

chan_03

การเริ่มต้นบทใหม่หลังจากปิดม่าน Hedwig and the Angry Inch

แพท: พอเราเสร็จจาก Hedwig แพทก็คุยกับพัดว่า เออ ในโมเมนต์ที่เราเล่นละคร เล่นดนตรีด้วยกัน มันยังสนุกอยู่เนอะ ก็อยากจะลองทำเพลงกันดู ทีแรกก็หาสมาชิกไปเรื่อย ๆ จนมาเจอพี่ต๊อบ เราลองชวนว่ามีไอเดียแบบนี้ อยากจะทำแบบนี้ ตามใจตัวเอง ไม่ได้แคร์อะไร เขาก็ว่าน่าสนุกดี ไป ๆ มา ๆ ก็มารวมตัวกันอีกครั้งนึง

ต๊อบ: ซึ่งจริง ๆ ตอนแรก ต๊อบสนุกกับละครเวทีเรื่องนั้นที่จบไป แต่ต๊อบไม่สนุกกับการทำวงแล้ว เพราะช่วงอายุต่างกัน เขาน่ะไฟแรง แต่เราหมดไฟ เราเคยทำวงมาก่อนก็รู้ว่ามันเป็นยังไง ก็เลยจะพอแล้ว เรารู้สึกว่าตอนนี้เราเล่นดนตรีเพื่อทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวแล้ว ตอนที่เขามาชวนก็มีความดื้อ บอกเขาไปตรง ๆ ว่า กูไม่ได้อยากทำวงแล้ว จนได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน แบบ เฮ้ย เด็กสองคนนี้มาว่ะ เขาแรงอะ ทั้งความคิดทั้งอะไรเขาไปสุด แล้วด้วยความที่เป้าหมายแรกของการทำวงของเขาคืออยากทำ แต่ไม่ได้อยากดัง แค่นี้เราก็แบบ โอเค อย่างน้อยมันก็เป็นอีกมิตินึงในชีวิตที่เราสามารถแทรกมันไว้แล้วเติมเต็มในชีวิตได้เหมือนกัน ถ้ามึงไม่อยากดัง โอเค กูเอาด้วย เพราะถ้าอยากดังปุ๊บ มันเครียด เราจะไม่อยากทำอะไรแบบนั้นอีกแล้วเพราะเราอยู่ในกระบวนการของดนตรีธุรกิจแล้วเราเหนื่อย แต่แบบนี้มันสนุก ก็เลยตอบตกลงไป แต่ปลายทางข้างหน้าเป็นยังไงเราไม่รู้หรอก

แล้วตอนนี้รู้สึกยังไง

ต๊อบ: ตอนแรกชีวิตก็มีอะไรต้องทำหลาย ๆ อย่าง ก็ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ว่าแต่ละเรื่องเราจะให้มันเท่าไหร่ ซึ่งเราก็จะทำให้มันเป็นงานอดิเรกสนองตัณหาแหละ แต่อันนี้มันเหมือนเราดันมันเข้าไปเรื่อย ๆ จนเรารู้สึกอิน กลายเป็นว่าตอนนี้เราอยู่กับมันเยอะมาก ๆ ทุก ๆ เวลาที่เราออกไปกินข้าว ออกไปเล่นแบ็กอัพ หรือไปทำอะไร เราจะคิดถึงตรงนี้ว่าเราจะพัฒนามันต่อไปยังไงดี เราจะทำยังไงให้มีงานออกมาตลอดเวลา จากตอนละครเวทีเหมือนเพิ่งรู้จักแล้วเล่นด้วยกัน แค่เข้าใจว่าเขาเล่นแนวไหน มีวิธีพูดยังไง ร้องเพลงเป็นยังไง แต่พอมาทำเพลงกันเองก็ได้รู้จัก ได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ได้เห็นว่าทิศทางของงานมันจะเป็นยังไง หนึ่งปีที่ทำ EP 4 เพลงแรกและได้ทำความรู้จักกัน ตอนนี้ก็กลายเป็นส่วนมากในชีวิตไปแล้ว

chan_02

ก่อนหน้านั้นทำงานอะไรกันมาก่อน

แพท: แพทอยู่สายดนตรีอยู่แล้ว เป็นฟรีแลนซ์ composer, arranger ทำโปรแกรมประกอบภาพโน่นนี่นั่น เล่นดนตรีบ้าง ทำละครเวทีด้วย

ต๊อบ: ฟรีแลนซ์เหมือนกันครับ แต่แพทจะอยู่ในสตูดิโอ เราไปเล่นแบ็กอัพให้คนโน้นคนนี้ เป็นสายออกไปเล่นสดข้างนอกมากกว่า

ความยากระหว่างทำ musical กับการทำเพลงของตัวเอง

แพท: มันเหมือนเป็นคนละอย่างกันมากกว่าครับ คือ musical เขาก็จะมีเส้นเรื่องของเขาในการเล่าเรื่อง แล้วจะมีพัฒนาการของตัวละครจากจุดเริ่มต้นไปถึงปลายเรื่อง เราก็ทำดนตรีซัพพอร์ตตรงนั้น พอเรามาทำเพลงของตัวเอง มันจะเป็นเรื่องของตัวละครตัวเดียวไม่ได้ ต้องทำออกมาเป็นเรื่องกลม ๆ ปลายเปิดนิดนึง เพื่อให้คนฟังแล้วไปผนวกกับชีวิตตัวเองได้ เพียงแต่เราเอา material จากละครมาใช้ตรงนี้นิด ๆ หน่อย ๆ มากกว่า

ต๊อบ: การทำเพลงของตัวเองมันน่าจะมาจากแรงบันดาลใจของแต่ละคนนะ เพราะต่างคนต่างฟังไม่เหมือนกัน มันมาจาก input ที่อยู่ข้างในของแต่ละคนแล้วถูกถ่ายทอดออกมาตอนคิดงาน มันอยู่ที่ช่วงเวลานั้น ๆ เราอินกับอะไรหรือฟังอะไรด้วย ทุกวงมันมีผลต่อเพลงที่ออกมา อย่างพัดเขาชอบ Beyoncé, Rihanna ตรงนั้นก็จะมาอยู่ในวิธีการ perform ของเขาที่จะไม่ใช่ร็อกล้วน ๆ จะมีการเต้น เคลื่อนไหว หรือวิธีการร้องก็จะมาจากตัวเขาที่ถูกนำมาใช้

แพท: ปีที่แล้วแพทชอบ Muse พอมาปีนี้ก็ฟังอะไรซอฟต์ ๆ Drake อะไรแบบนี้ครับ บางทีก็คลาสสิกบ้าง แจ๊สบ้าง ก็มีผสมกัน อยู่ที่ว่าตอนนั้นเรารู้สึกว่าอยากให้เพลงเรามีตรงนั้นตรงนี้จัง มีเครื่องดนตรีคลาสสิกเข้ามาอยู่ในเพลงด้วย การมีเครื่องเป่ามันก็ทำให้โชว์ดูสนุกขึ้น ก็พยายามเปลี่ยน ๆ จะได้มีหลายแนว

การคิดแต่ละเพลงได้ตั้งคอนเซปต์ใหญ่มาก่อนหรือเปล่า

ต๊อบ: มันเหมือนจะมีคร่าว ๆ แต่มันก็มีบางเพลงที่แยกออกมาอย่าง รอยประหลาด เป็นเพลงที่ทำแรกสุดตอนที่เราเจอกันแล้วลองทำเพลง มันคือการเอาทุกอย่างมายำกัน ก็เลยดูพิศดาร ไม่มีรูปแบบอะไรเลย แต่ว่าพอสุดท้ายพอเพลงมันครบ 4 เพลงแล้ว เราว่ามันก็ครบในอารมณ์ของ 4 เพลงนั้น

พัด: ต่างเพลงมันก็ต่างเล่าเรื่องของมัน แต่สิ่งนึงที่เชื่อมโยงกันก็คือความที่มันไม่มีขอบเขต แต่ละเพลงก็เลยจงมีความพิเศษในตัวของมันเอง อย่างเพลง รอยประหลาด ก็จะไม่มีท่อนจำ เราจะทำมันไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าพอแล้ว หรือแม้กระทั่งเพลง ชนุดม ที่เป็นเพลงช้าที่สุด อาจจะมีบางท่อนที่ต้องจำเข้ามา มีคอรัส แต่ก็ยังมีความแปลกประหลาดของตัวเองอยู่ ฉะนั้นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน 4 เพลงคือมีความแปลกประหลาด (หัวเราะ) มันมีความไม่มีกรอบของตัวเอง

ต๊อบ: มันมีความดื้อครับ ค่อนข้างดื้อทีเดียวเลยแหละ

พัด: สุดท้ายแล้วพอเราพยายามเอามาทำเป็น live show เราก็จะผูกเรื่องของแต่ละเพลง ทำมันให้เหมือนกับละคร ที่จะมีจุดเริ่ม ปัญหา ไคลแมกซ์ ฉะนั้นจะมานั่งดูว่าเพลงแต่ละเพลง จุดไหนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา พอมีปัญหาแล้วมันเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง พอหลังจากปัญหาแล้วมันคลี่คลายยังไง มันเข้าใจโลกนี้ยังไง ก็เลยใช้ตรงนี้มาสื่อตลอด เพราะเพลง ชนุดม เหมือนเป็นเพลงที่เข้าใจโลกที่สุด ทุกอย่างมันต้องเกิดและต้องดับ

เนื้อหาในเพลงมาจากชีวิตจริง

พัด: ส่วนใหญ่จะเขียนออกมาจากตัวเอง แต่เราก็จะไม่พูดถึงตัวเองถึงขนาดหนัก ๆ เช่น ‘ฉันรักเธอ เธอชื่อถวิล’ ที่มันจะเจาะจงขนาดนั้น เราจะใช้ความเจ็บปวดแบบเป็นกลางที่ทุกคนเคยประสบแบบเดียวกัน ทุกคนเคยพลัดพรากเหมือนกัน มีเลือดชั่วเหมือนกัน เป็นคนบาปเหมือนกัน

ตอนร้องก็ใช้อินเนอร์การแสดงด้วย

พัด: แน่นอนสิคะ จริง ๆ แล้วพัดไม่ได้มาจากการนักร้อง เป็นนักแสดงละครเวที ฉะนั้นแล้วการเริ่มต้นทำสิ่งนี้มาจากการเป็นนักแสดงล้วน ๆ ส่วนใหญ่จะใช้ฟีลลิ่งเยอะ ๆ ส่วนการใช้เสียงโน่นนี่นั่นมันเป็นการเรียนรู้ในตอนหลัง เราก็ไปเรียนเพิ่มเติม

chan_05

จุดเด่นของโชว์ชนุดมคือเสื้อผ้า

พัด: จะมาแต่งอะไรกันเยอะแยะ (หัวเราะ)

แพท: มันเป็นความสนุกของเราที่คนอื่น ๆ ในวงก็เริ่มสนุกไปด้วย อย่างน้อง ๆ ก็เริ่มถามว่า พี่ ครั้งต่อไปแต่งตัวยังไงดี

พัด: แต่เราจะไม่ทำให้เขารู้สึกว่ามันจำเป็นต้องแต่ง อยากทำให้เขารู้สึก enjoy ที่เขาจะหาชุดเองด้วย เราอยากทำขึ้นมาเพราะเรารู้สึกว่าตรงนี้มันเป็นอีกบุคลิกนึงของพวกเรา ไม่ได้จะบอกว่ามันไม่ใช่ตัวตนเรานะ คือทุกคนจะต้องมาดูเรา แต่จะทำยังไงให้มันพิเศษขึ้น แต่ไม่มากมายจนเกินไป แม้ทุกคนจะมองว่ามันมากมาย (หัวเราะ) แล้วอีกอย่างมันมีความเป็นละคร เวลาเราอยู่ในมู้ดของละคร เราชอบเห็นอะไรที่มันเกินจริงนิดนึง แต่ในสเต็ปนี้เราจะไม่ทำให้มันเกินจริงมากไป แม้เขาจะคิดว่าเกินจริงแต่เราจะไม่ทำให้เขาขวยเขินในสิ่งที่เขาจะต้องทำกับเราด้วย

ชนุดม ปรากฎการณ์ของวงการดนตรี

ต๊อบ: เราจะเขียนตลอดว่าเราไม่ได้แค่เล่นดนตรีให้ฟังอย่างเดียวนะ มันคือการแสดงอย่างนึง เราทำโชว์ เพราะฉะนั้นคอสตูมเสื้อผ้าก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของโชว์

พัด: จริง ๆ ตอนนี้เราพยายามจัดไฟ จะทำให้ทุกขั้นตอนของโชว์ออกมามีความหมาย ไม่ใช่แค่ฉันไปร้องที่ไหนก็จะมีแค่สปอตไลต์สองตัวนี้ส่องมา เวลาเราร้องเพลงเศร้าเราอยากให้มันออกมาเป็นแบบไหน มู้ดโทนยังไง ทำไมต้องเปลี่ยนชุด ทำไมต้องมีตรงนี้แทรก ในสเต็ปของโชว์มันควรจะมีพร้อมทุกอย่างไม่ว่าเงินจะมากจะน้อย เราก็จะพยายามเพิ่มมันเข้าไป ไม่อยากทิ้งตัวตนของมันไป ไม่อยากแค่ร้องเพลงอย่างเดียว

ต๊อบ: ตอนนี้เราเป็นวงหน้าใหม่ แค่เริ่มต้น ก็เพิ่งเก็บประสบการณ์เขยิบไปเรื่อย ๆ เมื่อวานเพิ่งคุยกันว่าโชคดีมากที่ไปประกวด Tiger Jams มันสนุกมาก เพราะวงหน้าใหม่สมัยนี้ต้องหาที่เล่น ต้องมีความอยากออกไปเล่น ทีนี้พอเราตัดสินใจว่าเราลง แล้วพอได้เล่น ไฟสวย โปรดักชันดี พอออกมามันก็สนุก มัน fulfill มาก

พัด: นี่ตัดสินใจถูกมาก เป็นความรู้สึกที่สุดยอด ให้เกียรติเรามาก นั่นคือจุดเริ่มต้นให้เรารู้สึกว่าทีมเราต้องมีไฟของตัวเองแล้ว (หัวเราะ) แม้กระทั่งคนเล่นยังรับรู้เลยว่า บ้าไปแล้ว นี่แหละคือสิ่งที่ฉันต้องการ เพลงมาถูกจังหวะ ไฟถูกต้อง ตอนลงมามีคนถามว่านี่ดีลกับคนทำไฟไว้หรือเปล่า

อะไรคือความท้าทายในโชว์แต่ละครั้ง

พัด: เวลาเราไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เราจะเป็นตัวเองมากเกินไปไม่ได้ เราต้องฉลาดที่จะเป็นตัวเองในสไตล์ของสถานที่ตรงนั้น อย่างเราจะไปเล่นที่ Maggie Choo’s เราอาจจะเล่นเพลงนี้ไม่ได้ เซ็ตนี้ไม่ได้ หรือทำแบบนี้ไม่ได้ บางทีที่วัยรุ่น ๆ เราจะมา keep look ตลอดไม่ได้ อาจจะตะโกน Hey! Fuck you ได้ เพราะมันดูคูลไงคะ แต่ถ้าอยู่ รศ 234 ก็ต้องนิ่ง ๆ หน่อย เราต้องคุยเรื่องฟีลลิ่งกันก่อน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคิดทุกครั้งเวลาต้องไปเล่นแต่ละที่ สุดท้ายแล้วสิ่งที่เป็นศิลปะที่สุดคือเราทำยังไงให้เราซึมไปได้กับทุก ๆ โลเคชัน

จำความรู้สึกตอนโชว์แรกได้ไหม

พัด: น่าจะเป็น Trasher ธีม Romeo + Juliet เห็นมั้ยคะ ปาร์ตี้เราก็เข้าไปอยู่ได้ แต่ตอนนั้นเป็นเพลงตลาด ๆ 3 – 4 เพลง เราก็ต้องหาเพลงที่เกี่ยวกับปาร์ตี้เขา ก็ขอเพลงแม่ ๆ มา ไม่ว่าจะเป็น Crazy In Love, Rude Boy แต่เราก็ทำในสไตล์ชนุดม ก็เป็นโอกาสได้เล่นในยุคแรก ๆ

ตอนปล่อยเพลง เลือดชั่ว เป็นเพลงแรกที่ใช้โปรโมต ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง

ต๊อบ: ก็ดีครับ คือเราเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วพอปล่อยไปก็มีคนเริ่มฟัง มีคนติดต่อเข้ามา พี่มีซีดีขายไหม ก็แสดงว่าเริ่มมีคนสนใจนะ เราพอใจกับน้อง ๆ ที่เริ่มถามเข้ามาว่าวันนี้ไปเล่นที่ไหนบ้าง ต้องขอบคุณมากครับ

พัด: ไม่ค่อยมี feedback แง่ลบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการมาแซว นี่วงชื่อ จันอุดม หรอ แต่เรารู้สึกโอเคทั้งที่มันมีความเสี่ยงในการที่มีลุคแบบนี้ออกไป แน่นอน มันท้าทายว่า อี๋ แกทำอะไรของพวกแก แต่งตัว เต้นอะไร ทำอะไรใน mv แต่ไม่มีพวกนี้เลยนะ ส่วนใหญ่เขามาชม แม้กระทั่งผู้ชายเขาก็โอเคกับเรา เรื่องเพศก็เลยมองข้ามไปเลยค่ะ

ได้ ก้อย รัชวิน มากำกับ mv ให้ด้วย

พัด: ก็ มัดมือชก (หัวเราะ) เราเล่น Hedwig ด้วยกัน ก็เป็นเพื่อน ๆ กันเนี่ยแหละ ตอนแรกจะให้นางทั้งเล่นทั้งกำกับ นางก็บอก จะบ้าหรอ ฉันถ่ายเสร็จต้องมานั่งดูมอนิเตอร์ด้วยนะ นางก็อยากทำเบื้องหลังแหละก็เล่นละครมาเยอะ อยากรู้ว่าจะเป็นยังไง เราก็บอก นี่เลย อยากทดลองก็มาสิ เอาสิ่งที่นางเรียนมามาใช้

เริ่มทำเพลงใหม่กันบ้างหรือยัง

พัด: ทำแล้วค่ะ ทำไปเรื่อย ๆ

ต๊อบ: เป้าหมายตอนนี้ของเราคืออยากมีอัลบั้มเต็ม ถ้ามีอะไรใกล้ออกมาแล้วจะรีบบอกเลย

รู้สึกว่าชนุดมมาไกลจากตอนเริ่มทำวงมากขนาดไหน

ต๊อบ: เราว่ามันเพิ่งเริ่มต้น มันกำลังเดินหน้า แต่เราก็เผื่อใจไว้ตลอดนะเพราะเราเชื่ออย่างนึงว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปสะดุดตรงไหนอะไรยังไง แต่ทุกวันนี้มันยังเคลื่อนไป

ถ้าอนาคตวงการดนตรีอยู่ในมือชนุดม คุณจะผลักดันมันไปในทิศทางไหน

ต๊อบ: หูย คือถ้ามันอยู่ในมือชนุดมมันต้องสนุกมากแน่ ๆ เลยอะ เราว่ามันจะมีสีสันมาก เพราะวงนี้มันหลากหลายไง เราแฮปปี้กับความหลากหลายตรงนี้ แล้วถ้าเรากำหนดความเป็นไปของวงการได้ มันจะมีทุกอย่าง คนจะเห็นค่าของศิลปะมากขึ้นกว่านี้ ต้องยอมรับว่าคนในประเทศเราให้ค่ากับศิลปะน้อย มันเห็นได้ชัดจากรูปธรรมของผลตอบแทนไง

แพท: มันคงน่าตื่นเต้นดีเพราะเราไม่เคยคาดหวังว่ามันจะไปถึงจุดนั้นหรือเปล่า ตอบไม่ได้ว่าจะไปในทิศทางไหน เพราะตอนที่เราเริ่มทำ เราทำเพราะสนุก เราอยากอวด อยากโชว์ในสิ่งที่เราทำ อยากให้คนมาฟังเรา ถ้ามันถึงตรงนั้นก็น่าจะมันดีเนาะ คงมีอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้น แล้วถ้าทำให้คนรุ่นหลังรู้สึกว่าเราเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก็คงแฮปปี้มากเลย

พัด: แต่สิ่งนึงที่อยากทำมากคืออยากทำให้ดนตรีถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้แค่ทำให้คนผ่อนคลาย เราอยากให้นักดนตรีได้รู้สึกว่า passion ของเขาไม่ใช่แค่ผ่อนคลายคน แต่มันทำให้เขาเลี้ยงชีพได้ ทำงานได้ทุกรูปแบบ ไม่ใช่ว่าถ้าไม่ดังก็จะไม่ได้เงิน อยากให้เขารู้สึกว่ามันมีโอกาสให้เขาทำในสิ่งที่เขารัก มันไม่ใช่ว่าตอนนี้ฮิตเพลงแนวนี้ ก็จะทำเพลงออกมาแต่แบบนี้ มันควรจะแผ่กว้างจนทุกอย่างเป็นไปได้หมด ตรงนี้มันสำคัญมาก คล้าย ๆ กับจิตใจมนุษย์ ถ้าสมมติเรามองแค่แง่เดียว คนประเภทนึงก็จะได้โอกาสอย่างเดียว จนคนประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถมีพื้นที่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามองว่าเพลงป๊อปอย่างเดียวที่จะดังได้ในประเทศไทย หรือเพลงลูกทุ่งจะฟังได้แค่คนกลุ่มนึง ก็จบแล้ว ทำยังไงก็ได้ให้คนทุกคนฟังแล้วชอบทุกงาน อย่าไปดูถูกคนฟัง

แพท: มันเป็นภาษาสากลอะ เดี๋ยวนี้ก็มีอินเทอร์เน็ตแล้ว คนจะเลือกฟังอะไรก็ได้

img_0849

อยากฝากอะไรทิ้งท้าย

พัด: ขอบคุณที่มีคำคอมเมนต์เรามาไม่ว่าจะด่าหรือชม แล้วก็ขอบคุณที่ซัพพอร์ตเรา อะไรไม่สำคัญเท่ากับคุณอยากเปิดใจเข้าสู่โลกใหม่ ๆ บ้าง เราก็รู้สึกว่าถ้างานต่อ ๆ ไปที่มันจะเกิดขึ้นจะเข้าหูหรือไม่เข้าหูคุณ คุณอาจจะบอกว่าอีพวกนี้มันทำอะไรของมันอยู่ แต่คุณยังรับฟังมัน ก็ขอบคุณมากค่ะ

ต๊อบ: เฟซบุ๊กเพจเราจะมีแมสเสจที่สามารถพิมพ์คุยกันได้ สามารถพิมพ์เข้ามาได้เลยว่าดูแล้วรู้สึกยังไง เฮ้ย พี่ ตรงนั้นมันดังไปว่ะ ตรงนี้หนูปวดหู คุยกันเข้ามาได้ แล้วเราจะปรับของเราไปเรื่อย ๆ เพราะเรายินดีรับฟัง เราเป็นคนอยู่ข้างบนเวที จะไม่มีทางรู้ว่าข้างล่างมันเป็นยังไง เราต้องการ feedback จากคนดูพอสมควร ถ้าชื่นชมก็ขอบคุณ ถ้าติเราก็จะแก้ไข

ติดตามผลงานของชนุดมได้ที่ https://www.facebook.com/ChanudomOfficial/ รับฟังเพลงของพวกเขาบนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้